มูลนิธิชีววิถี (BioThai)และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)ขอเรียกร้องต่อกระทรวงพาณิชย์และรัฐบาลให้มีการดำเนินการดังนี้

1.รัฐบาลต้องยกเลิกสิทธิบัตรเกี่ยวกับกัญชาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดโดยเร็วที่สุด โดยต้องให้เสร็จสิ้นก่อน พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฉบับปรับปรุงแก้ไขจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา

โดยจากการตรวจสอบโดยองค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ และนักวิชาการด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาพบว่าคำขอสิทธิบัตรอย่างน้อย 10 คำขอ ขัดต่อมาตรา 5 และมาตรา 9 เช่น ขัดต่อมาตรา 5 (1) เพราะไม่ใช่การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ มาตรา 5 (2) ไม่ใช่การประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น อีกทั้งยังขัดมาตรา 9(1) ซึ่งเกี่ยวข้องกับสารสกัดจากสัตว์หรือพืช มาตรา 9(4) เกี่ยวกับวิธีการวินิจฉัย บำบัด หรือรักษาโรคมนุษย์ หรือสัตว์ และขัดต่อมาตรา 9(5) การประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย เพราะกัญชายังคงเป็นสารเสพติด ที่นักวิจัยไทยไม่สามารถทำการวิจัยได้ตลอดสาย

2.ให้มีการปรับปรุงคู่มือ “การตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์และอนุสิทธิบัตร ฉบับปรับปรุงใหม่ ปี 2555” โดยต้องตัดข้อความซึ่งระบุว่า “ผลิตภัณฑ์ตามธรรมชาติที่ถูกทำให้บริสุทธิ์ USPTO EPO JPO ไม่ได้ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ หรือการค้นพบ เพราะว่าสารเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่ในธรรมชาติในรูปลักษณะที่บริสุทธิ์” เนื่องจากแนวปฏิบัติดังกล่าวขัดต่อกฎหมายสิทธิบัตรของไทย และเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไม่มีการยกคำขอสิทธิบัตรเกี่ยวกับกัญชาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายข้างต้น ส่วนคู่มือที่เหลือเกี่ยวสิ่งประดิษฐ์ทางเคมี กระทรวงพาณิชย์และกรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องตั้งคณะทำงานที่ให้นักวิชาการและองค์กรภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อประเมินและปรับปรุงคู่มือที่ประกาศใช้กว่า 5 ปีมาแล้ว ทั้งนี้โดยดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 60 วัน

3. ปรับปรุงกระบวนการรับคำขอสิทธิบัตร ในกรณีที่ขัดต่อมาตรา 9 อย่างเข้มงวดตั้งแต่ขั้นตอนก่อนการประกาศโฆษณา และให้ยกคำขอสิทธิบัตรทันทีเมื่อขัดต่อมาตรา 9 ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องระบุระยะเวลาการพิจารณาคำขอและการยื่นคำคัดค้านอย่างชัดเจน รวมทั้งต้องเปิดเผยข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญทั้งหมดของคำขอสิทธิบัตรที่ผ่านประกาศโฆษณาแล้วในเว็บไซท์ของกรมโดยทันที เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องมีข้อมูลเพียงพอในการคัดค้านหากสิทธิบัตรดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

4. ปรับปรุงกฎหมายสิทธิบัตร หรือตรากฎกระทรวง เพื่อให้คำขอสิทธิบัตรต้องแสดงที่มาของทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่นเดียวกับกฎหมายสิทธิบัตรของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ นอรเวย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน และอินเดีย เป็นต้น เพื่อคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ป้องกันไม่ให้เกิดกรณีการเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านโดยมิชอบ ดังกรณีที่เกิดขึ้นกับ กวาวเครือ กระท่อม และกัญชา ดังที่ผ่านมา ทั้งนี้ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วภายในรัฐบาลนี้

5. คัดค้านการดำเนินการใดๆของรัฐบาลเพื่อเข้าร่วมในความตกลงการค้าระหว่างประเทศซึ่งต้องทำให้ประเทศไทยต้องแก้ไขกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่มากกว่าความตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้องค์กรการค้าโลก (TRIPs) เช่น การเข้าร่วมในอนุสัญญา UPOV1991 เป็นต้น ซึ่งทำให้ต้องมีการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชที่เปิดทางให้มีการผูกขาดสายพันธุ์กัญชา สมุนไพรและพันธุ์พืชต่างๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงทางยาของประเทศ

มูลนิธิชีววิถี (BioThai)
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)
10 มกราคม 2562

ที่มา: BIOTHAI Facebook