ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมว่าด้วย ?ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก?2003 (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC)ในปี 2546 โดยจะมีกาประชุมระดับเจ้าหน้าที่อวุโสเอเปค การประชุมระดับรัฐมนตรีการค้าเอเปค หมุนเวียนไปตามจังหวัดต่าง ๆ และเชื่อมโยงไปถึงการประชุมระดับผู้นำเศรษฐกิจเอเปคที่กรุงเทพมหานครในเดือนตุลาคม 2546 ความเป็นมาเกี่ยวกับเอเปค เอเปค(APEC)หรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation)ก่อตั้งขึ้นจากการประชุมระดับรับรัฐมนตรีของประเทศในภูมิภาคอเชีย-แปซิฟิกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2532(ค.ศ.1989)ณ กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งเอเปค – สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าของภูมิภาคและของโลก – พัฒนาและส่งเสริมระบบการค้าในระดับพหุภาคี(ระบบการค้าหลายฝ่าย) – ส่งเสริมการเปิดการค้าเสรีการค้าในภูมิภาคในลักษณะที่มีใช่การรวมกลุ่มทางการค้าที่กีดกันประเทศนอกกลุ่ม – ลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกด้านการค้าเสรี การบริการและการลงทุนระหว่างสมาชิกให้เป็นไปโดยเสรี สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของแกตต์(GATT)ซึ่งในปัจจุบันพัฒนามาเป็นองค์การการค้าโลก(World Trade Organization หรือ WTO) เป้าหมายของเอเปค คือการร่วมกันทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับภูมิภาคและโลก หัวใจของเอเปค คือ การส่งเสริมระบบพหุภาคี และสนับสนุนหลักการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจแบบเปิด(open regionalism)ซึ่งมีลักษณะเฉพาะคือการให้สิทธิประโยชน์ที่สมาชิกเอเปคให้แก่กัน และมีผลต่อผู้ที่มิได้เป็นสมาชิกของเอเปคด้วย การดำเนินการของเอเปคจะยึดหลักฉันทามติร่วมกันของสมาชิกเอเปค ความสมัครใจของสมาชิกและผลประโยชน์ร่วมกัน โดยคำนึงถึงความแตกต่างของระบบเศรษฐกิจและสังคม และระดับการพัฒนาของสมาชิก นโยบายของเวทีเอเปค ?เอเปค ไม่ใช่เวทีเจรจาการค้า แต่เป็นเวทีสำหรับการปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ประเทศสมาชิกสนใจ? ?เอเปคสนับสนุนภูมิภาคแบบเปิด(open regionalism)โดยสมาชิกตกลงดำเนินการเปิดเสรีบนพื้นฐาน MFN (Most ? Favoured Nation) โดยไม่เลือกปฏิบัติกับประเทศนอกกลุ่ม แต่ให้สิทธิประโยชน์กับประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกเอเปคเช่นเดียวกับที่ให้เป็นสมาชิก(non-discrimination)เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีของการเปิดเสรีและกระตุ้นการเปิดเสรีของประเทศนอกกลุ่มด้วย รวมทั้งช่วยลดอุปสรรคและสนับสนุนการค้าเสรีในระดับพหุภาคี แต่แนวทางดังกล่าวก็อาจทำให้สมาชิกมีความระมัดระวังในการเปิดการค้าเสรีมากขึ้น เพื่อป้องกันผู้ได้ประโยชน์โดยไม่ต้องจ่าย(free rider)? ?การดำเนินการใด ๆ ยึดหลักฉันทามติ ความสมัครใจ ความเท่าเทียมกัน และการมีผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก? ?เอเปค คำนึงถึงความแตกต่างของระบบเศรษฐกิจ สังคมและระดับการพัฒนาของประเทศสมาชิก? ?การรวมกลุ่มของเอเปคจนถึงปัจจุบันไม่ได้มีข้อผูกพันทางกฎหมาย? เน้นความสำคัญเท่าเทียมกันของการดำเนินงาน 3 ด้านดังนี้

1. การเปิดเสรีการค้าและการลงทุน(Trade and Investment Liberalization)

2. การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน(Trade and Investment Facilitation)

3. ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ(Economic and Technical Cooperation :ECOTECH) ไทยกับการมองอนาคตของเอเปค ไทยเห็นว่าเอเปคจะมีบทบาทมากขึ้นในการที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจสมาชิกโดยกิจกรรมของเอเปคในปัจจุบันมุ่งลดอุปสรรคกีดขวางทางการค้าเพื่อสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน การถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างประเทศสมาชิก การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตลอดจนการดำเนินความร่วมมือในด้านต่างๆ เพื่อสนองตอบต่อวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน บทบาทของเอเปคดังกล่าวจะส่งผลให้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกคงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในระยะยาวไว้ได้ ไทยสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมเอเปคที่ สอดคล้องกับความต้องการของประเทศกําลังพัฒนาเพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญเติบโตและการพัฒนาเศรษฐกิจที่สมดุลกันระหว่างสมาชิกในภูมิภาค ในการนี้ ไทยเห็นว่า เอเปคคงต้องพิจารณาประเด็นดังต่อไปนี้

1. ควรมีการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างแรงผลักดัน (Momentum) ให้การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการก้าวหน้าต่อไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายโบกอร์

2. ควรสนับสนุนการเจรจาการค้ารอบใหม่ภายใต้กรอบ WTO (Doha Development Agenda) ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 มกราคม 2548 อีกทั้งควรให้ความสำคัญกับการดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่เสริมสร้างขีดความสามารถของสมาชิกกำลังพัฒนาในการปฎิบัติตามความตกลงต่างๆ ของ WTO ซึ่งการดำเนินการในส่วนนี้น่าจะเป็นความสนับสนุนพิเศษ (Unique Contribution) ที่เอเปคสามารถให้ต่อกระบวนการการเปิดการเจรจาการค้ารอบใหม่

3. ควรดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่มีหุ้นส่วน (Stakeholders) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีทั้งความท้าทายและโอกาส ซึ่งในการนี้ ควรดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในการลดช่องว่างทางวิทยาการ เพื่อให้ประชากรเข้าถึงโอกาสและคุณประโยชน์ของภาคเศรษฐกิจใหม่

4. ควรแพร่ขยายกิจกรรมเอเปคออกไปนอกกรอบการเปิดเสรี แต่ยังเป็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ความมั่นคง เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น Genetically Modified Organisms (GMO) การจัดการกับภัยพิบัติ การป้องกันโรคติดต่อ ฯลฯ และควรดำเนินความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ (ECOTECH) อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนในภูมิภาคมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีผลในวงกว้างขึ้นกว่าเดิม

5. ควรดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในการปฏิรูประบบการเงินระหว่างประเทศ (International Financial Architecture) และการวางกฏเกณฑ์ให้มีการควบคุมธุรกรรมของบริษัทที่หากินกับการเก็งกำไรในอัตราแลกเปลี่ยนและ Hedge Funds ทั้งหลาย ซึ่งมีส่วนก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี ค.ศ. 1997 และควรร่วมมือกันดำเนินมาตรการต่างๆ ที่มุ่งส่งเสริมเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค เพื่อสร้างบรรยากาศที่จะเอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของสมาชิกที่ได้ประสบวิกฤตและเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืนต่อไป ในการนี้ เอเปคควรดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเพื่อผลที่เป็นรูปธรรมในด้านภาคเศรษฐกิจใหม่ โดยการลดช่องว่างทางวิทยากร และการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises-SMEs) ทั้งนี้ เพื่อให้ SMEs สามารถเป็นตัวกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

6. ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่องในเรื่องมาตรการต่อต้านการก่อการร้ายเพื่อรักษาเสถียรภาพและบรรยากาศของการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวภายในภูมิภาคเอเปคต่อไป สำหรับบทบาทของไทยในเอเปคในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะเน้นการมีส่วนร่วมในลักษณะ Pro-active มากยิ่งขึ้น ซึ่งบทบาทและความสำคัญของไทยในเวทีเอเปคจะเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคในปี ค.ศ. 2003 ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ไทยสามารถผลักดันประเด็นความร่วมมือซึ่งอยู่ในความสนใจของสมาชิกกําลังพัฒนา นอกจากนี้ ไทยอาจพิจารณาฟื้นฟูความน่าเชื่อถือของเอเปคในสายตาของภาคธุรกิจและสาธารณชนโดยการนำเสนอประเด็นใหม่ๆ ซึ่งตอบสนองความต้องการด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เหมาะสมกับสถานการณ์เพื่อให้เอเปคมีความเกี่ยวข้องและมีความสำคัญต่อมาตรฐานการครองชีพที่ดีและความเจริญทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างแท้จริง เป้าหมายหลักของไทยในเอเปคในปี 2546 เป้าหมายหลักของไทยในเอเปคในปี 2546 คือการผลักดันการดำเนินงานตามแนวทางประเด็นหลักและประเด็นย่อยที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศต่อที่ประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 10 ที่เมือง Los Cabos เมื่อเดือนตุลาคม 2545 ประเด็นหลักสำหรับเอเปค 2003 คือ ?โลกแห่งความแตกต่าง: หุ้นส่วนเพื่ออนาคต? ในปี ค.ศ. 2003 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพเอเปคนั้น เอเปคจะรวบรวมศักยภาพของทุกสมาชิกของเอเปคเพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายของอนาคต แม้ว่าสมาชิกเอเปคจะมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและระดับการพัฒนา แต่ทุกสมาชิกก็มีจุดแข็งที่สามารถส่งเสริมกระบวนการความร่วมมือของเอเปคได้ ในขณะที่ภูมิภาคเอเปคกำลังก้าวไปสู่เป้าหมายการค้าและการลงทุนเสรีภายในปี ค.ศ. 2010 สำหรับสมาชิกที่พัฒนาแล้ว และภายในปี ค.ศ. 2020 สำหรับสมาชิกที่กำลังพัฒนา หรือที่เรียกกันว่าเป้าหมายโบกอร์ การร่วมมือกันอย่างเป็นหุ้นส่วนจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ภายใต้ประเด็นหลักสำหรับการประชุมเอเปค 2003 ข้างต้น ยังได้มีการกำหนด 5 ประเด็นย่อย เพื่อเป็นแนวทางความร่วมมือและกำหนดเป้าหมายของกลุ่มทำงานและกลุ่มหารือต่างๆ ของเอเปค ดังนี้

1. เศรษฐกิจบนพื้นฐานของความรู้เพื่อประโยชน์ของทุกคน เศรษฐกิจบนพื้นฐานของความรู้เป็นรากฐานของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปค ประเทศไทยเรียกร้องให้เอเปคเพิ่มการอนุวัติตามยุทธศาสตร์ว่าด้วยเศรษฐกิจบนพื้นฐานของความรู้เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีสื่อสารสารสนเทศ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และโครงสร้างทางกฎหมายและกฎระเบียบที่เหมาะสม ซึ่งกิจกรรมของเอเปคในด้านนี้จะช่วยส่งเสริมให้แต่ละเศรษฐกิจสมาชิกสามารถมีส่วนร่วมในการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้นเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายโบกอร์

2. การส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ หัวใจของการส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์คือการสร้างพลังให้คนสามารถพึ่งพาตนเองได้และมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในระบบเศรษฐกิจ ความเข้มแข็งและศักยภาพของคนสามารถเกิดขึ้นได้ผ่านกิจกรรมการเสริมสร้างขีดความสามารถและการสร้างโอกาสเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในขณะที่ภูมิภาคเอเปคกำลังก้าวไปสู่เป้าหมายโบกอร์ เอเปคจะต้องประสานกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และเพิ่มความเข้มแข็งให้กับโครงข่ายรองรับทางสังคม เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายได้รับโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างทั่วถึงกัน

3. โครงสร้างระบบการเงินระหว่างประเทศเพื่อโลกแห่งความแตกต่าง โครงสร้างระบบการเงินระหว่างประเทศที่เหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็นในการลดความเปราะบางทางเศรษฐกิจ พร้อมไปกับการเพิ่มการลงทุนและการค้าระหว่างระบบเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน เอเปคสามารถมีบทบาทนำในการปฏิรูประบบการเงินโลก โดยแนวทางปฏิบัติอันเป็นเลิศของกฎระเบียบทางการเงินสามารถนำมาใช้ได้กับทุกเศรษฐกิจแม้จะมีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันก็ตาม โครงสร้างระบบการเงินที่ตระหนักถึงความแตกต่างของสมาชิกเอเปคจะสร้างทางเลือกในการลงทุนและการค้า นอกจากนี้ เอเปคจะสานต่อความสนใจในการพัฒนาตลาดพันธบัตรภูมิภาคต่อไป

4. วิสาหกิจเติบโตใหม่: วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและธุรกิจขนาดเล็ก ภูมิภาคเอเปคยังใช้ประโยชน์จากขีดความสามารถในการประกอบการได้อย่างไม่เต็มที่ การลดขั้นตอนในการทำธุรกรรมจะช่วยลดความซับซ้อนและค่าใช้จ่ายสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในกิจกรรมการค้าข้ามพรมแดน ที่จะเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจและช่วยสร้างงาน การทุ่มเททรัพยากรเพื่อสร้างธุรกิจขนาดเล็กทั้งในเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วและเศรษฐกิจกำลังพัฒนาจะสร้างรากฐานที่มั่นคงของการกระจายรายได้ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาชุมชนอย่างกว้างขวาง ไทยตั้งใจที่จะสานต่องานในด้านนี้จากที่เอเปคได้ดำเนินการมาแล้วในปี ค.ศ. 2002

5. การดำเนินการตามข้อผูกมัดด้านการพัฒนา ความมั่งคั่งในอนาคตของภูมิภาคขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นของเอเปคที่จะปฏิบัติตามข้อผูกมัดด้านการพัฒนา เอเปคแตกต่างจากองค์กรด้านการพัฒนาอื่นๆ เพราะเอเปคสามารถส่งเสริมการพัฒนาบนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนทางการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ ซึ่งมีความหมายกว้างไกลกว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้และผู้รับในรูปแบบเดิมๆ เอเปคสามารถสนับสนุนการเจรจาการค้าภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก วาระด้านการพัฒนา ทั้งในทางตรงและทางอ้อม ผ่านการเสริมสร้างขีดความสามารถและความเชื่อมั่นที่เกี่ยวข้องและจำเป็น ความพยายามในด้านนี้จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมากขึ้น อันจะมีผลส่งเสริมต่อการก้าวไปสู่เป้าหมายโบกอร์อย่างแท้จริง