หลักฐานชัดเจนขนาดนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี คงต้องออกมาแถลงต่อประชาชนแล้วละครับ

หมายเหตุ : รายละเอียดทั้งหมดของ มติคณะรัฐมนตรีซึ่งเกี่ยวข้องกับการเร่งรัดเรื่องสิทธิบัตร และการเดินทางไปพบปะกับบริษัทญี่ปุ่น 5 บริษัท รวมทั้ง Otsuka Pharmaceutucals มีดังนี้


1. มติคณะรัฐมนตรี 05/07/2559

เรื่อง ผลการเยือนประเทศญี่ปุ่นของรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์)

คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนี้
1.รับทราบผลการเยือนประเทศญี่ปุ่นของรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) และคณะ ระหว่างวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๙-๒ มิถุนายน ๒๕๕๙ ณ กรุงโตเกียว โดยได้เข้าเยี่ยมคารวะและพบปะหารือกับเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น (นายโยชิฮิเดะ ซูกะ) และที่ปรึกษาพิเศษนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น (นายฮิโรโตะ อิซุมิ) และได้กล่าวปาฐกถาเกี่ยวกับนโยบายด้านเศรษฐกิจและการลงทุนของไทยในงาน Nikkei Forum 22nd International Conference on the Future of Asia (2016) ซึ่งมีนักธุรกิจและนักลงทุนญี่ปุ่นเข้าร่วมงานกว่า ๖๒๐ คน หรือมากกว่า ๓๐๐ บริษัท เชื่อมั่นในนโยบายเศรษฐกิจและส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลไทย และได้หารือกับนักลงทุนรายใหญ่ด้านการลงทุน ถือเป็นการชักจูงและส่งเสริมการลงทุนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ทั้งนี้ ผลการเยือนดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมระหว่างไทยกับญี่ปุ่น จึงมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ได้แก่ การจดสิทธิบัตร อุปสรรคจากข้อกำหนดในการใช้ประโยชน์ที่ดินในผังเมืองรวมจังหวัดปราจีนบุรี นโยบายและมาตรการการส่งเสริมการลงทุน สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับกิจการที่เข้าข่าย Super Cluster ตามมาตรการของกระทรวงการคลัง การพัฒนาแรงงานให้ตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหาร และการส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวภาพของไทย ตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเสนอ

2.ให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเกี่ยวกับประเด็นหรือมาตรการใดที่หน่วยงานอยู่ระหว่างดำเนินการในเรื่องนั้น ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรชี้แจงและประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการสามารถรับทราบข้อมูลและการดำเนินงานของหน่วยงานโดยทั่วถึง สำหรับประเด็นอุปสรรคจากข้อกำหนดในการใช้ประโยชน์ที่ดินในผังเมืองรวมจังหวัดปราจีนบุรี กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย และกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ควรร่วมกันหารือเพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการผ่อนปรนข้อกำหนดดังกล่าว ซึ่งควรคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมประกอบกันด้วย เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการอำนวยความสะดวกต่อการขออนุญาตขยายกิจการโรงงานต่อไป นอกจากนี้ ในส่วนนโยบายส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ โครงการ Food Innopolis และมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนควรประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมในเรื่องแผนระยะเวลาการดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ในปัจจุบันและระยะต่อไปที่ชัดเจน รวมถึงระบุกิจการเป้าหมายที่ไทยมีความต้องการให้มีการลงทุนมากขึ้น เพื่อส่งเสริมการลงทุนในกิจการที่สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการในประเทศ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย


2. ข่าวสำหรับสื่อมวลชน / PRESS RELEASE

ฉบับที่ 60 /2559 (อ.28) วันที่ 26 พฤษภาคม 2559
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
สำนักนายกรัฐมนตรี

เรื่อง “รองนายกฯ สมคิด นำทีมโรดโชว์ญี่ปุ่น เล็งดึงกลุ่มอุตสาหกรรมไฮเทคลงทุนในไทย”

บีโอไอเผย รองนายกรัฐมนตรีนำคณะเดินทางไปชักจูงการลงทุน ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น พร้อมพบปะหารือกับบริษัทชั้นนำในสาขาที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงและบริการ เช่น อาหารที่มีนวัตกรรม เครื่องมือและวัสดุทางการแพทย์ โพลิเมอร์ชนิดพิเศษ ชิ้นส่วนยานยนต์ และกิจการสำนักงานใหญ่ข้าม ประเทศ หรือ IHQ

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม ถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2559 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นหัวหน้าคณะของรัฐบาลไทยนำหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทยเดินทางไปชักจูงการลงทุน ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

โดยในส่วนของกิจกรรมสำคัญ ประกอบไปด้วย การพบปะหารือกับบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น เพื่อเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งกลุ่มบริษัทที่หารือนั้นจะเน้นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคตที่รัฐบาลต้องการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในประเทศไทยได้แก่ กลุ่มอาหารที่มีนวัตกรรม (Food Innovation) ซึ่งบริษัทญี่ปุ่นเป็นผู้ผลิตอาหารที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนในคลัสเตอร์เมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ Food Innovation ที่เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคตของประเทศไทย

รองนายกรัฐมนตรีและคณะของบีโอไอจะพบปะหารือกับบริษัทชั้นนำอีก 5-6 ราย ในกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ บริษัทผู้ผลิตอาหาร เครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยาที่ใช้วัตถุดิบขั้นสูง อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่เกี่ยวกับระบบความปลอดภัยและใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมปิโตรเคมีชนิดพิเศษ รวมทั้งกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามชาติ (International Headquarters:IHQ)

นอกจากนี้รองนายกรัฐมนตรียังจะใช้เวทีการประชุมนานาชาติเกี่ยวกับอนาคตของเอเชียหรือ International Conference on the Future of Asia ครั้งที่ 22 ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ Nikkei ของญี่ปุ่น มีนักธุรกิจญี่ปุ่นและนักธุรกิจจากประเทศต่างๆ ในเอเชียเข้าร่วมกว่า 1,000 คน เพื่อกล่าวถึงมาตรการสนับสนุนการลงทุนใหม่ ๆ และความพร้อมของไทยในการรองรับการลงทุนแห่งอนาคตตามเป้าหมายของรัฐบาล

“บีโอไอได้เพิ่มความเข้มข้นในกิจกรรมชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ ตามแนวทางของรองนายกรัฐมนตรี โดยเจาะลึกไปถึงแผนการลงทุนของบริษัทเป้าหมาย ไปจนถึงประเด็นที่นักลงทุนอยากให้รัฐบาลสนับสนุน เพื่อให้นักลงทุนตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย” เลขาธิการบีโอไอกล่าว

ที่มา: FACEBOOK Biothai