นี่คือคำเตือนของอดีตรัฐมนตรีที่รู้เท่ากันการผูกขาดอาหารและยา นักวิชาการชั้นนำของประเทศที่เชี่ยวชาญกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา การปรับปรุงพันธุ์พืช และทรัพยากรชีวภาพ ต่อกรณีที่กรมวิชาการเกษตรได้แก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 โดยเดินตามอนุสัญญา UPOV อ้างเหตุผลว่า เพื่อปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย รองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และส่งเสริมการลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ

เมื่อ 19 ปีที่แล้ว นักวิชาการกลุ่มนี้ได้ผนึกกำลังร่วมกันข้าราชการที่ต้องการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศในกระทรวงเกษตร สาธารณสุข และพาณิชย์ โดยการสนับสนุนของเครือข่ายเกษตรกรรายย่อย และองค์กรพัฒนาเอกชน ร่วมกันผลักดันกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ที่สร้างสมดุลระหว่างการให้แรงจูงใจแก่นักปรับปรุงพันธุ์ในระดับที่เหมาะสม พร้อมๆกับการคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพ โดยไม่ลดทอนสิทธิของเกษตรกร เป็นผลสำเร็จ

กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ของประเทศไทย กลายเป็นต้นแบบของการออกกฎหมายในลักษณะเดียวกันในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้ง อินเดีย ลาตินอเมริกา และประเทศในกลุ่ม OAU (Organization of African Unity)

พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ผนวกหลักการสิทธิอธิปไตยของประเทศเหนือทรัพยากรชีวภาพ การให้ความเคารพต่อสิทธิเกษตรกร ตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ทุกประเทศทั่วโลกร่วมให้สัตยาบัน(ยกเว้นสหรัฐอเมริกา) 

ร่างกฎหมายนี้ปฏิเสธที่จะร่างขึ้นตามอนุสัญญา UPOV1991ที่สหรัฐผลักดัน เนื่องจากเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า เป็นกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อบรรษัทยักษ์ใหญ่ด้านเมล็ดพันธุ์ มากกว่าจะคำนึงถึงเกษตรกรรายย่อยและอธิปไตยของประเทศเหนือทรัพยากรชีวภาพ

ที่มา