เกี่ยวกับมูลนิธิ

มูลนิธิชีววิถี หรือ
ไบโอไทย (BIOTHAI)

ก่อตั้งขึ้นจากการรวมตัวกันของ นักกิจกรรมทางสังคม เกษตรกร นักวิชาการ ข้าราชการ และสมาชิกในชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ตระหนักใน ประเด็นความสำคัญ ปัญหา และทางออก เกี่ยวกับการอนุรักษ์พัฒนา ใช้ ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ/ภูมิปัญญาท้องถิ่น สิทธิชุมชน ความมั่นคง/อธิปไตยทางอาหาร เกษตรกรรม/การพัฒนาที่ยั่งยืน และการค้าที่เป็นธรรม

ชื่อของไบโอไทยเกิดขึ้นเมื่อปี 2538 เพื่อเป็นชื่อ เรียกสั้นๆ เป็น ภาษาอังกฤษของ “เครือข่ายสิทธิ ภูมิปัญญาไทย” (Thai Network on Community Rights and Biodiversity) ซึ่งเป็นเครือข่ายของกลุ่มบุคคล ที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพ และ ภูมิปัญญา ท้องถิ่นในประเทศไทย โดยงานสำคัญในระยะแรกของ ไบโอไทยคือการ วิเคราะห์และเผยแพร่เนื้อหาของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทาง ชีวภาพในแง่มุมต่างๆต่อสาธารณชน การผลักดัน กฎหมายคุ้มครอง ทรัพยากรพันธุกรรม และ ภูมิปัญญา การแพทย์ แผนไทย

การจัดประชุมระหว่างประเทศและประสานงานระหว่างประเทศเพื่อ สนับสนุนให้มีการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของเกษตรกรและชุมชนในทรัพยากรชีวภาพในประเทศโลกที่สามรวมถึงการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักในปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรพันธุกรรมโดยบรรษัทข้ามชาติและประเทศอุตสาหกรรม ในปี 2542 ไบโอไทยได้จัดตั้งเป็นองค์กรขึ้นอย่างถาวรเพื่อสนับสนุนการทำงาน ของเครือข่าย โดยใช้ชื่อว่า “องค์กรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทย” (Biodiversity & Community Rights Action Thailand)

เนื่องจากงานเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้น ได้ขยายออกไปกว้างขวาง มากขึ้น สมควรที่จะมีองค์กรที่สนับสนุนทางด้านข้อมูล วิชาการ และอื่นๆแก่เกษตรกร ชุมชนท้องถิ่น และเครือข่ายที่ทำงานเกี่ยวข้องในประเด็นดังกล่าวอย่างถาวร ไบโอไทยได้ยื่นจดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิ อย่างเป็นทางการเมือปี 2549 ภายใต้ชื่อ “มูลนิธิชีววิถี” โดยคงชื่อภาษาอังกฤษว่า “ไบโอไทย” (BioThai) เพื่อสืบทอด สายธารแห่งการทำงานเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เริ่มต้นมา ตั้งแต่ปี 2538 แม้ว่าในระยะหลังบทบาทของไบโอไทย ได้ขยายวงไปสู่ประเด็นที่กว้างขวางมากขึ้น เช่น ความมั่นคงทางอาหาร การติดตามบทบาทบรรษัท และการค้าที่เป็นธรรม เป็นต้น

ล่าสุดไบโอไทยได้ปรับชื่อ เพื่อให้สอดคล้องกับกรอบงานมากขึ้นเป็น “เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อ ความหลากหลายทางชีวภาพ เกษตรกรรม ยั่งยืน และอธิปไตยทางอาหาร ประเทศไทย”(Biodiversity and Food Sovereignty
Action Thailand- BIOTHAI)

ประวัติความเป็นมา

2538

เริ่มก่อตั้ง

“เครือข่ายสิทธิภูมิปัญญาไทย” (Thai Network on Community Rights and Biodiversity) ทำงานสนับสนุน ข้อมูลงานวิชาการ ให้แก่กลุ่มเกษตรกรเกี่ยวกับประเด็น ความหลากหลายทางชีวภาพ และ ภูมิปัญญาท้องถิ่นใน ประเทศไทยจนนำติดตามและตรวจสอบกรณีการปนเปื้อนทางพันธุกรรมของพืชดัดแปลงพันธุกรรม(GMOs) เช่น ฝ้ายบีที โดยรายงานสถานการณ์และปัญหาดังกล่าวต่อ สาธารณชนและสื่อมวลชนอย่างสม่ำเสมอนับตั้งแต่นั้น จนถึงปัจจุบัน

2540

ขับเคลื่อนและผลักดันกฎหมายเพื่อคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น

ขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดนโยบายและกฎหมายเพื่อคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยใช้ กฎหมายที่มีลักษณะเฉพาะ (sui generis) เช่น พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญา การแพทย์แผนไทย คัดค้านนโยบายการปลูกพืชจีเอ็มโอ ในเชิงพาณิชย์และการทดลองในสภาพเปิดที่ขาดการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ

2541

ทำงานร่วมกับเครือข่ายเกษตรกร

ทำงานร่วมกับเครือข่ายเกษตรกร คัดค้านการจด สิทธิบัตรพันธุ์ข้าวและการแอบอ้างใช้ชื่อข้าวขาวดอกมะลิของสหรัฐอเมริกาจนทำให้สาธารณะเริ่มสนใจเรื่องสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต

2542

พัฒนางานด้านวิชาการ

พัฒนาเนื้อหาการทำงาน และปรับเปลี่ยนไปสู่ องค์กรด้านวิชาการเพื่อเครือข่ายเกษตรกรในนาม “องค์กรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทย” (Biodiversity & Community Rights Action Thailand) หรือเรียกว่า BIOTHAI

2545

จับตาบรรษัทด้านเกษตรและอาหาร

เข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม “กลุ่มติดตามบทบาทบรรษัท(Corporate Watch)” โดยรับผิดชอบติดตามบรรษัทที่มีการค้าการลงทุนเกี่ยวกับทรัพยากรพันธุกรรม และระบบอาหารในประเทศไทย

2546

ร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้ง กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch)

โดยมีเครือข่ายนักวิชาการ สถาบันการศึกษา องค์กรอิสระ องค์กรพัฒนาเอกชน และเครือข่ายองค์กรประชาชน เพื่อศึกษาวิจัยและตรวจสอบนโยบายที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศ

2549

จดทะเบียนนิติบุคคลในนาม มูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI)

ขยายวงไปสู่ประเด็นที่กว้างขวางมากขึ้น เช่น ความมั่นคงทางอาหาร การติดตามบทบาทบรรษัท และการค้าที่เป็นธรรม เป็นต้น

2550

ทำงานร่วมกับองค์กรภาคีต่างๆเพื่อให้การสนับสนุนชุมชนมากกว่า 400 ชุมชนทั่วทุกภาคของประเทศ

เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ ฟื้นฟูและพัฒนาการใช้ประโยชน์พันธุกรรมข้าว ผักพื้นบ้าน ไม้ผลเมืองร้อน เพื่อยกระดับการพึ่งพาตนเองและความมั่นคงทางอาหาร ในนาม “เครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร”

2552

เริ่มทำงานรณรงค์วัฒนธรรมอาหารที่สนับสนุนชุมชนท้องถิ่น

ในชื่อ “กินเปลี่ยนโลก” หรือ Food4change แรกเริ่มงานจัดประกวดสวนผักในบ้านฉัน น้ำพริก4ภาค รณรงค์อาหารท้องถิ่น และขยายงานไปสู่การเชื่อมโยงอาหารจากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภค(From farm to table)

2553

ร่วมก่อตั้ง "คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม (Thai Working Group for Climate Justice:TCJ)"

ติดตามกระบวนการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งในระดับสากลและ ระดับประเทศ สนับสนุนเครือข่ายท้องถิ่นในการวิเคราะห์สถานการณ์และหาแนวทางแก้ไขปัญหาผล กระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบจากมาตรการแก้ปัญหาการ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปรับ ตัวของเกษตรกรรายย่อย

2554

ร่วมก่อตั้ง เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช(Thai-PAN)

รวมตัวกับกลุ่มนักวิชาการจากหลากหลายสาขา องค์กรสาธารณประโยชน์ด้านการเกษตรและการคุ้มครองผู้บริโภค และกลุ่มเกษตรกร ก่อตั้ง เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thailand Pesticide Alert Network: Thai-PAN) ทำงานพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของสารเคมีทางการเกษตร สื่อสารสาธารณะและเตือนภัยปัญหาของสารเคมี รวมไปถึงการขับเคลื่อนทางนโยบายด้านการจัดการและควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จนสามารถผลักดันให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายร้ายแรง

2556

คัดค้านการเข้าร่วมอนุสัญญายูปอพ 1991 (UPOV 1991)

ร่วมกับกลุ่มเกษตรกร คัดค้านการเข้าร่วมอนุสัญญายูปอพ 1991 (UPOV 1991) ทำลายสิทธิเกษตรกรในการเก็บรักษาและแลกเปลี่ยนสายพันธุ์พืช ซึ่งเป็นสิทธิตามวิถีเกษตรกรรมของเกษตรกรรายย่อย

2558

ยับยั้งกฎหมายจีเอ็มโอ

ร่วมกับกลุ่มเกษตรและผู้บริโภคทั่วประเทศ ยับยั้งพรบ.จีเอ็มโอที่ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างรุนแรง

2559

NO CPTPP

ติดตามและตรวจสอบข้อตกลง TPP ขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรพันธุ์พืช และการเปิดเสรีสินค้าและบริการที่สหรัฐฯเป็นผู้นำเช่น จีเอ็มโอ และผลิตภัณฑ์อาหารดัดแปลงพันธุกรรม ที่หลายประเทศไม่ยอมรับ และต่อมาได้ปรับเปลี่ยนสมาชิก และเปลี่ยนชื่อไปเป็น CPTPP ในเวลาต่อมา

2560

ก่อตั้ง “สวนชีววิถี” (GrowingDiversityPark)

เพื่อเป็นพื้นที่สื่อสารประเด็นด้านความมั่นคงทางอาหาร ปัญหาด้านการกินการเลือกอาหารของคนเมือง การเข้าถึงอาหารดี ปลอดสารเคมี พื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผ่านการลงมือทดลองปฏิบัติ และนำเสนอรูปแบบการจัดการสวนในพื้นที่จำกัด สถานที่ธรรมชาติใกล้เมืองในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี

2561

สร้างปฏิบัติการเครือข่าย

ไบโอไทยได้ปรับชื่อ เพื่อให้สอดคล้องกับกรอบงานมากขึ้นเป็น “เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อความหลายหลายทางชีวภาพ เกษตรกรรมยั่งยืน และอธิปไตยทางอาหาร ประเทศไทย” (ฺBiodiversity&FoodSovereignty Action Thailand)

2562

ขยายเนื้องานเกี่ยวกับผู้บริโภค

ร่วมงานกับ Oxfam UK เพื่อทำงานณรงค์เกี่ยวกับระบบอาหารในชื่อ แคมเปญ “ผู้บริโภคที่รัก” ชวนผู้บริโภคและซูเปอร์มาร์เก็ตมาร่วมให้ความสำคัญกับ ‘คนต้นทาง’ และการผลิตอาหารที่ยั่งยืน เป็นธรรมกับเกษตรกรและแรงงาน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

2563

สวนยกร่องสู้ภัยพิบัติ

เริ่มต้นการศึกษาวิจัยรูปแบบการจัดการ สวนยกร่องในพื้นที่เกษตรภาคกลางและพื้นที่อื่นๆ เพื่อรับมือภัยพิบัติ จนนำไปสู่กลุ่มงานศึกษาเรื่อง นิเวศเกษตร(Biodiversity and Agroecology)ในปัจจุบัน

2564

สู้ภัยโควิทด้วยทรัพยากรชีวภาพ

รวบรวมองค์ความรู้และการใช้ภูมิปัญญาด้านสมุนไพรเพื่อเป็นทางออกในภาวะวิกฤตโรคระบาดโควิท-19

2565

นิเวศเกษตร

ศึกษา รวบรวมความรู้และความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ เกษตรกรรมเชิงนิเวศ(Biodiversity and Agroecology)

2566

อาหารกลางวันในโรงเรียน

ผลักดันให้เกิดอาหารกลางวันในโรงเรียนที่เพียงพอ คุณภาพดี เชื่อมโยงวัตถุดิบในท้องถิ่นที่ สด สะอาด ครบถ้วนและปลอดภัย ผลิตจากแปลงเกษตรบนฐานทรัพยากรในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นใกล้โรงเรียน

วัตถุประสงค์ขององค์กร

ศึกษาวิจัยด้านทรัพยากรชีวภาพ เกษตรกรรม อาหาร สิทธิเกษตรกรและชุมชน

ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ ทรัพยากรชีวภาพ เกษตรกรรม อาหาร สิทธิเกษตรกรและชุมชนแก่ประชาชนทั่วไป

เสนอแนะและพัฒนานโยบายสาธารณะที่ เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรการพัฒนา เศรษฐกิจ วัฒนธรรม เพื่อการพัฒนาสังคม อย่างยั่งยืน

กิจกรรมสำคัญ

  • สนับสนุนบทบาทและความเข้มแข็งของเกษตรกร ชุมชนท้องถิ่น และเครือข่ายภาค ประชาชน ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา และใช้ประโยชน์ อย่างยั่งยืนจาก ทรัพยากรชีวภาพ ปัจจุบันมูลนิธิได้ทำงานร่วมกับองค์กร ภาคี ต่างๆเพื่อให้การสนับสนุนชุมชนมากกว่า 400 ชุมชน ทั่วทุกภาคของประเทศไทย เพื่ออนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบ นิเวศ ฟื้นฟู และ พัฒนาการใช้ประโยชน์พันธุกรรมข้าว ผักพื้นบ้าน ไม้ผลเมืองร้อน เพื่อยกระดับการพึ่งพาตนเอง และความมั่นคงทางอาหาร
  • ร่วมกับชุมชนและเครือข่ายต่างๆรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับอาหารท้องถิ่น เช่น สูตร น้ำพริก อาหารจากถั่ว อาหารจากผักพื้นบ้าน ฯลฯ ขับเคลื่อน การรณรงค์ภายใต้ชื่อ “กินเปลี่ยนโลก” หรือ “Food for Change” เพื่อให้ผู้บริโภคตระหนักและเปลี่ยนวิถีการ บริโภคมาสนับสนุน วิถีการผลิตของชุมชน ท้องถินที่อนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติ มีระบบ การผลิตที่ยั่งยืน คำนึงถึงสุขภาพและสิ่งแวดล้อม สร้างความเท่าเทียมและเกื้อกุลระหว่าง เกษตรกร/ชุมชนท้องถิ่นกับผู้บริโภค
  • รณรงค์และเผยแพร่ปัญหาผลกระทบต่อทรัพยากรชีวภาพ เช่น การเคลื่อนไหวต่อต้าน “โจรสลัดชีวภาพ” เช่น กรณีการจดสิทธิบัตร ข้าวหอมมะลิไทย ติดตามและตรวจสอบ ผลกระทบของพันธุวิศวกรรมต่อระบบเกษตรและอาหาร ในกรณีการปนเปื้อนทาง พันธุกรรม ของพืชดัดแปลงพันธุกรรม เช่น ฝ้ายบีที มะละกอ จีเอ็มโอ ต้านทานโรคใบด่าง จุดวงแหวน ข้าวโพดบีที และถั่วเหลืองราวด์อับเรดดี้ โดยรายงานสถานการณ์ และปัญหา ดังกล่าวต่อสาธารณชนและ สื่อมวลชนอย่างสม่ำเสมอนับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน
  • ขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดนโยบายและกฎหมายเพื่อคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยใช้ กฎหมายที่มีลักษณะเฉพาะ (sui generis) เช่น พ.ร.บ.คุ้มครอง พันธุ์พืช พ.ศ.2542 พ.ร.บ.คุ้มครอง และส่งเสริม ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 คัดค้านนโยบายการปลูกพืชจีเอ็มโอในเชิงพาณิชย์ และการทดลองในสภาพเปิดที่ขาดการ ควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ร่วมก่อตั้ง “กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเส รีภาคประชาชน” หรือ “เอฟทีเอว็อทช์” เมื่อปี 2547 ร่วมกับ องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ และองค์กรภาคประชาชน เพื่อติดตาม และเคลื่อนไหวปัญหาของการ เปิดเสรีการค้า ที่มีผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และ ผู้ประกอบการ รายย่อย และร่วมก่อตั้งกลุ่ม “ติดตามบทบาทบรรษัท” เพื่อสร้างความ ตระหนักเกี่ยวกับปัญหาของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีกิจกรรมซึ่งสร้างผลกระทบต่อสังคมและ สิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและความมั่นคงทางอาหาร
  • ร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคมในประเทศต่างๆเพื่อสร้างความร่วมมือของประชาชนและความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายระหว่างประเทศที่เกียวกับประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพ เกษตรกรรมยั่งยืน การค้าที่เป็นธรรม และการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ

Biodiversity and Food Sovereignty
Action Thailand

องค์กรที่สนับสนุนทุนในการดำเนินงานของมูลนิธิ

นับตั้งแต่ก่อตั้งองค์กรเมื่อปี 2538 เป็นต้นมา ไบโอไทยได้รับการสนับสนุน
ทุนในการดำเนินกิจกรรมจากหลายองค์กร ทั้งในและต่างประเทศ ดังนี้

partner
partner
partner
partner
partner
partner
partner
partner
partner
partner

หน่วยงานในประเทศ ได้แก่ - สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ,โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (Biodiversity Research and Training Program- BRT),สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

องค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ – Swedish Society for Nature Conservation(SSNC), OXFAM Great Britain, GRAIN , สหภาพยุโรป(EU)

งบประมาณการดำเนินงานของมูลนิธิที่ได้จากการสนับสนุนจากภายในประเทศ มีสัดส่วนประมาณ 85% ของงบประมาณทั้งหมด

นอกเหนือจากองค์กรดังกล่าวแล้ว ยังมีเงินบริจาคจากประชาชนทั่วไปเพื่อสนับสนุน กิจกรรมต่างๆ เช่น สิ่งพิมพ์ โปสเตอร์ สื่อรณรงค์ต่างๆ เป็นต้น นับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา

เว็บไซต์เกี่ยวกับการดำเนินงานของมูลนิธิ