วิกฤตอาหารคราวนี้อาจรุนแรงกว่าปี 2008 ไม่ใช่เฉพาะราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นเท่านั้น แต่เพราะรายได้ของประชาชนในหลายประเทศกลับลดต่ำลงอย่างฮวบฮาบ จากผลพวงปัญหาวิกฤติทั้งเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและโรคระบาด การพุ่งทะยานขึ้นของราคาน้ำมัน วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 ผนวกกับโรคระบาดสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม สุกร ไก่ โดยเฉพาะในเอเชีย ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ และในประเทศ ทำให้ราคาอาหารในหลายประเทศทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ มีสัญญาณบ่งชี้ว่าโลกและประเทศไทยกำลังเข้าสู่วิกฤตอาหารแล้ว

ความเสี่ยงระดับโลกในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า

สภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum (WEF) ได้ติดตามความเสี่ยงระดับโลกมาตั้งแต่ปี 2012 และจัดทำรายงานประจำปี รายงานความเสี่ยงระดับโลกปี 2022 หรือ The Global Risks Report 2022 ได้ชี้ให้เห็นผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และหลังโควิดจากนี้ความกังวล ความเสี่ยงที่สำคัญทั้ง 5 ด้าน คือเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ภูมิรัฐศาสตร์ สังคม และเทคโนโลยี ความเสี่ยงครึ่งหนึ่งคือด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลกระทบในด้านอื่นทุกด้าน แสดงดังภาพที่1 โดยเฉพาะการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ วิกฤติทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นฐานทรัพยากรอาหารที่สำคัญต่อความมั่นคงทางอาหาร หากการสูญเสียจะส่งผลกระทบทัง่ทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพของมนุษย์

ภาพที่ 1<br>ที่มา World Economic Forum 2022 The Global Risks Report 2022 17th Edition Switzerland p116

สถานการณ์อาหารโลก

องค์การสหประชาชาติหรือ UN ได้ตั้งเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมายเพื่อให้แน่ใจว่าโลกจะดีขึ้นภายในปี 2030 (พ.ศ.2573) เป้าหมายเหล่านี้คือการเรียกร้องให้มีการดำเนินการเพื่อยุติความยากจน ปกป้องโลก และทำให้ทุกคนมีความสงบสุขและความมั่งคั่ง ขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับภัยพิบัติ ทุพภิกขภัย สภาวะขาดแคลนอาหาร ภาวะทุพโภชนาการ[1] ความหิวโหยอดอยาก และการเสียชีวิตจากการขาดอาหาร หลายประเทศในโลกได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับวิกฤตอาหารเป็นเรื่องเร่งด่วน

จากการติดตามดัชนีราคาอาหาร (Food Price Index) ของ FAO ชี้ว่าราคาอาหารสำคัญของโลกที่วัดจากดัชนีราคาธัญพืช เนื้อสัตว์ นม น้ำตาล และน้ำมันพืช ขณะนี้อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี และสูงกว่าดัชนีราคาอาหารเมื่อปี 2008 ซึ่งเป็นวิกฤตอาหารครั้งสำคัญของโลก (Global Food Crisis)ก่อนหน้านี้ แสดงดังภาพที่ 2 และ 3

ในสหรัฐราคาเนื้อสัตว์เพิ่มสูงขึ้น จนถึงขนาดที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งต้องทำชั้นวางพิเศษป้องกันการลักขโมย ในขณะที่ยุโรปหลายประเทศรวมทั้งในสหราชอาณาจักรราคาเนื้อสัตว์ และธัญพืชพุ่งสูงขึ้นพร้อมกันจากหลายสถานการณ์ผนวกกันรวมทั้งปัญหาทางการเมืองระหว่างตะวันตกและยูเครน กับรัสเซีย เช่นเดียวกับหลายประเทศในเอเชีย เช่น จีน เวียดนาม ไทย กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ได้รับผลกระทบจากราคาเนื้อสัตว์และโปรตีนที่พุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ 20% – 2500% จากโรคระบาด

ราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เพิ่มสูงขึ้น ยังเป็นการเพิ่มราคาปัจจัยการผลิตสำคัญ ได้แก่ ปุ๋ยเคมี และสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ให้เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งต้นทุนเชื้อเพลิงที่ใช้ในเครื่องจักรกลการเกษตร และการขนส่งในอุตสาหกรรมอาหารทั้งระบบ ส่งผลให้ราคาอาหารทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น

ภาพที่ 2<br>ที่มา FAO 2022 Food Price Index 1997 2022 <a href=httpstradingeconomicscomworldfood price index>httpstradingeconomicscomworldfood price index<a>

สหประชาชาติ (UN)[2] ระบุว่า ประชากรโลกเผชิญหน้ากับปัญหาความอดอยากกว่าที่เคยเป็นมา ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ส่งผลให้โอกาสความเป็นไปได้ที่จะผลักดันให้ปัญหาความอดอยากหายไปภายในปี 2030 ตามเป้าหมายที่วางไว้ยิ่งลดน้อยลงไปอีก

จากรายงาน State of Food Security and Nutrition in the World 2021 เป็นการประเมินระดับโลกครั้งแรกในยุคของการแพร่ระบาด รายงานนี้เผยแพร่ร่วมกันโดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กองทุนระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาการเกษตร (IFAD) กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) โครงการอาหารโลกของสหประชาชาติ (WFP) และองค์การอนามัยโลก องค์การ (WHO) ชี้ว่า ความหิวโหยเพิ่มสูงขึ้นกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกในปี 2020 ซึ่งเกือบ 10% ของประชากรทั้งหมดคาดว่าประสบปัญหาทุพโภชนาการ ขาดสารอาหารที่สำคัญ โดยปัญหาความอดอยากพบได้มากในประเทศแถบทวีปแอฟริกา ทวีปที่ประชากรราว 1 ใน 5 ของทวีปที่ประสบปัญหาทุพโภชนาการอย่างหนัก

ในรายงานระบุว่า ประชากรโลกราว 720-811 ล้านราย กำลังประสบปัญหาภาวะอดอยาก เผชิญหน้ากับความหิวโหย ซึ่งเพิ่มมากขึ้นกว่าปี 2019 ที่ผ่านมาราว 161 ล้านราย ขณะที่ประชากรโลกกว่า 2.3 พันล้านราย หรือคิดเป็นราว 30% ของประชากรทั้งหมดทั่วโลกประสบปัญหาการเข้าถึงอาหารที่เพียงพอตลอดทั้งปี สะท้อนระดับความไม่มั่นคงทางด้านอาหารของโลกในระดับปานกลางหรือรุนแรงที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วง 1 ปี เทียบเทียบกับช่วง 5 ปีก่อนหน้ารวมกัน ถึงแม้ว่าการผลิตอาหารทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 300% ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1960 แต่ภาวะทุพโภชนาการกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อายุขัยของประชากรโลกลดลง ในโลกที่อุดมสมบูรณ์ เราไม่มีข้อแก้ตัวให้กับคนหลายพันล้านคนที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารเพื่อการมีสุขภาพที่ดีได้ เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

ภาพที่ 3<br>ที่มา FAO 2022 <a href=httpswwwfaoorgworldfoodsituationfoodpricesindexen>httpswwwfaoorgworldfoodsituationfoodpricesindexen<a>

เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปีราว 149 ล้านราย จะประสบปัญหาเกี่ยวกับการเจริญเติบโต ร่างกายแคระแกร็นและมีอายุขัยที่สั้นลง ขณะที่มากกว่า 45 ล้านรายมีร่างกายที่ซูบผอมเกินไปเมื่อเทียบกับส่วนสูงที่พวกเขามี ในขณะที่มีเด็กที่ประสบปัญหาน้ำหนักเกินอยู่ที่ราว 39 ล้านราย ในหลายพื้นที่ทั่วโลก การแพร่ระบาดของโควิดได้ก่อให้เกิดภาวะถดถอยอย่างรุนแรงและสร้างอุปสรรคต่อการเข้าถึงอาหาร ยิ่งทำให้ปัญหาความอดอยากแพร่กระจายออกไปเป็นวงกว้าง โดยในปี 2020 ที่ผ่านมา ความหิวโหยพุ่งสูงขึ้นแซงหน้าการเติบโตของประชากร ซึ่ง 9.9% ของประชากรโลก ขาดสารอาหารในปีที่ผ่านมาสูงขึ้นเทียบกับ 8.4% ในปี 2019

สัญญาณการเข้าสู่วิกฤติอาหารไทย 2022

ประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารมาหลายยุค ตั้งแต่ สงครามโลก, น้ำท่วม, ภัยแล้ง และล่าสุดคือโรคระบาด เมื่อวิกฤตเกิดขึ้นทำให้เกิดผลกระทบไปอย่างกว้างขวาง ปี พ.ศ. 2565 ภาวะเงินเฟ้อสูงที่สุดในรอบ 13 ปี ค่าวัตถุดิบเพื่อนำไปประกอบอาหารราคาสูงขึ้น เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ รวมทั้งความไม่ปลอดภัยของผักผลไม้ที่มีสารเคมีตกค้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่กดทับทางเลือกของคนจนให้น้อยลงไป ค่าอาหารถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก จากรายงานผลการศึกษาการจัดการอาหารโรงเรียนชุมชน จังหวัดเชียงใหม่ (2565) เปรียบเทียบสัดส่วนค่าใช้จ่ายอาหารของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอยู่ที่ร้อยละ 48 และ กลุ่มผู้มีรายได้สูงอยู่ที่ร้อยละ 25.1 เมื่อเทียบกับรายได้

ตัวเลขประชาชนที่ถือบัตรคนจน หรือ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ซึ่งมีอยู่ 13.45 ล้านคน เมื่อปี 2564 พุ่งทะลุเป็น 20 ล้านคน ในปี 2565 หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของคนไทยทั้งประเทศ ประชาชนเหล่านี้จะได้รับผลจากวิกฤตอาหารหนักหนาสาหัสกว่ากลุ่มอื่น เพราะค่าใช้จ่ายกว่าครึ่งหนึ่งคือค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ในขณะที่ราคาธัญพืชในระดับโลกเฉลี่ยสูงขึ้น ชาวนาซึ่งมีจำนวนครึ่งหนึ่งของเกษตรกรกลับขายข้าวในราคาตกต่ำ เกษตรกรกลุ่มอื่นที่ราคาผลผลิตมีราคาดีกว่า เช่น ปาล์ม อ้อย ไม้ผล ข้าวโพด ก็ปรากฎว่าราคาปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยและสารเคมี กลับมีราคาสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ราคาอาหารที่สูงขึ้นนอกจากประชาชนทุกคนในฐานะผู้บริโภคและเกษตรกรรายย่อยจะไม่ได้ประโยชน์แล้ว ปรากฎการณ์นี้กลับเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมอาหารและบริษัทขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตอาหาร การผูกขาดช่องทางการจำหน่ายและกระจายอาหารมีเพียงไม่กี่ราย ส่งผลกระทบต่อการค้าขายของคนที่มีต้นทุนน้อย ราคาขายของคนที่มีทรัพยากรต้นทุนที่น้อยกว่าจึงแพงกว่า ผู้ที่รวบรวมทรัพยากรในการผลิตได้มากกว่าก็ขายได้ในราคาที่ถูกกว่าและได้กำไรมากกว่า รวมถึงการแย่งชิงพื้นที่ขายอาหารจากเทคโนโลยี (ตู้อัตโนมัติ)

เนื้อหมูแพง บทเรียนที่ 1 วิกฤติอาหาร

ราคาเนื้อสัตว์ในระดับค่าเฉลี่ยทั่วโลก เช่น ในยุโรป และลาตินอเมริกา ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้น ยกเว้นบางประเทศเช่น ในประเทศไทย และสหรัฐอเมริกา ในระหว่างประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งรวมถึงกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ประธานาธิบดีไบเดนและคณะบริหารของทำเนียบขาวชี้ว่า ราคาเนื้อสัตว์โดยเฉพาะเนื้อหมูที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐนั้น เกิดขึ้นจากการรวมศูนย์ของอุตสาหกรรมอาหาร โดยเขาชี้ให้เห็นว่าในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ส่วนใหญ่อยู่ในมือของบริษัทยักษ์ใหญ่ 3-4 บริษัทนั้น เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์เคยได้ส่วนแบ่ง 40-50 เซ็นต์ต่อหนึ่งดอลลาร์ของราคาเนื้อสัตว์ แต่ปัจจุบันกลับได้รับส่วนแบ่งเพียง 19 เซ็นต์เท่านั้น ในขณะที่อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ในสหรัฐกลับกอบโกยผลกำไรเพิ่มขึ้นถึง 300% ในช่วงวิกฤตโรคระบาด[3] เช่นเดียวกับในประเทศไทย ราคาหมูแพงกลับไม่ใช่เวลาที่เกษตรกรรายย่อยจะได้กำไร เพราะพวกเขาจำนวนมากสูญเสียอาชีพจากโรคระบาดโควิดและโรคระบาดในสุกร หนี้สินพอกพูน และการลงทุนส่วนใหญ่ 60-70% เป็นค่าอาหารสัตว์

โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ African swine fever (ASF)[4] เป็นปัญหาโรคระบาดสัตว์สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อทั้งสุกรเลี้ยงและหมูป่า โดยขณะนี้ส่งผลกระทบใน 4 ทวีปที่มีจำนวนสุกรรวมกันมากกว่า 78% ของโลก ASF ถูกพบและรู้จักเป็นครั้งแรกในเคนยาในปี 1921 หรือเมื่อ 101 ปีที่แล้ว และคาดว่ากระจายไปในหลายประเทศในทวีปดังกล่าว มีรายงานการระบาดของ ASF ครั้งแรกนอกทวีปแอฟริกาในโปรตุเกสในปี 1960 ในฟาร์มสุกรในประเทศใกล้เมืองลิสบอน อย่างไรก็ตาม การระบาดนี้ควบคุมได้อย่างรวดเร็วหลังจากการฆ่าสุกรในประเทศมากกว่า 10,000 ตัว ในปี 1963 พบการระบาดซ้ำอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปยังคาบสมุทรไอบีเรียทั้งหมด ตั้งแต่นั้นมา ASF ยังคงอยู่ในคาบสมุทรไอบีเรียเป็นเวลาประมาณ 35 ปี จนกระทั่งสามารถกำจัดได้สำเร็จในปี 1994 ในโปรตุเกส และ 1995 ในสเปน ยกเว้นบนเกาะซาร์ดิเนียที่ยังคงพบปัญหาจากโรคนี้อยู่แม้ในปัจจุบัน หลังการระบาดในยุโรป โรคนี้เดินทางข้ามไประบาดในทวีปอเมริกา ในไฮติ บราซิล คิวบา และโดมินิกัน แต่ก็ได้รับการกำจัดควบคุมจนหายไประหว่างปี 1971-1980

ในทศวรรษที่ผ่านมา ASF ยังคงพบในหลายประเทศในทวีปแอฟริกา แต่มีความซับซ้อนเกี่ยวกับการระบาดเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการเพิ่มจำนวนการเลี้ยงสุกรที่เพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วง 2 ทศวรรษทำให้มีการรายงานการระบาดเพิ่มขึ้น พบจีโนไทป์ที่แตกต่างกันของไวรัส ASF มากถึง 24 สายพันธุ์ ในขณะเดียวกันที่พบว่าหมูป่าในแอฟริกาตะวันออกเฉียงใต้ เช่น Potamochoerus larvatus Phacochoerus africanus และ Hylochoerus meinertzhageni สามารถต้านทานต่อไวรัสดังกล่าวได้ ทำให้ไวรัส ASF ยังคงเหลืออยู่ แม้ไม่ส่งผลกระทบต่อหมูป่าแต่ยังคงพบการระบาดในหมูที่เลี้ยงกันทั่วไป ส่งต่อเชื้อผ่านสุกรที่เลี้ยงร่วมกันและพาหะอื่น เช่น เห็บอ่อน[5] Ornithodoros moubata

ก่อนพบการระบาดในเอเชีย ASF โผล่กลับมาพบอีกครั้งในยุโรปในปี 2007 และแพร่ไปอย่างรวดเร็วใน อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน และสหพันธรัฐรัสเซีย และส่งผลกระทบต่อ ยูเครน (2012) และเบลารุส (2013) ต่อมาในปี 2014 โรคนี้เข้าสู่สหภาพยุโรป (EU) ผ่านทางลิทัวเนีย โปแลนด์ ลัตเวีย และเอสโตเนีย ตั้งแต่ปี 2016 มีประเทศในยุโรปอีก 9 ประเทศได้รับผลกระทบ เช่น มอลโดวา (2016), โรมาเนีย (2017), สาธารณรัฐเช็ก (2017), บัลแกเรีย (2018), ฮังการี (2018), เบลเยียม (2018), สโลวาเกีย (2019), เซอร์เบีย ( 2019) และล่าสุด กรีซ (2020) ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงสำหรับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี และสเปน โดยสองประเทศหลังเป็นผู้ผลิตสุกรรายใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป

มีข้อสังเกตว่าการระบาดของ ASF ในยุโรปนั้นมีการพบการระบาดใน 2 ลักษณะ คือในยุโรปตะวันตกพบการระบาดในหมูป่า ส่วนในยุโรปตะวันออกมักพบการระบาดในสุกรทั่วไป ภาพสะท้อนนี้ชี้ให้เห็นว่าการควบคุมการระบาดของโรคในแต่ละแหล่งและประเภทของการเลี้ยงสุกรนั้นมีความแตกต่างกัน ตามประเภทของสุกรและวิธีการเลี้ยง ตั้งแต่หมูป่า การเลี้ยงแบบครัวเรือน และการเลี้ยงแบบอุตสาหกรรม ASF ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนและร้ายแรงที่สุดเมื่อกระจายมายังเอเชีย โดยประเมินว่าจำนวนสุกรที่ได้รับผลกระทบทั่วโลกนั้น 80% หรือมากกว่า เป็นสุกรในเอเชีย การระบาดเกิดขึ้นครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2018 ที่ประเทศจีน จากฟาร์มสุกรในเมืองเสิ่นหยาง การศึกษาทางพันธุกรรมของไวรัสที่แยกได้คล้ายคลึงกันกับไวรัสที่แพร่กระจายในยุโรป การระบาดส่งผลกระทบต่อปริมาณสุกรที่ผลิตได้ในประเทศไม่เพียงพอต่อการบริโภค ราคาสุกรเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติถึง 2.5 เท่าตัว แม้ว่าจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยแล้วก็ตาม การระบาดที่จีนได้แพร่ไปสู่ประเทศต่างๆ อีก 12 ประเทศ ในปี 2019 ได้แก่ มองโกเลีย เวียดนาม กัมพูชา ฮ่องกง เกาหลีเหนือ ลาว เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ติมอร์-เลสเต อินโดนีเซีย และในปี 2020 ขยายไปสู่ปาปัวนิวกินี[6]

ส่วนประเทศไทยนั้น กรมปศุสัตว์เพิ่งออกมายอมรับการระบาดในประเทศที่ฟาร์มสุกรจังหวัดนครปฐม เมื่อ 11 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา และได้รายงาน[7] การระบาดว่าพบใน 31 จังหวัด 82 ตัวอย่าง หลังวันที่ 12 เมษายน 2565 ขณะที่มีรายงานว่าเกิด ASF ระบาดอย่างกว้างขวาง 15 ประเทศในเอเชีย ตามรายงาน[8] ของ FAO ผู้เลี้ยงหมูที่ระบุตรงกันว่าเกิดโรคระบาดจนหมูตายไป 50-70% ส่งผลกระทบต่อการผลิตเนื้อหมู และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาหมูพุ่งสูงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ

นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ในฐานะนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกร เขต 7 และนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี ซึ่งถูกกล่าวขานว่าเป็นเมืองหลวงของผู้เลี้ยงสุกร เพราะมีปริมาณการเลี้ยงแม่พันธุ์สุกรเกือบ 3 แสนตัว ได้ให้สัมภาษณ์ประชาชาติธุรกิจ [9]เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ไขปริศนาว่า ทำไมหมูแพง ? โดยระบุว่า

“เนื่องจากหมูตายเกือบหมดประเทศไทยแล้ว ผมเลี้ยงหมูมา 30 กว่าปีถือว่าหนักสุด โรคระบาดส่งผลให้หมูแม่พันธุ์ทั้งประเทศไทยที่มีประมาณ 1.1 ล้านตัว ปกติผลิตลูกหมูหรือเรียกว่า“หมูขุน”ได้ 21-22 ล้านตัว ปัจจุบันโรคระบาดสร้างความเสียหายกว่า 50% เหลือแม่หมูอยู่ประมาณ 550,000 ตัว ผลิตหมูขุนได้ประมาณ 12-13 ล้านตัวต่อปี”

“วันนี้ผู้เลี้ยงทุกคน และทั่วโลกรู้ว่าไทยมีโรค ASF แต่กรมปศุสัตว์ประกาศเป็น โรคเพิร์ส(PRRS)[10] ซึ่งอยู่ในประเทศไทยมานานแล้ว แต่ลักษณะของโรคคล้ายกัน แต่โรคเพิร์สมีวัคซีนป้องกัน แถมวันนี้มีการนำเข้าวัคซีนจากจีน และเวียดนามที่ใช้ไม่ได้ผลมาหลอกขายให้ผู้เลี้ยง ทั้งไม่ได้ผลและทำให้หมูตายจำนวนมากขึ้น” ” ช่วงแรกที่เกิดการระบาดเราคิดว่าจะทำให้เกษตรกรไทยอยู่ได้ เอกชนจึงช่วยกันระดมเงินลงขันกันได้ 200 กว่าล้านบาทเก็บจากผู้เลี้ยงหมูขุนตัวละ 10 บาท แม่หมูตัวละ 30 บาทเอาไปช่วยภาคเหนือ ภาคอีสาน ไม่ใช่เงินงบประมาณเลย เราหวังว่าจะปกป้องโดยหมูฟาร์มไหนมีโอกาสเสี่ยงเกิดโรคก็ซื้อทำลาย วันนั้นเราหวังว่าจะหยุดการระบาดของโรคไม่ให้กระจายเข้ามาประเทศไทยจะปลอด ASF แต่ทำไปเงินก็เสีย สุดท้ายมาถึงวันนี้การประกาศโรคมันสายเกินไปแล้ว”

“แต่วันนี้ถามว่าเกิดอะไรขึ้นทำให้โรคมันลุกลามกระจายไปทั่วประเทศทำให้เกิดปัญหา เราไม่อยากโทษใคร “หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ” สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติก็พยายามช่วยกันแก้ไขปัญหา วันนี้อยากให้ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ กรมปศุสัตว์ ผู้เลี้ยง บริษัทใหญ่มานั่งคุยกันว่าจะแก้ปัญหากันอย่างไร แต่สุดท้ายมาถึงวันนี้จนได้ ก็บอกถ้าไม่ทำ อะไรจะเกิดขึ้น ภาครัฐทำเพียงตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 6-7 ชุดก็รอดูกันต่อไป อนาคตหมูปีหน้าจะเป็นอย่างไร ถ้าภาครัฐไม่ทำอะไร จะเหลือแต่ผู้เลี้ยงรายใหญ่”

ในขณะที่นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จ.พะเยา พรรคเพื่อไทย กล่าวเมื่อวันอังคาร (4 ม.ค.)[11] ว่า

“รัฐบาลเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาเนื้อหมูสูงขึ้นตลอดช่วงที่ผ่านมา ด้วยการไม่ยอมรับว่าเกิดการระบาดของโรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกร (ASF) ที่ระบาดในหลายทวีป ทั้งยุโรป อเมริกา และเอเชีย แต่กลับอ้างว่าเป็นโรคเพิร์ส ที่มีวัคซีนป้องกันแทน”

” แม้ไทยไม่ได้รายงานให้องค์กรระหว่างประเทศทราบ แต่ในที่สุดทางการไต้หวันตรวจพบการปนเปื้อนเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกรในกุนเชียงที่ส่งออกไปจากไทย ถึงอย่างนั้น ภาครัฐของไทยก็ยังไม่ยอมรับ และกล่าวโทษว่ากุนเชียงดังกล่าวผลิตจากเนื้อหมูที่นำเข้าจากเพื่อนบ้าน ทั้งที่เคลื่อนย้ายนำเข้าจะต้องมีใบรับรองจากปศุสัตว์เสียก่อน” “เราไม่รายงาน เราปกปิด เพื่ออะไรครับ เพราะก่อนหน้านี้ประเทศนี้ส่งออกหมูปีละประมาณ 20,000 ล้าน 20,000 ล้านนี้มีบริษัทยักษ์ใหญ่เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นผมจึงสงสัย ได้รับฟังจากเกษตรกรทั้งประเทศเขาพูดว่ารัฐบาลนี้ทำเพื่อใคร เพื่อบริษัทใหญ่บางบริษัทใช่ไหม ถึงปกปิดข้อมูลกลัวว่าจะขายหมูไม่ได้ แต่วันนี้หลังจากปกปิดมา 3 ปี วันนี้หมูไทยไม่สามารถส่งออกได้แล้ว เพราะทั่วโลกเขารู้หมดแล้วครับ”

คำให้สัมภาษณ์ของอุปนายกผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และส.ส.พะเยา เป็นการตั้งคำถามต่อหน่วยงานของรัฐบาลเมื่อเดือนเมษายน 2564 ที่ยืนยันว่าประเทศไทยปลอดจากโรคดังกล่าว โดยนายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้กล่าวว่า[12]

“อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีการปล่อยข่าวหมูไทยเป็นโรค ASF โดยเฉพาะในพื้นที่ติดกับประเทศกัมพูชา เพื่อหวังกดราคาหมูให้ต่ำลง ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว พบว่าเป็นการพบเชื้อ ASF จากหมูที่ลักลอบนำเข้า ซึ่งไม่ใช่หมูจากประเทศไทย ทางฝ่ายไทยยืนยันกับหน่วยงานสุขภาพสัตว์และการผลิตราชอาณาจักรกัมพูชา (GDAHP) ว่ายังไม่มีการแพร่เชื้อนี้ในไทย พร้อมอธิบายแนวทางการป้องกันและเฝ้าระวังโรค ASF ที่ดำเนินการอย่างเข้มงวดมาอย่างต่อเนื่องตลอดเกือบ 3 ปี ส่งผลให้ยอดส่งออกหมูมีชีวิตเพิ่มขึ้น 340% โดยเฉพาะกัมพูชาซึ่งเดิมเป็นตลาดส่งออกสุกรมีชีวิตอันดับ 1 ของไทย มีหมูที่ส่งออกไปกัมพูชากว่า 58% ทำให้ทางการกัมพูชาได้ผ่อนปรนให้ผู้ส่งออกไทยสามารถส่งหมูไปเพิ่มอีก 6 ราย จากเดิม 5 ราย รวมทั้งหมดเป็น 11 ราย โดยไม่มีการจำกัดปริมาณโควตาแล้ว คาดว่าการส่งออกหมูปีนี้โตต่อเนื่อง”

อนึ่งเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ[13] รายงานว่า “CPF กำไร พุ่ง 2.6 หมื่นล้าน โต 41 %” วิกฤตโควิด-โรค ASF ไม่สะเทือน ซีพีเอฟ รายงานกำไรสุทธิประจำปี 2563 จำนวน 26,022 ล้านบาท พุ่ง 41% จากปีก่อน และ “ปี 2563[14] จะเรียกว่าเป็นปีทองสุกร (หมู) ของไทยก็ว่าได้ ด้วยยอดการส่งออกที่เติบโตหลัก 100% ไม่ใช่ตัวเลขที่จะพบเห็นได้ง่าย ๆ เพราะเป็นจังหวะที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต้องเผชิญปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF)

เหตุการณ์นี้อาจซ้ำรอยกรณีไข้หวัดนก ซึ่งมีการระบาดใหญ่ในปี พ.ศ. 2546-2547 สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง มีการฆ่าไก่ทิ้งถึง 30 ล้านตัว และมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องกลับไม่พยายามเปิดเผยข้อมูลอย่างทันท่วงที เพื่อปกป้องการส่งออกของอุตสาหกรรมสัตว์ปีก โดยจากรายงานการศึกษาพบว่า อุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์รู้เรื่องการระบาดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2546 แต่เพิ่งมีการเปิดเผยในวันที่ 23 มกราคม 2547 หลังจากแรงกดดันจากนานาชาติ[15]

คาดการณ์ว่าหลังการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในหมู จะทำให้เกษตรกรรายย่อยและรายกลางสูญหายไปจากตลาดเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการรวมศูนย์ของระบบการเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพิ่มมากกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบันผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นผู้ควบคุมระบบการผลิต การแปรรูป และการกระจายผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ครบวงจรอยู่แล้ว ผ่านกิจการอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ของตนเอง และเกษตรกรในระบบพันธสัญญา โรงงานฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ค้าปลีก และศูนย์กระจายผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่นๆ การเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของการผลิตหมูขุนจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในระบบพันธสัญญา เกษตรกรรายย่อยอื่น รวมทั้งจะส่งผลต่อการกำหนดราคาเนื้อหมูของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีอำนาจเหนือตลาด

อย่าได้แปลกใจว่าตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ราคาเนื้อหมูที่ผู้บริโภคคนไทยซื้ออาจมีราคาแพงมากกว่าประเทศต่างๆในภูมิภาคอื่นของโลก ราคาเนื้อหมูที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ อาจไม่ปรับตัวลดลงมาแบบที่หลายคนคาดหวัง แม้เมื่อสถานการณ์การระบาดจะคลี่คลายลงแล้วก็ตาม

ความหวัง

การเปลี่ยนแปลงระบบอาหารเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหาร ปรับปรุงโภชนาการ และให้ความสำคัญกับอาหารเพื่อสุขภาพที่ทุกคนเข้าถึง จุดเชื่อมต่อที่สำคัญ ปี 2021 เป็นโอกาสพิเศษในการพัฒนาความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการผ่านการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารด้วยมีการประชุมสุดยอดระบบอาหารแห่งสหประชาชาติ (UN Food Summit) การประชุมสุดยอดโภชนาการเพื่อการเติบโต (Nutrition for Growth Summit) และประชุม COP26 ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งผลของการประชุมระดับโลกเหล่านี้จะช่วยเสริมการดำเนินการด้านโภชนาการของสหประชาชาติ ความมุ่งมั่นด้านนโยบายระดับโลกที่ยังไม่ก้าวย่างในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ[16]

ในรายงาน State of Food Security and Nutrition in the World 2021 มีข้อเสนอต่อผู้กำหนดนโยบาย โดยให้พิจารณาจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในประเทศของตน ดังนี้

  • บูรณาการนโยบายด้านมนุษยธรรม การพัฒนา และการสร้างสันติภาพในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง เช่น ผ่านมาตรการคุ้มครองทางสังคมเพื่อป้องกันไม่ให้ครอบครัวขายทรัพย์สินเพียงเล็กน้อยเพื่อแลกกับอาหาร
  • ปรับขนาดความยืดหยุ่นของสภาพอากาศทั่วทั้งระบบอาหาร – ตัวอย่างเช่น โดยให้เกษตรกรรายย่อยเข้าถึงการประกันความเสี่ยงด้านสภาพอากาศและการจัดหาเงินทุนตามการคาดการณ์ในวงกว้าง
  • เสริมสร้างความยืดหยุ่นให้กับผู้ที่เปราะบางที่สุดต่อความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจ เช่น ผ่านโครงการสนับสนุนในรูปแบบเงินหรือเงินสด เพื่อลดผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโรคระบาดหรือความผันผวนของราคาอาหาร
  • แทรกแซงตลอดห่วงโซ่อุปทานเพื่อลดต้นทุนของอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น ส่งเสริมการปลูกพืชผักยืนต้นผลไม้พื้นเมือง หรือทำให้ผู้ปลูกผักและผลไม้เข้าถึงตลาดได้ง่ายขึ้น
  • จัดการกับความยากจนและความไม่เท่าเทียมกันของโครงสร้าง – ตัวอย่างเช่น โดยการส่งเสริมห่วงโซ่คุณค่าอาหารในชุมชนที่ยากจนผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการรับรองมาตรฐาน
  • เสริมสร้างสภาพแวดล้อมของอาหารและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค – ตัวอย่างเช่น โดยการกำจัดไขมันทรานส์อุตสาหกรรม และลดปริมาณเกลือและน้ำตาลในแหล่งอาหาร หรือปกป้องเด็กจากผลกระทบด้านลบของการตลาดอาหาร

รายงานยังเรียกร้องให้มี “สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อกลไกการกำกับดูแลและสถาบันต่างๆ” เพื่อทำให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้ กำหนดให้ผู้กำหนดนโยบายปรึกษากันอย่างกว้างขวาง เพื่อส่งเสริมสตรีและเยาวชน และเพื่อขยายความพร้อมใช้งานของข้อมูลและเทคโนโลยีใหม่ เหนือสิ่งอื่นใดยังเรียกร้องให้โลกต้องลงมือตั้งแต่ตอนนี้หรือไม่ก็คอยเฝ้าดูความหิวโหยและภาวะทุพโภชนาการที่กำเริบขึ้นเรื่อยๆ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ไม่นานหลังจากการระบาดของโรคระบาดใหญ่ผ่านไป

กลับมาที่ประเทศไทย ข้อเสนอเพื่อหมูยั่งยืน นอกจากข้อเสนอหลักของหลายฝ่ายในการฟื้นฟูการเลี้ยงหมู ซึ่งได้แก่ การแขวนหนี้สิน การสนับสนุนเงินกู้แก่เกษตรกรรายย่อยและรายกลาง และส่งเสริมสนับสนุนมาตรการสร้างความปลอดภัย/ความมั่นคงทางชีวภาพในการจำกัดควบคุมการระบาดแล้ว มูลนิธิชีววิถีเห็นว่าการฟื้นฟูการเลี้ยงหมูอย่างยั่งยืน เพื่อฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อยให้ได้รับความเป็นธรรม ควรดำเนินการ ดังนี้

  • สนับสนุนและส่งเสริมการผลิตอาหารการเลี้ยงสัตว์เองจากวัตถุดิบในท้องถิ่นแทนที่จะซื้ออาหารสัตว์สำเร็จรูป ซึ่งตลาดเป็นของบริษัทขนาดใหญ่ ประเทศไทยมีปลายข้าว รำข้าว มันสำปะหลัง ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้อย่างมาก ทั้งนี้ไม่รวมถึงวัตถุดิบอาหารสัตว์อื่นๆ เช่น กล้วย กระถิน ฯลฯ เป็นต้น
  • ควรสนับสนุนชุมชนชาติพันธุ์ หรือชุมชนในพื้นที่ห่างไกลจากโรคระบาดให้สามารถขยายการเลี้ยงหมูเพื่อความมั่นคงทางอาหาร และเศรษฐกิจของครอบครัว/ชุมชนต่อไป ดังเป็นที่ทราบว่า การเลี้ยงหมูของชุมชนดังกล่าวค่อนข้างปลอดภัยจาก ASF เนื่องจากมีสภาพเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะ biosecurity โดยธรรมชาติ ไม่นับหมูพื้นบ้านส่วนใหญ่ที่มีฐานความหลากหลายทางพันธุกรรมมากกว่าสายพันธุ์หมูแบบอุตสาหกรรม
  • หนึ่งในระบบการเลี้ยงสัตว์ที่มีประสิทธิภาพและยืดหยุ่นต่อผลกระทบของราคา/โรคระบาด สำหรับเกษตรกรรายย่อยคือการเลี้ยงในระบบเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งสามารถผสมผสานการเลี้ยงสัตว์บกกับสัตว์น้ำไปด้วยกัน รวมทั้งการปลูกพืชด้วย โดยรายงานการศึกษาของกระทรวงเกษตรฯและสภาพัฒน์พบว่าระบบเกษตรผสมผสานให้ผลตอบแทนมากกว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือการเลี้ยงสัตว์อย่างเดียว อีกทั้งเมื่อเกิดผลกระทบในกรณีเกิดโรคระบาดหรือการภัยพิบัติใดๆก็ไม่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการเกษตรทั้งหมดไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ ในหลายประเทศ ยังมีระบบการเลี้ยงหมูทางเลือกอื่นๆ เช่น หมูอินทรีย์ หมูปลอดสารปฏิชีวนะ หรือหมูที่เลี้ยงแบบปล่อยอิสระ ซึ่งนอกจากเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคแล้ว ยังเปิดโอกาสให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถเข้ามาสู่ตลาดได้ ภายใต้ระบบตลาดที่มีบริษัทขนาดใหญ่มีอิทธิพลเหนือตลาดในระบบการเลี้ยงตามแบบแผน

  • ส่งเสริมให้มีสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรที่ทำหน้าที่เป็นผู้ชำแหละและจัดส่งเนื้อสัตว์ไปยังตลาดท้องถิ่นต่างๆ เป็นการเพิ่มช่องทางให้แก่เกษตรกรรายย่อยในการขายหมูมีชีวิตไปยังสหกรณ์เพิ่มขึ้น แทนที่จะต้องผลิตป้อนบริษัทใหญ่ภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญาแต่เพียงอย่างเดียว ทำให้เกษตรกรมีอำนาจการต่อรองเพิ่มขึ้น
  • ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงหมูในระบบเกษตรพันธสัญญาซึ่งขาดอำนาจการต่อรอง เช่น สัญญาส่วนใหญ่เกษตรกรต้องรับภาระความเสี่ยงเมื่อเกิดโรคระบาดและภัยพิบัติ เกษตรกรต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหาย ในขณะที่เมื่อหมูมีราคาแพงเพิ่มจาก 60 บาท เป็น 110-120 บาท เกษตรกรกลับไม่มีส่วนแบ่งใดๆกับผลกำไรที่เกิดขึ้น กรณีเช่นนี้ หน่วยงานของรัฐซึ่งทำหน้าที่ในการดูแล “สัญญากลาง” ควรมีหน้าที่ในการสร้างความเป็นธรรมแก่เกษตรกรรายย่อยมากขึ้น
  • ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายและการบังคับใช้ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 ให้คุ้มครองเกษตรกรรายย่อย ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง โดยไม่ปล่อยให้ผู้ประกอบการรายใหญ่มีอิทธิพลเหนือตลาดเหมือนที่เป็นอยู่ ดังตัวอย่างในบางประเทศที่เมื่อผู้ประกอบการบางรายมีสัดส่วนตลาดเกิน 30% หรือมีการควบรวมกิจการจนมีอิทธิพลเหนือตลาด จะต้องมีการขายกิจการบางส่วนออกไปเป็นต้น

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ปุ๋ยทั่วโลกก็มีแนวโน้มแพงขึ้นอย่างชัดเจน เพราะปุ๋ยเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในระบบเกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เพิ่มความรุนแรงของวิกฤติอาหารครั้งนี้ แต่ในทางกลับกันปุ๋ยแพงก็ยังเป็นโอกาสในการปรับเปลี่ยนเกษตรกรรมที่พึ่งพาการใช้สารเคมีไปสู่เกษตรกรรมเชิงนิเวศอีกด้วย เป็นโอกาสของเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนการปรับปรุงบำรุงดินมาใช้วิธีชีวภาพ เช่น การใช้มูลสัตว์ ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ และการใช้พืชคลุมดิน เป็นต้น หากภาครัฐเล็งเห็นความยั่งยืนอย่างแท้จริง ควรสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยให้สามารถผลิตและเข้าถึงปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ รวมทั้งส่งเสริมการใช้พืชคลุมดินที่ผลิตปุ๋ยธรรมชาติอย่างกว้างขวางแทน ยังคงต้องติดตามสถานการณ์กันอย่างใกล้ชิดเพื่อปากท้อง ความมั่นคงทางอาหารของเราทุกคน


[1]นิยามศัพท์จากรายงาน State of Food Security and Nutrition in the World 2021

 ความหิว : ความรู้สึกไม่สบายหรือเจ็บปวดที่เกิดจากพลังงานไม่เพียงพอจากการรับประทานอาหาร การกีดกันอาหาร กินแคลอรี่ไม่เพียงพอ ใช้แทนกันได้กับภาวะขาดสารอาหาร (เรื้อรัง) วัดโดยความชุกของการขาดสารอาหาร (PoU)

ความไม่มั่นคงทางอาหารในระดับปานกลาง : สภาวะความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความสามารถในการรับอาหาร เสี่ยงที่จะอดอาหารหรือเห็นอาหารหมด ถูกบังคับให้ประนีประนอมกับคุณภาพทางโภชนาการและ/หรือปริมาณของอาหารที่บริโภค

ความไม่มั่นคงด้านอาหารอย่างรุนแรง : อาหารหมด; ประสบการณ์ความหิว; อย่างที่สุดต้องอดอาหารเป็นเวลาหนึ่งวันหรือมากกว่านั้น

ภาวะทุพโภชนาการ : ภาวะที่เกี่ยวข้องกับความบกพร่อง ส่วนเกินหรือความไม่สมดุลในการบริโภคมาโครและ/หรือจุลธาตุอาหาร ตัวอย่างเช่นภาวะขาดสารอาหารและโรคอ้วนเป็นภาวะทุพโภชนาการทั้งสองรูปแบบ การ แคระแกร็นหรือการสูญเสียน้ำหนักเป็นตัวบ่งชี้ถึงภาวะขาดสารอาหาร

[2]https://www.who.int/news/item/12-07-2021-un-report-pandemic-year-marked-by-spike-in-world-hunger

[3] White House focuses on meat supply chain challenges  https://www.farmprogress.com/farm-policy/white-house-focuses-meat-supply-chain-challenges?fbclid=IwAR0PzoRR06gPi2qB8qwZ1QEeXW5FJBpcFx8Nbal_g8yOIqph-tHreGhSn8M

[4] J. M. Sa ́nchez-Vizcaı ́no, L. Mur and B. Martı ́nez-Lo ́pez. 2011. African Swine Fever: An Epidemiological Update. Transboundary and Emerging Diseases.59(Suppl. 1), 27–35.

[5]

[6] เรียบเรียงจาก African Swine Fever (ASF) SUAT, VISAVET Health Surveillance Centre ,University of Madrid.

[7] OIE-WAHIS

[8] https://www.fao.org/ag/againfo/programmes/en/empres/ASF/situation_update.html

[9] อ่านคำให้สัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ https://www.prachachat.net/local-economy/news-833141

[10] พีอาร์อาร์เอส เป็นคำย่อ มาจากคำว่า Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome = PRRS หรือบางคนก็อ่านว่า เพอร์ส เป็นชื่อโรคสำคัญในสุกรโรคหนึ่ง สุกรทุกอายุที่ป่วยติดเชื้อจะแสดงอาการ ไข้สูง ซึม เบื่ออาหาร ผิวหนังร่างกายมีสีแดง ที่สำคัญคือมีความล้มเหลวในระบบสืบพันธุ์ทั้งในเพศผู้และเพศเมีย และยังมีอาการระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย ในสุกรที่มีความไวรับสูง หรือในฝูงที่เป็นการติดเชื้อครั้งแรกเริ่ม มักมีความเสียหายถึงตายในจำนวนตัวเลขที่สูง จนถึงสูงมาก ตัวก่อโรคเป็นอาร์เอ็นเอไวรัสชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ อาร์เทอริวิริเด ที่ปัจจุบันพบว่ามีอยู่ 2 กลุ่มสายพันธุ์ หรือแบบชนิดหรือไทป์ ได้แก่ กลุ่มสายพันธุ์ยุโรป (EU) หรือไทป์ 1 และกลุ่มสายพันธุ์อเมริกาเหนือ (NA) หรือไทป์ 2 ในบ้านเราเองก็ได้มีการติดไวรัสโรคนี้ไม่ว่าจะเป็นไทป์ใดไทป์หนึ่ง หรือทั้งสองไทป์เข้าฝูงสุกรในระบบฟาร์มทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นฟาร์มใหญ่หรือเล็กมานานร่วมสองทศวรรษแล้ว จนเกือบทุกแห่งในบ้านเรา หรือเกือบจะทั่วโลกที่มีการเลี้ยงสุกรหนาแน่นมักมีไวรัสนี้เป็นเชื้อประจำถิ่น มักหมุนเวียนในฝูงในกลุ่มสุกรอายุต่างๆซึ่งมีการตรวจพิสูจน์ได้จริงโดยเทคนิควิธีของห้องปฏิบัติการ ทำได้ไม่ยากนัก แต่ว่าชนิดโรคนี้ติดเข้าเฉพาะสุกรเท่านั้น ไม่เคยมีรายงานใดว่าโรคติดเข้าสู่คน

[11] อ่านคำให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมได้ที่ https://www.sanook.com/news/8498026/

[12] https://dld.go.th/th/index.php/th/newsflash/341-news-hotissue/23715-hotissue-25640428-1

[13] https://www.prachachat.net/economy/news-620179
[14] https://www.prachachat.net/economy/news-649731

[15] https://focusweb.org/the-politics-of-bird-flu-in-thailand/ , https://www.upi.com/Top_News/2004/09/11/WHO-criticizes-Thailand-after-bird-flu-death/98611094916830/?ur3=1

[16] WHO. https://www.who.int/news/item/12-07-2021-un-report-pandemic-year-marked-by-spike-in-world-hunger