ไบโอไทยจับมือเครือข่ายเกษตรกรและผู้บริโภคหนุนกรมวิชาการเกษตรขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชภายในระยะเวลาที่กำหนด ชี้ธุรกิจเคมีเกษตรหวังผลประโยชน์เพื่อตนเองโดยไม่รับผิดชอบผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้บริโภค เตรียมแถลงข่าววันที่ 27 เมษายน นี้

ตามที่กลุ่มธุรกิจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้เคลื่อนไหวให้มีการเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายวัตถุอันตรายโดยให้เลื่อนการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชออกไปอีก 2 ปี และกดดันให้กรมวิชาการเกษตรผ่อนผันการจัดจำหน่ายสารเคมีการเกษตร โดยอ้างผลกระทบต่อเกษตรกรที่อาจจะไม่สามารถซื้อสารเคมีเกษตรมาใช้ และส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตรนั้น

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีหรือไบโอไทยได้แจ้งว่า ไบโอไทยร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรและองค์กรผู้บริโภคจะเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนการดำเนินการของกรมวิชาการเกษตร เพื่อเร่งรัดให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด เพราะทางราชการได้ให้เวลาแก่บริษัทสารเคมีการเกษตรดังกล่าวมาแล้วถึง 3 ปี โดยในระหว่างระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวก็มีการหารืออย่างใกล้ชิดกับธุรกิจสารเคมีมาตลอด “หากนับเวลาตั้งแต่มีประกาศของกรมวิชาการเกษตรเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2552 บริษัทสารเคมีการเกษตรมีเวลาถึง 1 ปีกับ 9 เดือนครึ่งที่จะขึ้นทะเบียน ในขณะที่ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนใช้เวลาเพียง 6-8 เดือนเท่านั้น แต่บริษัทเหล่านี้ก็ละเลยที่จะดำเนินการ เพราะเชื่อว่าจะสามารถเคลื่อนไหวกดดันให้มีการผ่อนผันการขึ้นทะเบียนออกไปได้” นายวิฑูรย์กล่าว

ผู้อำนวยการไบโอไทยยังระบุด้วยว่า ประเทศเวียดนามได้ดำเนินการเช่นเดียวกับรัฐบาลไทย โดยได้ดำเนินการเพื่อควบคุมการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจนแล้วเสร็จก่อนหน้านี้ โดยค่าใช้จ่ายต่อการขึ้นทะเบียนต่อสารเคมีอยู่ที่ 3,000 -5,000 เหรียญ หรือ 100,000-150,0000 บาทต่อทะเบียนเท่านั้น มิได้สูงถึง 1-1.5 ล้านบาทตามที่สมาคมธุรกิจสารเคมีกล่าวอ้าง ธุรกิจสารเคมีการเกษตรควรนำค่าใช้จ่ายในการโฆษณาและส่งเสริมการขายสารเคมี เช่น ให้การสนับสนุนเอเย่นต์ ร้านค้าซึ่งเป็นลูกค้าไปท่องเที่ยวต่างประเทศ หรือให้รางวัลจูงใจในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นจำนวนเงินนับร้อยล้านบาทมาใช้สำหรับการขึ้นทะเบียนสารเคมีให้ถูกต้องจะดีกว่า เพราะการส่งเสริมการขายในรูปแบบดังกล่าวขัดกับ “จรรยาบรรณระหว่างประเทศว่าด้วยการจำหน่ายและการใช้สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ” อย่างชัดเจน

“เท่าที่ผ่านมานโยบายของประเทศได้เอื้ออำนวยต่อบริษัทธุรกิจสารเคมีการเกษตรมาโดยตลอด เช่น ยกเว้นภาษีการนำเข้าสารเคมีการเกษตรมานานเกือบ 20 ปี อีกทั้งได้ปล่อยปละละเลยให้บริษัทสารเคมีการเกษตรสามารถขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีเป็นจำนวนมากกว่า 27,000 รายการ ซึ่งมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านเช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งมีการอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเพียงประมาณ 1,000 – 2,000 ชนิดเท่านั้น การปล่อยปละละเลยดังกล่าวทำให้มีการใช้สารเคมีการเกษตรอย่างเกินความจำเป็น เช่น จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ในปี 2550 มีเกษตรกรมากกว่า 38.52% ได้รับสารเคมีการเกษตรสะสมในกระแสเลือดที่อยู่ในขั้นเสี่ยงและไม่ปลอดภัยซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี สารเคมีดังกล่าวยังตกค้างในอาหารและทำให้เกิดปัญหาการส่งออกผักและผลไม้ไปยุโรป เพราะจากตัวเลขพบว่าผักและผลไม้ของประเทศไทยพบปริมาณการตกค้างของสารเคมีการเกษตรมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในบรรดา 70 กว่าประเทศที่ส่งออกไปยังยุโรป และระหว่างนี้กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงมาตรฐานการส่งออกให้เข้มงวดขึ้น”

“ ปัญหาหลักของการใช้สารเคมีคือการใช้สารเคมีการเกษตรมากเกินไป คุณภาพต่ำ และไม่มีการคุ้มครองผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้บริโภคที่ได้รับสารพิษ ซึ่งบริษัทสารเคมีการเกษตรในประเทศไทยต้องมีจิตสำนึกในการร่วมรับผิดชอบกับปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย ” นายวิฑูรย์สรุป

อนึ่งการจัดประชุมและแถลงข่าวของเครือข่ายเกษตรกร องค์กรสิ่งแวดล้อม และองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคจะมีขึ้นในวันที่ 27 เมษายนนี้ ที่เคยูโฮม ม.เกษตรศาสตร์ เวลา 13.30 น.