ข้าวโพดซีพีรุกป่า จับตาวิกฤตความมั่นคงทางอาหาร

28 เมษายน 2551
เรื่องโดย : อานุภาพ นุ่นสง สำนักข่าวประชาธรรม

กระแสวิกฤตอาหารโลกกำลังเป็นประเด็นสาธารณะที่แผ่ขยายไปในหลายประเทศทั่วโลก  ประกอบกับการขยายตัวของพืชพลังงาน อาทิ ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้เจ้าของธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่เริ่มกว้านซื้อที่ดินกันอย่างกว้างขวาง ในประเทศไทยการขยายพื้นที่เพื่อปลูกพืชเหล่านี้ในเรื่องนี้ก็เริ่มขึ้นแล้วในหลายๆ พื้นที่    

เป็นเรื่องน่าฉงนไม่น้อยที่ปัจจุบันภาครัฐเองมีแนวคิดและส่งเสริมให้เกษตรกรทำการผลิตแบบพึ่งตนเอง โดยใช้ระบบเกษตรผสมผสาน ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ลดละเลิกการใช้สารเคมี แต่ในเวลาเดียวกันรัฐกลับมีนโยบายการส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นยางพารา ปาล์มน้ำมัน ยูคาลิปตัส ยิ่งโดยเฉพาะยุคที่กระแสพลังงานทดแทนกำลังได้รับความนิยม ไม่เฉพาะรัฐเท่านั้นที่เป็นผู้สนับสนุน แต่ยังรวมไปถึงบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่โดยเฉพาะบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพีที่ร่วมกระตุ้นเกษตรกรโดยใช้กลไกราคาผลผลิตที่สูงจนน่าพอใจเป็นสิ่งล่อใจ ดังนั้น สบู่ดำ อ้อย และพืชพลังงานชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะ “ข้าวโพด” จึงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่

สำหรับนโยบายและการรณรงค์การใช้พลังงานทดแทนฝนประเทศไทยนั้น ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 18 เม.ย.2550 รายงานว่า ช่วงเดือน มี.ค.2550 ราคาข้าวโพดสูงถึงกิโลกรัมละ 7.10 บาท และมีแนวโน้มสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 8 บาท ขณะที่ในปี 2549 ราคาข้าวโพดอยู่ที่กิโลกรัมละ 6 บาทเท่านั้น

ขณะที่การผลิตข้าวโพดของไทย ปัจจุบันสามารถผลิตได้ประมาณ 4 ล้านตันต่อปี จากพื้นที่ปลูกรวมทั้งประเทศประมาณ 6 ล้านไร่ ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดในประเทศที่ต้องการประมาณ 5.5 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ 60% ที่เหลือ 40% ส่งออกนอกประเทศ ซึ่งจากความต้องการของตลาดโดยเฉพาะเพื่อการใช้ในการผลิตอาหารสัตว์นั้นส่งผลให้พื้นที่สำหรับการปลูกข้าวโพดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณ 7.8 ล้านไร่ต่อปี

กรณีดังกล่าวนับว่าเป็นตัวกระตุ้นให้เกษตรกรจำนวนมากหันมาปลูกข้าวโพด และสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่ตามมาจากนั้น นั่นคือการหายไปของพื้นที่ป่า !

ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อใช้ปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างข้าวโพดนั้นปัจจุบันเกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการส่งเสริมทั้งจากรัฐและบริษัทเอกชนอย่างเช่นกรณี อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ที่เกษตรกรได้รับการสนับสนุนจากซีพี หลังจากนั้นไม่นานพื้นที่เกษตรกรรมเดิมที่เคยใช้ปลูกพืชนานาชนิด อาทิ หอมแดง กระเทียม ขิง ฯลฯ ก็ถูกแปรสภาพเป็นไร่ข้าวโพด ไม่เพียงเท่านั้น พื้นที่ป่าอีกจำนวนมากก็ถูกลักลอบแปรสภาพเป็นไร่ข้าวโพดเช่นเดียวกัน

แม่แจ่ม แหล่งปลูกข้าวโพดสำคัญของซีพี

อ.แม่แจ่ม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของ จ.เชียงใหม่ มีเนื้อที่ประมาณ 3,361 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,100,625 ไร่ มีพื้นที่เกษตรกรรมทั้งสิ้น 126,685 ไร่ ในจำนวนนี้มีพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว 106,059.25 ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่ป่า ซึ่งที่ผ่านมาช่วงปี 2538-2539 บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ “ซีพี” ได้เข้าไปส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในลักษณะการทำพันธสัญญา หรือ คอนแทรกฟาร์มมิ่ง กรณีดังกล่าวส่งผลให้ข้าวโพดกลายเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของอำเภอ ข้อมูลจากสำนักงานเกษตร อ.แม่แจ่ม ปี 2549-2550 ระบุว่า เกษตรกร อ.แม่แจ่ม ประมาณ 80% มีอาชีพหลักปลูกข้าวโพด ซึ่งมีทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวโพดเมล็ดพันธุ์ ส่วนที่เหลือ 20% จะเป็นหอมแดง ลิ้นจี่ ลำไย ฯลฯ

ลำดับที่พืชเศรษฐกิจพื้นที่ปลูก (ไร่)เปอร์เซ็นต์
1ข้าวโพด82,90478.16
2หอมแดง19,93718.80
3ลิ้นจี่1,5861.50
4ลำไย1,391.751.31
5กระเทียม198.50.20
6ส้มเขียวหวาน420.03
 รวม106,059.25100

ดังนั้น กล่าวได้ว่าหลังจากปี 2539 เป็นต้นมา ภายหลังซีพีเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรชาว อ.แม่แจ่มปลูกข้าวโพด วิถีการผลิตของเกษตรกรแต่ละตำบลมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด มีการใช้ที่ดินอย่างเข้มข้น มีการใช้สารเคมีขนานใหญ่ พื้นที่ที่เคยถูกทิ้งร้างถูกแทนที่ด้วยไร่ข้าวโพด ข้อมูลจากสำนักงานเกษตร อ.แม่แจ่ม ปี 2549-2550 ระบุอีกว่า ปี 2550 พื้นที่ปลูกข้าวโพดทั้งอำเภอมีจำนวน 82,904 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 1,316 กิโลกรัม ผลผลิตรวม 97,986,900 กิโลกรัม โดยแยกข้อมูลการผลิตรายตำบลได้ดังนี้

ลำดับที่ตำบลพื้นที่ปลูก (ไร่)ผลผลิต (กิโลกรัม)
1แม่นาจร14,13516,300,800
2ท่าผา13,60816,135,800
3ช่างเคิ่ง13,35015,564,000
4แม่ศึก12,10013,866,000
5ปางหินฝน11,55013,844,400
6บ้านทับ8,4659,933,900
7กองแขก8,1369,426,000
8แม่แดด630756,000
9แจ่มหลวง5801,740,000
10บ้านจันทร์350420,000
 รวม82,90497,986,900

ผลจากการใช้ที่ดินอย่างเข้มข้น ประกอบกับแรงจูงใจด้านราคาเฉลี่ยต่อไร่ที่สูงถึง 6,500 บาท จากเดิมช่วงปี 2547-2548 ที่มีราคาเฉลี่ยไร่ละ 4,606 บาทเท่านั้น และที่สำคัญการสนับสนุนจากซีพีในการดูแล จัดหาวัตถุดิบ รวมทั้งแหล่งเงินทุนให้ ดังนั้นแรงจูงใจดังกล่าวนอกจากทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูกในที่ดินที่มีอยู่แล้ว ยังมีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

เมื่อป่าถูกแทนที่ด้วยไร่ข้าวโพด

สถานการณ์การปลูกข้าวโพดด้วยการบุกรุกพื้นที่ป่านั้นเริ่มเกิดขึ้นอย่างจริงจังช่วงปี 2544–2545 โดยเห็นได้ชัดเจนจากการเปิดพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มที่จะขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะใน ต.แม่นาจร ซึ่งมีการปลูกข้าวโพดมากที่สุดและมีการบุกรุกพื้นที่ป่ามากที่สุดด้วย

นายประชา จันทร์ทอแสง ผู้นำหมู่บ้านเซโดซา ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม กล่าวว่า สภาพพื้นที่ป่า อ.แม่แจ่ม หลังมีการสนับสนุนการปลูกข้าวโพดจากซีพีพื้นที่ป่าลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งแนวโน้มในอนาคตหากยังไม่มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว การบุกรุกป่าเพื่อปลูกข้าวโพดยิ่งจะลุกลามเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้นภาครัฐต้องมีนโยบายในการจัดการแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน

นายประชา กล่าวต่อว่า สำหรับชุมชนเซโดซาของตนนั้นเป็นชุมชนปกากะญอ ซึ่งทำการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำการผลิตในแบบดั้งเดิม แต่ปัจจุบันการเข้ามาสนับสนุนปลูกข้าวโพดจากซีพีทำให้ชาวบ้านต้องเผชิญหน้ากับระบบทุน ซึ่งเป็นเรื่องยากที่ชาวบ้านจะต้านทานกระแสนี้ได้ ดังนั้นหากในอนาคตการผลิตของชาวบ้านต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสทุนนิยมแล้วผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงคือชาวบ้านนั่นเอง และตนเชื่อว่าในอนาคตหากพื้นที่ที่เคยปลูกข้าวโพดใน อ.แม่แจ่ม เกิดการเสื่อมสภาพ ดินไม่มีธาตุอาหาร เกิดสารเคมีตกค้างจนไม่สามารถปลูกพืชชนิดใดได้ ซีพีก็ต้องไปหาและสนับสนุนพื้นที่ปลูกแห่งใหม่ ขณะที่ชาวบ้านก็ต้องอยู่ที่แม่แจ่มต่อไป หากเป็นเช่นนี้อะไรจะเกิดขึ้นนี้ 

นายประเสริฐ ทะนะมูล ผู้ใหญ่บ้านหัวดอย ต.กองแขก อ.แม่แจ่ม กล่าวว่า พื้นที่ป่า อ.แม่แจ่ม ในปัจจุบันลงลงถึงร้อยละ 50 มี แต่ส่วนที่เป็นเขตอุทยานฯ อาจยังมีความอุดมสมบูรณ์บ้าง สาเหตุการลดลงของป่าเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกของชาวบ้านจากการสนับสนุนของนายทุนโดยเฉพาะการสนับสนุนปลูกข้าวโพด ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นพืชหลักของ อ.แม่แจ่มไปแล้ว

ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น นายประเสริฐ เสนอแนะว่า ภาครัฐและส่วนที่เกี่ยวข้องต้องมีระบบป้องกันเพื่อไม่ให้การปลูกข้าวโพดรุกล้ำไปในเขตป่า ขณะเดียวกันบริษัทเอกชนที่เข้ามาส่งเสริมก็ต้องมีมาตรการป้องกันปัญหาดังกล่าวควบคู่กันไปด้วย

ด้านตัวแทนซีพี ซึ่งกล่าวในเวทีประชุมเชิงบูรณาการ เพื่อจัดระเบียบการใช้ที่ดิน การป้องกันการปลูกพืชเศรษฐกิจ การป้องกันการตัดไม้ทำทำลายป่า และทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม และ อ.อมก๋อย  ณ สวนป่าแม่แจ่ม องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ อ.แม่แจ่ม เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า ตนเห็นว่าปัญหาใหญ่ของ อ.แม่แจ่ม คือเรื่องที่ดินและยาเสพติด ที่ผ่านมาปัญหาที่เกิดขึ้น ซีพีมีส่วนร่วมในการสร้างวิถีชุมชนคือการส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวโพด แต่ก็มีการเน้นย้ำมาตลอดว่าซีพีไม่สนับสนุนให้ไปปลูกโดยการไปบุกรุกป่า ขณะเดียวกันปัจจุบันเรื่องการเกษตรนั้นกลายเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศไปแล้ว กล่าวคือรัฐบาลต้องการให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก ซึ่งทางซีพีเองก็สนับสนุนนโยบายนี้ และไม่เฉพาะ อ.แม่แจ่ม เท่านั้น ที่ผ่านมาซีพีไปสำรวจพื้นที่ในหลายจังหวัดเพื่อที่จะปลูกข้าวโพดด้วย

ขณะที่นายวิมล มาจันทร์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร 6 สำนักงานเกษตร อ.แม่แจ่ม กล่าวว่า การปลูกข้าวโพดใน อ.แม่แจ่ม เกษตรกรจะปลูกปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกปลูกเดือน พ.ค.และเก็บเกี่ยวช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. ครั้งที่สองปลูกเดือน มิ.ย.เก็บเกี่ยวเดือน ธ.ค. และนับวันยิ่งจะราคาดีขึ้น อย่างปี 2550 ที่ผ่านมา ราคากิโลกรัมละ 8-9 บาท ขณะที่ต้นทุนต่อไร่เฉลี่ยประมาณ 2,500-3,000 บาท ส่วนผลผลิตที่ได้เฉลี่ย 750 กิโลกรัมต่อไร่ และในปี 2551 นี้มีแนวโน้มว่าราคาจะสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 10 บาท ขณะที่ปีที่แล้วๆ มาราคาจะอยู่ที่ 3.5-5 บาท ซึ่งจากราคาที่สูงอย่างนี้ทำให้ชาวบ้านปลูกกันเยอะมาก และมีผลต่อการบุกรุกป่าด้วย

นายวิมล กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมานั้น การส่งเสริมของซีพีใน อ.แม่แจ่ม ซีพีจะประสานกับ ธกส.รวมทั้งสหกรณ์เพื่อเป็นแหล่งเงินกู้ให้แก่เกษตรกร ขณะเดียวกันเกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากซีพีในราคากิโลกรัมละ 80-85 บาท ใน 1 ไร่ ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 5 กิโลกรัม นอกจากนั้นก็จะมีเรื่องปุ๋ย ยาฆ่าแมลงด้วย

นอกจากนี้ นายวิมล กล่าวอีกว่า การลดลงของพื้นที่จากการเข้ามาส่งเสริมของซีพีนั้น ตนเห็นว่าจะไปโทษซีพีทั้งหมดก็ไม่ได้ เพราะเรื่องนี้อยู่ที่ชาวบ้าน ชาวบ้านต้องมีจิตสำนึก อาจปลูกในพื้นที่เดิมที่มีอยู่แต่ให้เกิดผลผลิตเพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องไปบุกรุกป่า ซึ่งที่ผ่านมาเราเข้าไปให้คำแนะนำโดยตลอด แต่ชาวบ้านก็ไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร ดังนั้นตนเห็นว่าในอนาคตหากต้องการแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกข้าวโพดให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต้องนำแนวคิดการไม่ขยายพื้นที่ปลูกแต่ต้องเพื่อผลผลิตต่อไร่ให้เพิ่มขึ้นจะสามารถแก้ปัญหาได้  

อย่างไรก็ตาม จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นเห็นได้ชัดว่า ผลจากการส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมักเกิดขึ้นควบคู่กับการหายไปของพื้นที่ป่าเสมอ ปัญหาดังกล่าวกลุ่มผู้สนับสนุนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือบริษัทเอกชนเองก็มักมองข้ามหรือแสร้งไม่เห็นปัญหาที่จะตามมา ทั้งป่าถูกทำลาย ดินเสื่อมสภาพ สารเคมีตกค้าง เหล่านี้ล้วนเป็นบทเรียนที่เกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ ซึ่งแต่ละพื้นที่เหล่านั้นชัดเจนว่าผู้ได้รับผลกระทบก็เป็นเกษตรกรนั่นเอง ดังนั้นกรณีการปลูกข้าวโพดใน อ.แม่แจ่ม สังคมคงต้องช่วยกันพิจารณากันว่าในระยะต่อไปจากนี้เราจะสร้างมาตรการ และทางออกในปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร.