1. เจ้าของสิทธิบัตรยีนข้าวหอมมะลิ  

            สิทธิบัตรยีนข้าวหอมมะลิ ซึ่งได้รับการอนุมัติแล้วเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2008 ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น มีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)เป็นเจ้าของสิทธิบัตร หัวหน้าคณะวิจัยคือ รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ม.เกษตรศาสตร์ และนักประดิษฐ์อื่นอีก 4 คน โดยเป็นโครงการวิจัยร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กับศูนย์พันธุและวิศวกรรมแห่งชาติ

2. การยื่นขอจดสิทธิบัตรและข้อถือสิทธิ  

            สวทช.ได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรยีนควบคุมความหอมของข้าวใน 10 ประเทศ คือ สหรัฐ อินเดีย ออสเตรเลีย จีน ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เวียดนาม ฝรั่งเศส กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป และประเทศไทย ในคำขอจดที่ยื่นต่อทุกประเทศนั้น ได้ยื่นขอให้มีการผูกขาดในเรื่อง ยีนที่ควบคุมความหอม เมล็ดพันธุ์  ต้นข้าวดัดแปลงพันธุกรรม และกรรมวิธีที่เกี่ยวข้อง แต่ได้รับอนุมัติเฉพาะที่สหรัฐเท่านั้น โดยได้รับอนุมัติเพียง 4 ข้อถือสิทธิ์ คือ 1)วิธีการเพิ่มสารหอม Os2AP (2- acetyl-1-pyrroline) เพื่อผลิตข้าวจีเอ็มโอ 2) วิธีการทำให้ระดับmRNAของยีนควบคุมความหอมทำงานลดลง 3) การทำให้ลดลงคือการแสดงออกของโครงสร้างที่รบกวนการทำงานของ mRNA  4)การรบกวนดังกล่าวทำ ณ ตำแหน่งนิวคลีโอไทด์ที่ 609 -867 ของยีนความหอม (SEQ ID NO: 5)

สิทธิบัตรที่นักวิจัยไทยไปจดที่สหรัฐอเมริกา

3. ผลของการจดสิทธิบัตรยีนข้าวหอมมะลิในต่างประเทศ 

            ทำให้สวทช.ได้สิทธิผูกขาดการในการผลิตข้าวจีเอ็มโอที่มีความหอมคล้ายหรือเหมือนข้าวหอมมะลิในประเทศสหรัฐอเมริกา  และอาจรวมประเทศอื่นๆอีก 9 ประเทศถ้าประเทศเหล่านั้นอนุมัติคำขอรับสิทธิบัตร

            3.1 ผลในเชิงบวก สามารถป้องกันมิให้ผู้ใดก็ตามผลิตข้าวจีเอ็มโอที่มีกลิ่นหอมเหมือนหรือคล้ายข้าวหอมมะลิได้ในระยะเวลาหนึ่งไม่เกิน 20 ปีตามระยะเวลาการคุ้มครอง อย่างไรก็ตามไม่สามารถห้ามไม่ให้ประเทศใดนำข้าวหอมมะลิไปปรับปรุงพันธุ์โดยวิธีการอื่นได้ เช่น การผสมพันธุ์โดยวิธีการทั่วไป เป็นต้น

            3.2 ผลในเชิงลบ

                        3.2.1 หลังจากหมดอายุคุ้มครองสิทธิบัตรใน 20 ปีข้างหน้า ประเทศใดๆหรือบริษัทใดๆก็ตามสามารถผลิตข้าว

จีเอ็มโอให้มีกลิ่นหอมหรือคล้ายข้าวหอมมะลิได้

                        3.2.2 ในระหว่าง 20 ปีนี้หากสวทช.ขายสิทธิบัตรนี้ให้แก่บริษัทใดๆบริษัทนั้นก็จะมีสิทธิผูกขาดในการผลิตข้าวจีเอ็มโอที่มีกลิ่นเหมือนข้าวหอมมะลิได้ กรณีนี้อาจเกิดขึ้นได้เช่นกันโดยขึ้นอยู่กับนโยบายของสวทช. หรือนโยบายของรัฐมนตรีที่กำกับสวทช. เพราะที่ผ่านมาสวทช.ได้ลงนามในความร่วมมือกับบริษัทข้ามชาติอยู่แล้วเช่น ความร่วมมือระหว่างศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติกับบริษัทโนวาร์ติสในการวิจัยเรื่องยาจากเชื้อราและทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2548-2554 รวม 2 เฟส โดยไม่มีการเปิดเผยสัญญานั้นกับสาธารณชน

                        3.2.3 กลุ่มนักวิจัยบางคนอาจเอาผลงานวิจัยนี้ไปต่อยอดแล้วเอาไปใช้ประโยชน์เฉพาะตนหรือจัดตั้งบริษัทขึ้นมาดำเนินการหาประโยชน์จากสิทธิบัตรนี้ต่อ ตัวอย่างเช่นที่ผ่านมานักวิจัยได้ร่วมกับ “บริษัทไชโย เอเอ”  จัดตั้ง “บริษัทสีนิล จำกัด”  เพื่อนำเอาข้าว “สีนิล” ซึ่งได้จากการวิจัยระหว่างข้าวหอมมะลิ กับข้าวเจ้าหอมนิล เพื่อไปใช้ประโยชน์ทางการค้า  เป็นต้น

                        3.2.4 ทำให้ประเทศไทยมีความชอบธรรมน้อยลงในการคัดค้านหากประเทศอื่นเอายีนที่ควบคุมข้าวที่มีวิตามินอีสูง หรือ ยีนจากพันธุ์พืชอื่นๆของประเทศไทยไปวิจัยและจดสิทธิบัตรในต่างประเทศ  เว้นแต่ว่านักวิจัยกลุ่มนี้และสวทช.มีคำขออนุญาตให้มีการใช้ประโยชน์และสัญญาแบ่งปันผลประโยชน์กับคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ซึ่งพวกเขาไม่ได้ทำ

                        3.2.5 การจดสิทธิบัตรนี้ของสวทช.ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเอง มิได้ตระหนักและเคารพต่อสิทธิของเกษตรกรและชุมชนซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรชีวภาพ ทั้งที่ไม่ได้ตราเป็นกฎหมาย เช่น ปฏิญญาแก่นนคร และปฏิญญาชาวนาทางเลือกภาคใต้ ซึ่งต่อต้านการจดสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต และต่อต้านพืชจีเอ็มโอ[1]  รวมถึงที่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ที่ได้กล่าวแล้ว เป็นต้น

4. ข้อพิจารณากรณีการอนุมัติให้จดสิทธิบัตรยีนข้าวหอมมะลิในประเทศไทย

            4.1 กรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่สามารถจดสิทธิบัตรยีนในข้าวหอมมะลิได้เนื่องจาก พ.ร.บ.สิทธิบัตร 2522 ของไทย มาตรา 9(1) บัญญัติว่า จุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตาม ธรรมชาติ สัตว์ พืช หรือสารสกัดจากสัตว์หรือพืช ไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้ ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่และประเทศเจ้าของทรัพยากรชีวภาพส่วนใหญ่ใช้เกณฑ์เดียวกันนี้

            4.2 กรมทรัพย์สินทางปัญญาสามารถอนุมัติให้จดสิทธิบัตรยีนข้าวหอมมะลิได้ตามนโยบายของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ก็ต่อเมื่อมีการแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร 2522 ที่ให้สามารถจดสิทธิบัตรส่วนหนึ่งส่วนใดหรือสารสกัดจากสัตว์หรือพืชได้  มิฉะนั้นก็จะเป็นการอนุมัติสิทธิบัตรที่ไม่ชอบตามกฎหมาย

            4.3 ยังไม่เห็นประโยชน์อันใดที่สวทช.จะจดสิทธิบัตรยีนข้าวหอมมะลิในประเทศไทย ในเมื่อกฎหมายไทยไม่อนุญาตให้มีการจดสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิตอยู่แล้ว และต่างประเทศที่ต้องการจดสิทธิบัตรดังกล่าวก็ไม่สามารถจดได้

            4.4 หากกรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยอนุมัติคำขอสิทธิบัตรยีนของข้าวหอมมะลิ จะเกิดผลกระทบอย่างกว้างขวาง เพราะจะทำให้ประเทศอุตสาหกรรม และบรรษัทข้ามชาติซึ่งมีขีดความสามารถสูงกว่ามากแห่เข้ามาจดยีนในทรัพยากรชีวภาพของประเทศไทยอย่างขนานใหญ่ โดยที่บรรษัทและประเทศเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องผลักดันให้ประเทศไทยแก้กฎหมายสิทธิบัตรตามข้อตกลงเอฟทีเอเหมือนที่เคยผ่านมา อีกทั้งจะกระทบต่อท่าทีการเจรจาในระหว่างประเทศของไทยที่ไทยร่วมกับอินเดีย บราซิล เป็นต้น เรียกร้องไม่ให้มีการขยายกฎหมายสิทธิบัตรครอบคลุมถึงสิ่งมีชีวิต และเรียกร้องให้มีการเปิดเผยแหล่งที่มาของทรัพยากรชีวภาพในคำขอสิทธิบัตร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด “โจรสลัดชีวภาพ” ขึ้น

5. วิธีการคุ้มครองข้าวหอมมะลิและทรัพยากรชีวภาพ

            สังคมไทยยังสับสนระหว่าง “การคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพ” กับ “การจดสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต” ทั้งสองเรื่องแตกต่างกันแทบจะสิ้นเชิง ดังนี้

            5.1 การจดสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิตนั้นเป็นการแปรรูปทรัพยากรชีวภาพให้กลายเป็น “ทรัพย์สินผูกขาด” ของเอกชนหรือหน่วยงาน และสามารถขายต่อทรัพย์สินถ่ายโอนให้ใครก็ได้ การจดสิทธิบัตรนั้นใช้สำหรับการประดิษฐ์ที่มีขั้นตอนการประดิษฐ์สูงขึ้น ดังนั้นพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์และทรัพยากรชีวภาพทั้งหมดที่เรามีอยู่เดิม ไม่สามารถได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายสิทธิบัตรได้

            อย่างไรก็ตามประเทศอุตสาหกรรมและบรรษัทข้ามชาติพยายามผลักดันให้มีการจดสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิตขึ้น เช่น เมื่อผสมพันธุ์ให้เกิดพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ใหม่ๆ การดัดแปลงพันธุกรรม ไปจนถึงการค้นพบหน้าที่บางอย่างของยีนซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้

            โดยการผลักดันระบบกฎหมายสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต ให้ประเทศทั่วโลกยอมรับจึงกลายเป็นโอกาสของบรรษัทและประเทศอุตสาหกรรมในการเข้ามายึดครองทรัพยากรชีวภาพในประเทศต่างๆ กลุ่มเหล่านี้ได้ผลักดันให้เกิดความตกลงทรัพย์สินทางปัญญาในองค์กรการค้าโลก แต่ยังไม่สำเร็จตามประสงค์ เพราะข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญานั้นได้วางมาตรฐานขั้นต่ำเอาไว้เท่านั้น แต่ละประเทศจะให้สิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิตหรือไม่ให้ ให้เป็นไปตามนโยบายของแต่ละประเทศเอง พวกเขาจึงพยายามผลักดันผ่านความตกลงเอฟทีเอแทน เป็นต้น

            5.2 ส่วนการคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพนั้นเกิดขึ้นจากการผลักดันของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเจ้าของทรัพยากรชีวภาพจนในที่สุดกลายเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่เรียกว่า “อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ” ซึ่งให้การรับรองอธิปไตยประเทศเหนือทรัพยากรชีวภาพ และวางหลักการเรื่องสิทธิชุมชนขึ้น  โดยภาพรวม การคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพนั้นไม่ใช่เป็นการให้สิทธิผูกขาด แต่เป็นการวางกฎเกณฑ์ให้ผู้ใดก็ตามที่ต้องการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพของประเทศอื่น ต้องขออนุญาต และต้องทำตามกติกาที่เจ้าของทรัพยากรกำหนดอย่างเหมาะสม

            5.3 การคุ้มครองข้าวหอมมะลิและทรัพยากรชีวภาพอื่นที่เหมาะสมที่สุด ก็คือการคุ้มครองภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพนั้นเอง โดยแต่ละประเทศจะออกกฎหมายขึ้นเพื่อคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพของตน เช่น ประเทศไทยออกกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 เพื่อให้การคุ้มครองพันธุ์พืชเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป และพันธุ์พืชป่า ขึ้น

            5.4 อย่างไรก็ตามการคุ้มครองในประเทศไทยยังไม่คืบหน้านัก เนื่องจากกรมทรัพย์สินทางปัญญายังมิได้แก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร ให้มีการเปิดเผยที่มาของทรัพยากรชีวภาพเมื่อมีการขอจดสิทธิบัตร แบบเดียวกับที่ประเทศอินเดียและหลายประเทศมีการดำเนินการ

            5.5 ข้อจำกัดของการคุ้มครองนี้คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ยังไม่ยอมลงนามเป็นภาคีในสนธิสัญญานี้เพราะบรรษัทข้ามชาติและสถาบันต่างๆของอเมริกาได้ประโยชน์ฟรีๆจากทรัพยากรชีวภาพของประเทศอื่นมานาน

            5.6 แต่อย่างไรก็ตามการคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพโดยใช้หลักอธิปไตยของประเทศ และหลักเรื่องสิทธิชุมชนนี้ จะเป็นทางออกเฉพาะหน้าและระยะยาวได้มากกว่าการยอมรับระบบกฎหมายสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิตอย่างแน่นอน ทั้งนี้โดยการดำเนินการดังนี้

                        5.6.1 ยืนยันการไม่อนุญาตให้มีการจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตในประเทศ

                        5.6.2 ร่วมกับประเทศเจ้าของทรัพยากรชีวภาพและประเทศกำลังพัฒนาไม่ขยายกฎหมายสิทธิบัตรระหว่างประเทศให้ขยายครอบคลุมการจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต และร่วมกันผลักดันให้ประเทศต่างๆต้องเปิดเผยที่มาของทรัพยากรชีวภาพในกระบวนการขอรับสิทธิบัตร ทั้งสองเรื่องนี้อยู่ระหว่างกระบวนการเจรจาอยู่

                        5.6.3 ในระยะเฉพาะหน้า ประเทศไทยสามารถอ้างสิทธิและอธิปไตยของประเทศเพื่อต่อต้านไม่ให้ประเทศอุตสาหกรรมนำเอาข้าวหอมมะลิหรือทรัพยากรชีวภาพอื่นไปปรับปรุงและจดสิทธิบัตร (ไม่ว่าจะใช้วิธีการพันธุวิศวกรรรมหรือวิธีการผสมพันธุ์แบบปกติ) ได้อยู่แล้วภายใต้กติกาของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะแม้แต่สหรัฐอเมริกาซึ่งเคยวิจัยข้าวหอมมะลิเมื่อปี 2545 ก็ประกาศว่าจะไม่จดสิทธิบัตรพันธุ์ข้าวสายพันธุ์ที่ได้ปรับปรุงจากข้าวหอมมะลิ เพราะการคัดค้านของรัฐบาลและประชาชนไทย โดยการอ้างสิทธิภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ(ซึ่งประเทศเกือบทั่วโลกเป็นภาคียกเว้นสหรัฐ) และจริยธรรมระหว่างประเทศ