การเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของชุมชนเกษตรกรรมมานับตั้งแต่อดีต แม้กระทั่งในสนธิสัญญาระหว่างประเทศของ FAO เกี่ยวกับอาหารและการเกษตรยังระบุถึงสิทธิของเกษตรกรในเรื่องดังกล่าว แต่การเข้าร่วม CPTPP ซึ่งมีเงื่อนไขให้ยอมรับ UPOV1991 เรื่องดังกล่าวจะกลายเป็นข้อห้าม เว้นแต่รัฐจะอนุญาตได้เป็นบางกรณี และในบางกรณีที่ UPOV1991 อนุญาตให้ทำได้ก็ล้วนมีเงื่อนไข ดังกรณีธัญพืชเมล็ดเล็ก (small-grained cereals) เช่น ข้าว

กรณีธัญพืชเมล็ดเล็กนั้น GUIDANCE FOR THE PREPARATION OF LAWS BASED ON THE 1991 ACT OF THE UPOV CONVENTION ซึ่งเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการของ UPOV เมื่อปี 2017 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การอนุญาตให้เกษตรกรเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อได้ต้องทำอย่างจำกัดและสมเหตุผล (within reasonable limits) และต้องคุ้มครองผลประโยชน์ตามกฎหมายของนักปรับปรุงพันธุ์ (and subject to the safeguarding of the legitimate interests of the breeder) เท่านั้น

UPOV ได้ขยายความโดยยกตัวอย่างว่า ในบางประเทศ การอนุญาตให้เกษตรกรที่ปลูกธัญพืชเมล็ดเล็กพืชน้อยกว่า 10 แฮกตาร์ (62.5 ไร่) สามารถเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อได้ (โดยต้องจ่ายค่าตอบแทนให้นักปรับปรุงพันธุ์ด้วยในเกณฑ์ที่เหมาะสม ไม่ใช่เก็บพันธุ์ไปปลูกต่อโดยอัตโนมัติ) หากคิดเป็นสัดส่วนแล้วพื้นที่ซึ่งเกษตรกรที่ทำการเกษตรในขนาดดังกล่าวมีพื้นที่รวมกันน้อยกว่า 5% ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมดของประเทศนั้น แต่ในบางประเทศการกำหนดขนาดดังกล่าวอาจมีสัดส่วนถึง 90% ของการปลูกพืชชนิดนั้น ซึ่งจะกระทบกับผลประโยชน์ของบริษัทเมล็ดพันธุ์

เมื่อใช้เกณฑ์ดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับการปลูกข้าวพบว่า มีชาวนาไทยซึ่งทำนาในพื้นที่ 5 ไร่หรือน้อยกว่า 5 ไร่เท่านั้น ที่เข้าเกณฑ์ UPOV1991 อนุญาตให้ชาวนาเมื่อซื้อข้าวพันธุ์ใหม่มาปลูกแล้วเก็บเกี่ยวผลผลิตได้สามารถเก็บไว้เป็นพันธุ์ข้าวปลูกในฤดูกาลต่อไปได้ (อย่าลืมว่าต้องจ่ายค่าตอบแทนจำนวนหนึ่งที่เหมาะสมแก่บริษัทเมล็ดพันธุ์ด้วย ) ทั้งนี้เนื่องจากชาวนาที่ทำนาตั้งแต่ 5 ไร่ลงมานั้น คิดเป็นสัดส่วน 4.47% ของพื้นที่ปลูกข้าว ซึ่งไม่กระทบผลประโยชน์ของบริษัทเมล็ดพันธุ์นัก

แต่ หากรัฐกำหนดตามกฎหมายให้ “ชาวนาที่มีที่นาน้อยกว่าหรือเท่ากับ 10 ไร่” เก็บพันธุ์ไปปลูกต่อได้ จะมีปัญหาทันที เพราะพื้นที่การทำนาของชาวนาที่ได้รับการยกเว้นจะมีสัดส่วนมากถึง 21.4% ของพื้นที่นาทั้งหมด ข้อยกเว้นนี้จะถูกตีความว่า “ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของบริษัทเมล็ดพันธุ์”

อย่าลืมว่า ข้อมูลของกรมการข้าวระบุว่ามีชาวนาประมาณ 49% หรือ 2.2 ล้านครัวเรือนที่เก็บพันธุ์ข้าวไปปลูกต่อในรอบการผลิตต่อไป และชาวนาอีก 21% หรือ 0.94 ล้านครัวเรือนที่ซื้อพันธุ์ข้าวจากเพื่อนบ้านไปทำพันธุ์เพื่อปลูกต่อ นั่นหมายความว่า มีชาวนาจำนวนมากจะได้รับผลกระทบจากการที่ประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP ซึ่งต้องพ่วงให้ยอมรับ UPOV1991

การขยายสิทธิผูกขาดนี้ถูกอ้างว่า เพื่อส่งเสริมบริษัทเมล็ดพันธุ์ สร้างแรงจูงใจให้บริษัทเหล่านี้ขยายกิจการเข้ามาลงทุนและครอบครองส่วนแบ่งตลาดในเมล็ดพันธุ์ผสมเปิด เช่น สายพันธุ์ข้าว ซึ่งชาวนาสามารถเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อได้ ทั้งๆที่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ได้ให้สิทธิผูกขาดการขายแต่ผู้เดียวแก่บรรดาบริษัทเมล็ดพันธุ์นั้นอยู่แล้ว

การเข้าร่วม CPTPP จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ของกลุ่มทุนบางกลุ่มที่หวังผลประโยชน์ลมๆแล้ง แลกกับผลกระทบต่อวิถีเกษตรกรรมของชาวนาและเกษตรกรปลูกพืชอื่นๆ นั่นเอง

ที่มา: BIOTHAI Facebook