ต้องยอมรับว่าปัจจุบัน องค์ความรู้ในอดีตบางอย่างเริ่มหายไป ภูมิปัญญาที่มีการสั่งสมจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ได้ถูกสานต่อ เราอาจจะค้นหาความรู้ได้จากหนังสือตำรับตำราเก่า ๆ เท่านั้น แต่จะแทบไม่พบแล้วในปัจจุบัน ภูมิปัญญาการทำน้ำตาลก็เกือบจะเป็นหนึ่งในความรู้ที่จะหายไป นับว่ายังโชคดีที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจและรักษาต่อยอดไว้ ซึ่งเป็นการรักษาที่ปรับรูปแบบบนฐานความรู้เดิมให้มีความเหมาะสมกับยุคสมัยใหม่ จึงเป็นที่มาของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพียรหยดตาล

แรงบันดาลใจเกิดจาก การแสวงหาความชอบและความสุขของตัวเอง กับความอยากทำอะไรเพื่อสังคม จึงเริ่มเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ และภูมิปัญญาในการทำน้ำตาลมะพร้าว

แต่พบว่าเงื่อนไขเชิงพื้นที่ที่ไม่เหมาะต่อการผลิต ทั้งจำนวนต้นตาลที่ลดลง แรงงานในชุมชนที่มีแต่ผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมจากการสร้างเขื่อนทำให้น้ำเค็มหนุนสูงส่งผลให้ผลผลิตตาลน้อยลง นำสู่การทบทวนต้นทุนของชุมชน ค้นพบ “ภูมิปัญญาการทำน้ำตาลมะพร้าว”

คุณอัครชัย จึงตั้งกลุ่มขึ้นเพราะเกิดจากความรู้สึกร่วมกันที่ “ต้องทำอะไรสักอย่าง” เพื่อไม่ให้ภูมิปัญญาสูญหาย จึงเริ่มใช้การสื่อสารผ่านเว็บไซต์ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของวิถีการทำน้ำตาลของชุมชน

จากการวิเคราะห์ปัญหา พบว่า “ต้นทุนการผลิตและจำหน่ายไม่สมเหตุสมผล” ทำให้คนไม่กลับมาทำตาล จึงปรับ “โครงสร้างราคาให้สอดคล้องกับความเป็นจริง” จนนำไปสู่ช่องทางการตลาดที่เหมาะสม คือ ตลาดบน ซึ่งเป็นตลาดที่เน้นผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อเนื่องจากผลผลิตมีราคาสูง

บทเรียนการทำธุรกิจชุมชนและการตลาด

  1. การศึกษาและเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันในรูปแบบเครือข่าย ที่เป็นการทำงานภายในและภายนอกชุมชน
  2. การสร้างกลไกที่เป็นรูปธรรมให้คนที่มาเข้าร่วมเห็นว่าสามารถทำงานร่วมกันได้ พบว่า แต่ละคนมีความถนัดที่แตกต่างหลากหลายที่สามารถนำมาเชื่อมโยงกับชุมชนได้
  3. กิจกรรมในชุมชน พยายามเชื่อมโยงเครือข่ายผ่านการทำธุรกิจร่วมกับชุมชน ทั้งนี้ อยู่บนพื้นฐานของความสมัครใจที่อยากทำงานร่วมกัน
  4. “การหาตลาด และการหาวิธีการสื่อสารที่เหมาะสม” นอกจากการทำบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม
  5. สร้างการรับรู้และความเข้าใจใหม่ เช่น น้ำตาลมะพร้าว คือ คาราเมล ของคนตะวันตก

ผลจากการสร้างเครือข่าย เกิดจากการจัดกิจกรรม ผู้เข้าร่วมกิจกรรม (เชฟร้านอาหาร) จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับชุมชน กิจกรรม ได้แก่ (เชฟครีเอทเมนูอาหารใหม่ๆ ที่ใช้น้ำตาลมะพร้าวเป็นวัตถุดิบ) กลายเป็น   “วงจรแห่งมิตรภาพ” ที่เกิดขึ้นระหว่างเส้นทางที่เรียนรู้ร่วมกัน

จะเห็นได้ว่า ฐานทรัพยากรที่เปลี่ยนไปส่งผลต่อการผลิตของชุมชน ในขณะเดียวกันมีความพยายามในการเชื่อมต่อผ่านกลุ่มใหม่ๆ ที่กว้างไปกว่าคนในชุมชน