มะละกอเป็นพืชผลส่งออกสำคัญของเกาะฮาวาย แต่ล่าสุดเกษตรกรฮาวายได้ส่งสัญญาณเตือนคนไทยว่าอย่าคิดปลูกมะละกอจีเอ็มโอจะดีกว่า เพราะที่ฮาวายต้องหมดตัวเพราะหลงเชื่อบริษัทขายเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอมาแล้ว

กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้จัดงานสัมมนาเรื่อง “มะละกอจีเอ็มโอ บทเรียนจากฮาวายสู่เกษตรกรไทย” เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2546 โดยได้เชิญเมลานี บอนเดอรา เกษตรกรที่ทำการเกษตรยั่งยืนและสมาชิกเครือข่ายรณรงค์ต่อต้านจีเอ็มโอของฮาวาย (ไฮ-ยีน) มาเล่าถึงสถานการณ์ปลูกมะละกอจีเอ็มโอในฮาวาย ซึ่งเป็นหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ว่าตอนที่เริ่มมีมะละกอจีเอ็มโอในฮาวายเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เขาโฆษณาว่าเป็น “วิธีแก้” ปัญหาไวรัสจุดด่างวงแหวน แต่จริงๆ แล้ว กลับสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาเศรษฐกิจ หลังจากมะละกอจีเอ็มโอออกสู่ท้องตลาดครั้งแรกเมื่อปี 2542 ตลาดในต่างประเทศหลายแห่งปฏิเสธไม่ซื้อมะละกอจีเอ็มโอ ทำให้เกษตรกรฮาวายประสบหายนะ ราคาของมะละกอจีเอ็มโอในท้องตลาดต่ำกว่าราคาทุนถึง 30 – 40 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ยังต่ำกว่ามะละกออินทรีย์ซึ่งปลูกโดยไม่ใช้สารเคมีและจีเอ็มโอ ถึง 600 เปอร์เซ็นต์เกษตรกรฮาวายยังพบอีกว่ามะละกอจีเอ็มโอของฮาวายที่ได้ชื่อว่า พันธุ์ซันอัพ ติดเชื้อราและโรคอื่นๆ เช่น เชื้อราจุดดำ ได้ง่ายกว่ามะละกอที่ไม่ใช่จีเอ็มโอ การค้นพบนี้เกิดขึ้น 5 ปีหลังจากมะละกอจีเอ็มโอได้รับอนุมัติให้ปลูกเพื่อการค้าแล้ว ปัจจุบันเกษตรกรต้องฉีดสารเคมีกำจัดเชื้อราให้กับมะละกอจีเอ็มโอทุกๆ 10 วันตั้งแต่ต้นปี 2546 เป็นต้นมา ฮาวายเป็นสถานที่เดียวในโลกที่ปลูกมะละกอจีเอ็มโอเพื่อการค้า และในขณะนี้ กรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานไบโอเทคของไทยก็ได้ออกมาโฆษณาความสำเร็จของมะละกอจีเอ็มโอในไทยซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากนักวิทยาศาสตร์คนเดียวกันและหน่วยงานหน่วยงานเดียวกับที่ผลิตมะละกอจีเอ็มโอในฮาวาย โดยมีบริษัทมอนซานโตเป็นเจ้าของสิทธิบัตรหลายสิทธิบัตรอยู่

มีการคาดการณ์กันว่าผลกระทบที่จะเกิดจากการปลูกมะละกอจีเอ็มโอในไทยนั้น อาจน่ากลัวกว่าฮาวาย เนื่องจากคนไทยไม่เพียงทานส้มตำเป็นอาหารประจำวัน ต้นมะละกอยังขึ้นอยู่ทุกหนทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นในเรือกสวนไร่นา ในสนามหญ้าของโรงเรียน หรือในสวนหลังบ้าน