ผลจากการสัมมนาเวทีวิชาการเกษตรพันธสัญญาประจำปี 2555 “เกษตรพันธสัญญา:ใครอิ่ม ใคร…อด ?” ในวันที่ 26 – 27 มิถุนายน 2555 เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา นักวิชาการ สื่อมวลชน และภาคประชาสังคม ได้มีการระดมข้อคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหา ทางเลือก และทางออกของระบบเกษตรพันธสัญญา จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบาย ดังนี้

1. จากการศึกษาวิจัยเรื่องความไม่เป็นธรรมของระบบเกษตรพันธสัญญาของสถาบันวิชาการหลายแห่ง เช่น ศูนย์การศึกษากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่า มีเกษตรกรจำนวนมากที่ตกอยู่ในวงจรหนี้สิน บางกลุ่มอยู่ในขั้นตอนการบังคับคดีอันเนื่องมาจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ไม่เท่าทันข้อมูลและสถานการณ์ บางครอบครัวล้มละลาย ซึ่งจะต้องได้รับการเยียวยาโดยเร่งด่วน จึงมีข้อเสนอ ดังนี้

  • ให้ คณะอนุกรรมการด้านเกษตรพันธะสัญญาที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ที่ 4/2555 ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2555 ลงนามโดย นายยงยุทธ์ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี เร่งดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อ สำรวจและขึ้นทะเบียนผู้ที่ได้รับผลกระทบที่จะต้องได้รับการเยียวยา ภายใน 3 เดือน
  • ให้แต่งตั้งคณะทำงานกลางเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนจากความไม่เป็นธรรมและหนี้สิน รวมทั้งการฟ้องร้อง ดำเนินคดี เป็นการเฉพาะ เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์และดำเนินการช่วยเหลือและเยียวยาขึ้น ภายใน 1 เดือน หลังจากมีการสำรวจและขึ้นทะเบียนเสร็จ

2. เนื่องจากโครงสร้างของระบบการผลิตทางการเกษตรของไทยในปัจจุบันพัฒนาเข้าสู่โครงสร้างการผลิตแบบระบบธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร จะต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับ การจัดการแบบใหม่ องค์ความรู้เฉพาะในการผลิตและการตลาดแนวใหม่ ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรที่อยู่ในระบบและกำลังจะเข้าสู่ระบบ มีข้อมูลองค์ความรู้ในการจัดการการผลิต และการตัดสินในการเข้าสู่ระบบ จึงมีข้อเสนอ ดังนี้

  • ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สภาเกษตรกรแห่งชาติ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุน และส่งเสริมให้เกษตรกรและผู้บริโภค มีความรู้ ข้อมูลข่าวสารที่ทันการณ์ และเท่าทัน ในเรื่องสัญญาที่เป็นธรรม การบริหารจัดการและการผลิตที่เน้นมาตรฐานและคุณภาพ และประกอบการตัดสินใจก่อนเข้าสู่ระบบ
  • ให้คณะทำงานในข้อ 1.1 เป็นกลไกหลักในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อความเป็นธรรมในระบบเกษตรพันธะสัญญา เพื่อใช้เป็นกรอบในการปฏิบัติในการส่งเสริมและสนับสนุน การเข้าสู่ระบบ และอยู่ในระบบอย่างเป็นธรรม มีความรับผิดชอบต่อผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติของส่วนรวม โดยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง สภาเกษตรกรแห่งชาติ เครือข่ายผู้บริโภค ประชาสังคม และสื่อมวลชน ภายใน 6 เดือน
  • ให้ สภาเกษตรกรแห่งชาติ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา สื่อมวลชน และภาคประชาสังคม จัดให้มีสมัชชาเพื่อรับฟังความคิดเห็น รวบรวมปัญหาและผลกระทบ และข้อเสนอ เพื่อจัดทำ “ธรรมนูญของเกษตรกร” และนำผลการจัดทำสมัชชา
    มาจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานตามกรอบแผนยุทธศาสตร์ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

3. เนื่องจากโครงสร้างของระบบการผลิตทางการเกษตรของไทยในปัจจุบันพัฒนาเข้าสู่โครงสร้างการผลิตแบบระบบธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปฎิรูประบอบกฎหมายที่สามารถอำนวยให้เกิดความเป็นธรรมให้แก่ เกษตรกร ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ สังคม รวมถึงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ข้อเสนอเพิ่มเติม

  • รัฐควรมีนโยบายกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติในการประกาศหรือประชาสัมพันธ์กิจกรรมเกษตรพันธสัญญาให้ประชาชนเข้าใจ
  • ส่งเสริมเกษตรกรพันธสัญญาที่เป็นการจัดการและการป้องกันแก้ไขปัญหาโดยเกษตรกรกลุ่มองค์กรและหน่วยงานในทุกระดับ โดยเฉพาะท้องถิ่น
  • ก่อนดำเนินการหรือระหว่างดำเนินการเกษตรพันธสัญญาต้องมีการสร้างข้อตกลงความร่วมมือและขออนุญาตองค์กรท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่
  • วางมาตรการป้องกันผลกระทบทั้งด้านการผลิต (ระบุให้ชัดว่าราชการและท้องถิ่นในการจัดกาต่างๆ แก่เกษตรกร รวมทั้งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม) (ระบุให้ชัดลงไปเลย)
  • (ข้อ 2.3 ตรงค่ามาตรฐานกลางของปัจจัยการผลิตฯ) ที่สอดคล้องกับองค์ความรู้ ทุน และเทคโนโลยีที่สามารถจัดหาและดำเนินการได้ของเกษตรกรและท้องถิ่นได้
  • (ข้อ 2.4) ระบบการส่งเสริมดูแลและตรวจสอบกระบวนการผลิตตั้งแต่การจัดหาปัจจัยการผลิต, การผลิต และการจำหน่ายโดยการมีส่วนร่วมของทุกระดับ
  • (ข้อ 2.5) มีกระบวนการจัดการผลผลิตและการจำหน่ายที่สอดคล้องกับต้นทุน กำรที่เหมาะสมแก่เกษตรกรและผู้บริโภค
  • (ข้อ2.6 การไกล่เกลี่ยและการระงับข้อพิพาท) ทั้งกระบวนการสร้างความเข้าใจ, ความร่วมมือและกระบวนการทำงานในทุกระดับ
  • (ข้อ 2.7 สัญญาที่มีแบบมาตรฐาน) ที่เกษตรกรและท้องถิ่นจัดการได้
  • (ข้อ 2.8 ส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้) ต้องมี “คนกลาง” เป็นผู้ดำเนินงานและลดการประชาสัมพันธ์ หรือจัดการโดยฝ่ายทุน, การเมือง(ขี้โกง) และราชการ (กังฉิน)

คณะทำงานเครือข่ายเกษตรพันธสัญญา
เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา (เครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย)
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน, มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
สถาบันชุมชนเพื่อเกษตรกรรมยั่งยืน, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน