ผ่านไปแล้วครับ 1 ปีของการเจรจาตามแผน Bali Roadmap เพื่อจัดทำกติกาโลกฉบับใหม่เพื่อการแก้ไขจัดการปัญหาโลกร้อนซึ่งเป็นปัญหาวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมที่มนุษยชาติประสบอยู่ในขณะนี้ ปีที่ผ่านมาเราได้เห็นปรากฏการณ์แปรปรวนของสภาพบรรยากาศโลกในหลากหลายรูปแบบ เช่น หิมะตกในหลายพื้นที่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ฝนตกผิดฤดูกาล น้ำท่วมใหญ่ในหลายประเทศ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งยืนยันว่าถ้าไม่เร่งแก้ไขปัญหาโลกร้อน ทุกประเทศจะเผชิญกับปัญหาความเดือดร้อนมากยิ่งขึ้น

สำหรับในด้านการเจรจาจัดทำกติกาโลกเรื่องโลกร้อน ช่วงปี 2008 นับเป็นการเดินมาครึ่งทางแล้วตามแผน Bali Roadmap ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายไว้ว่า ต้องการเจรจาให้ได้ข้อยุติภายในเดือนธันวาคม 2009 โดยในปี 2008 ได้มีการประชุมเจรจาไปแล้วรวม 4 ครั้ง โดยเริ่มจากการประชุมที่กรุงเทพฯ ไปต่อที่กรุงบอนน์ เยอรมัน ตามด้วยการประชุมที่เมือง Accra ประเทศกานา ก่อนจะมาปิดท้ายที่การประชุมระดับประเทศภาคีสมาชิกของอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (UNFCCC) ครั้งที่ 14 และพิธีสารเกียวโต (KP) ครั้งที่ 4 ณ เมือง Poznan ประเทศโปแลนด์เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ การประชุมระดับโลกรวม 4 ครั้งใน 1 ปีแสดงให้เห็นถึงความตระหนัก การให้ความสำคัญของประชาคมโลกต่อปัญหาเรื่องโลกร้อน

อย่างไรก็ตาม ในปี 2008 นี้การเจรจายังคงอยู่ในบรรยากาศของการถกเถียงอภิปราย การรวบรวมข้อมูลความเห็นในแง่ต่างๆ จากประเทศสมาชิก เป็นการหยั่งเสียงลองเชิงเพื่อทดสอบท่าทีมากกว่าที่จะเป็นการเจรจาอย่างจริงจัง แต่ก็ช่วยทำให้เห็นแนวโน้มว่าประเด็นหัวข้อเรื่องใดเป็นเรื่องที่ประเทศต่างๆ เห็นสอดคล้องกัน เรื่องใดจะเป็น Hot Issues ของการเจรจา ใครอยู่ฝ่ายเดียวกัน เรื่องใดบ้างที่จะมีผลกระทบเกี่ยวโยงต่อประเทศไทยในอนาคต ฯลฯ ก่อนที่จะเริ่มสู่บรรยากาศของการเจรจาอย่างแท้จริง (Full Mode of Negotiation) ในปี 2009

หากเปรียบเทียบวิเคราะห์การเจรจาระหว่างประเทศเรื่องโลกร้อน กับการเจรจาการค้าเสรีรอบโดฮาภายใต้องค์การการค้าโลก และการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) จะเห็นแง่มุมที่น่าสนใจว่า ในขณะที่การเจรจาการค้าเสรีรอบโดฮาเกิดปัญหาชะงักงัน การเจรจาในเวทีเรื่องโลกร้อนได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญ คือ มีเนื้อหาเกี่ยวโยงกับมิติด้านการค้ามากขึ้นเรื่อยๆ เช่น เรื่องการค้าขายคาร์บอนเครดิต เรื่องโครงการ CDM เรื่องการลดการทำลายป่าในประเทศกำลังพัฒนาโดยจะนำมาเชื่อมโยงกับตลาดค้าขายคาร์บอนเครดิต ในขณะเดียวกัน เริ่มเห็นสัญญาณของการนำเรื่องปัญหาโลกร้อนในแง่มุมต่างๆ เข้ามาเชื่อมโยงกับการเจรจาการค้าในรูปแบบ FTA มากขึ้น ทั้งเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก เรื่องการปรับตัวรองรับผลกระทบ เรื่องการค้าขายคาร์บอนเครดิต ฯลฯ โดยเฉพาะในกรณีกับเจรจา FTA ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น กรณีสหภาพยุโรป สิ่งเหล่านี้เป็นทิศทางใหม่ของกระแสการเจรจาด้านการค้าและสิ่งแวดล้อมโลก

ดังนั้นการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างความตกลงภายใต้ WTO กับความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม (เช่น พิธีสารเกียวโต ความตกลงเรื่องโลกร้อนฉบับใหม่ ฯลฯ) และความตกลง FTA จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยต้องพิจารณาทบทวน จะกำหนดเหมือนในความตกลง FTA ที่ผ่านมา โดยระบุเพียงว่า หากมีความขัดแย้งระหว่างความตกลง FTA กับความตกลงอื่นๆ ให้ถือว่าความตกลง WTO มีผลเหนือความตกลงอื่นๆ นั้น เป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างยิ่ง

สำหรับสหรัฐอเมริกาภายใต้นโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ ได้เตรียมความพร้อมที่จะเข้ามามีบทบาทเรื่องโลกร้อนมากขึ้น ในปีหน้าจะมีการพิจารณากฎหมายของสหรัฐเรื่องโลกร้อนฉบับใหม่ ที่ตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศไว้ถึง 80% ภายในปี 2050 (ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ การลดก๊าซเรือนกระจกอาจเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายกว่า) หากสหรัฐจะเริ่มการเจรจาความตกลง FTA อีกครั้ง การเชื่อมโยงเรื่องโลกร้อนกับเรื่องการค้าภายใต้การเจรจา FTA จึงเป็นประเด็นสำคัญเรื่องหนึ่งที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้มาก ควบคู่กันกับความเข้มข้นของกระบวนการเจรจาเรื่องโลกร้อนที่สหรัฐได้ประกาศชัดเจนที่โปแลนด์ว่า จะไม่ทำหน้าที่เพียงการเสิร์ฟกาแฟหลังห้องอีกต่อไป