(11 ก.พ.) เครือข่ายภาคประชาชน และองค์กรสาธารณะประโยชน์ 12 องค์กร ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยกเลิกคำประกาศให้พืชสมุนไพรซึ่งใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชรวม 13 ชนิด ได้แก่ สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก คื่นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายหยาก เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 1 นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้นายกรัฐมตรี ตรวจสอบการบริหารงานของรัฐมตรีที่เกี่ยวข้อง และข้าราชการที่ผลักดันเรื่องดังกล่าว ว่าได้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจในขณะนี้ หรือไม่

คำแถลงระบุว่า มีการร่างประกาศให้ผู้ใดก็ตามที่ผลิต นำเข้า หรือส่งออกเพื่อขายพืชสมุนไพรดังกล่าวต้องแจ้งล่วงหน้าต่อเจ้าพนักงานตามแบบฟอร์มที่กรมวิชาเกษตรเป็นผู้กำหนด ซึ่งการออกกฎระเบียบดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การควบคุมเกษตรกร ชุมชน หรือผู้ประกอบการรายย่อย เนื่องจากประกาศควบคุมเฉพาะ “ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืชซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี” และ “เฉพาะที่นำไปใช้ในการป้องกันกำจัด ทำลาย ควบคุมแมลง วัชพืช โรคพืช ศัตรูพืช หรือควบคุมการเจริญเติบโตของพืช” ทั้งนี้หากไม่ดำเนินการจะมีความผิดตามกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“พืชสมุนไพรทั้ง 13 ชนิดเป็นพืชที่เกษตรกรได้นำมาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นสารควบคุมแมลงเพื่อทดแทนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมานาน เนื่องจากไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเลย จนถึงมีผลน้อยมาก ไม่ก่อให้เกิดผลตกค้างที่เป็นอันตรายต่อทั้งเกษตรกรเองและผู้บริโภค สามารถหาได้เองจากในชุมชนหรือจากเพื่อนบ้านใกล้เคียง หรือซื้อได้ในราคาไม่แพงจากชาวบ้าน หรือผู้ประกอบการในท้องถิ่นซึ่งในระยะหลังมีการรวมกลุ่มกันทำการผลิตเพื่อขายกันอย่างแพร่หลาย”

“การดำเนินการของกรมวิชาการเกษตรจะสร้างผลกระทบอย่างสำคัญต่อเกษตรกรและคนในท้องถิ่นรวมจนถึงผู้ประกอบการรายย่อยที่เริ่มดำเนินการเพื่อพัฒนาสมุนไพรควบคุมศัตรูพืช เป็นการสร้างภาระ และอุปสรรคในการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากสมุนไพรทั้งในด้านการเกษตร การสาธารณสุขและอื่นๆ เป็นการสร้างเงื่อนไขให้กับเจ้าหน้าที่ส่วนน้อยที่ไม่สุจริตเรียกร้องผลประโยชน์จากเกษตรกรและผู้ประกอบการ และสร้างผลกระทบเป็นลูกโซ่ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถหาสมุนไพรมาผลิตเองใช้เองต้องหันไปซื้อสารเคมีซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศแทน”

“แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอ้างว่า การประกาศดังกล่าวเป็นไปเพื่อคุ้มครองผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และคุ้มครองเกษตรกร แต่การดำเนินดังกล่าวซึ่งรวบรัดดำเนินการ และไม่ได้ฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากองค์กรสาธารณะประโยชน์ที่ทำงานด้านเกษตรกรรมยั่งยืน สิ่งแวดล้อม คุ้มครองผู้บริโภค และจัดการปัญหาวัตถุอันตรายในท้องถิ่น รวมทั้งเกษตรกรและองค์กรท้องถิ่นเป็นจำนวนมากที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบโดยตรงนั้น นอกจากเป็นการดำเนินการที่ปราศจากธรรมาภิบาลแล้ว ยังตั้งคำถามว่า คำประกาศดังกล่าวนั้นมีเจตนาเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการเคมีเกษตร และบรรษัทข้ามชาติหรือไม่ ?” คำแถลงระบุ

คำแถลงของเครือข่ายภาคประชาชน และองค์กรสาธารณะประโยชน์
เรียกร้องให้ยกเลิกคำประกาศให้พืชอาหารและสมุนไพร 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตราย



1. สาระสำคัญของเรื่อง         
1.1 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคสอง และมาตรา 18 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 โดยดำเนินการตามข้อเสนอของกรมวิชาการเกษตร และความเห็นชอบของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้ประกาศ[1]ให้พืชสมุนไพรซึ่งใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชรวม 13 ชนิด ได้แก่ สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก คื่นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายหยาก  เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 1     
1.2 ขณะนี้กรมวิชาการเกษตร ได้ร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ [2]โดยให้ผู้ใดก็ตามที่ผลิต นำเข้า หรือส่งออกเพื่อขายพืชสมุนไพรดังกล่าวต้องแจ้งล่วงหน้าต่อเจ้าพนักงานตามแบบฟอร์มที่กรมวิชาเกษตรเป็นผู้กำหนด[3]  การออกกฎระเบียบดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การควบคุมเกษตรกร ชุมชน หรือผู้ประกอบการรายย่อยโดยแท้ เนื่องจากประกาศควบคุมเฉพาะ “ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืชซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี” และ “เฉพาะที่นำไปใช้ในการป้องกันกำจัด ทำลาย ควบคุมแมลง วัชพืช โรคพืช ศัตรูพืช หรือควบคุมการเจริญเติบโตของพืช” ทั้งนี้หากไม่ดำเนินการจะมีความผิดตามกฎหมาย           
1.3  ตามความในมาตรา 18 วัตถุอันตรายชนิดที่ 1 นั้น ผู้ใดที่ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษตามความในมาตรา  71 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ2. ผลกระทบ           
2.1 พืชสมุนไพรทั้ง 13 ชนิดเป็นพืชที่เกษตรกรได้นำมาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นสารควบคุมแมลงเพื่อทดแทนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมานาน เนื่องจากไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเลย จนถึงมีผลน้อยมาก ไม่ก่อให้เกิดผลตกค้างที่เป็นอันตรายต่อทั้งเกษตรกรเองและผู้บริโภค สามารถหาได้เองจากในชุมชนหรือจากเพื่อนบ้านใกล้เคียง หรือซื้อได้ในราคาไม่แพงจากชาวบ้าน หรือผู้ประกอบการในท้องถิ่นซึ่งในระยะหลังมีการรวมกลุ่มกันทำการผลิตเพื่อขายกันอย่างแพร่หลาย เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ โดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมีซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ  คาดว่ามีจำนวนผู้ใช้สมุนไพรดังกล่าวในการควบคุมแมลงหลายแสนครอบครัว และทดแทนการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชหลายร้อยล้านบาทจนถึงพันล้านบาท[4] ทั้งนี้ไม่นับไปถึงคุณค่าในการเกื้อกูลต่อสุขภาวะต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และสังคมไทยโดยรวม          
2.2 การดำเนินการของกรมวิชาการเกษตรจะสร้างผลกระทบอย่างสำคัญต่อเกษตรกรและคนในท้องถิ่นรวมจนถึงผู้ประกอบการรายย่อยที่เริ่มดำเนินการเพื่อพัฒนาสมุนไพรควบคุมศัตรูพืช เป็นการสร้างภาระ และอุปสรรคในการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากสมุนไพรทั้งในด้านการเกษตร การสาธารณสุขและอื่นๆ เป็นการสร้างเงื่อนไขให้กับเจ้าหน้าที่ส่วนน้อยที่ไม่สุจริตเรียกร้องผลประโยชน์จากเกษตรกรและผู้ประกอบการ และสร้างผลกระทบเป็นลูกโซ่ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถหาสมุนไพรมาผลิตเองใช้เองต้องหันไปซื้อสารเคมีซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศแทน              ในยุคของวิกฤติเศรษฐกิจซึ่งขณะนี้ยังไม่มีนโยบายใดๆของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรมในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร การดำเนินการของกรมวิชาการเกษตรยังเป็นการสร้างปัญหาให้เพิ่มขึ้นอีก ทั้งๆที่เกษตรกรเผชิญปัญหาด้านต่างๆมากเกินพออยู่แล้ว3. ข้อสังเกตบางประการ            แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอ้างว่า การประกาศดังกล่าวเป็นไปเพื่อคุ้มครองผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และคุ้มครองเกษตรกร แต่การดำเนินดังกล่าวซึ่งรวบรัดดำเนินการ และไม่ได้ฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากองค์กรสาธารณะประโยชน์ที่ทำงานด้านเกษตรกรรมยั่งยืน สิ่งแวดล้อม คุ้มครองผู้บริโภค และจัดการปัญหาวัตถุอันตรายในท้องถิ่น[5]  รวมทั้งเกษตรกรและองค์กรท้องถิ่นเป็นจำนวนมากที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบโดยตรงนั้น นอกจากเป็นการดำเนินการที่ปราศจากธรรมาภิบาลแล้ว  ยังตั้งคำถามว่า คำประกาศดังกล่าวนั้นมีเจตนาเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการเคมีเกษตร และบรรษัทข้ามชาติหรือไม่ ?4. ข้อเสนอ          
เครือข่ายของภาคประชาชน ตามท้ายคำแถลงนี้  ขอเรียกร้องต่อผู้เกี่ยวข้องให้ดำเนินการดังต่อไปนี้           
4.1 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการให้มีการยกเลิกคำประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย(ฉบับที่ 6) พ.ศ.2552 และยกเลิกการดำเนินการของกรมวิชาการเกษตร เรื่อง การแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ พ.ศ….” โดยให้ยกเลิกภายใน 30 วัน              4.2 ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมตรี ตรวจสอบการบริหารงานของรัฐมตรีที่เกี่ยวข้อง และข้าราชการที่ผลักดันเรื่องดังกล่าว ว่าได้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจในขณะนี้ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกเครือข่ายสุขภาพวิถีไทยเครือข่ายหมอพื้นบ้านโรงเรียนชาวนา จ.สุพรรณบุรีมูลนิธิชีววิถีมูลนิธิสุขภาพไทยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมูลนิธิชีวิตไทยมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย)สถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน จ.เชียงใหม่โครงการรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรมคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.)แถลง ณ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552

 [1] ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 126 ตอนพิเศษ 18 ง หน้า 4 วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552[2] โปรดดู ร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ พ.ศ….[3] แบบ วอ./กษ./กวก.16[4] จากการประมาณการของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย)[5]ในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย(ฉบับที่3) พ.ศ.2551 บัญญัติให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอย่าง 5 คน แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตัวแทนขององค์กรสาธารณประโยชน์และมีประสบการณ์ การดำเนินการคุ้มครองสุขอนามัย ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน ด้านการจัดการปัญหาวัตถุอันตรายในท้องถิ่น หรือด้านสิ่งแวดล้อม อ้างอิงจาก อังคณา สุวรรณกูฐ   “เจาะลึกพ.ร.บ.วัตถุอันตรายฉบับใหม่” ในจดหมายข่าวผลิใบ, กรมวิชาการเกษตร

พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551

คำแถลงของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้
เรียกร้องให้ยกเลิก ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมที่ให้พืชสมุนไพร 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตราย ประเภทที่ 1       ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ประกาศให้พืชสมุนไพร 13 ชนิด ได้แก่ สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก คื่นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายหยาก เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 1 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมานั้น      ทางเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ ซึ่งเป็นการรวมตัวของเกษตรกร องค์กรเกษตรกรและองค์กรพัฒนาเอกชนด้านการเกษตร มีความเห็นว่าพืชสมุนไพรทั้ง 13 ชนิดเป็นพืชที่เกษตรกรได้นำมาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นสารควบคุมแมลง ทดแทนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมายาวนาน ไม่ก่อให้เกิดผลตกค้างที่เป็นอันตราย ทั้งต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม สามารถหาได้ในชุมชน อันเป็นการสร้างทางเลือกเพื่อการพึ่งตนเองโดยไม่ต้องใช้สารเคมีซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ การออกประกาศดังกล่าว จะสร้างผลกระทบอย่างสำคัญต่อเกษตรกร และเป็นการสร้างภาระ อุปสรรคในการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรทั้งในด้านการเกษตร การสาธารณสุขและอื่นๆ      แม้ว่านายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร จะเปิดแถลงข่าวขอโทษประชาชนเมื่อเที่ยงวันที่ผ่านมา และอ้างว่าเป็นการควบคุมเฉพาะการนำพืชสมุนไพรมาแปรรูปเป็นสารกำจัด ควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืชเพื่อการค้าเท่านั้น โดยเป็นไปเพื่อป้องกันไม่ให้เกษตรกรโดนหลอกลวง จากผู้จำหน่ายสารสกัดจากพืชสมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐาน แต่ในความเป็นจริงยังมีกลไกของหน่วยงานรัฐและกฎหมายอีกหลายฉบับที่จะควบคุมสิ่งเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องออกประกาศให้พืชสมุนไพรดังกล่าวเป็นวัตถุอันตรายเลย      ดังนั้นคำกล่าวขอโทษของอธิบดีกรมวิชาการเกษตร จึงไม่เพียงพอ ภาคประชาชนต้องการคำชี้แจงที่มากกว่านี้หลายประการ เช่น การอ้างว่ามีการปรึกษาหารือกันมาก่อนหน้านี้ ก็ต้องออกมาชี้แจงว่ามีการปรึกษาหารือ ที่ไหน เมื่อไร เนื้อหาสาระอย่างไร และมีใครเป็นผู้ให้ความเห็นเหล่านี้ เป็นต้น
       
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ จึงมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้      
1) ให้รัฐบาลดำเนินการให้กระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิกประกาศดังกล่าวอย่างเร่งด่วน      
2) ให้มีการชี้แจงเรื่องนี้ ให้เกษตรกร และภาคประชาสังคมทราบ โดยจัดเวทีสาธารณะเชิญทุกส่วนเข้ามาร่วมกันถกเถียง แลกเปลี่ยนกันอย่างโปร่งใส       เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ จะร่วมติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้บรรลุข้อเรียกร้องดังกล่าวโดยเร็ว เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภาคใต้แถลง ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552