ที่ พิเศษ / ๒๕๕๐

๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๐

เรื่อง คัดค้านการปลูกทดลองพืชจีเอ็มโอในแปลงทดลองเปิด
เรียน   ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์  นายกรัฐมนตรี
สิ่งที่ส่งมาด้วย    จดหมายเปิดผนึกจากนักวิชาการชั้นนำ ๙๓ คน

ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ผลักดันเพื่อให้มีทดลองพืชจีเอ็มโอในแปลงทดลองเปิดมาเป็นลำดับ โดยล่าสุดในคราวประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ ๒ ครั้งที่ ๓๑/๒๕๕๐ เมื่อวันพุธที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ มติของคณะกรรมการกลั่นกรองเห็นควรเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา ดังนี้

๑) ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเร่งรัดการดำเนินการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพของเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ พ.ศ….ตามขั้นตอนเพื่อให้มีความคืบหน้าและมีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด

๒) ในระหว่างที่ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพของเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ พ.ศ….ยังไม่มีผลใช้บังคับ

เห็นควรดำเนินการดังนี้ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับไปเตรียมความพร้อมในการจะขยายการทดลองวิจัยพืชดัดแปลงพันธุกรรมออกไปในระดับแปลงทดลองของทางราชการ โดยให้ระบุพื้นที่และชนิดของพืชให้ชัดเจน รวมทั้งมาตรการในการควบคุมอย่างเข้มงวดพร้อมทั้งให้ไปศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ที่จะทำการทดลอง ตลอดจนจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย และอื่นๆ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๖๗ ก่อน ทั้งนี้ในการศึกษาควรมีการศึกษาโดยใช้กระบวนการแบบบูรณาการและการมีส่วนร่วมเพื่อให้ได้ข้อยุติเป็นความเห็นร่วมกัน แล้วจึงเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติในแต่ละพื้นที่ต่อไป

เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน ๕๑๘ องค์กรตามรายชื่อท้ายจดหมายฉบับนี้ขอคัดค้านการอนุญาตให้มีการปลูกทดลองพืชจีเอ็มโอในแปลงเปิดซึ่งรวมทั้งพื้นที่แปลงเปิดในสถานีทดลองของราชการด้วย ทั้งนี้เนื่องจากการทดลองดังกล่าวยังไม่สามารถควบคุมการทดลองไม่ให้เกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรมได้ และก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิของเกษตรกร/ผู้บริโภค ผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ และสิ่งแวดล้อมโดยรวมดังที่ได้เคยยื่นเรื่องเสนอต่อ ฯพณฯ และผู้รับผิดชอบมาเป็นลำดับ เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน  ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลดังนี้

๑)  เรียกร้องให้รัฐบาลคงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓  เมษายน ๒๕๔๔ เอาไว้ต่อไป โดยยุติการทดลองพืชจีเอ็มโอในแปลงทดลองเปิดทั้งในสถานทดลองของราชการและแปลงเกษตรกรต่อไป  โดยในระหว่างนี้ให้ยึดแนวทางที่ได้มีการตกลงร่วมกันของหลายฝ่าย โดยให้มีการผลักดันให้เกิดกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพที่มีบทบัญญัติในการควบคุมการทดลองให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัด มีบทบัญญัติที่คุ้มครองสิทธิของเกษตรกรและผู้บริโภค ป้องกันผลกระทบที่จะเกิดต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และให้มีบทบัญญัติเรื่องการรับผิด การชดเชยและเยียวยาความเสียหาย เป็นต้น

๒)  รัฐบาลต้องไม่ตกหลุมพรางของข้าราชการบางกลุ่มในกระทรวงเกษตรฯและบรรษัทข้ามชาติที่ต้องการให้มีการปลูกทดลองพืชจีเอ็มโอในแปลงเปิด โดยอ้างว่าได้จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว เนื่องจากเครือข่ายขององค์กรภาคประชาชน ๕๑๘ องค์กรยังไม่เคยมีส่วนร่วมใดๆกับการดำเนินการดังกล่าว เช่นเดียวกับตัวแทนจากกลุ่มนักวิชาการชั้นนำของประเทศ ๙๓ คน นอกเหนือจากนี้ยังมิได้มีการรับฟังความคิดเห็นจาก “องค์การอิสระ” ซึ่งได้บัญญัติไว้ในมาตรา๖๗ ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ แต่ประการใด

หากผลการประชุมของคณะรัฐมนตรีเป็นไปเพื่อเปิดทางให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดึงดันทำการทดลองพืชจีเอ็มโอในแปลงเปิดโดยไม่มีกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพที่คุ้มครองสิทธิของเกษตรกรและผู้บริโภคออกมาบังคับใช้ และมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน ๕๑๘ องค์กร ซึ่งประกอบไปด้วยองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภค และองค์กรประชาชนจากทั่วทุกภาคของประเทศ จะดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติการดำเนินการทดลองพืชจีเอ็มโอเอาไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว  และหากการอนุมัติให้มีการทดลองครั้งนี้ ได้ทำให้เกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรมดังกรณีที่เกิดกับกรณีการปนเปื้อนของฝ้ายจีเอ็มโอในปี ๒๕๔๒ และมะละกอจีเอ็มโอในปี ๒๕๔๗ องค์กรภาคประชาชนจะดำเนินการฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและอาญาต่อรัฐมนตรีทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องจนถึงที่สุด เพื่อให้แสดงความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นผู้ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหาร รวมถึงผลกระทบต่อผู้ประกอบการเกษตรกรรมอินทรีย์ เป็นต้น

จึงเรียนมาเพื่อทราบและโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม ๕๑๘ องค์กร