ขนุน (ชื่อภาษาอังกฤษ Jackfruit ชื่อวิทยาศาสตร์: Artocarpus heterophyllus หรือ A. heterophylla)ได้ชื่อว่าเป็นผลไม้ที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดในโลก เป็นไม้ผลยืนต้นในวงศ์ Moraceae โดยพืชในสกุล Artocarpus เดียวกันกับขนุนมีรวมกันประมาณ 60 ชนิด (species) ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในเอเชียอาคเณย์และบางส่วนอยู่ในเอเชียใต้ แต่ปัจจุบันกระจายไปปลูกในหลายทวีปผลขนุนเป็นลักษณะผลรวม (multiple fruit) ซึ่งหมายถึงมีผลซึ่งเกิดจากดอกจำนวนมากมากมาอัดแน่นรวมกัน ส่วนของเนื้อในสีเหลืองรับประทานสด หรือทำเป็นของหวานได้หลายชนิด บางสายพันธุ์แม้กระทั่งซังที่ห่อหุ้มก็มีรสหวานรับประทานได้เช่นเดียวกัน ยอดอ่อนและผลอ่อน รับประทานเป็นผักผ่านการต้ม หรือใช้ปรุงอาหารประเภทยำ แกง หรือซุป เป็นต้น เกสรดอกตัวผู้นำมาเป็นผักแนม เมล็ดนำไปต้มรับประทานเป็นอาหารว่างได้ ส่วนแก่นทำเป็นสีย้อม เช่น จีวรพระสีแก่นขนุน

ส่วนต่างๆของขนุนยังใช้เป็นยาสมุนไพร เช่น ใบ รสฝาด ใช้บดโรยแผลมีหนองเรื้อรัง แก่นและรากใช้บำรุงโลหิต แก้กามโรค ขับพยาธิ ระงับประสาท แก้โรคลมชัก ต้มดื่ม แก้ท้องเสีย ทาแก้โรคผิวหนังยาง รสฝาด แก้อักเสบบวม แผลมีหนองเรื้อรัง แก้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ เนื้อในเมล็ดต้มหรือหมกไฟ รับประทาน บำรุงน้ำนม ขับน้ำนม บำรุงกำลัง
ญาติที่ใกล้ชิดขนุนมากที่สุดคือจำปาดะ( ชื่อวิทยาศาสตร์ Artocarpus integer) แม้ปลูกมากในภาคใต้ แต่ก็สามารถพบได้ทั่วไปในทุกภาคของประเทศ ผลจำปาดะมีรสหวานจัด เนื้ออ่อนนุ่มฉ่ำน้ำ มีเส้นใยจำนวนมาก แตกต่างจากเนื้อในขนุนที่มีความแข็งกรอบมากกว่า รับประทานสด หรือทำเป็นของหวาน เช่น บวดใบและผลอ่อนรับประทานเป็นผักได้แบบเดียวกันกับขนุน เมล็ดต้มรับประทานได้ หรือนำมาใช้แกงใส่ในแกงไตปลา เป็นต้น

ส่วนต่างๆที่ใช้ประโยชน์ได้ เช่น เส้นใยจากเปลือกนำมาทำเป็นเชือก เรซินจากต้นใช้เป็นวัสดุเคลือบเงา พืชในสกุลเดียวกันขนุนและจำปาดะที่เรารู้จักกันดีคือสาเก (ชื่อภาษาอังกฤษคือ Breadfruit ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Artocarpus altilis (Parkinson ex F.A.Zorn) Fosberg (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Artocarpus communis J.R.Forst. & G.Forst., Artocarpus incisus (Thunb.) L.f., Saccus laevis Kuntze, Sitodium altile Parkinson ex F.A.Zorn) มีถิ่นกำเนิดในหมู่เกาะมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิกตะวันออก และต่อมาได้แพร่หลายไปทั่วเขตร้อน โดยสายพันธุ์ที่ปลูกแพร่หลายในบ้านเราเรียก สาเกพันธุ์ข้าวเหนียว มีผลใหญ่ ผลสุกเนื้อเหนียว นิยมปลูกทั่วไปสำหรับทำขนม ส่วนสาเกพันธุ์ข้าวเจ้า มีผลเล็กกว่า เนื้อหยาบร่วน ไม่ค่อยนิยมปลูกมารับประทานมากนักสาเกมีลักษณะต้นและใบแตกต่างกับขนุนมาก โดยลักษณะใบมีขนาดใหญ่หนาสีเขียวสด มีรอยหยักหรือร่องลึกเกือบถึงก้านกลางใบ ผลสาเก ลักษณะของผลกลมรี ผลมีสีเขียวอมเหลือง เล็กกว่าขนุนหรือจำปาดะมาก เนื้อในเป็นสีเหลืองซีดหรือขาวไม่มีเมล็ดอยู่ข้างในเลย และที่ได้ชื่อว่า bread fruit เพราะเมื่อนำไปนึ่ง ต้ม หรืออบ จะได้เนื้อนุ่มเหมือนก้อนแป้ง หรือนำไปป่นเป็นแป้งเพื่อทำขนมปังกรอบ ส่วนในประเทศไทยนิยมนำมาเชื่อมได้ ใช้ทำเป็นขนมสาเก เช่น แกงบวด สาเกเชื่อม เป็นต้น เนื้อในสาเกให้พลังงานสูง มีคุณค่าอาหารมากมาย ทั้งแคลเซียม และวิตามินหลากหลายชนิด ซึ่งช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ โดยช่วยเพิ่มระดับไขมันดีและช่วยลดระดับไขมันเลว เส้นใยอาหารจากสาเก ช่วยลดการดูดซึมของน้ำตาลในร่างกาย จึงช่วยควบคุมโรคเบาหวานได้ ตลอดจนช่วยในการทำงานของลำไส้และระบบขับถ่าย ส่วนต่างๆของสากสามารถใช้ประโยชน์ได้สารพัด เช่น ใบและผลใช้เป็นอาหารสัตว์ เปลือกไม้ชั้นในนำมาทำผ้าเปลือกไม้ หรือเรียกว่า “tapa” ทำเครื่องนอน เสื้อผ้า ผ้าขาวม้า รวมทั้งทำเป็นสายรัดสำหรับควาย หรือตาข่ายจับฉลาม สำหรับชาวหมู่เกาะ ยางสีขาวน้ำนม ข้นเหนียวนำมาใช้ชันยาเรือ ชาวทะเลแคริเบียนใช้เคี้ยวเป็นหมากฝรั่ง ช่อดอกใช้เป็นสีย้อมเหลืองอมน้ำตาล ดอกไม้แห้งสามารถเผาเป็นยาไล่ยุง

ในตำรับสมุนไพรระบุว่า รากมีรสเมา แก้กามโรค ป้องกันมะเร็ง
พืชชนิดเดียวกับสาเกเลย มีชื่อเรียกขานว่า “ขนุนสำปะลอ” ซึ่งไม่ใช่ขนุนแต่เป็นสาเกที่มีเมล็ด เมล็ดมีขนาดหัวแม่มืออัดแน่นเต็มผล แต่ละเมล็ดก็มีขนาดและรูปร่างแตกต่างกัน โดยสามารถนำเมล็ดของขนุนสำปะลอมาต้มหรือเผารับประทานกับน้ำตาลทราย