ตามที่มีข่าวว่านายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาเร่งรับจดสิทธิบัตรยีนข้าวหอมมะลิ และได้ให้นโยบายแก่กรมทรัพย์สินทางปัญญาที่จะต้องรับจดสิทธิบัตรในพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ทุกชนิดนั้น เครือข่ายวิชาการเพื่อคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพไทย ซึ่งเป็นเครือข่ายทางวิชาการที่ดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนกฎหมายและนโยบายให้มีการคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพของไทยมาตั้งแต่ปี 2540  ได้ออกมาแถลงคัดค้านการจดสิทธิบัตรในยีนข้าวหอมมะลิในประเทศไทยว่า จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย ทำให้ต่างชาติเข้ามายึดครองทรัพยากรชีวภาพของประเทศ และจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเกษตรกรไทยในระยะยาว

ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากดูเจตนาของการจดสิทธิบัตร โดยพิจารณาจากคำขอยื่นจดสิทธิบัตรในหลายประเทศจะเห็นว่า สวทช.ซึ่งเป็นผู้ยื่นขอจดสิทธิบัตรนั้น ประสงค์จะให้มีการคุ้มครองกระบวนการและหรือตัวยีนที่มีผลต่อการควบคุมความหอมของข้าว เมล็ดพันธุ์ ต้นข้าวที่ได้ดัดแปรพันธุกรรม(ข้าวจีเอ็มโอ) และกรรมวิธีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะต้องพิจารณาให้เหมาะสม เพราะการอนุญาตให้จดสิทธิบัตรในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิต ยีน และผลิตภัณฑ์ของยีนของสิ่งมีชีวิตอาจจะเกิดผลกระทบตามมาได้ โดยสิทธิบัตรที่ได้รับจากสำนักงานสิทธิบัตรสหรัฐนั้น แม้ไม่ได้จดสิทธิบัตรยีนของข้าวหอมมะลิโดยตรง แต่ในทางปฏิบัติการดัดแปรพันธุกรรมอาจกระทบต่อข้าวหอมมะลิอยู่ดี

ผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล

อ.เจริญ คัมภีรภาพ

รศ.ดร.สุรวิช วรรณไกรโรจน์

ผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวว่า เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนที่คิดว่าเงื่อนไขการรับจดสิทธิบัตรจะต้องเหมือนกันทั่วโลก เพราะเมื่อนักวิจัยกลุ่มหนึ่งจดสิทธิบัตรในประเทศสหรัฐอเมริกาแล้วจะมาจดสิทธิบัตรในประเทศไทยได้หรือไม่จะขึ้นอยู่กับกฎหมายภายในของประเทศไทยที่แตกต่างจากกฎหมายสิทธิบัตรของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ภายใต้กรอบมาตรฐานขั้นต่ำที่ข้อตกลงทริปส์กำหนดไว้ และข้อตกลงทริปส์ก็ให้สิทธิประเทศสมาชิกไม่รับจดสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิตได้ ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงส่วนใหญ่จะปฏิเสธการจดสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต การจดสิทธิบัตรในยีนของสิ่งมีชีวิตเท่ากับเปิดโอกาสให้ประเทศอุตสาหกรรมรวมทั้งบรรษัทยักษ์ใหญ่ด้านยาและอุตสาหกรรมชีวภาพเป็นเจ้าของสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต และด้วยสิทธิผูกขาดจากระบบสิทธิบัตรสภาพการณ์เช่นนี้ไม่ต่างกับการเปิดให้ต่างชาติเข้ามาครอบครองทรัพยากรพันธุกรรมในประเทศไทยได้ มาตรฐานระหว่างประเทศที่เรียกว่า ความตกลงทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้องค์กรการค้าโลก เป็นเพียงมาตรฐานขั้นต่ำที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามเท่านั้น การเปิดโอกาสให้มีการจดสิทธิบัตรยีนของข้าวหอมมะลิจะยิ่งเร่งให้เกิดพฤติกรรมที่เรียกว่า “โจรสลัดชีวภาพ” เพิ่มขึ้นอย่างขนานใหญ่ และกระทบต่อการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรมของเกษตรกรและคนไทยทุกคนในท้ายที่สุด

อ.เจริญ คัมภีรภาพ นักวิชาการด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยศิลปากรกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศฐานทรัพยากรเขตร้อน ทรัพยากรชีวภาพเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของสังคมไทย การจดสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต เช่น การจดสิทธิบัตรยีนของข้าวหอมมะลินั้น เป็นการแปรรูปทรัพยากรพันธุกรรมของชาวนาและของประเทศให้เป็นทรัพย์สินเอกชน อันเป็นกระบวนการทำลายรากเหง้าทางวัฒนธรรม เป็นการยกสิทธิของคนทั้งแผ่นดินให้เป็นของหน่วยงานบางหน่วยงานซึ่งถือว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง  และเมื่อเราอนุญาตให้สวทช.จดสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิตจะโดยวิธีการแก้ไข พ.ร.บ. สิทธิบัตรก็ดี หรือ การวินิจฉัยตีความขยายความบทบัญญัติใน พ.ร.บ. สิทธิบัตรก็ดี เท่ากับว่าปวงชนชาวไทยยอมให้เขามาปล้นอำนาจไปง่าย ๆ ทั้งยังเป็นการบิดเบือนการใช้อำนาจโดยชัดแจ้งอีกด้วย  ต่อไปบรรษัทข้ามชาติซึ่งมีความสามารถสูงกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ก็จะแห่มาเป็นเจ้าของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และจุลินทรีย์ต่างๆในประเทศไทย ซึ่งเป็นต้นทุนทางสังคมที่หามิได้ในโลกนี้   “ในอนาคต หาก สวทช.และกระทรวงวิทย์ฯ ร่วมมือกับบริษัทยาข้ามชาติวิจัยทรัพยากรชีวภาพ  รวมถึงการทำสัญญากับแสวงหาประโยชน์จากผลงานวิจัยเรื่องข้าวให้กับบริษัทเอกชนเพื่อนำไปผลิตเป็นการค้าจะมีหลักประกันอย่างไรต่อประเทศชาติ นี่คือช่องโหว่สำคัญของการแปรรูปทรัพยากรของชาติและชุมชนให้กับต่างชาติ และบริษัทยักษ์ใหญ่การเกษตร” นายเจริญ กล่าว

รศ.ดร.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ที่จริงแล้วการวิจัยที่นำไปสู่การจดสิทธิบัตรในกรณีนี้ มีการใช้พันธุ์พืชซึ่งไม่ใช่พันธุ์พืชใหม่ หรือพืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น จึงอาจเป็นการดำเนินการไม่เป็นไปตามมาตรา 52 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ได้ เพราะผู้ใดก็ตามนำพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปและพันธุ์พืชป่า (ซึ่งไม่ใช่พันธุ์พืชใหม่หรือพืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น)ไปปรับปรุงพันธุ์ ศึกษาทดลอง หรือวิจัยเพื่อการค้า หลังวันที่ 25 พฤศจิกายน 2542 ซึ่งเป็นวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ จะต้องทำสัญญาแบ่งปันผลประโยชน์และได้รับอนุญาตกับกองคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งหลักการของกฎหมายดังกล่าว เป็นไปตามหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อป้องกันมิให้ต่างชาติเข้ามาขโมยพันธุ์พืชของไทยไปใช้ประโยชน์ “แม้ผลงานวิจัยนี้ เป็นของนักวิจัยชาวไทย เราควรทำเรื่องนี้ให้ถูกต้อง เป็นบรรทัดฐานที่ดีเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติในระยะยาวด้วย” รศ.ดร.สุรวิช สรุป

สิทธิบัตรที่นักวิจัยไทยไปจดที่สหรัฐอเมริกา

ด้านนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ตัวแทนจากกลุ่มเอฟทีเอว็อทช์กล่าวว่า หากกรมทรัพย์สินทางปัญญาอนุญาตให้มีการจดสิทธิบัตรยีนในข้าวหอมมะลิ จะเกิดผลกระทบต่อจุดยืนของประเทศไทยในการเจรจา FTA โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป และอเมริกา รวมทั้งผลกระทบต่อการเจรจาภายใต้ WTO ทั้งๆที่รัฐบาลไทยและภาคประชาชนนั้นมีจุดยืนตรงกันมาตลอดในการคัดค้านสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต  “การไปจดสิทธิบัตรยีนข้าวหอมมะลิในต่างประเทศของสวทช.อาจอธิบายได้ว่าเป็นเทคนิคป้องกันมิให้ต่างชาติแย่งชิงตลาดข้าวหอมมะลิ แต่การสั่งการให้หาทางจดสิทธิบัตรนี้ในประเทศไทย ทั้งที่กฎหมายไทยไม่อนุญาตให้มีการจดสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิตนั้น จะสร้างผลกระทบในระยะยาวหลายด้าน เป็นการเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายของไทยที่ไปสอดรับกับแรงกดดันของต่างชาติ อันที่จริง ประเทศไทยมีแนวทางการคุ้มครองพันธุกรรมพืชนอกเหนือจากการใช้ระบบสิทธิบัตรอีกมาก เช่น กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช กฎหมายสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ สิทธิชุมชนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ “

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีหรือไบโอไทย แถลงว่า องค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายชาวนาที่อนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง และชาวนาที่ปลูกข้าวหอมมะลิทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่ได้เคลื่อนไหวต่อสู้กับบริษัทไรซ์เทค และคัดค้านการจดสิทธิบัตรการวิจัยข้าวหอมมะลิของนักวิจัยสหรัฐเมื่อปี 2541-45  กำลังจับตาการให้สัมภาษณ์ของนายอลงกรณ์ พลบุตรด้วยความกังวลใจ เครือข่ายทั้งหมดขององค์กรภาคประชาชนที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้จะออกมาคัดค้านแน่นอน เพราะการให้สิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับข้าวนั้นจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในระยะยาว ทำให้พันธุ์พืชตกอยู่ในมือของบรรษัทข้ามชาติและบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศ ขัดแย้งกับ ปฏิญญาเกษตรกรบึงแก่นนคร และคำประกาศของชาวนาที่จ.พัทลุง ซึ่งประกาศร่วมกันว่าจะป้องกันมิให้มีการจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตและต่อต้านการปลูกพืชจีเอ็มโอจนถึงที่สุด

เครือข่ายวิชาการเพื่อคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพไทย ซึ่งได้แถลงข่าววันนี้ประกาศว่า “รัฐบาลใดก็ตาม ที่เปลี่ยนนโยบายยอมรับให้มีการจดสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต เท่ากับเขาไม่เคยมีประชาชน และ ชาติอยู่ในหัวใจ พวกเรายืนตรงข้ามกับพรรคประชาธิปัตย์แน่นอนและจะต่อสู้ร่วมกับประชาชนในประเทศ หากนายอลงกรณ์ ซึ่งดูแลกรมทรัพย์สินทางปัญญา และคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ซึ่งกำกับดูแลสวทช.เดินหน้าจดสิทธิบัตรยีนข้าวหอมมะลิในประเทศไทย”

Jasmine20rice20patent-USA