ประเทศไทยต่อไปนี้กำลังเปลี่ยนแปลงจากน้ำมันบนดินครับ เป็นน้ำมันที่ใช้ไม่มีวันหมด ไม่เหมือนน้ำมันในบ่อธรรมชาติ ที่ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกบอกว่า อีก 100 ปีหมดแน่

ประเทศไทยต่อไปนี้กำลังเปลี่ยนแปลงจากน้ำมันบนดินครับ เป็นน้ำมันที่ใช้ไม่มีวันหมด ไม่เหมือนน้ำมันในบ่อธรรมชาติ ที่ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกบอกว่า อีก 100 ปีหมดแน่ สมัยนี้ผิดกับทุกยุค ยุคก่อนมีไม่กี่ร้อยล้านคนที่รวยขึ้น แต่ยุคนี้หลายพันล้านคน อย่างน้อย 2,000 กว่าล้านคน กำลังมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เช่น จีน 1,300 กว่าล้านคน จนไปถึง 1,600 ล้านคน อินเดียววันนี้ก็ตั้ง 1,300 ล้านคนแล้วยังจะเพิ่มอีก ยุโรปตะวันออกก็มีหลายร้อยล้านคน เศรษฐกิจยุโรปตะวันออกดีขึ้น ก็ฉุดให้ยุโรปตะวันตกยิ่งดีขึ้น ถ้ารวมกัน ผมว่าพลังไม่น้อยกว่าอเมริกา สมัยก่อน เรามีเค้กก้อนเดียว หรือมอเตอร์ที่ฉุดเศรษฐกิจ มียุโรปตะวันออก-ตะวันตก รวมกันเหนือกว่าสหรัฐอเมริกา เพราะครบทุกอย่างไม่แพ้สหรัฐอเมริกา คนเก่งไม่แพ้กัน ประชากรมากกว่าสหรัฐอเมริกา พื้นฐานเศรษฐกิจยุโรปตะวันตกแข็งแรงมาก ก็ไปฉุดเอายุโรปตะวันออกแข็งแรงขึ้นด้วย นี่เค้กก้อนที่สองนะครับ ตัวที่สาม คือ จีนมี 1,300 ล้านคน ซื้ออะไรโลกสะเทือนหมด ถ้าจีนออกมาซื้ออะไร สินค้าจะไม่พอ อย่างจีนเพิ่งมาใช้รถยนต์ น้ำมันราคาขึ้นเป็นเรื่องราว นี่เพิ่งเริ่มใช้รถยนต์นะครับ อินเดียก็เพิ่งเริ่ม บวกอินเดียอีกสองประเทศนี้ เกือบจะ 3 พันล้านคนแล้วครับ ฉะนั้น เครื่องจักรฉุดเศรษฐกิจตัวที่สามคือ จีน บวกไต้หวัน บวกฮ่องกง ถ้าอินเดีย อาเซียน ญี่ปุ่น รวมแล้ว ผมคิดว่าเป็นเครื่องฉุดเศรษฐกิจตัวที่ 4 อย่างอินโดนีเซีย ถ้าการเมืองสงบหน่อย ผมก็คิดว่ามีทรัพยากรเต็มที่ แก๊ซในบ่อมีอีกมหาศาล ผืนดินมหาศาล ฉะนั้น โดยรวมแล้ว เครื่องฉุดเศรษฐกิจโลกไม่ใช่สหรัฐอเมริกาประเทศเดียว สมัยก่อนเราพูดว่า อเมริกาจาม ทั่วโลกเป็นไข้หวัดใหญ่ วันนี้ไม่ใช่แล้วครับ เราต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า จากนี้ไป เมื่อไทยจะค้ากับจีนอย่างไร ค้ากับอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า อย่างไร ลาว เขมร เวียดนาม รวมทั้งรัสเซีย ยุโรปตะวันออก เป็นโอกาสของเราทั้งนั้น ผมลืมพูดถึงอีกประเทศ คือ บราซิล ซึ่งทั่วโลกเริ่มไปลงทุนมหาศาล นี่ก็เป็นเครื่องยนต์ตัวที่ 5 เพราะต่อไปประเทศที่มีบ่อน้ำมันจะสู้จะสู้ประเทศที่มีบ่อน้ำมันบนดินไม่ได้ เพราะบ่อน้ำมันบนดินใช้ไม่รู้จบ ใช้แล้วเกิดใหม่ ผมต้องขอยกย่องท่านเจ้าหน้าที่ ท่านผู้บริหาร และผมดีใจมากที่มีคนเก่งๆ สมัครเข้ามาสภาพัฒน์ แต่ผมยังห่วง เงินเดือนน้อยไปครับ ที่เซี่ยงไฮ้ซึ่งผมเป็นที่ปรึกษาอยู่ เวลาผมไปรัฐบาลจะส่งเด็กเพิ่งจบใหม่ๆ มาต้อนรับให้บริการผม มีเวลาผมก็คุย ทำไมคุณเข้ามารับราชการ ข้างนอกเงินเดือนสูงมาก เขาบอกว่ารัฐบาลเซี่ยงไฮ้ให้เงินเดือนสูง ถ้าข้างนอกจบมาให้เท่าไหร่ เซี่ยงไฮ้ให้เท่านั้น แต่มีสวัสดิการดีกว่า ให้เพียงพอก่อน ปากท้องก่อน ให้พอก่อน ฉะนั้น เราต้องกล้าสู้เงินเดือนกับภาคเอกชน 35 ปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ เงินเดือนข้าราชการต่ำมาก ทำให้รัฐบาลต้องพยายามไปกดราคาสินค้าเกษตรให้ต่ำ เรื่องนี้ผมจะพูดที่ละข้อนะครับ ผมเพิ่งเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านมีวิสัยทัศน์มาก เมื่อ 30 ปีก่อน ท่านเอาปาล์มมาปลูก พระองค์ท่านเห็นตั้งแต่ 30 กว่าปีก่อนแล้วว่า เมืองไทยต้องเริ่มปลูก และยังปลูกอยู่ที่ทางใต้เป็นหลักฐานอยู่ แต่เราไม่ได้ขยายอย่างจริงๆ จังๆ รัฐบาลไม่ได้วางแผนอย่างจริงๆ จังๆ ทำให้วันนี้เราแพ้มาเลเซียไปนาน เราไม่ได้ลงทุนวิจัยเรื่องพันธุ์ เรามัวแต่มักง่ายไปเอาพันธุ์ของมาเลเซียมา อาจเป็นเบอร์สองเบอร์สาม เบอร์หนึ่งเขาไม่ให้หรอก พระองค์ท่านเหน็ดเหนื่อย หลับตาก็เห็นว่าที่ไหนควรทำเขื่อน ที่ไหนควรกักน้ำ น้ำยิ่งมายิ่งมีปัญหา ยิ่งมายิ่งสำคัญ ก็หวังว่ารัฐบาลชุดนี้ต้องกล้าสู้กับเอ็นจีโอ และอธิบายให้เข้าใจ ไม่ต้องใช้คำว่าสู้ แต่อธิบายดีกว่า ถ้าทำเขื่อนแล้วสัตว์หายไปกี่ชนิด เทคโนโลยีนี้กรมประมงทำได้ เพาะได้ เราก็เพาะใส่เข้าไปก็แล้วกัน แล้วจะไปเสียหายอะไร มีแต่ทำให้น้ำไม่ท่วม เราใช้น้ำไประโยชน์เต็มที่ ใช้น้ำมาปั่นไฟ เรื่องนี้ผมอยากฝากทุกท่านที่เป็นเจ้าของประเทศ และมีบทบาทเขียนแผนของชาติ ผมเชื่อว่าสภาพัฒน์จะมีบทบาทไม่น้อยว่าสมัยก่อน เรื่องเกษตร เราเคยทำครบวงจร เราเคยส่งเสริมเลี้ยงไก่ ตั้งแต่ต้นไปถึงแปรรูป ในสังคมหาว่าเราผูกขาด แต่ความจริงแล้ว นี่เป็นวิธีที่เอานายทุน เอาผู้ที่มีทุน มารับความเสี่ยงให้เกษตรกร ผู้เลี้ยงไก่ ถ้าสังคมไทยเปลี่ยนแปลงได้แบบนี้ ประเทศไทยในเรื่องเกษตรจะไปยิ่งไกล ที่เจริญโภคภัณฑ์สมัยนั้นส่งเสริมชาวบ้านได้ แต่ซีพีมีความเสี่ยง แต่เรารู้ว่าช่วงไหนเสี่ยง อย่างสุกร 3 ปี เราขาดทุน 1 ปี เพราะอะไร ตอนกำไรกำไรมก ทุกคนเข้ามาเลี้ยงมาก เลี้ยงมากก็ต้องขาดทุนมาก เราต้องเตรียมเงินมาขาดทุน เอาปีหนึ่งมาชดเชยตัวเลขที่ขาดทุน เอาปีหนึ่งมาชดเชยตัวเลขที่ขาดทุนสุดท้าย 3 ปีก็มีกำไร แต่ถ้าจะให้เกษตรกรเอาเงินที่ไหนมาขาดทุน 2 ยกเขาก็ยกธงขาวแล้ว ขาดทุนสักปีก็หมดเงินที่จะมาขาดทุนแล้ว ตอนขาดทุน รัฐบาลไม่มีนโยบาย ไม่มีแผนไปช่วย อย่างที่ผ่านมา 2 ปี สุกรตัวหนึ่งขาดทุนถึงพันกว่าบาท แต่แน่นอน วันนี้ต้องกำไรพันบาท เพียงเจ๊ากันนะครับ แล้วจะบอกว่า กำไรเกินควรได้อย่างไร แต่เรื่องสุกร เรามี 30% สูงสุดที่เกษตรกรไม่เดือดร้อน มีซีพี มีบริษัทอื่นไปรับผิดชอบกับผู้เลี้ยง มีเงินคืนเงินกู้ เดือนหนึ่งมีกำไร 6 พันถึง 2 หมื่น แล้วแต่มากหรือน้อย สุกรจะขาดทุนยังไง เกษตรกรกำไรแน่นอนไม่เดือดร้อน แต่บริษัทถ้าทำกำไรมากก็ต้องเอาเงินส่วนหนึ่งมาเตรียมขาดทุน เพราะกำไรมาก คนก็เข้ามาเลี้ยงสุกรมาก สุกรก็ล้นตลาด ขาดทุนมากก็คัดเอาคนที่ต้นทุนสูง ไม่มีประสิทธิภาพออกไป คนที่ต้นทุนต่ำ มีประสิทธิภาพก็อยู่รอด มีกำไรก็พัฒนาต่อ และที่แปลก คนเลี้ยงสุกรเคยบังคับเราว่า คุณต้องมารับสุกรไปรับประทานไหม ไม่มีครับ ผู้เลี้ยงไม่มีอำนาจบังคับพวกเรา ไม่มี แล้วเรื่องอะไรเราต้องไปบังคับราคาผู้เลี้ยง ผู้เลี้ยงเขาไม่มีอำนาจมาบังคับเรา ตอนแพงเรากินเจก็ได้ ไม่ทานหมูสักปีเป็นอะไรไป เรามีทางเลือก แต่อาชีพผู้เลี้ยงไม่มีทางเลือก เป็นอาชีพเขา เรื่องนี้ก็พูดให้ท่านเข้าใจตรงนี้ว่า จริงๆ แล้ว เราไม่สมดุลกัน ราคาสินค้าเกษตรกับเงินเดือนไม่สมดุล อย่างสหรัฐอเมริกาวันนี้ เกษตรกรไม่มีวันเสี่ยง ผู้เสี่ยงคือนายทุน มีบริษัทมารับเหมาเหมือนกรีดยาง เจ้าของสวนยางได้ 60 คนไปกรีดได้ 40 แบ่งกัน คนลงทุนปลูกยาง ลงทุนแล้วมีความเสี่ยง คนกรีดไม่มีความเสี่ยงก็แบ่งได้ 40 แน่นอน ผมอยากเห็นเกษตรกรไปถึงจุดที่เกษตรกรต้องไม่มีความเสี่ยง ผู้ที่จะรับความเสี่ยง คือผู้ที่มีความรู้ มีทุน สังคมถึงจะเป็นธรรม วันนี้พวกเราลองศึกษาลึกๆ อย่างไกเนื้อ 90% ผู้เลี้ยงไก่เนื้อไม่มีความเสี่ยง เรื่องนี้ต้องใช้เวลา 30 กว่าปี ต้องส่งเสริมตั้งแต่ลูกไก่ คนเลี้ยง ถึงเวลาก็จับมาโรงฆ่า เพราะมันผิดพลาดไม่ได้ ถ้าจับมาช้าชั่วโมงหนึ่ง โรงงานต้องพักหนึ่งชั่วโมง เรือที่จะส่งออกนอกต้องดีเลย์ไปหมด เสียหายมหาศาล เราต้องวางแผนอย่างละเอียดรอบคอบ ไก่มาถึงโรงฆ่า สมัยก่อนอนุโลมให้ไม่เกินครึ่งชั่วโมง วันนี้ไม่เกินห้านาที สิบนาที ทำไมชิ้นส่วนรถยนต์ญี่ปุ่นให้ตรงเวลาได้มีตั้งพันชิ้นส่วน ของเราเพียงหนึ่งอย่างห้านาทียังมากไป มาถึงก็ขึ้นเลย เพราะไก่มีชีวิตยิ่งอยู่บนรถนาน น้ำหนักก็ขาด เสียหาย ต้องพยายามวางแผนให้จับเวลาให้ตรง และมาถึงโรงฆ่าให้ตรงเวลา เรื่องสุกรก็เหมือนกัน สุกรเหมือนคนไม่มีผิด ถ้าถึง 100 กิโลแล้ว เหมือนคนถึงจุดหนึ่งโตแล้ว วันละ 3 มื้อไม่โตแล้ว อย่างมากก็ลงพุง ไม่โตแล้ว ถ้าสุกร ลงพุงถูกตัดราคาไปอีก ถ้าเราขายช้าไปสิบวัน หายไป 500 บาท กินฟรีไม่โด แล้วค่าใช้จ่ายที่ไปดูแลอีก โรงเรือน ค่าเสื่อม ถ้าช้าไป 10 วัน ก็ 1 ใน 3 ของเดือน เกษตรกรบางคนยังไม่รู้ว่าทำไมไม่มีกำไร ทำไมหายไป เพราะเขาจับช้าไป 10 วัน หรือหนึ่งวันก็มีผลแล้ว มันต้องวางแผนอย่างละเอียด ยากกว่าอุตสาหกรรมอีก ถ้าเราจะเลี้ยงเกษตรกรอุตสาหกรรม ต้องวางแผนทุกอย่าง เพราะเป็นของมีชีวิต ต้องละเอียดกว่าอุตสาหกรรม ถ้าเราพยายามขายได้ทันที ดีกว่าไปเก็บตู้เย็น เพราะค่าไฟฟ้าสูงอย่างนี้ เข้าตู้เย็นกิโลบวกขึ้นอีกบาท การวางแผนเกษตรอุตสาหกรรม ยิ่งกว่าการวางแผนโตโยต้าผลิตรถยนต์อีก เพราะรถยนต์ไม่เน่า ไม่เสื่อม ไม่เสีย เขาพึ่งแรงงานกลัวกระทบทำให้มีตำหนิจึงวางแผนมาให้พร้อมกัน ไก่ก็เหมือนกัน มาถึงต้องทำให้สลบแล้วค่อยเชือด ถ้าเกษตรอุตสาหกรรม ไก่กระทงเกือบจะ 90% ผู้เลี้ยงไม่มีความเสี่ยงแล้ว ความเสี่ยงไปอยู่ที่นายทุน ส่วนผู้เลี้ยงสุกรประมาณสูงสุด 30 % ไม่มีความเสี่ยง ไก่ไข่ก็เช่นกัน จาก 500 เพิ่มมาถึง 7 แสน หลายสิบปีมานี้ เขาก็ขายเองเสี่ยงเอง แต่บริษัทอย่างมากทำ 20 – 30 % บริษัทอื่นอีก 10 % นอกนั้นยังมีเกษตรกร 70 % ที่เสี่ยงกันเอง กุ้งก็เหมือนกัน กุ้งก็ดีเหมือนกับไก่และสุกร เพราะเรามีพันธุ์แล้ว เราวิเคราะห์วิจัยตั้งแต่พันธุ์ถึงอาหาร เรื่องวิธีการเลี้ยง แต่กุ้ง เกษตรกรไม่ต้องเสี่ยงสูงสุดไม่เกิน 30 % เพราะผู้เลี้ยงยังอยากเสี่ยง กำไรทีเป็นล้านสองล้าน แต่ขาดทุนก็ย่อยยับเหมือนกัน ผมเชื่อว่าต่อไป พวกที่เสี่ยงคงจบ เหลือแต่พวกที่ร่วมกับบริษัทที่มีแผนที่ดี ถึงเวลาก็ไปจับ จับเสร็จทันทีก็มีลูกกุ้งให้ ราคาก็การันตีกำไรแน่นอน ในสมัยนี้พ่อค้ากำไรแน่นอน จะว่าพ่อค้าหน้าเลือด ความจริงเราไปว่าเขาไม่ได้ คนเลี้ยงบางทีเลี้ยงโตแล้วยังไม่รู้ว่าจะขายให้ใคร ถึงเวลากุ้งล้นตลาด ตรงนี้เกษตรกรเสียเปรียบเสี่ยงทุกประตู อย่างเลี้ยงลูกสุกร ซื้อมายังไม่รู้ว่าอีกห้าเดือนข้างหน้าจะขายใคร ถ้าเป็นโรคตายก็จะไม่มีประกันชีวิตอีก ถ้าโชคไม่ดีตาย ไม่เสียหาย มาเจอราคาดีก็ร่ำรวยไป เจอราคาไม่ดี โอ้โหขาดทุน 2 ต่อ ไปเรียกพ่อค้ามาซื้อก็ถ่วงเวลาอยู่เรื่อย เลี้ยงฟรี ห้าวันสิบวัน หายไปหลายร้อยบาท แต่พ่อค้าซื้อได้แน่นอน ซื้อแพงก็ขายแพง ซื้อถูกก็ขายถูก กำไรแน่นอน มาเข้าสู่เรื่องน้ำมันบนดิน ประเทศไทยมีพื้นที่ 130 ล้านไร่ มีที่นา 62 ล้านไร่ และมีที่ดิน มีชลประทานสูงสุดไม่เกิน 25 ล้านไร่ ผมมีความคิดอย่างนี้ครับ ขอฝากท่านเลขาฯ สภาพัฒน์ ดร.อำพน กิตติอำพล ลองศึกษาดู ถ้าเราเอา 25 ล้านไร่ มาลงทุนเต็มที่ จัดรูปแบบที่ดิน ปรับรูปที่ดิน ชลประทานให้ครบ เหมือนเราเลี้ยงไก่ที่เราทำให้ทันสมัย สร้างโรงเรือน ลงทุนสูง แต่สุดท้ายต้นทุนต่ำ ผลผลิตสูง คิดแล้วคุ้ม เรื่องนี้เราต้องลงทุน จ้างผู้เชี่ยวชาญไปดูไต้หวัน ไปดูประเทศทำนาแบบเรา เขาลงทุนอย่างไร 25 ล้านไร่ที่ลงทุนไป ผลผลิตจะมากกว่า 26 ล้านไร่ และไม่มีความเสี่ยง ฝนตกเราไม่ต้องการน้ำก็สูบออก เวลาต้องการน้ำก็ปล่อยน้ำเข้า ที่ผมไปดูมาก็เหมือนกับโรงงานเลี้ยงไก่ ถึงวันหนึ่งเราอาจเอาผ้าพลาสติกคลุม เหมือนเลี้ยงกุ้ง ซีพี ส่งเสริมเลี้ยงกุ้งในโรงงานแล้ว งูก็ลงไปไม่ได้ แมลงก็ไม่ได้ หนูก็ลงไปไม่ได้ ที่เลี้ยงแบบเปิด บ่อกว้างกลางคืนอะไรลงไปก็ไม่รู้ เวลาเสียหายมหาศาล ลงทุนหลายล้าน ตายหมด วันนี้เราคลุมหมด วันหนึ่งทำนาคงไปถึงขั้นนี้ วันนี้เราจะเลี้ยงไก่ แปดชั้น เราจะเลี้ยงไก่เนื้อสี่ชั้น ใช้พื้นที่เดียวกัน ได้ผลผลิตมากขึ้น ต่อไปพืชหลายตัว ก็ปลูกในน้ำ แล้วทำหลายชั้น ถึงวันนั้นแน่นอน เพราะไก่ไปก่อนแล้ว ไก่ไข่แปดชั้น ไก่เนื้อ 3 – 4 เหมือนตึกคอนโดมิเนียม ผมเพิ่งรู้จากหลานชาย หลานมาถามผมว่า กรุงเทพฯ มีตึกสูง 30 ชั้น อยู่ในอันดับเท่าไหร่ของโลก ผมไม่รู้จริงๆ เมืองไทยอยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก ตึกต่ำกว่า 30 ชั้นไม่นับนะ ผมก็คิดไม่ถึง เมืองไทยเป็นที่ 1 หลายเรื่อง เรื่องกุ้ง เราเป็นที่ 1 ของโลก เราเป็นผู้นำตั้งแต่พันธุ์ ไปถึงการเลี้ยง ทำเกี๊ยวกุ้ง กุ้งทอด ไม่มีประเทศไหนทำได้ ต้องยกย่องว่าเราเป็นเบอร์ 1 ของโลก แปลกมาก ข้าวเราก็เป็นเบอร์ 1 ของโลก ยางพารา ก็เป็นเบอร์ 1 ของโลก ถ้ารัฐบาลวางแผนให้ดี คนเก่งๆ ชอบอยู่เมืองไทย ถ้าเราเอาคนเก่งมาแสนคน ให้เป็นคนไทยไปเลย เราเป็นที่ 1 ได้ ไฮเทคเป็นที่ 1 ได้ เพราะไฮเทค ไม่ใช่เครื่องจักร แต่คือสมอง คือคน แปลกประหลาดมาก คนมาเมืองไทย 2 – 3 ปี ติดใจเมืองไทย ไม่รู้ยังไง ผมไปอีสาน มีลูกเขยต่างประเทศเยอะเลย หมู่บ้านเต็มด้วยลูกเขยต่างประเทศ ผมว่าประเทศไทยคนต่างประเทศชอบมาอยู่ ถ้าเรามีเงื่อนไขเหมาะสมกับเขา ถูกสเปคเขา สุดท้าย “การแข่งขัน” ไม่ใช่ “เงิน” “คน” เป็นผู้สร้าง “เงิน” อย่าง “ภูเก็ต” ถ้าเราจัดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ คนหัวเพี้ยนๆ เก่งๆ ภาษีให้เสียถูกสัก 10 % ของรายได้ เผลอๆ สำนักงานใหญ่ ย้ายมาอยู่ภูเก็ตเลย ทำงานที่ภูเก็ตคอนโทรลได้ทั่วโลก สมัยนี้จะประชุมอะไรก็เห็นภาพกัน คุยกัน ไม่พอใจค่อยบินไป หรือเขาบินมา จะเชิญแขกมาเที่ยวภูเก็ต คนก็อยากไปประชุมที่นี่ ถ้าเราหาคนเก่งของโลกมาสักแสนคน หาบริษัทเยี่ยมๆ ของโลก บริษัทที่เราต้องการไม่ใช่ให้แปดปีด้วย ให้เป็นคนไทยไปเลย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ เหมือนอเมริกันวันนี้ เขายังเที่ยวล่าคนเก่งๆ ของโลกให้มาเป็นนอเมริกา ผมไปเยอรมันนีทุกปี แชร์แมนของ KFW บอกว่า เยอรมันนีเสียหายมาก สร้างคนเก่ง ลงทุนเป็นสิบล้านบาทส่งให้ไปเรียนต่อ แต่อเมริกามาชุบมือเปิบเลย ถ้าเก่งให้คนอเมริกันเลย นี่คือสงครามด้วยมนุษย์ ทรัพยากรที่สำคัญที่สุด คือ มนุษย์ เมื่อสักครู่นี้ผมประทับใจมาก ที่เลขาฯ สภาพัฒน์บอกว่า ไม่ใช่เรามี “เงิน” อย่างเดียว “สมอง” ก็เป็นทรัพย์สมบัติอันหนึ่ง อย่างเมืองจีน อินเดีย อินโดนีเซีย ในโลกมีไม่กี่ประเทศที่คนอยากมาอยู่ ทำไมเราไม่รู้จักใช้คนเก่งให้เป็นประโยชน์ ผมว่าคนไทยเรียนรู้เก่ง เอาคนเก่งมานำคนไทยจะเสียหายอะไร เหมือนคุณพ่อผม จีน 100 % ผมมาเกิดที่เมืองไทย ผมรักเมืองไทยมากกว่าเมืองจีน ผมไปไหนธงชาติไทยขึ้นออฟฟิสมีรูปพระเจ้าอยู่หัว-พระราชินีทุกที่ ผมถือว่า เราต้องตอบแทนบุญคุณ ซีพี เติบโตได้ทุกวันนี้เพราะประมุขของชาติและเรามีศาสนา อันนี้ที่ทำให้คนไทยเราน่ารัก คนไทยเรายิ้มแย้มแจ่มใสจากจิตใจ ไม่ใช่แกล้งทำหน้าตา สอนออกมา .. ไม่ใช่ ตรงนี้เราได้เปรียบมาก เรื่องเกษตรที่ผมพูดต่อยอดอีกว่า ต้องทุ่มศึกษาค้นคว้าเรื่องพันธุ์ก่อน มะม่วงน้ำดอกไม้เราปลูกไดเยี่ยมที่สุด 100 ผล ออสเตรเลียได้ 300 ผล ใช้ที่เท่ากัน ปุ๋ยใส่เท่ากัน พันธุ์ของเขาได้ 300 ผล เราไปสู้อะไรเขาได้ มากกว่าตั้ง 300 % และเขาทั้งเปรี้ยวทั้งหวาน หนังหนา ขนส่งได้ไกลกว่า ของเราเยี่ยม แต่หนังบาง และยังต้องไปห่อทุกลูก ถ้าไม่ห่อ เน่า แมลงก็จะมาไชเสียหาย ฉะนั้น การเกษตรต้องให้ความสำคัญกับเรื่องพันธุ์และการเพาะปลูก ถ้าพูดถึงสวนผลไม้ ระดับการพัฒนาก็ยังเหมือนกับเราเลี้ยง “ไก่ใต้ถุน” การเลี้ยงกุ้ง-ไก่-เป็ด-หมู หรือทำนาก็ยังดีกว่าทำสวน วันนี้ การทำนาเริ่มมีคอมไบน์เข้าไปเก็บ มีแทร็คเตอร์เข้าไปปลูก การเพาะกล้าอะไรต่ออะไร มีโรงสีไปรับซื้อ แต่ผลไม้ผมยังไม่เห็นว่ามีโรงงานอะไรมาตรฐานเยอะแยะ มีก็ไม่กี่แห่ง และต่างคนต่างเพาะปลูก เวลาเก็บเกี่ยวใช้อุปกรณ์ไม่ได้ ปล่อยให้ต้นสูงไปไม่รู้กี่เท่า สมัยใหม่ต้องคอนโทรลต้นไม่ให้สูง แต่สวนตอนนี้ คนเข้าไปเก็บเตี้ยๆ ไม่ได้ อย่างส้มโอของซีพี เราคอนโทรลให้เตี้ยและออกข้างเยอะ เวลาเก็บใช้คนไปเก็บ ต่อไปต้องออกแบบให้เครื่องเก็บ อย่างมะละกอที่ฮาวาย สูงเท่ากันหมด ผลไม้แปลกประหลาดมาก ไม่ใช่เกิดพร้อมกันจะสุกพร้อมกัน จะสุกไม่พร้อมกันในพวงเดียวกัน มีหวานมีเปรี้ยว อย่างมะพร้าว พอถึงเวลาทางเจียไต๋ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญแล้ว ใช้เครื่องยิงเลย เพราะเวลาไม่แน่นอน บางช่วงพระอาทิตย์สั้น ต้องสี่เดือนกว่า ไม่แน่นอน วิธีที่ถูกต้องที่สุดต้องใช้เครื่องยิงว่าความหวานสูงหรือยัง ความหวานสูงถึงก็เก็บ อย่างสุกร เรายังไม่มีความสามารถ ต้องใช้คนเฝ้าตอนคลอด เหมือนคน ผสมวันเดียวกัน ชั่วโมงเดียวกัน แต่คลอดไม่เหมือนกัน บางทีคลอดลูกหมู 12 ตัวใช้เวลาทั้งวัน คลอดทีละตัวต้องคนไปเฝ้า สมัยก่อนยากลำบากมาก เหม็น แมลงวันก็เยอะ ยุงก็เยอะ วันนี้สบายเหมือนอยู่ในห้องแอร์ ไม่มีความเหม็น ทำการเกษตรยากกว่าอุตสาหกรรมเยอะ เวลาหมูปวดท้องพูดกับเราไม่เป็น เด็กยังร้องไห้ได้ แต่หมูบอกไม่ได้ แปลกมาก สินค้าบนดินที่ยอดเยี่ยมมากของเรา คือ ยาง ปาล์ม ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย แต่วันนี้ผมไม่ได้เอาอ้อยมาพูด แต่ถือเป็นอนาคตมหาศาล ผมเพียงแต่เอา 62 ล้านไร่มาคุยกับพวกเรา สินค้าเกษตรวันนี้ไม่ใช่อาหารคนแล้ว เป็นอาหารเครื่องจักรด้วย วันนี้เครื่องจักรมาแย่งกินกับคนแล้ว ผมว่าตัวนี้เป็นเรื่องดีที่สุดของประเทศไทย ในประวัติศาสตร์ น้ำมันขึ้นราคา ไม่เคยฉุดเอาสินค้าเกษตรแพงขึ้น หลายท่านกลัวสินค้าเกษตรแพง แพงแล้วการเมืองเดือดร้อน มีแต่ประเทศที่เจริญได้ ไม่มีประเทศไหนในประวัติศาสตร์ที่ไม่สนใจสินค้าเกษตร ญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รวยได้ยังไง แน่นอน เขามีอุตสาหกรรมบวก แต่เขาต้องเอาข้าว เอาสินค้าเกษตรแพงก่อน เพราะผลผลิต 100 % จากประเทศเขา อย่างอื่นต้องซื้อมาและผลิตขายออกไป แต่สินค้าเกษตร เวลาเราไปคุยกับญี่ปุ่น เรื่องเกษตรอย่ามาคุยกับผม เรื่องข้าวอย่ามาคุย เขาต้องการชาวญี่ปุ่นกินข้าว 100 บาท 200 บาท เราไปขายถูกอย่าไปคุยกับเขา เพราะอะไร เพราะเป็นทรัพย์สมบัติของชาติ เหมือนน้ำมันของตะวันออกกลาง ลองน้ำมันถูก ผมรับรองว่าตะวันออกกลางจนกว่าคนไทยอีก ที่เขาร่ำรวยได้เพราะน้ำมันเขาแพง แต่ “สินค้าเกษตร” ซึ่งเป็น “น้ำมัน” ของเราป้อนให้กับมนุษย์ มนุษย์สำคัญกว่าเครื่องจักรอีก มนุษย์เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด แต่อาหารเลี้ยงมนุษย์ จนที่สุด ซึ่งผิดแล้ว ลองศึกษาไปทั้งอเมริกา ญี่ปุ่น รวยแล้วยังไม่ยอมให้สินค้าเกษตรตกต่ำ ยังทำทุกวิถีทางให้ขึ้น อย่างผมส่งกุ้งไปขายราคาถูก เขาไม่ได้ดีใจ จัดการเลย คุณทำให้คนเลี้ยงกุ้งผมขาดทุน ขนาดร่ำรวยแล้ว เขาไม่ได้ปกป้อง 1 % ของคนเลี้ยง แต่ปกป้องกระเป๋าของเขา เหมือนลองไปทำให้อาหรับ ให้ตะวันออกกลางน้ำมันลดราคาสิ ไม่มีทาง ยิ่งราคาสูงเขายิ่งร่ำรวย สินค้าเกษตรราคาสูงขึ้น แล้วทำอย่างไรคนในเมืองไม่เดือดร้อน ในโลกนี้ประเทศที่ร่ำรวยขึ้นมาได้ใช้วิธี 2 สูง สินค้าที่ผลิตได้ด้วยตัวเองก็เหมือนกับทองคำแท่งที่ไปไว้ในแบงก์ชาติ ถ้าเรามีสินค้าเหล่านี้ ที่ผลิตขึ้นมาจากประเทศไทยของเราเอง เราน่าจะให้มีราคาเหมาะสมเท่ากับน้ำมันของโลก ให้แพงไม่แพ้น้ำมันของโลกและไม่ควรถูกกว่าทองคำ นี่ความเห็นของผมนะครับ และเราต้องขึ้นเงินเดือน ปรับโครงสร้างให้สอดคล้องกัน ผมไม่ถือว่าเป็นเงินเฟ้อ แต่ปรับให้สังคมเป็นธรรม ผมจำได้แม่นเลย ปี 1960 ผมไปไต้หวัน เงินเดือน 88 เขาเงินเดือน 100 แต่ข้าวกิโลละ 10 บาท ของบ้านเรากิโลละ 3 บาท มีไหมในประเทศไทยเรา มีใครเคยคิดถึงไหมว่า รายได้ขั้นต่ำของเกษตรกรควรจะเท่าไหร่ ผมโตมาถึงป่านนี้ ยังไม่เคยได้ยินว่ารายได้ขั้นต่ำของเกษตรกรควรเท่าไร มีแต่รายได้ขั้นต่ำของกรรมกร … ก็ถูกต้อง แต่คนส่วนใหญ่ของชาติเราลืมสนิท สินค้าแพงหน่อย กระทรวงพาณิชย์ก็กดราคา ทำไมไม่ขึ้นเงินเดือนละครับ 2 สูง เราไม่ได้เป็นประเทศสังคมนิยม แต่เดินน้องๆ สังคมนิยม ประเทศสังคมนิยมกลับไม่ใช้วิธีนี้ เพราะรู้แล้วว่า สุดท้ายหมดตัว เขาใช้วิธีไหน เงินเดือนก็ไม่ต้องขึ้น สินค้าก็ไม่ต้องขึ้น สุดท้ายรัฐบาลก็ไม่มีภาษี เครื่องจักรเก่าแล้วก็ไม่มีเงินซื้อ จบเลยครับ เติ้ง เสี่ยว ผิง ถึงต้องมาปฏิวัติใหม่ วันนี้อย่าไปพูดกับจีนว่า คอนโทรลราคา … ไม่มี เหมือนกับหมูเที่ยวนี้ที่เมืองจีน ขึ้นราคาเท่าตัว นักวิชาการตื่นเต้นมาก คนในเมืองเดือดร้อน นายกฯ ลงไปศึกษาเอง บอกเงินเดือนต่ำกว่าเท่าไร ให้ขึ้นเงินเดือนข้าราชการสิบห้าหยวน รวมทั้งที่รีไทร์ไปแล้ว นักวิชาการตกใจ เอาน้ำมันพรมลงไปในไฟ ไม่ยิ่งไปกันใหญ่ เขาคิดว่าจะทำให้หมูยิ่งขาดตลาด แถมเงินให้คนไปซื้อหมู แต่ไม่จริงครับ ยิ่งคนจน เงิน 15 หยวนมีค่ามาก เรื่องอะไรจะไปกินหมู ไปกินอย่างอื่น เผลอๆ บางทีก็เก็บเอาไว้ดีกว่า เหมือนญี่ปุ่น ทำไมญี่ปุ่นเอาเงินไปฝากธนาคารไม่มีดอกเบี้ยก็ยังยินดี เพราะสินค้าเขาแพงมาก เกินกว่าค่าของแบงก์ เหมือนผมไปญี่ปุ่น ไม่อยากซื้อ ถามราคาแล้วเสียดายเงินเซฟเงินดีกว่า ไม่ซื้อเหมือนกันครับ อย่างไปเข้าใจผิดว่า เราให้เขา 15 หยวนแล้ว เขาต้องไปกินหมูทั้ง 15 หยวน ไม่ใช่ แต่ถ้าเอา 15 หยวนไปซับซิไดซ์ รับรองเขากินหมู เพราะหมูถูก เหมือนรถเมล์ ถ้าให้คนนั่งรถเมล์ วันหนึ่งไปกลับเท่าไหร่ ผมให้เงินเดือนคนนั่งรถเมล์เท่านี้แล้วปล่อยให้รถเมล์แข่งกัน เขาจะวิ่งห้าเที่ยวสิบเที่ยวก็ได้ ตอนเช้ามาทำงาน ตอนเย็นกลับ วันหนึ่งขึ้นรถเมล์เท่าไร ก็เอาเงินเท่านั้นให้เขา ผมว่าวิธีนี้ถูกต้อง และปล่อยให้รถเมล์เสรีแข่งกัน นี่คือความเป็นจริงของโลก ถ้าเราเราซับซิไดซ์ มีที่ไหน บริการไม่ดี เสียหาย รถก็เก่าแก่ ลองปล่อยให้แข่งกัน อย่าเอาเงินไปซับซิไดซ์ที่ตัวรถ แต่ไปซับซิไดซ์เงินเดือนคนใช้รถเมล์ เวลา “2 สูง” อะไรเกิดขึ้น เกษตรกรมีเงินไปจับจ่าย ธุรกิจบริการ อุตสาหกรรม ทุกอย่างเกิด แม่ค้าหาบเร่ พ่อค้า ทุกอย่างเกิดนั่นคือตรงๆ เลยครับ ช่วงนี้ผมยังสนับสนุนการทุ่มเงินเข้าไปก่อนให้เศรษฐกิจมันเดิน เพราะเราเป็นหนี้เขามานานแล้ว เรากดราคาให้เขาจนมานานแล้ว พักหนี้ก็ไม่เสียหาย อย่าไปบอกว่าเสียนิสัย เพราะเขาจน แล้วเอาเงินอัดเข้าไปอีก แต่ที่ดีที่สุดในระยะยาว ต้องซื้อสินค้าเขาแพง เขาจะกระตือรือร้น ไปเพิ่มผลผลิตธนาคารก็กล้ากู้เงินให้ นักธุรกิจก็กล้าสนับสนุน จะเหมือนไก่ 90 % แล้ว เปลี่ยนหน้าที่กัน เกษตรกรไม่ต้องรับความเสี่ยง นอกจากนั้น ข้าราชการเงินเดือนต่ำไป ต้องสูง ข้าราชการก็มีเงินจับจ่าย เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เอกชนก็ต้องขึ้นเงินเดือนตาม ความจริงเขาทำล่วงหน้าอยู่แล้ว ของผมถามเงินเดือนคนรถ ดีกว่า เอาของจริงเลย คนรถผม เงินเดือนเท่าไหร่ 3 หมื่นบาท เขาเข้ามา 900 บาท อยู่กับผม 30 กว่าปี เพิ่มขึ้นมากี่เท่า เกือบ 30 เท่า ราคาทองคำเพิ่มขึ้น 37 เท่า ไล่เลี่ยกันนะ ผมจะเอาตัวเลขมาแลก แต่อาจเอามะพร้าวมาขายสวน ลองมาศึกษาด้วยกัน เรามีพื้นที่ปลูกข้าว เอา 25 ล้านไร่มาทำเรื่องชลประทาน จัดรูปที่ดิน ปรับรูปที่ดิน หาพันธุ์ที่ดี เอาเทคโนโลยีมาใส่ เหมือนเราเลี้ยงไก่ผลผลิตสูงขึ้น ผมว่าไม่ถึงไร่ละ 1,000 กิโลกรัมกรอก คิด 800 กิโลกรัม แล้วกัน เราปลูกปีละ 3 รอบ อาจจะ 2 รอบก็ได้ อีกรอบเลี้ยงปลา ปล่อยให้น้ำไปท่วม หนูตายหมด ไข่แมลงอะไรก็หมดเกลี้ยง ออกซิเจนในดินสูงขึ้นด้วย ผมคิดง่ายๆ ทำนา 3 รอบ รอบละ 800 กิโลกรัม ก็จะได้ผลผลิตรวม 60 ล้านตัน เรามี 67 ล้านไร่ เอา 25 ล้านไร่ไปทำนา 3 รอบ จำนวนจะได้เท่ากับหรือไม่น้อยกว่าที่เอา 60 ล้านไร่ไปทำนา เพราะวันนี้ได้ผลผลิตแค่ 400 กิโลกรัม ก็มี หรือแล้งเสียหายหมด จากนั้นเอา 30 ล้านไร่ไปปลูกยางพารา เอา 12 ล้านไร่ไปปลูกปาล์มในที่ลุ่ม เพราะชอบน้ำ ยางพาราวันนี้ประเทศไทยมี 13.4 ล้านไร่ ปาล์มมี 3.1 ล้านไร่ ข้าวโพด 5.9 ล้านไร่ มันสำปะหลัง 7.4 ล้านไร่ ก็แล้วแต่สองตัวนี้ ถ้าราคามันแพง ก็ไปเปลี่ยน อ้อยผมยังไม่ได้คิด ข้าวเปลือกผมคิด 15 บาท ผมกล้าพูดได้เลยถ้า 15 บาท มูลค่าที่เราเอา 25 ล้านไร่ เราจะได้เงิน 9 แสนล้านบาท ที่ 25 ล้านไร่เท่านั้นนะครับ ยางพารา ผมกล้าพูดเลย ถ้าไปจัดการ 3 ประเทศมาฮั้วกัน จีนกำลังใช้ อินเดียก็กำลังใช้ ยุโรปตะวันออกกำลังใช้ ราคายางน่าจะ 150 บาท วันนี้เรา 80 กว่าบาท ถ้ากิโลกรัมละ 150 บาท ใน 30 ล้านไร่ เราจะได้เงิน 1.2 ล้านล้านบาท นี่ยังไม่ได้เอาพันธุ์พิเศษนะ จริงๆ เรายังค้นคว้าได้อีก ส่วนปาล์มไม่ได้สูงมาก ตัวเลขผมยังไม่กล้ายืนยัน เพียงแต่ยืนยันว่าถ้าราคา 5.50 บาท จะได้ 198,000 ล้านบาท เฉพาะที่ดิน 67 ล้านไร่ รวมแล้ว ถ้าเราวางแผนให้ดี เราจะได้ 2,367 ล้านล้านบาท วันนี้ที่ผมพูด อยากให้สภาพัฒน์ช่วยลองศึกษา ลองเจาะลึก ผมอาจจะผิดบ้าง แต่เรื่องราคาที่ผมคาดคะเนไว้ไม่ผิด เกษตรกรไทยจะลืมตาอ้าปาก เงินเดือนข้าราชการก็สูงได้ “สินค้าเกษตร” คือ “ทองคำ” คือ “น้ำมัน” ทำไมเราไม่รู้จักทำให้น้ำมันเราแพง ไม่ใช่ไม่ขึ้นเงินเดือนหรือขึ้นน้อยแล้วมากดสินค้าเกษตรให้ต่ำ นั่นคือ “2 ต่ำ” สุดท้ายหัวใจวาย ต้อง “ 2 สูง” ท่านลองศึกษา 30 ปีกว่าเท่านั้น ในต่างประเทศเขาทำกับเกษตรยังไง เขารวยแล้วยังปกป้องสินค้าเกษตร เหมือนโอเปกต้องพยายามให้น้ำมันขึ้น ทุกประเทศต้องซับซิไดซ์ไม่ให้สินค้าเกษตรต่ำ แต่เราไม่ใช่ ผมฝากให้ท่านที่เป็นหัวกะทิที่อยู่ที่นี่ทั้งหมด ช่วยกันวางแผน ให้ชาวไทยเรารวยบ้าง วันนี้สินค้าเกษตรรวมแล้วได้ 542,000 ล้านบาท กับทำวิธีใหม่ได้ 2.981 ล้านล้านบาท … ผมเชื่อมั่น เราต้องพยายามดึงผู้ผลิตข้าวที่มีเพียงกี่ประเทศ เวียดนาม วันนี้ไม่กล้าส่งออกแล้ว จีนจะไม่มีข้าวส่งออก อินเดียบางทีเหลือบางทีมี ทำไมเราไม่จับมือ 3 ประเทศนี้ขึ้นราคาข้าวให้เวียดนามขายก่อน ซีพีค้าทั่วโลก เราขายอาหารสัตว์ 20 กว่าล้านตัน แต่ข้าวเราส่งออกเพียง 7 – 8 ล้านตัน เราทำไม่เป็น ถ้าทำเป็น ให้เวียดนามขายก่อนไม่ได้หรือ เราขายทีหลังแพงกว่า เหลือข้าวในสต๊อก ฟรี เงินยังได้มากกว่าอีก และยังมีสต๊อกข้าวฟรีอีก เราเอาข้าวในสต๊อกไปขายประเทศที่มีอนาคต ขายผ่อนส่งก็ได้ หรือมาขายไปเลี้ยงสัตว์ส่งเสริมการแปรสภาพ เอาข้าวแปรสภาพเป็นแป้งข้าวเจ้า ทำเป็นก๋วยเตี๋ยวตีตลาดทั่วโลก เราไปกลัวเวียดนามจะถูกเวียดนามเอาไป ถ้าคิดแบบนักธุรกิจ ผมขายน้อยได้กำไรมากยังมีของเหลือ ทำไมเราไม่จับมือ ตั๋วเฮียให้น้องชายขายก่อน ถ้าท่านไปเจรจา ประธานาธิบดีจะมาต้อนรับท่าน ใครจะไม่อยากขายแพง ถ้าเราไปขายถูกเขาก็ไม่พอใจเรา ในโลกนี้ไม่มีใครหรอกไม่ขายแพง ถ้าเราให้เขาขายแพงเขาดีใจมาก เราทำตัวเป็นพี่เบิ้มหน่อย เรื่องนี้น่าสนใจถ้าเราวางแผนให้ดี ที่ผมพูดไม่ใช่ฝัน มีโอกาสเป็นจริง ถ้าข้าว 15 บาทเท่านั้น ผลผลิต 800 กิโลกรัม ผมไม่กล้าพูดถึงพัน ถ้าปรับรูปที่ดินส่วนใหญ่ต้องไปถึงพัน แต่เพิ่มราคาข้าวจากกิโลกรัมละ 8 บาท เป็น 15 บาท ก็ยังน้อยกว่าน้ำมัน ถ้าคิดตามน้ำมันที่สูงขึ้น เรายังสูงกว่า 15 บาทได้ แต่ทองคำขึ้นมา 30 กว่าเท่า จีนราคาหมูขึ้นมา 20 เท่า ถ้าเอา 50 ปีก่อนมาคิด แต่ถ้าเทียบกับ 30 ปีก่อนก็ 10 เท่า แต่เงินเดือนของจีน ขึ้นมา 100 เท่า ของเขายังต้องขึ้นอีก ให้บาลานซ์กัน ราคาไก่ในสมัยนั้น ผมรู้ดีที่สุด กิโลกรัมละ 12 บาท แต่วันนี้ไก่เนื้อกิโลกรัมละ 43 บาท เต็มที่ 50 บาท ก็ 3 เท่ากว่า แล้วทำไมไก่เนื้อขึ้นมาน้อยได้ เพราะเราเอาไฮเทค เราเข้าสู่อุตสาหกรรมมาแปรสภาพ มาเป็นโรงงาน อย่างเกี๊ยวกุ้งเราขายไปจีน อเมริกา ยุโรป ประเทศร่ำรวยซื้อกุ้งเราหมด ผมพูดถึง 30 ก่อน เงินเดือนราชการจบปริญญาตรี 1,300 บาท ในประเทศนะปริญญาโท 1,600 บาท ทองสมัยนั้นบาทละ 400 บาท ถ้า 50 ปีก่อน เหลือ 350 เอาล่ะในสมัยที่ 1,300 เรายังซื้อทองได้ 4 บาทกว่า วันนี้เงินเดือน 8,000 ทองคำ 14,000 – 15,000 เป็นธรรมไหม เราต้องปรับให้เป็นธรรม ต้นตอเราไม่แก้ให้เป็นธรรม จะไปจัดปลายเหตุไม่ถูกต้อง จีนขึ้นมาร้อยกว่าเท่า เราขึ้นมากี่เท่า เราขึ้นมาจาก 1,300 เป็น 8,000 เท่ากับ 6 เท่า เรื่องอย่างนี้ผิดอย่างหนัก ได้ที่ไหน ขอถามหน่อย มันผิดแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากฝาก ประเทศอื่นมองทุกคนเป็นคนดีหมด แต่เมืองไทย มองทุกคนเป็นผู้ร้าย มันไม่ใช่ เมืองไทยมาถึงวันนี้ ซีพีมาถึงวันนี้ได้ต้องยกย่องข้าราชการ ที่ผมห่วงมาก คนเก่งๆ จะไม่เข้าราชการ ผมอยากให้เงินข้าราชการสูงกว่าเอกชน นี่พูดด้วยใจจริงนะ อย่างตำรวจ เรารู้ว่าตำรวจผู้น้อยถือปืน มีอำนาจ เงินเดือนเลี้ยงครอบครัวไม่ได้ เราไม่ยอมรับความจริง เราไม่ไปปรับให้เข้ากับความเป็นจริง แล้วบอกว่าคอร์รัปชั่น นี่คือเมืองไทย ถ้าเราจะพัฒนาประเทศไทย ต้องมาขึ้นเงินเดือนข้าราชการให้ถูกต้องก่อน กลไกราคาของตลาดต้องปล่อยให้เสรีตามความเป็นจริงอย่าไปคอนโทรล เราคอนโทรลน้ำมันได้ไหม ขอถามซิ ถ้าเราคอนโทรล ไม่ได้ แล้วทำไมเรามาคอนโทรลน้ำมันของเราเอง ให้คนของเราจนทำไม ขึ้นสิครับ ขึ้นเงินเดือนให้สองตัวนี้บาลานซ์กัน เขาได้รับเงินเดือน ถ้าสินค้าแพงไปเขาอาจประหยัดได้เหมือนคนญี่ปุ่น แล้วเราก็ผลิตออกนอก ส่งออกนอก เป็นทรัพย์สมบัติของชาติ พืชบนดินของเราคือน้ำมันของประเทศตะวันออกกลาง แล้วทำไมต้องไปกดให้ต่ำ ทำไมไม่ไปขึ้นเงินเดือน อาจซ็อตที่แรก กู้มาแล้วใส่ไป พูดถึงข้าราชการอาจตกใจ เรื่องกู้ แต่ผมเป็นธรรมดา กู้แล้วรู้ว่ามีโอกาสคืนทำไมไม่กล้า เราต้องมีที่ถอย เราต้องวางแผน ถ้าผมตรงนี้พลาด เอาเงินที่ไหนมาคืน ผมกู้เงินแบงก์ไม่เคยคิดที่จะไม่คืน คนที่บอกแบงก์ว่า ฝนตกเอาร่มคืน แดดออกเอาร่มมากาง จะไปโทษเขาไม่ได้ ต้องว่าตัวเอง ทำไมเราไปกู้เขา เรากู้เขาเมื่อไรต้องคิดว่าจะคืนเขายังไง ต้องตั้งเป้าหมายให้คืนให้ได้ ถ้าสินค้าเกษตรราคาสูงขึ้น ความเสี่ยงน้อยลง ผมว่า แบงก์ก็กล้ากู้เงินให้ นักธุรกิจก็กล้าลงทุน ส่งเสริม พัฒนา เหมือนกับที่ผมทำเรื่องกุ้ง ไก่ สุกร สู้กับทั่วโลกได้ คนไทยเลี้ยงสัตว์เก่งมาก นี่เป็นเรื่องจริง เราไม่ได้แพ้จีนเลย จีนเราสอนเขา เขาได้ 80 อีก 20 คิดเอาเอง คนไทยสอน 100 เขาเอง 100 เหนือกว่าคนจีน เราได้ 100 เขาได้ 80 เราสู้กันไป ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรใช่ไหม บางชนิดปีหนึ่งครั้งหนึ่ง อย่างผลไม้ปีหนึ่งเก็บครั้งหนึ่ง ก็ประเทศอุตสาหกรรม ผลิตทุกวันขายทุกวัน 3 เดือนไม่จ่ายดอกเบี้ย ถือว่าหนี้เสีย แต่เราไม่ใช่ เกษตรกรกู้มาเกินปีไม่จ่ายดอกเบี้ยถือว่าหนี้เสีย เขาปีหนึ่งเก็บครั้งหนึ่งแล้วก็ขาย มาชำระดอกเบี้ยและเงินต้นไม่เห็นเสียหายอะไร อย่างข้าวรอบหนึ่งตั้ง 4 – 5 เดือนแล้วบอกว่า 3 เดือนไม่จ่ายดอกเบี้ยถือว่าหนี้เสีย ประเทศอุตสาหกรรมเขาผลิตทุกวัน ขายทุกวันยังให้เวลาตั้ง 3 เดือน เราปีหนึ่งผลิตครั้งหนึ่ง 3 เดือนไม่จ่ายดอกเบี้ยหนี้เสีย ผมว่าเขาเข้มงวดเกินไป เอาล่ะผมก็ไม่ว่า เราโชว์ว่าเราเป็นแบงก์ยอดเยี่ยม แต่สุดท้ายหุ้นแบงก์ก็ไปอยู่ต่างประเทศ เยี่ยมแล้วไม่เกิดประโยชน์ แต่ทำไปผมก็ไม่ว่า แต่เรามีแบงก์อะไรมาส่งเสริมธุรกิจเล็กกับกลาง และต้องมีเงินที่มีความเสี่ยงเขามาช่วย ไม่ใช่สำเร็จทุกคน ถ้ามี 10% สำเร็จก็เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ ขอบคุณทุกท่าน ————————————————————- ที่มา : คอลัมน์ “บทความพิเศษ” มติชนสุดสัปดาห์ 21 – 27 มี.ค. 51 หมายเหตุ “มติชนสุดสัปดาห์” – นายธนินท์ เจียรวนนท์ บรรยายพิเศษเรื่อง “ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทย” ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2551