“เสียรู้ เสียใจเจ็บ แปลบแปลบ
ตวัดลิ้น แผล็บแผล็บ เลียแผล
เสียโง่ ดิ้นร้องไห้ งอแง
แน่แน่ มีคน เสียหน้า (ก็แล้วกัน)”

อาหารเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิต ในโลกตะวันตกที่ไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ทางด้านอาหารอย่างประเทศอังกฤษคิดเรื่องนี้เป็นพิเศษ จนถึงกับจัดตั้งหน่วยงานใหม่ สภาที่ปรึกษาด้านนโยบายอาหาร ขึ้นมาไม่นานมานี้ เพื่อขบคิดเรื่องความมั่นคงด้านอาหารสำหรับอนาคตโดยเฉพาะ และหนึ่งในสมาชิกสภาที่ปรึกษาดังกล่าว คือ ศาสตราจารย์ ทิม แลงก์ จากซิตี้ ยูนิเวอร์ซิตี้ แห่งลอนดอน ออกมาพูดเมื่อสองสามวันก่อนมีประเด็นน่าสนใจ

แลงก์บอกว่า ระบบอาหารของโลกที่ยั่งยืนสำหรับคริสต์ศตวรรษที่ 21 จำเป็นต้องคิดใหม่ เพราะระบบอาหารที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้นออกแบบกันมาตั้งแต่เมื่อ 60 ปีก่อน บนพื้นฐานความเชื่อว่า การขยายการผลิตจะช่วยลดต้นทุนทางด้านอาหาร แล้วผลสุดท้ายคือ ความอยู่ดีกินดี และสุขภาพอนามัยที่ดี สมัยที่คิดกันตอนนั้น โลกทั้งโลกเผชิญกับความขาดแคลนด้านอาหาร การผลิตด้านการเกษตรล่มสลาย

เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนผมขอเพิ่มเติมว่าสิ่งที่คิด ออกแบบ และใช้กันมาตั้งแต่ตอนนั้นยันวันนี้คือ การปฏิวัติเขียว นั่นเอง

แต่เมื่อเวลาผ่านไปแค่สักสามสิบปี ผลที่ปรากฏไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวัง นอกจากสุขภาพของคนไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่คิด ยังมีปัญหาใหม่ๆ ตามมาอีกเป็นชุดๆ โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวพันกับสิ่งแวดล้อม จนถึงทุกวันนี้การผลิตต่อหัวกลับลดลง สวนทางกับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นระเบิดเวลาที่รอวันระเบิดในวันข้างหน้า

ศาสตราจารย์แลงก์บอกว่า ปัจจัยพื้นฐานที่เป็นตัวกำหนดความเปลี่ยนแปลงระบบอาหารของโลกในอนาคตมีอยู่ 4 อย่าง คือ

1.น้ำมันและพลังงาน เขาบอกว่า เดี๋ยวนี้ระบบเศรษฐกิจอาหารของเราตั้งอยู่บนหรือพึ่งพิงน้ำมันอย่างสมบูรณ์แบบ แต่น้ำมันกำลังจะหมดไปจากโลก ผลก็คือความผันผวนที่แลเห็นได้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

2.น้ำ การเกษตรกรรมพึ่งพิงการใช้น้ำมาก และใช้มากเกินขนาด

3.ความหลากหลายทางชีวภาพ จำเป็นต้องได้รับการปกป้อง และสร้างเสริมขึ้นมาใหม่

4.กระบวนการกลายเป็นเมือง ยิ่งชนบทหายไปกลายเป็นเมืองมากขึ้น การพึ่งตนเองด้านอาหารก็ยิ่งน้อยลง

ศาสตราจารย์แลงก์คิดว่า ในปี ค.ศ.2050 ซึ่งประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 9,000 ล้านคน คำถามที่ท้าทายฝ่ายนโยบายและนักวิทยาศาสตร์ก็คือระบบอาหารแบบไหนที่จะอย่างใช้ได้ผลกับโลกและความหลากหลายทางชีวภาพที่เราจำเป็นต้องมี

อันที่จริงการตอบคำถามนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ที่จบไปเลยก็คือการเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวแบบขนานใหญ่ เพราะเกษตรกรรมแบบนั้นทำลายความหลากหลายทางชีวภาพจนไม่เหลือหลอ แม้กระทั่งบวกลบคูณหารในเชิงเศรษฐศาสตร์ก็ไม่คุ้ม เนื่องจากสิ่งที่ใส่เข้าไปเกินกว่าสิ่งที่ได้ออกมาหลายต่อหลายเท่า เพียงแต่สิ่งที่ใส่เข้าไปหรืออินพุตนั้นเป็นต้นทุนทางธรรมชาติซึ่งไม่ถูกนับรวมในการแจงนับทางบัญชี แล้วตีออกมาเป็นมูลค่า

แต่ผลของมันมีปรากฏให้เห็นและร้ายกาจในระยะยาว ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะมีกุ้งกุลาดำกินกันอู้ฟู่ (ตัวเล็กนิดเดียว) ส่งออกแต่ละปีมูลค่ามหาศาล ต้นทุนทางธรรมชาติระยะยาวที่วายป่วงไปแต่ไม่มีมูลค่าปรากฏในราคากุ้งคือป่าชายเลน อันเป็นแหล่งต้นกำเนิดสรรพชีวิตในทะเล คนเลี้ยงกุ้งและบริษัทเลี้ยงกุ้งทำลายมัน แต่การฟื้นฟูป่าชายเลนเพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในท้องทะเล ใช้งบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชน

เป็นการเอารัดเอาเปรียบที่ถ้าไม่มองก็ไม่เห็น

เมืองไทยเราอาจจะโชคดี ที่พัฒนาฝีไม้ลายมือทางด้านการเกษตรมายาวนาน มีความหลากหลายอยู่เยอะ และอาหารเเราไม่เคยขาดแคลนเลย เหลือจนส่งไม่ออกด้วยซ้ำไป ราคาตกต่ำจนน่าใจหาย และน่าแปลกใจที่โลกวิตกกับขาดแคลนอาหาร ขณะที่เราต้องเอางบประมาณมาซื้อข้าวของชาวนามาตุนเอาไว้เพราะไม่มีใครซื้อ

อย่างหนึ่งที่ศาสตราจารย์แลงก์แนะนำ คงเฉพาะสำหรับคนอังกฤษแต่คนไทยก็ควรทำและเชื่อว่าหลายคนทำอยู่คือ ปลูกเองกินเอง เท่าที่ทำได้ในพื้นที่ที่มีอยู่

พูดก็พูด สมาชิกสภาที่ปรึกษาอาหารของอังกฤษกำลังบอกคนของเขาถึงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมันจะสร้างความหลากหลายทางชีวภาพโดยปริยาย เมื่อคุณปลูกผักทำสวนครัวที่บ้าน