นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการสรรหาคณะกรรมการวัตถุอันตราย ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 แก้ไขปรับปรุง พ.ศ. 2551 โดยได้เสนอรายชื่อบุคคลต่างๆ เข้าเป็นคณะกรรมการวัตถุอันตรายในโควต้าผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่ง พรบ. แก้ไขในปี 2551 ได้ระบุให้ผู้ทรงคุณวุฒิอย่างน้อยห้าคนแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตัวแทนขององค์การสาธารณประโยชน์และมีประสบการณ์การดำเนินงานด้านการคุ้มครองสุขภาพอนามัย ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านการเกษตรกรรมยั่งยืน ด้านการจัดการปัญหาวัตถุอันตรายในท้องถิ่น หรือด้านสิ่งแวดล้อม แต่จากรายชื่อที่กระทรวงกำลังเวียนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นนั้น ส่อเค้าของความไม่ชอบมาพากล โดยแต่งตั้งผู้แทนจากองค์กรที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นกรรมการในสัดส่วนขององค์กรสาธารณประโยชน์ เช่น การเสนอผู้แทนจากสมาคมอารักขาพืชซึ่งเป็นสมาคมของผู้ประกอบกิจการสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านเกษตรกรรมยั่งยืน ?เชื่อว่าการเสนอชื่อตัวแทนจากสมาคมผู้ประกอบการสารเคมีกำจัดศัตรูพืชนั้นมาจากข้อเสนอของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งผู้บริหารของกรมนี้มีความใกล้ชิดกับธุรกิจเคมีเกษตรเป็นพิเศษ การแต่งตั้งตัวแทนจากกลุ่มธุรกิจนี้เข้าไปเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะทำให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะกลุ่มธุรกิจเคมีเกษตรจะเข้ามามีบทบาทในการกำหนดกติการในการใช้และควบคุมสารเคมี ซึ่งนอกจากจะไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวงแล้ว อาจเป็นการผิดกฎหมายด้วย? นายวิฑูรย์กล่าว

นายวิฑูรย์ กล่าวต่อไปว่า โดยเจตนารมย์ในการปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.บ.วัตถุอันตรายในปี 2551 นั้นได้เพิ่มที่มาของผู้ทรงคุณวุฒิให้มีองค์กรสาธารณะประโยชน์ร่วมเป็นคณะกรรมการด้วยก็เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้การควบคุมวัตถุอันตรายมีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และโปร่งใส ดังนั้น สัดส่วนของตัวแทนจาก ?องค์กรสาธารณะประโยชน์ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์? ซึ่งระบุในกฎหมายนั้น ควรจะเสนอชื่อตัวแทนจากองค์กรที่สนับสนุนและส่งเสริมระบบเกษตรกรรมที่ไม่ใช้สารเคมีการเกษตรหรือระบบเกษตรอินทรีย์ ที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับ เช่น เครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษ มูลนิธิเกษตรกรรมธรรมชาติ หรือมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนมากกว่า การกระทำของกรมวิชาการเกษตรครั้งนี้จึงถือว่าเป็นการกระทำที่น่าละอายครั้งที่สอง เป็นการกระทำแย่ๆซ้ำสองหลังจากที่ได้ประกาศให้พืชสมุนไพร 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนเกิดการต่อต้านจากคนไทยทั้งประเทศ

ด้านนางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรณีของการยกเลิกการควบคุมสารซัลเฟอร์ในอุตสากรรมตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 6 ที่มีผลประโยชน์ของกลุ่มอุสาหกรรมเกี่ยวข้องเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาทนั้น สะท้อนได้อย่างดีถึงบทบาทและความสำคัญของคณะกรรมการวัตถุอันตรายต่อการควบคุมสารเคมีที่นำเข้าและใช้ในประเทศอย่างมาก
?รายชื่อชุดใหม่นี้กลับเสนอชื่อบุคคลที่เป็นผู้แทนของผู้ประกอบการสารเคมีทั้งในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม ซึ่งมีผลประโยชน์ทับซ้อน และควรต้องเป็นผู้ปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์มากกว่าจะเป็นผู้เข้ามากำหนดการควบคุมดูแล การทำงานของคณะกรรมการวัตถุอันตรายต่อไปจะกลายเป็นการเอื้อให้กับภาคธุรกิจสารเคมีมากกว่าการคำนึงถึงความปลอดภัย สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรื่องนี้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบกระทรวงและรัฐบาลจะต้องเข้ามาดูแล ไม่ควรปล่อยให้ข้าราชการร่วมมือกับผู้ประกอบการ นอกเสียจากว่าที่นิ่งเฉยเพราะได้รับประโยชน์ด้วย? นางสาวเพ็ญโฉมกล่าว

นอกจากนั้นแล้ว แหล่งข่าวในกระทรวงอุตสาหกรรมได้เปิดเผยว่า กระทรวงพยายามปกปิดและเร่งรีบเสนอรายชื่อเหล่านี้ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งแม้จะมีการทักท้วงให้ทบทวนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบางกระทรวง แต่เชื่อแน่ว่า หากรายชื่อเหล่านี้เปิดเผยสู่สาธารณะย่อมต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางแน่นอน และจะมีผู้ไปร้องเรียนต่อศาลปกครองเช่นเดียวกับ กรณีพืช 13 ชนิดและสารซัลเฟอร์ จึงไม่อยากให้กระทรวงต้องมัวหมองและมีภาพเงาของการเอื้อประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมสารเคมีไปมากกว่านี้