18 ก.ย. 2556 ที่ลานข่วงท่าแพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เครือข่ายภาคประชาชนกว่า 2,000 คน เครือข่ายเกษตรทางเลือก กลุ่มเกษตรอินทรีย์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เครือข่ายงดเหล้า เครือข่ายผู้บริโภคและกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ซึ่งรวมตัวกันในนามกลุ่ม FTA Watch และองค์กรภาคี จัดการชุมนุมและเปิดเวทีรณรงค์สาธารณะ เพื่อแสดงพลังสนับสนุนให้ทีมเจรจาของรัฐบาลได้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน และขอให้เจรจาอย่างรอบคอบ และต้องไม่ตกลงในสิ่งที่จะมีผลกระทบต่อประชาชนวงกว้างทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เนื่องในการเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทย-สหภาพยุโรป รอบที่ 2 ซึ่งจัดขึ้น ณ โรงแรมเลอเมอริเดียน อ.เมือง จ.เชียงใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มผู้ชุมนุมได้รวมตัวกันตั้งแต่ช่วงเช้า โดยมีกิจกรรมเสวนาถึงผลกระทบที่อาจขึ้นจากการเจรจาการค้าเสรีที่ไม่รอบคอบ อาทิ “อิสรภาพทางพันธุกรรม เมล็ดพันธุ์และความมั่นคงทางอาหาร” “ยาถูก ยาแพง การค้าเสรี ประชาชนได้อะไร” สลับกับการแสดงจากศิลปินตั้งแต่เวลา 9:30 – 21:00 น.

ทั้งนี้ในเวลา 12 : 00 น. ตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวน 20 คนได้เดินทางไปเข้าพบผู้แทนการค้าฝ่ายสหภาพยุโรป และผู้แทนเจรจาฝ่ายไทย เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับท่าทีของสหภาพยุโรปในการกดดันประเทศกำลังพัฒนาต่างๆรวมทั้งประเทศไทยผ่านทางการเจรจาเอฟทีเอที่มีข้อเรียกร้องเกินไปกว่าการเจรจาเปิดเสรีสินค้าอย่างมาก และเสนอข้อห่วงใยในประเด็นสำคัญอย่างน้อย  4 ประเด็นได้แก่

ประการแรก การต้องยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเกินไปกว่าความตกลงในองค์การการค้าโลกที่จะเอื้อต่อการผูกขาดยาแบรนด์เนมให้แสวงหากำไรได้สูงสุดต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และ ทำลายการแข้งขันของยาชื่อสามัญ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเข้าถึงยาของประชาชน

ประการที่สอง การเรียกร้องให้ประเทศไทยให้สัตยาบันสนธิสัญญา UPOV 1991 และสนธิสัญญาบูดาเปส ซึ่งจะเอื้อต่อการผูกขาดพันธุกรรม ทำลายขีดความสามารถของเกษตรกรรายย่อยในการปกป้องความมั่นคงด้านอาหาร

ประการที่สาม  การคุ้มครองนักลงทุนข้ามชาติด้วยกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนกับรัฐที่จะจำกัดสิทธิของประเทศในการกำหนดนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับสาธารณสุข การคุ้มครองผู้บริโภค และปกป้องสิ่งแวดล้อม

ประการสุดท้าย การเปิดทางให้สินค้าทำลายสุขภาพ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ มาขายในประเทศกำลังพัฒนาอย่างปราศจากการควบคุม ฯลฯ

อย่างไรก็ตามภายหลังการเข้าพบตัวแทนภาคประชาชนจำนวน 20 คน ประกอบด้วยตัวแทนจากผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายองค์กรงดเหล้า กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เข้าพบกับคณะเจรจาฝ่ายยุโรป เป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมงนั้น

นายจักรชัย โฉมทองดี รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) เผยว่า ตัวแทนภาคประชาชนยื่นข้อเสนอต่อคณะเจรจาฝ่ายยุโรปใน 4 ข้อ คือ เรื่องยารักษาโรค เรื่องสิทธิบัตรพันธุ์พืช เรื่องสินค้าสุรา และการคุ้มครองการลงทุน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเขา เพราะประเทศอื่นก็เรียกร้อง และอียูก็โดนต่อต้านเหมือนกัน อย่างไรก็ตามการพูดคุยครั้งนี้ไม่ได้ไปเพื่อขอความเมตตา แต่เพื่อบอกข้อห่วงใยของคนไทย และถามว่าอียูจะตอบอย่างไร”ท่าทีขอคณะเจรจาฝ่ายยุโรปดูให้เกียรติคณะเจรจาฝ่ายไทยค่อนข้างต่ำ งานนี้ไม่จบง่ายๆ เขามาหนักกับรัฐบาลไทย และจับมือบริษัทข้ามชาติ ทั้งในไทยและต่างประเทศ ที่จะถล่มรัฐและประชาชน” นายจักรชัย กล่าวและพูดถึงข้อเรียกร้องเรื่องยาว่า ข้อตกลงเรื่องยาต้องไม่เกินไปกว่าทริปส์ หรือไม่เอาทริปส์พลัส ไม่เอายาราคาแพง แต่คำตอบของคณะเจรจาอียู มีท่าทีชัดเจนว่าไม่รับฟัง และบอกว่าอย่าพูดแต่เรื่องไม่เอาทริปส์พลัส เขาพูดว่าเราไม่เข้าใจ ไม่เคยได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง”

ส่วนข้อเรียกร้องเรื่องเหล้านั้น นายจักรชัย กล่าวว่า คณะเจรจาฯ อ้างว่าคนไทยดื่มเหล้านอกแค่ร้อยละ 10 จะมาบอกว่าเกิดผลกระทบเพราะดื่มเหล้านอกไม่ได้ อย่างไรก็ตาม แม้การดื่มเหล้านอกจะเป็นสัดส่วนเพียงนิดเดียว แต่ก็ไม่ควรมีอยู่ในการเจรจา ขณะที่เรื่องการคุ้มครองการลงทุน อียูบอกว่าจะส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ และจะทำให้เงินจากต่างประเทศไหลเข้ามา ซึ่งภาคประชาชนเป็นห่วงว่ารัฐบาลไทยจะไม่สามารถออกนโยบายสาธารณะได้ ซึ่งคณะเจรจาไม่ตอบกรณีนี้ ที่ห้ามให้นักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องร้องไทย ในเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรชีวภาพ และเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

รองประธานกลุ่มฯ กล่าวถึงเรื่องสิทธิบัตรพันธุ์พืช ที่ภาคประชาชนยืนยันในหลักการว่าเราไม่ยอมรับ UPOV 1991 แต่คณะเจรจาฯกลับชี้แจงแค่ว่าเรื่องนี้แล้วแต่ทางรัฐบาลไทยว่าจะยืนยันในเรื่องนี้หรือไม่ ซึ่งประเมินได้ว่าอียูเอาเรื่องนี้แน่

ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า การชุมนุมของเครือข่ายภาคประชาชนจะหนุนให้คณะเจรจาฝ่ายไทยไม่ยอมข้อเรียกร้องของยุโรป และในวันพรุ่งนี้ (19 กันยายน) ตัวแทนภาคประชาชนจะยื่นจดหมายเพื่อทักท้วงข้อเรียกร้องให้กับคณะเจรจา

ดร.โอฬาร ไชยประวัติ กล่าวว่า การเจรจารอบนี้ส่วนใหญ่เป็นการหารือและทำความเข้าใจเกี่ยวกับร่างข้อบทที่ทั้งสองฝ่ายเสนอ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพราะเป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของละฝ่าย ทั้งนี้เรื่องความเชื่อมโยงของแต่ละข้อบทมีความสำคัญเพราะจะดูต้องดูภาพใหญ่ทั้งของความตกลงทั้งฉบับ จะแยกดูแค่บางเรื่องไม่ได้

“เพื่อให้ท่าทีของแต่ละเรื่องไปในทางเดียวกันและส่งเสริมซึ่งกันและกัน เช่น เราต้องมั่นใจว่าถ้าอียูยอมลดภาษีสินค้าผักผลไม้ให้ไทยแล้ว เขาจะต้องไม่ใช้มาตรการ SPS มากีดกันไม่ให้ไทยส่งผักผลไม้เข้าไปในตลาดอียูอย่างไม่เป็นธรรม เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์สูงสุดจากการเจรจาในภาพรวม”

ส่วนประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องการเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ที่ภาคประชาสังคมแสดงความกังวลนั้น แนวทางการเจรจาของไทยจะยึดหลักการของความตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า Trips ภายใต้องค์การการค้าโลก WTO และยึดถือความยืดหยุ่นตามปฏิญญารัฐมนตรีโดฮาในส่วนที่เกี่ยวกับ Trips และการสาธารณสุข ฝ่ายสหภาพยุโรปก็ตระหนักถึงข้อกังวลของฝ่ายไทยและยืนยันว่าท่าทีของสหภาพยุโรปในเรื่องนี้มีความยืดหยุ่นและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองฝ่าย

อนึ่ง ในวันที่ 19 ก.ย. กลุ่มผู้ชุมนุม กลุ่มศึกษาข้อตกลงการค้าเสรีภาคประชาชนและองค์กรภาคประชาชนทั้งหมดจะเคลื่อนขบวนไปยังโรงแรมเลอเมอริเดียนเพื่อยืนยันท่าที ต่อผู้แทนการค้าทั้งสองประเทศต่อไป.

ที่มา: สำนักข่าวประชาธรรม