เบื้องหลังการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว ST25 ของเวียดนามจนกลายมาเป็นข้าวสายพันธุ์ดีที่สุดในโลก จากการประกวดในระหว่างการประชุมข้าวโลกเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมาที่ฟิลิปปินส์นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการเข้าเป็นสมาชิก UPOV1991 ของเวียดนามแต่ประการใด หากแต่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนการวิจัยโดยหน่วยงานวิจัยของรัฐในระดับจังหวัดของรัฐบาลเวียดนามเป็นสำคัญ

ST คือชื่อของจังหวัด Soc Trang ซึ่งอยู่บนดินดอนสามเหลี่ยมแม่น้ำโขงของเวียดนาม ตัวเลขที่ 25 คือหมายเลขสายพันธุ์ของข้าวตระกูล ST ที่ Ho Quang Cua ซึ่งเป็นรองผู้อำนวยการเกษตรและพัฒนาชนบทของจัหวัด Soc Trang และคณะเป็นผู้ผสมพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์ขึ้น

Cua ให้สัมภาษณ์ว่าแรงบันดาลใจของเขาในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวหอมของเวียดนามว่าเกิดขึ้นหลังจากกรมการข้าวของประเทศไทยประกาศความสำเร็จในการพัฒนาข้าวหอมปทุม ซึ่งเป็นข้าวหอมไม่ไวแสงปลูกได้ตลอดปีในพื้นที่เขตชลประทานเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เขาบอกกับตัวเองว่ามาตรฐานและคุณภาพของข้าวเวียดนามตามหลังประเทศไทยมาโดยตลอด ทำไมเราจะพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมของตนเองให้เทียบเท่ากับประเทศไทยไม่ได้

ในบทสัมภาษณ์สื่อฉบับหนึ่ง Cua เล่าว่าจุดเริ่มต้นการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเกิดขึ้นโดยบังเอิญ จากการพบข้าวกลายพันธุ์ในระหว่างเดินศึกษาแปลงนา เขาพบข้าวต้นหนึ่งที่มีรากสีม่วง เมล็ดยาวเรียว เขารวบรวมสายพันธุ์เหล่านั้นมาปลูกทดสอบและคัดเลือกจนเป็นต้นกำเนิดของ ST25

ในอีกบทสัมภาษณ์กับสื่ออีกฉบับเขาเล่าว่า พวกเขาเริ่มจากการรวมรวบสายพันธุ์ข้าวจากหลายประเทศ เช่น ไต้หวัน ไทย บังคลาเทศ สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ และสายพันธุ์ข้าวของเวียดนามเองเพื่อเริ่มต้นหน่วยผสมพันธุ์ข้าว Soc Trang Rice Research Group (ST) ที่ตั้งขึ้นในปี 2002

ตอนนั้นพวกเขาเริ่มต้นจากความขาดแคลนและผิดพลาด ไม่มีแม้แต่แนวทางการพัฒนาข้าวหอมของตนเอง จึง “หยิบยืม” “เกณฑ์ข้าวหอม พ.ศ 2541” ของกรมการข้าว ประเทศไทยเป็นคู่มือนำทาง ใช้เวลาเกือบ 10 ปีที่เริ่มเผยแพร่สายพันธุ์ข้าวหอมกลุ่ม ST ในเวียดนาม จนชนะการประกวดพันธุ์ข้าวหอมของจังหวัดในปี 2017 และได้อันดับสามในการประกวดข้าวโลกที่มาเก๊า ประเทศจีน ก่อนที่จะชนะอันดับ 1 ในการประกวดที่มนิลาเมื่อปีที่ผ่านมา

ST25 หอมเมล็ดยางคล้ายข้าวหอมมะลิ

ST25 มีเมล็ดเรียวยาว ไม่เป็นท้องไข่ หุงแล้วนุ่ม หอมเหมือนสัปปะรด ปลูกได้ตลอดปี ทนทานต่อความเป็นกรด และดินเค็ม เหมาะกับพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมแม่น้ำโขง ซึ่งมีการเลี้ยงกุ้งในบริเวณเดียวกัน

แต่เบื้องหลังเคล็ดลับแห่งความสำเร็จที่อาจไม่มีใครทราบ คือข้าวสายพันธุ์ ST25 ที่ชนะการประกวดคราวนี้ ได้มาจากการปลูกแบบอินทรีย์ ดังนั้นสิ่งที่ Ho Quang Cua กำลังทำขณะนี้คือ การพยายามรักษาคุณภาพของข้าวสายพันธุ์นี้โดยส่งเสริมการปลูกและทำการตลาดแบบอินทรีย์ สร้างแบรนด์ข้าวหอมเวียดนาม เพื่อลบภาพจำข้าวหอมมะลิของไทยที่สร้างมาตรฐานตลาดของข้าวหอมของโลกมายาวนาน ก่อนที่จะถูกทาบรัศมีจากข้าวมาลีอังกอร์ของกัมพูชา และ Pearl Paw San จากพม่าเมื่อเร็วๆนี้

พวกเขากำลังตั้งคำถามว่าทำไมราคาข้าวหอมของเวียดนามเฉลี่ยต่อตันจึงมีราคาต่ำกว่าประเทศไทย ทั้งๆที่เขาเพิ่งโค่นข้าวหอมมะลิจากประเทศไทยได้สำเร็จ คำตอบก็คือ ST25 เป็นพันธุ์ที่เพิ่งเปิดตัว ยังผลิตเมล็ดพันธุ์ได้น้อย พื้นที่ปลูกยังน้อย และการรักษามาตรฐานของการปลูกและอื่นๆยังเป็นเรื่องที่ท้าทายเวียดนามอีกสักระยะหนึ่ง

ใครที่ติดตามเรื่องราวของข้าว จะเรียนรู้ได้ว่า ความสำเร็จในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวนั้น อยู่ที่การสนับการวิจัยโดยสถาบันวิจัยสาธารณะ และการคัดเลือกพัฒนาสายพันธุ์ข้าวโดยชุมชนชาวนาเองเป็นสำคัญ มิใช่การมอบสิทธิผูกขาดให้กับบรรษัทเมล็ดพันธุ์ และทำลายสิทธิของชาวนาในการเก็บและคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวเพื่อปลูกต่อ อย่างที่บางกลุ่มกำลังจะผลักดันแต่ประการใด

เพื่อให้มีมุมมองรอบด้าน ในตอนต่อไปเราจะมากล่าวถึงปัญหาอีกแง่มุมอื่น เกี่ยวกับแนวโน้มการผูกขาดของสายพันธุ์พืชบางชนิดในเวียดนามโดยบรรษัทข้ามชาติ ซึ่งเป็นผลมาจากการเข้าร่วม UPOV1991 ตามแรงกดดันของสหรัฐ