สหรัฐบีบบังคับให้ประเทศอื่น ออกกฎหมายคุ้มครอง ทรัพย์สินทางปัญญา และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธที่จะรับรอง กฎหมายระหว่างประเทศ ที่จะผูกพันสหรัฐ ให้ต้องเคารพสิทธิ เหนือทรัพยากรชีวภาพ ของประเทศอื่น

ตอนเช้าของวันที่ 9 พฤศจิกายน 2544 ผมได้รับเชิญให้ไปอภิปรายในงาน Bio-Thailand 2001 ซึ่งจัดโดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ภายใต้หัวข้อ “Legal Aspects of Biotechnology”

ในการอภิปรายวันนั้น มีการหยิบยกประเด็นข้าวหอมมะลิขึ้นมาวิเคราะห์ ผู้อภิปรายร่วมกับผมท่านหนึ่งได้ตั้งคำถามอย่างน่าสนใจว่า

เป็นการถูกต้องหรือไม่ ที่จะกล่าวหานายคริส เดเรน นักวิจัยสหรัฐผู้ที่นำข้าวหอมมะลิของไทยไปปรับปรุงพันธุ์ ว่าเป็นโจรสลัดหรือเป็นขโมย”

ผู้อภิปรายท่านนี้ได้ให้เหตุผลว่า เมื่อนายเดเรนได้พันธุ์ข้าวหอมมะลิไปจากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ หรืออีร์รี (IRRI) ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ส่งตัวอย่างพันธุ์ข้าวไปเก็บไว้เอง นายเดเรนก็มิได้กระทำการใดที่ไม่ถูกต้อง

หรือหากปรากฏว่ามีการนำข้าวออกไปจากประเทศไทยโดยตรง ก็เป็นการนำออกไปก่อนที่ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 จะมีผลใช้บังคับ ซึ่งการนำพันธุ์ข้าวหอมมะลิออกไปในขณะที่ยังไม่มีกฎหมายห้ามไว้ จะถือว่านายเดเรนขโมยข้าวไทยได้อย่างไร

ผมจำได้ว่า เดิมคำว่า “โจรสลัด” (piracy) นั้นเป็นคำสามัญ ที่ใช้เรียกโจรผู้ร้ายที่อาละวาดปล้นชิงเรือโดยสารหรือเรือบรรทุกสินค้าในท้องทะเล ผู้แทนการค้าสหรัฐสมัยรัฐบาลเรแกน เป็นคนแรกที่นำคำว่า โจรสลัด” มาใช้กับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา โดยเปรียบเทียบการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่นว่า เป็นการกระทำเสมือนโจรสลัด

รวมทั้งได้เรียกประเทศคู่ค้าที่ไม่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐว่า เป็นโจรสลัดเช่นเดียวกัน ซึ่งประเทศไทยก็เคยได้รับเกียรติถูกเรียกขานเช่นนี้ เมื่อครั้งที่สหรัฐกล่าวหาไทยว่า ไม่คุ้มครองสิทธิบัตรยา โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ของสหรัฐ

ประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ ไม่มีศักยภาพที่จะพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง แต่เพราะต้องการจะได้เทคโนโลยีจากประเทศที่พัฒนาแล้วมาใช้ประโยชน์ ประเทศที่ยากจนจึงใช้นโยบายไม่คุ้มครองเทคโนโลยีอย่างเข้มงวดนัก ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้งานและการเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นไปอย่างเสรี ไม่ถูกจำกัด หรือผูกขาดโดยสิทธิตามกฎหมาย

แต่การใช้นโยบายเช่นนี้ ได้ทำให้ประเทศกำลังพัฒนา ถูกประณามและถูกตราหน้าว่าเป็นโจรสลัด ทั้งที่ประเทศเหล่านั้นมิได้กระทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายภายใน หรือกฎหมายระหว่างประเทศ

เช่น เมื่อกฎหมายไทยไม่คุ้มครองสิทธิบัตรยา และในขณะนั้น ก็ไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศผูกพันให้ไทยต้องกระทำการเช่นนั้น คนในประเทศไทยก็ควรมีสิทธิอย่างเต็มที่ ที่จะใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ยา

อย่างไรก็ดี สหรัฐและประเทศอุตสาหกรรมอ้างว่า การเคารพสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญานั้นเป็นมาตรฐานสากล ที่ไม่เกี่ยวกับตัวบทกฎหมาย หากมีการละเมิดผลงานทางปัญญาของผู้อื่น ไม่ว่าผลงานนั้นจะได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายหรือไม่ การกระทำดังกล่าวก็ขัดต่อศีลธรรม เสมือนกับการเป็นโจรสลัด

ข้ออ้างเช่นนี้ ฟังแล้วก็ดูดีและมีเหตุผล แต่จะเป็นการดีมากยิ่งขึ้น หากสหรัฐจะใช้เหตุผลนี้กับทุกเรื่องอย่างเท่าเทียมกัน

ในกรณีของเทคโนโลยีชีวภาพและทรัพยากรชีวภาพ สหรัฐซึ่งเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี แต่ขาดแคลนทรัพยากรชีวภาพ มีความต้องการจะเข้าถึงและนำเอาทรัพยากรชีวภาพที่มีอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาไปใช้ประโยชน์

สหรัฐจึงใช้วิธีการเดียวกับที่ประเทศกำลังพัฒนาเคยใช้ ในกรณีของยาและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ด้วยการไม่มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิในทรัพยากรชีวภาพ ทำให้ทรัพยากรชีวภาพมีสถานะเป็นทรัพย์สินสาธารณะ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยเสรี ซึ่งการจัดตั้งธนาคารเพื่อเก็บรวบรวมเชื้อพันธุ์ ดังเช่นสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติอีร์รี ก็เป็นไปภายใต้แนวความคิดเช่นนี้

ในช่วงหลัง ประเทศกำลังพัฒนาได้เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรชีวภาพ จึงเรียกร้องให้มีหลักการว่าด้วยความเป็นเจ้าของทรัพยากรชีวภาพ และผลักดันให้มีความตกลงระหว่างประเทศที่รับรองสิทธิอธิปไตยของรัฐเหนือทรัพยากรชีวภาพขึ้น ที่สำคัญก็คือ อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และอนุสัญญาว่าด้วยทรัพยากรพันธุกรรมพืช

หากสิทธิบัตรยา หรือลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นอุปสรรคต่อการที่ประเทศกำลังพัฒนาจะเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่เช่นไร สิทธิอธิปไตยของรัฐเหนือทรัพยากรชีวภาพ ก็เป็นอุปสรรคต่อการที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว จะเข้าถึงทรัพยากรชีวภาพเช่นนั้น ซึ่งสหรัฐตระหนักในเรื่องนี้เป็นอย่างดี จึงมีจุดยืนที่จะไม่ให้สัตยาบันเข้าร่วมในอนุสัญญาสองฉบับนี้มาโดยตลอด

เมื่อนักคิดจากฝ่ายประเทศกำลังพัฒนา ได้ย้อนเกล็ดใช้ถ้อยคำเสียดสีประเทศที่ไม่เคารพสิทธิในทรัพยากรชีวภาพว่าเป็น โจรสลัดชีวภาพ” (bio-piracy) ก็ถูกโต้กลับจากประเทศอุตสาหกรรมว่า ทรัพยากรชีวภาพ มิใช่สิ่งที่ได้รับการรับรองโดยกฎหมาย ดังนั้น จึงสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่เป็นการขัดต่อศีลธรรมจริยธรรม ซึ่งก็สอดคล้องกับคำถามที่ผู้อภิปรายท่านนั้นได้ยกขึ้นในการสัมมนา

คำถามและข้อโต้แย้งเช่นนี้ ทำให้ผมงุนงงสงสัยมากว่า แท้จริงแล้วการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินขึ้นอยู่กับอะไรกันแน่ บรรทัดฐานที่จะใช้วัดความเป็น โจรสลัด หรือโจรสลัดชีวภาพ” นั้น ควรดูจากอะไร กล่าวคือ จะวัดกันที่สภาพ และลักษณะของการกระทำ หรือวัดว่าในเรื่องนั้น มีกฎหมายกำหนดไว้หรือไม่

แน่นอนว่าสำหรับสหรัฐ การจะเป็นโจรสลัดหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับว่าเรื่องนั้นเกี่ยวข้องกับอะไร หากเป็นเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่ การเป็นโจรสลัดจะไม่ขึ้นอยู่กับกฎหมาย หากแต่ขึ้นอยู่กับมาตรฐานสากล (ซึ่งก็เป็นมาตรฐานที่สหรัฐนั่นแหละเป็นผู้กำหนด) แต่ถ้าไม่ใช่เรื่องการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของตน ดังเช่นกรณีทรัพยากรชีวภาพ สหรัฐก็จะถามถึงความมีอยู่ของกฎหมายทันที

ดูไปแล้วการเป็นโจรสลัดทรัพย์สินทางปัญญานั้น หาได้มีกฎเกณฑ์แน่นอนตายตัวไม่ หากแต่สามารถบิดเบือนเปลี่ยนแปลงไปได้ตามสถานการณ์ และความจำเป็นต่อการรักษาผลประโยชน์ของประเทศมหาอำนาจ

ขณะนี้ สหรัฐได้ประสบความสำเร็จสูงสุด ในการสร้างระเบียบเศรษฐกิจและระบบกฎหมายที่เอื้อต่อผลประโยชน์ของตน โดยสามารถใช้กฎหมายระหว่างประเทศ ภายใต้องค์การการค้าโลก บีบบังคับให้ประเทศอื่น ออกกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยีสมัยใหม่

และในขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธที่จะรับรองกฎหมายระหว่างประเทศ ที่จะผูกพันสหรัฐให้ต้องเคารพสิทธิเหนือทรัพยากรชีวภาพของประเทศอื่น

สหรัฐมิได้กังวลกับที่มีการจัดทำความตกลงระหว่างประเทศ เพื่อรับรองสิทธิในทรัพยากรชีวภาพ เพราะเพียงแต่ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในความตกลงระหว่างประเทศเหล่านั้น สหรัฐก็ไม่มีความผูกพันทางกฎหมาย ที่จะต้องรับรองสิทธิของประเทศอื่น

ซึ่งทั้งอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและอนุสัญญาว่าด้วยทรัพยากรพันธุกรรมพืช ต่างก็เป็นความตกลงที่อยู่นอกองค์การการค้าโลก ซึ่งสหรัฐไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญ

เมื่อนักวิจัยสหรัฐนำเอาทรัพยากรของประเทศอื่นไปใช้ สหรัฐก็สามารถอ้างได้ว่า การกระทำนั้นไม่ละเมิดต่อกฎหมายสหรัฐ และไม่ขัดต่อหลักความตกลงระหว่างประเทศที่สหรัฐผูกพัน ดังที่มีการกล่าวอ้างกันในกรณีข้าวหอมมะลิ

ผมอดวิตกไม่ได้ว่า เหตุผลที่ว่าเมื่อไม่มีกฎหมายรับรองสิทธิในทรัพยากรชีวภาพ การนำเอาทรัพยากรไปใช้ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง จะถูกหยิบยกกล่าวอ้างมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในที่สุดก็จะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับ “โจรสลัดชีวภาพ”

และยิ่งมีการอ้างเหตุผลนี้มากขึ้นเท่าใด ก็จะทำให้การประท้วงเรียกร้องของรัฐบาลไทย คนไทย และชาวนาไทย ต่อโครงการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมมะลิของสหรัฐ กลายเป็นจำอวดระดับโลกมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

ทั้งๆ ที่ว่าไปแล้ว ข้อกล่าวหาว่านายคริส เดเรน และคณะ กระทำการเป็นโจรสลัดชีวภาพนั้น ก็เป็นข้อกล่าวหาที่มีเหตุผลชอบธรรม ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเมื่อครั้งที่สหรัฐกล่าวหาไทยว่า เป็นโจรสลัดในสิทธิบัตรยา และโปรแกรมคอมพิวเตอร์เลยแม้แต่น้อย