ถ้ามีใครบอกว่าเรามีแมลงศัตรูพืชเป็นจำนวนมาก จึงต้องพึ่งพาการใช้สารเคมีฆ่าแมลงมากกว่า คำบอกเล่านั้นไม่เป็นความจริง เพราะแมลงส่วนใหญ่ในโลกนั้นล้วนแล้วแต่ไม่ได้มีพิษภัยต่อมนุษย์

ในโลกนี้มีแมลงประมาณ 800,000-1,000,000 ชนิด แต่ถูกจัดว่าเป็นเป็นแมลงศัตรูพืชประมาณ 1,000 ชนิด หรือเพียง 0.1% เท่านั้น

ในขณะที่แมลงกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดของโลก หรือมีจำนวนชนิดหลากหลายมากกว่า 500,000 ชนิดนั้น เป็นแมลงที่ เรียกว่า “แมลงกลุ่มแตนเบียน” (parasitic wasps) แมลงกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นแมลงที่เป็นประโยชน์ต่อระบบเกษตรกรรม และคอยควบคุมแมลงศัตรูพืช

แมลงตัวเบียน (parasitoids) ในกลุ่มแตนเบียน ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการเกาะกินแมลงชนิดอื่นที่มีขนาดใหญ่กว่า ทำให้แมลงที่ถูกเกาะกินอ่อนแอและตายไปในที่สุด โดยจะมีช่วงการเติบโตที่ต้องอาศัยอยู่ภายในหรือภายนอกของแมลงชนิดอื่นในระยะต่างๆ เช่น

1) แมลงเบียนไข่ หมายถึง แมลงเบียนที่ทำลายตัวอาศัยในระยะไข่ โดยตัวเต็มวัยตัวเมียจะวางไข่เข้าไปในไข่ของตัวอาศัย ไข่ของตัวเบียนเมื่อฟักเป็นตัวหนอนก็จะกัดกินภายในไข่ และเข้าดักแด้อยู่ภายใน เมื่อถึงระยะตัวเต็มวัยก็จะเจาะเปลือกไข่ออกมา ตัวอย่างของแมลงเบียนไข่ เช่น แตนเบียน Trichogramma ซึ่งทำลายไข่ของผีเสื้อศัตรูพืชชนิดต่าง ๆ และแตนเบียน Anastatus ซึ่งทำลายไข่ของมวนลำไย เป็นต้น

2) แมลงเบียนที่ทำลายตัวหนอนหรือตัวอ่อนของตัวอาศัย เรียกว่า แมลงเบียนหนอน หรือแมลงเบียนตัวอ่อน ซึ่งตัวเต็มวัยตัวเมียของแมลงเบียนจะวางไข่ไว้บนหรือในตัวหนอน โดยตัวเต็มวัยจะต่อยแมลงอาศัยให้เป็นอัมพาตก่อนวางไข่ ไข่เมื่อฟักออกมาเป็นตัวหนอนก็จะกัดกินอยู่ภายนอก หรือภายในตัวหนอนของตัวอาศัย เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ก็จะเข้าดักแด้อยู่ภายนอกตัวอาศัย แต่บางชนิดก็เข้าดักแด้อยู่ในตัวอาศัย ตัวอย่างของแมลงเบียนหนอน เช่น แตนเบียน Cotesia plutellae ซึ่งทำลายหนอนใยผัก แตนเบียน Apantales spp. ซึ่งทำลายหนอนกระทู้ผักและหนอนคืบผัก และแตนเบียนตัวอ่อน Aphidius sp. ทำลายเพลี้ยอ่อนผักกาด

3) แมลงเบียนที่ทำลายตัวอาศัยในระยะดักแด้เรียกว่า แมลงเบียนดักแด้ ตัวอย่างของแมลงเบียนกลุ่มนี้ได้แก่ แตนเบียน Brachymeria spp. ซึ่งทำลายดักแด้ของหนอนผีเสื้อศัตรูพืชหลายชนิด

4) แมลงเบียนตัวเต็มวัย จะเข้าทำลายตัวอาศัยตัวเต็มวัยซึ่งจะพบน้อยชนิด เช่นแตนเบียน Pseudogonotopus hospes ที่ทำลายตัวเต็มวัยของเพลี้ยจั๊กจั่นสีเขียวและเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลของข้าว นอกจากนี้จะมีแมลงเบียนหลายชนิดที่ทำลายตัวอาศัยในระยะหนอน แต่จะเจริญเติบโตครบวงจรชีวิตในระยะดักแด้ เราเรียกแมลงเบียนกลุ่มนี้ว่า แมลงเบียนหนอนดักแด้

ตัวอย่างวงค์ของแตนเบียนที่พบในประเทศไทย เช่น

1. แตนเบียน superfamily Chalcidoidea ในธรรมชาติอาจมีมากกว่า 500,000 ชนิด แต่เป็นที่รู้จักแล้วประมาณ 22,500 ชนิด ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กมาก โดยทั่วไปมีขนาด 2-3 มิลลิเมตร เป็นกลุ่มที่ประสบความสำเร็จที่สำคัญที่สุดที่ใช้ในการควบคุมทางชีวธี (มีส่วนน้อยที่เป็นแมลงศัตรู) โดยมีมากว่า 800 ชนิดที่ถูกนำไปใช้ในการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี โดยเฉพาะในวงศ์ Aphelinidae และ Encyrtidae ส่วนใหญ่จะเบียนโฮสต์ในระยะไข่และตัวอ่อนของแมลงในกลุ่มผีเสื้อ แมลงวัน ด้วง และมวน ซึ่งเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของพืช

2. แตนเบียนวงศ์ Ichneumonidae (ichneumon wasps หรือ ichneumonids) มีความหลากหลายสูงมาก โดยคาดว่าจะมีมากกว่า 100,000 ชนิด แต่นักกีฎวิทยารู้จักเพียงประมาณ 25,000 ชนิดเท่านั้น แตนกลุ่มนี้จะทำลายแมลงศัตรูพืชกลุ่มผีเสื้อ ด้วง แมลงวัน ในระยะก่อตัวเต็มวัย นิยมนำมาใช้ในการกำจัดศัตรูพืชในการเกษตร

3. แตนเบียนวงศ์ Braconidae เป็นวงศ์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจาก Ichneumonidae คาดว่ามีอยู่ราวๆ 30,000-50,000 ชนิด แต่เป็นที่รู้จัก 17,000 ชนิดเท่านั้น ส่วนใหญ่จะมีสีน้ำตาล น้ำตาลส้ม น้ำตาลเข้มถึงดำ จะมี่มีสีสันสดใสมากนัก เป็นแตนเบียนกลุ่มที่นิยมนำมาใช้ในการควบคุมแมลงศัตรู โดยใช้วิธีเบียนแมลงในกลุ่มผีเสื้อ ด้วง แมลงวัน ผึ้ง เพลี้ยอ่อน เป็นต้น

4. แตนเบียนวงศ์ Evaniidae เท่าที่รู้จักมีอยู่ราวๆ 400 ชนิด เป็นปรสิตต่อแมลงสาบ โดยจะวางไข่บนไข่แมลงสาบหรือโฮสต์อื่น แล้วกินไข่หรือเปลือกไข่เป็นอาหาร พบได้ตามอาคารบ้านเรือนหรือสถานที่่มีแมลงสาบอาศัยอยู่

5. แตนเบียนวงศ์ Stephanidae (crown wasps) มีการศึกษาแล้วประมาณ 345 ชนิด บางชนิดใกล้สูญพันธุ์แล้ว เป็นแตนเบียนของตัวอ่อนด้วงที่อาศัยอยู่ในไม้ (wood-boring beetle)

การใช้สารเคมีฆ่าแมลงแบบที่เป็นอยู่ คือการทำลายล้างระบบนิเวศของแมลง/ระบบนิเวศตามธรรมชาติ ทำลายแมลงที่เป็นประโยชน์ ซึ่งนอกจากจะไม่สามารถควบคุมแมลงศัตรูพืชได้แล้ว ยังทำให้เกิดการระบาดเพิ่มมากขึ้นไปอีก