เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิคตอเรีย และอีกหลายมหาวิทยาลัยในออสเตรเลีย ได้เผยแพร่งานวิเคราะห์เชิงระบบเกี่ยวกับการศึกษาการใช้สารจากพืชและยาโดยใช้เทคโนโลยี Virtual screening และ Molecular docking พวกเขาพบว่าในช่วงปีกว่าที่ผ่านมา นับตั้งแต่เริ่มต้นการระบาดของโควิด-19 มีงานวิชาการที่ตีพิมพ์มากในโลกมากถึง 483 ชิ้น !

Majid Hassanzadeganroudsari และคณะระบุในรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Biologics เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ว่า ท่ามกลางปัญหาการเข้าถึงวัคซีน และผลข้างเคียง  และในขณะที่ยาแผนปัจจุบันที่ถูกนำมาใช้ในการรักษาหรืออยู่ระหว่างการทดสอบ เช่น Azithromycin (ยาปฏิชีวนะ) Hydroxychloroquine (ยาต้านมาเลเรีย)  และ Remdesivir (ยาต้านไวรัสอีโบลา) เพื่อรับมือกับโควิดนั้น รายงานทางคลินิกส่วนใหญ่มีผลลัพธ์ที่น่าผิดหวัง (Bellera และคณะ, 2021)  ทำให้นักวิจัยหลายประเทศทั่วโลกมุ่งไปสู่การนำยาสมุนไพรซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ ผนวกกับเทคโนโลยีชีวสารสนเทศหรือไบโออินฟอร์เมติกส์ (bioinformatics) ในการนำแบบจำลองโมเลกุลขนาดเล็กของสารสกัดจากพืช แบบจำลองโมเลกุลขนาดใหญ่ของโปรตีน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของไวรัสและเซลล์มาสำรวจคัดเลือกโดยใช้คอมพิวเตอร์ (virtual screening) เพื่อค้นหายาต้านโควิด

โดยคณะนักวิจัยพบว่า จากการสำรวจพบว่าขณะนี้มีสารสกัดจากพืชและตัวยามากถึง 56 ชนิดที่มีศักยภาพดังกล่าว

เช่นเดียวกับ Xin Yi Lim นักวิจัยจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) หน่วยงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุขของมาเลเซีย และเพื่อนนักวิจัยอีก 2 คนในมหาวิทยาลัยมาลายา ซึ่งโฟกัสการสำรวจไปเฉพาะการใช้ฟ้าทะลายโจรและสารแอนโดรกราโฟไลด์ ระบุว่า ในช่วงประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา มีงานวิชาการที่เกี่ยวกับสมุนไพรฟ้าทะลายโจรอย่างเดียวมากถึง 123 ชิ้น โดยหากมุ่งไปดูงานวิจัยมุ่งเป้าที่จะสามารถนำมาใช้เพื่อการวิจัยและใช้ประโยชน์ต่อจากเกณฑ์การศึกษาของผู้วิจัยจำนวน 12 ชิ้น พบว่ามาจากอินเดียมากกว่าครึ่งหนึ่ง  งานส่วนใหญ่อยู่ในระดับ Molecular docking และส่วนน้อยศึกษาแล้วในระดับห้องปฏิบัติการ

งานวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพรต้านโควิดนำโดยอินเดีย และจีน ซึ่งมีทั้งความหลากหลายทางชีวภาพ และภูมิปัญญาด้านการแพทย์อันเก่าแก่  การสำรวจเกี่ยวกับงานวิจัยมักพบงานวิจัยจากอินเดีย ส่วนจีนนั้นซุ่มเงียบเพราะมักไม่ปรากฎงานวิจัยจากจีนตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการ  แต่เชื่อว่าอีกไม่นานน่าจะมีผลิตภัณฑ์สารสกัดสมุนไพรของจีนออกมาจำหน่ายในตลาดก่อนประเทศอื่น ดังที่นักวิชาการด้านการแพทย์แผนไทยระบุเมื่อเร็วๆนี้ว่า จีนกำลังอยู่ระหว่างการทดลองใช้สารแอนโดรกราโฟไลด์ในรูปแบบสารเดี่ยวสำหรับฉีด

เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่ใช้แบบจำลองโมเลกุลช่วยเร่งระยะเวลาการพัฒนายาลงหลายเท่าตัว จากที่เคยใช้เวลา 10-15 ปี อาจลดเหลือ 2-3 ปี ลดงบประมาณและลดขั้นตอนหลายขั้นตอนลง เป็นการผนวกความรู้ไบโออินโฟเมติกส์เข้ากับความรู้ท้องถิ่นเกี่ยวกับสมุนไพรของชุมชนและหมอยาพื้นบ้าน

หวังว่าเราจะสามารถนำความรู้เหล่านี้มาเป็นหนทางก้าวข้ามวิกฤตใหญ่ที่สุดในช่วงชีวิตของพวกเรานี้ได้ในที่สุด  สมุนไพรและยาเหล่านี้ต้องเป็นประโยชน์ต่อคนเล็กคนน้อย ให้คนทั้งโลกเข้าถึงได้ใช้ประโยชน์ ไม่ใช่กลายเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่อยู่ในอุ้งมือของบรรษัทใหญ่ เหมือนที่วัคซีนหรือยาจำนวนมากที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน