ความพยายามของหน่วยงานรัฐโดยกรมวิชาการเกษตร บริษัทธุรกิจการเกษตร และนักวิชาการบางส่วนในการยกเลิก พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 โดยการยกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. … ขึ้นมาใหม่ทดแทนนั้น ไม่เพียงจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิทธิเกษตรกร (Farmers’ rights) จากการเอื้อประโยชน์บรรษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ให้ผูกขาดเมล็ดพันธุ์ได้ยาวนานและเบ็ดเสร็จมากขึ้นเท่านั้น ทว่าเนื้อหาสารัตถะของร่างกฎหมายใหม่ที่เขียนขึ้นยังเหมือนกับสนธิสัญญายูพอฟ (UPOV 1991) ที่การเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (FTA Thai-EU) พยายามบีบบังคับให้ไทยเข้าเป็นภาคีด้วย ทั้งๆ ที่จะทำให้ประเทศชาติเสียประโยชน์มหาศาลจากการถูกผูกขาดเมล็ดพันธุ์โดยบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติและไม่สามารถคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมืองเพื่อปกป้องประโยชน์ประเทศ ชุมชนท้องถิ่น และเกษตรกรรายย่อยได้

ทั้งนี้ถึงกรมวิชาการเกษตรจะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นแล้วเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 แต่ทว่าท้ายที่สุดกระบวนการแก้ไขกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์บรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติก็ยังคงดำเนินต่อไปถึงแม้ว่าในเวทีรับฟังความคิดเห็นจะมีเสียงคัดค้านท้วงติงด้วยหลักฐานข้อมูลที่หนักแน่นจากนักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน และเกษตรกร แล้วก็ตาม ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงยังคงเผชิญภัยคุกคามด้านฐานทรัพยากรอาหารและทรัพยากรพันธุกรรมจากการยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่มีการแก้ไขสาระสำคัญของกฎหมายหลายประการจนทำให้ไม่เป็นไปตามความตกลงทริปส์และอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ

ฝ่ายข้อมูล มูลนิธิชีววิถี ได้ทำการรวบรวมเนื้อหาในรูปแบบเอกสารประกอบการบรรยาย เรื่อง ผลกระทบจากร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. ….