กรุงเทพฯ/กรีนพีซเรียกร้องรัฐบาลไทยฟังคำเตือนของนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก พบเกษตรเชิงอุตสาหกรรมและพืชดัดแปลงพันธุกรรม-จีเอ็มโอ ไม่ใช่ทางออกของปัญหาวิกฤตอาหาร
21 เมษายน 2551

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเรียกร้องครั้งนี้เกิดขึ้นขณะการเปิดเผยรายงานที่ว่าด้วยการประเมินภาวะเกษตรกรรมทั่วโลกที่จัดทำขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่มีการรวมตัวกันของนักวิทยาศาสตร์ด้านเกษตรชั้นนำของโลก และเป็นครั้งแรกที่มีการจัดทำรายงานด้านเกษตรกรรมขึ้นมาและมีรัฐบาลกว่า 60 ประเทศร่วมลงนาม

รายงานนี้นับเป็นรายงานสรุปฉบับสุดท้ายของโครงการการประเมินนานาชาติทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรเพื่อการพัฒนา หรือ International Assessment of Agricultural Science and Technology for Development (IAASTD) [1] บทสรุปที่สำคัญของรายงานฉบับนี้ กล่าวว่าเกษตรอุตสาหกรรมนั้นล้มเหลวและจีเอ็มโอไม่ใช่ทางออกของปัญหาความยากจน ความอดอยาก และปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง พร้อมกันนั้นยังเสนอทางออกที่เหมาะสมนั่นคือ เกษตรกรรมเชิงนิเวศที่สอดคล้องกับธรรมชาติแทนการเกษตรที่ใช้สารเคมีอย่างหนักซึ่งทำลายสิ่งแวดล้อม

น.ส.ณัฐวิภา อิ้วสกุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพันธุวิศวกรรม กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ในภาวะที่ประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ข้าว รัฐบาลไม่ควรปล่อยให้พืชจีเอ็มโอฉวยโอกาสและเป็นข้ออ้างในการนำเอาเทคโนโลยีจีเอ็มโอเข้ามาเพื่อเป็นทางออกของปัญหา โดยเฉพาะเมื่อเรามีโอกาสที่ดีกว่านั่นคือ การเป็นประเทศที่ปลอดข้าวจีเอ็มโอ รายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของนโยบายของรัฐบาลทั่วโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่เร่งให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น โดยการเสนอเกษตรกรรมเคมีเป็นทางเลือก ซึ่งต้องพึ่งพาสารเคมีที่มีพิษและราคาแพง รวมถึงการใช้เมล็ดพันธุ์ที่มาจากบรรษัทข้ามชาติ เช่น เมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอ หรือแม้กระทั่งเมล็ดพันธุ์ไฮบริด

“เป็นโอกาสดีของรัฐบาลไทยที่จะเรียนรู้และนำข้อเสนอในรายงานฉบับนี้มาพิจารณา เพื่อทบทวนนโยบายด้านการเกษตรที่มุ่งเน้นให้เกิดรูปแบบที่เกษตรกรพึ่งพาตนเองไม่ได้อย่างเช่นเกษตรอุตสากรรมเสียใหม่ และยังช่วยให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนทางออกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารและมีสิ่งแวดล้อมที่ดี” ณัฐวิภา กล่าวเสริม

ทั้งนี้ รายงานของ IAASTD โดยองค์การสหประชาชาติวิพากษ์วิจารณ์จีเอ็มโออย่างหนัก และแนะนำให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการเกษตรอุตสาหกรรมแบบถอดรากถอดโคน เพื่อรับมือกับราคาอาหารที่กำลังพุ่งสูงขึ้น ความอดอยาก ความไม่เท่าเทียมทางสังคม และ หายนะทางสิ่งแวดล้อม รายงานฉบับนี้ยังระบุชัดว่าพืชจีเอ็มโอยังมีความเสี่ยงหลายประเด็น และพืชจีเอ็มโอไม่ใช่ทางออกสำหรับปัญหาที่สังคมโลกกำลังเผชิญอยู่ ได้แก่ ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ความอดอยาก และ ความยากจน

รายงานฉบับนี้แนะนำว่า เกษตรกรรมขนาดย่อมและเกษตรกรรมเชิงนิเวศเป็นหนทางที่ก้าวหน้าหากต้องการแก้ปัญหาวิกฤตอาหารในปัจจุบันและตอบสนองความต้องการของชุมชนในท้องถิ่น พร้อมกันนั้นยังยกย่องภูมิปัญญาของชนพื้นเมืองและคนท้องถิ่นว่ามีบทบาทสำคัญเทียบเท่ากับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นที่ยอมรับ โดยภูมิปัญญาเหล่านี้จะทำให้ทิศทางของเกษตรกรรมที่อันตรายเปลี่ยนไปเป็นเกษตรกรรมที่เป็นมิตรและตอบสนองความต้องการของทุกคน

อนึ่ง โครงการการประเมินนานาชาติทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรเพื่อการพัฒนา หรือ International Assessment of Agricultural Science and Technology for Development (IAASTD) เป็นความร่วมมือที่โดดเด่น ที่ริเริมโดยธนาคารโลกร่วมมือกับกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ได้แก่ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Food and Agriculture Organisation), โครงการการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme), โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environmental Programme), องค์การอนามัยโลก (World Health Organisation) และตัวแทนจากภาครัฐบาล องค์กรด้านสังคม พลเรือน ภาคเอกชน และสถาบันวิทยาศาสตร์จากทั่วโลก และ เบนนี ฮาร์ลิน จากกรีนพีซเข้าร่วมในโครงการ IAASTD ตั้งแต่ พ.ศ.2546

วัตถุประสงค์หลักของ IAASTD คือ การให้ข้อมูลแก่ผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านการจัดโครงสร้างการวิจัยและพัฒนาด้านเกษตรกรรม เพื่อให้สามารถลดความอดอยากและความยากจน พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชนบท แล ะสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน รายงานที่สำคัญของโครงการ ได้แก่ บทสรุปทั่วโลกสำหรับผู้บริหาร และบทสรุปรายงานสังเคราะห์สำหรับผู้บริหาร โดยรายงานดังกล่าวมาจากข้อสรุปบทเวทีการเจรจาบรรทัดต่อบรรทัดของรัฐบาลต่าง ๆ ที่เข้าร่วมในการประชุม ณ กรุงโจฮันเนสเบิร์ก ข้อมูลเพิ่มเติมในเวปไซต์ http://www.agassessment-watch.org.