ชี้เกษตรกรไทยเสียรู้นายทุนทำเกษตรพันธสัญญา ชี้สัญญาสุดเอาเปรียบ แถมต้นทุนผลิตสูงเกือบเท่าตัว คืนทุน 20 ปี จี้ภาครัฐเร่งดูแล
นายพอพันธ์ อุยยานนท์ ผู้จัดการโครงการคุ้มครองการพัฒนารูปแบบสัญญาที่เป็นธรรมและกลไกการจัดการ เปิดเผยในงานสัมมนา ?รู้ให้ทัน เกษตรพันธสัญญา? ว่า ขณะนี้ภาคเกษตรกรไทยหันมาสนใจทำเกษตรพันธสัญญามาก เพราะมีความเชื่อว่าจะสามารถลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคา ผลผลิต และรายได้ แต่กลับไม่ทราบว่าจะมีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอย่างไร

ทั้งนี้ จากการศึกษาฟาร์มตัวอย่าง 30 ฟาร์ม พบว่าลักษณะของเกษตรกร พันธสัญญาจะใช้เงินลงทุนต่อฟาร์มสูง บางกรณีพบว่ามีสัดส่วนสูงถึง 84-92% และในบางรายใช้เวลาคืนทุนนานถึง 20 ปี เกษตรกรไม่สามารถลดต้นทุนได้ โดยเฉพาะค่าปุ๋ย ค่ายา เพราะเอกชน ที่เป็นนายจ้างเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ ว่าจะใช้ปุ๋ยหรือยายี่ห้ออะไร

ขณะเดียวกัน เกษตรกรยังต้องแบกรับความเสี่ยงจากการทำสัญญา การคำนวณรายได้ ปัจจัยจากธรรมชาติ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เกษตรกรต้องแบกรับฝ่ายเดียว นอกจากนี้ในการทำสัญญาเกษตรกรไม่ได้รับรู้ใน รายละเอียดของสัญญา รวมทั้งไม่มีสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษรด้วย เนื่องจาก จะเป็นการสัญญาโดยปากเปล่า ขณะเดียวกันหากเป็นสัญญาแบบลายลักษณ์อักษร ฝ่ายเอกชนจะเป็นผู้เก็บสัญญาไว้ทั้งหมด ทำให้เกษตรกรเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบ

อย่างไรก็ตาม เกษตรพันธสัญญา มี 2 ระบบ คือ ระบบประกันราคาและประกันรายได้ ซึ่งข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน แบบประกันรายได้จะมีความผันผวนของรายได้ต่ำกว่า ส่วนการประกันรายได้มีทั้งกำไรและขาดทุน ขึ้นอยู่กับฝีมือของเกษตรกรที่ทำปศุสัตว์ หรือปลูกผลผลิตให้เป็นไปตามข้อตกลง ทั้งนี้การทำเกษตรทั้งสองระบบ มีการลงทุนสูง โดยเกษตรกรเป็นผู้รับความเสี่ยงมาก เช่น หากเกิดภัยธรรมชาติ เกษตรกรจะเป็นผู้แบกรับความเสียหายไว้ทั้งหมด

นายวิฑูรย์ เลื่อนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า แม้ว่าเกษตร พันธสัญญาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาความผันผวนของราคาสินค้า ทางการเกษตร แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาที่มีอยู่เดิมได้ทั้งหมด ดังนั้นภาครัฐ ต้องเข้ามามีส่วนในการทำให้เกษตร พันธสัญญาได้รับความเป็นธรรม และ ผลักดันให้เกษตรกรมีความสามารถในการเลือกตลาด สามารถเข้าถึงแหล่งทุน ทรัพยากรได้