ผลจากการเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศไทยกับจีนและอินเดีย รวมทั้งความตกลงเปิดเสรีสินค้า (ATIGA-Asean Trade in Goods)ภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทำให้พริกราคาถูกจาก อินเดีย จีน และประเทศอื่นๆไหลทะลักเข้ามาในประเทศไทยจนส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย

เมื่อปี 2553 มีการนำเข้าพริกสดเพียงปีละ 0.5 ล้านกิโลกรัม แต่คาดว่าจะมีการนำเข้าเพิ่มเป็น 12 ล้านตันเมื่อสิ้นสุดปี 2558 ในขณะที่การนำเข้าพริกแห้งมีตัวเลข 22.5 ล้านกิโลกรัมในปี 2553 แต่คาดว่าสิ้นปี 2558 จะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นสูงมากกว่า 2 เท่าหรือประมาณ 57.4 ล้านกิโลกรัม

ผลการนำเข้าพริกดังกล่าวส่งผลกระทบให้หลายพื้นที่ราคาพริกตกต่ำจากกิโลกรัมละ 40 บาทเหลือเพียง 8 บาท ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่องและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่ปี 2553-2554 ที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกพริก จังหวัดตากได้ยื่นหนังสือต่อหน่วยงานราชการให้แก้ปัญหาการนำเข้าพริกสดผ่านด่านเชียงของ จ.เชียงราย จากจีน และประเทศเพื่อนบ้าน แต่ได้รับการปฏิเสธโดยอ้างว่าปริมาณและการนำเข้าไม่ได้เพิ่มขึ้น และการใช้มาตรการควบคุมการนำเข้าจะส่งผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องและการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น (ดูจดหมายตอบจากหน่วยงานราชการได้ในโพสต์ความคิดเห็นที่ 1)

กระทรวงพาณิชย์ได้ให้คำมั่นต่อเกษตรกรระหว่างการเจรจาเอฟทีเอกับประเทศต่างๆว่า หากการนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศส่งผลกระทบต่อเกษตรกร รัฐบาลยังมีมาตรการเซฟการ์ดเพื่อปกป้องเกษตรกรรายย่อย โดยรัฐบาลได้ตรา “พระราชบัญญัติมาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ. 2550” เพื่อปกป้องผู้ผลิตในประเทศ มิให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงจากปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ เพื่อเปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมภายในดังกล่าวสามารถปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์แข่งขันในตลาดโลก

ขณะนี้ผลกระทบจากการไหลทะลักของพริกจากต่างประเทศได้ส่งผลกระทบตามเงื่อนไขของกฎหมายหลายประการ เช่น ปริมาณของการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น ส่วนแบ่งตลาดของสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรขาดทุน และเกิดผลกระทบให้เกษตรกรต้องสูญเสียอาชีพ เป็นต้น

การล่มสลายของเกษตรกรรายย่อยที่ปลูกพริกมิได้สร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกรเท่านั้น แต่การสูญเสียอาชีพดังกล่าวจะนำไปสู่การสูญเสียทรัพยากรพันธุกรรมพริกพื้นเมือง การเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมอาหารที่สัมพันธ์กับวัตถุดิบท้องถิ่น เกษตรกรรายย่อยและชุมชนท้องถิ่นสูญเสียโอกาสที่จะได้ประโยชน์จากความนิยมของอาหารไทย ฯลฯ

ทั้งๆที่การใช้มาตรการเซฟการ์ดสามารถดำเนินการได้ทั้งภายใต้องค์การค้าโลก ภายใต้ความตกลงการเปิดเสรีสินค้า และการมีกฎหมายภายในประเทศรองรับ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับละเลยการปกป้องเกษตรกรรายย่อย

การเปิดเสรีการค้าและนโยบายทางเศรษฐกิจทั้งหลายเป็นเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ยิ่งไปกว่าคนเล็กคนน้อยจริงๆ ?

ดาวน์โหลด “12 คำถามน่ารู้เกี่ยวกับ พระราชบัญญัติมาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ. 2550 (Safeguard Measure)” ได้ที่
www.dft.go.th/AFTA/file/SGMeasure.doc

เมื่อพริกสดนครศรีธรรมราชราคาตก โดยขายได้เพียงกิโลกรัมละ 8 บาท จากปีที่แล้วกิโลกรัมละ 40 บาท
http://www.dailynews.co.th/agriculture/252042

พริกสกลฯราคาตกวอนช่วย
daily.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd2NtOHdNekl4TURZMU9BPT0%3D&sectionid=TURNeE13PT0%3D&day=TWpBeE5TMHdOaTB5TVE9PQ%3D%3D


หมายเหตุ
สถิติของกรมศุลกากรในปี 2558 เป็นข้อมูลที่เก็บระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2558 ไบโอไทยคาดการณ์การนำเข้าเพิ่มเติมระหว่างเดือนกันยายน-ธันวาคม 2558 โดยใช้ตัวเลขการนำเข้าเฉลี่ยของปี 2557 เพื่อคาดการณ์ตัวเลขขั้นต่ำของการนำเข้าในปี 2558 ทั้งปี


จดหมายตอบจากหน่วยงานราชการ จะเห็นว่ามีการอ้างว่าการนำเข้าในปี 2558 มีปริมาณไม่แตกต่างจากปี 2557 ทั้งๆที่เป็นตัวเลขการนำเข้าเพียง 8 เดือน อีกทั้งไม่ดูสถิติย้อนหลังการนำเข้าพริกสดที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดอย่างชัดเจนนับตั้งแต่ปี 2553 ตามกราฟในโพสต์

ที่มา: BIOTHAI Facebook