วันที่ 22 มิถุนายน 2565 มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) และเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก โดยการสนับสนุนของแผนงานอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดให้มีการประชุมระดมสมองเพื่อเสนอแนะแนวทางและแนวนโยบายเพื่อหาทางออกในช่วงปุ๋ยและสารเคมีมีราคาแพง “ปุ๋ยแพง(ระบบเกษตรกรรมและอาหาร)ก็ไม่พัง” โดยผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบไปด้วยนักวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน ปราชญ์ชาวบ้าน และองค์กรที่ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นจำนวนมาก

นายชนวน รัตนวราหะ ผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรมยั่งยืนและอดีตรองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเขตร้อนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีพันธุ์ข้าวที่ยอดเยี่ยม สามารถพึ่งตัวเองทางการเกษตรและผลิตอาหารเลี้ยงโลกมาโดยตลอดจนได้รับการขนานนามว่าเป็น “Rice Bowl of South East Asia” แต่การเกษตรที่พึ่งพาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นจำนวนมากและการปลูกพืชเชิงเดี่ยวนั้น เป็นการใช้เทคโนโลยีที่ไม่สอดคล้องกับระบบนิเวศทางการเกษตรของไทย และควรใช้โอกาสนี้ในการปรับไปสู่เกษตรกรรมที่ยั่งยืนโดยเน้นการใช้อินทรีย์วัตถุ พืชคลุมดิน ซึ่งประเทศไทยมีอย่างเพียงพอ

ดร.อาทิตย์ ศุขเกษม ผู้อำนวยการเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน กรมพัฒนาที่ดิน ให้ข้อมูลว่า วิกฤตการณ์นี้จะเป็นโอกาสอันดีที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เพราะประเทศไทยมีทรัพยากรเหลือใช้ที่เป็นวัสดุอินทรีย์มากกว่า 700 ล้านตันต่อปี ไม่ว่าจะเป็นฟางจากนาข้าวหรือมูลสัตว์ เฉพาะมูลสัตว์อย่างเดียวมากถึง 38 ล้านตัน หากนำมาใช้เพียง 1 ใน 3 หรือแม้เพียง 10% ก็จะเกิดประโยชน์มหาศาล ทั้งนี้บทบาทของกรมพัฒนาที่ดินยังรวมถึงการส่งเสริมการใช้พืชตระกูลถั่ว พัฒนาปุ๋ยชีวภาพ ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ ซึ่งตอนนี้พัฒนาตั้งแต่พด.1มาจนถึงพด.14 แล้ว โดยเปิดให้เกษตรกรและประชาชนสามารถเข้ามาขอรับเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้

นายภัทธาวุธ จิวตระกูล นักวิชาการด้านพืชคลุมดินและยางพารากล่าวว่า ดินในประเทศไทยขาดการอนุรักษ์ดูแลมาต่อเนื่องยาวนาน เกิดการชะล้างพังทลายของดินอย่างมาก ผลผลิตทางการเกษตรเช่นยางพารามีแนวโน้มว่าผลผลิตต่อไร่จะค่อยลดลง สวนทางกับมาเลเซียที่มีการส่งเสริมการใช้พืชคลุมดินในสวนยาง สวนปาล์มอย่างกว้างขวาง ที่จริงมีพืชคลุมดินอีกหลายชนิดที่สามารถนำเอามาส่งเสริมให้มากขึ้น เช่น ถั่วมูคูน่าซึ่งให้ปุ๋ยธรรมชาติสูงมาก เพราะมีซากพืชมากกว่าพืชคลุมดินอื่นถึง 3 เท่า เป็นต้น แต่หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องต้องเร่งผลักดันและสนับสนุนในเรื่องนี้มากกว่าที่เป็นอยู่

ชัยพร พรหมพันธุ์ เกษตรกรดีเด่นระดับประเทศสาขาทำนา บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ระบุว่าทางออกของชาวนา คือต้องลดต้นทุนและลดการใช้ปุ๋ยลง ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก ตนเองทำนาลดต้นทุนมานาน 20-30 ปีแล้ว โดยไถกลบฟางแทนการเผา ทำนา 100 ไร่ โดยไม่ต้องจ้างคนอื่น ใช้จุลินทรีย์เร่งการย่อยสลาย ใช้ปุ๋ยเคมีน้อยมากเฉลี่ยแล้วไม่เกิน 5 ก.ก.ไร่ ผสมกับปุ๋ยขี้หมูอัดเม็ดลูกละ 300 บาท ใช้ 3-4 ลูกต่อที่นา 10 ไร่ แต่ได้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 1 ตัน ส่วนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชแทบไม่ใช้เลย เพราะวัชพืชก็น้อยต้นข้าวก็แข็งแรงไม่มีแมลงมารบกวน

ส่วน ปรานี ไชยชาญ ซึ่งทำงานใกล้ชิดร่วมกับ ผู้ใหญ่ปราณี จันหอม กล่าวว่าการทำสวนอินทรีย์ของสวนทุเรียนอินทรีย์จันหอม อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ นั้น ใช้ปุ๋ยมูลไส้เดือนจากขี้วัวและน้ำหมักปลา เป็นหลัก ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีเลย ปรากฎว่าสวนทุเรียนสามารถติดลูกได้ภายใน 3 ปี ตอนนี้ทุเรียนอายุ 5 ปีแล้ว ติดผลดกมากแต่จำกัดไว้ไม่เกิน 30-40 ผลต่อต้น

ดร.จตุพร เทียรมา อาจารย์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ม.สาราคาม และเป็นเจ้าของศูนย์เรียนรู้นิเวศเกษตร “สวนลุงโหนกนานาพรรณ” ที่บ้านหม้อ ต.เขวา อ.เมือง จ.มหาสารคาม เน้นย้ำว่า ในสถานการณ์ปุ๋ยแพง สิ่งที่เราควรเรียนรู้อันดับแรกคือ ระบบนิเวศของดิน ซึ่งต้องทำให้องค์ประกอบ 4 ปัจจัยครบถ้วน ได้แก่ การที่ดินต้องมีความชื้นเพียงพอ มีอากาศ มีอุณหภูมิที่เหมาะสม และมีอาหารในดินที่สมบูรณ์สำหรับสิ่งมีชีวิตในดิน แล้วพืชจะเจริญเติบโตแข็งแรงเอง สวนลุงโหนกนานาพรรณนั้นปลูกข้าว ผัก ผลไม้ และอื่นๆ งอกงามโดยแทบไม่ได้นำปัจจัยการผลิตจากภายนอกเข้ามาภายในสวนเลย

นคร ลิมปคุปตถาวร เล่าถึงการทำเกษตรแบบ Biodynamic Farming ที่เน้นการพึ่งปัจจัยภายนอกให้น้อยที่สุด และไม่แทรกแซงธรรมชาติว่า หัวใจสำคัญของเกษตรกรรมตามแนวทางนี้อยู่ที่การสร้างฮิวมัส โดยมีการปลูกปุ๋ยพืชสดจากเมล็ดพันธุ์พืชที่หลากหลายว่า จะช่วยสร้างหน้าดินตามธรรมชาติ ทำให้สภาพดินดีขึ้น อ่อนนุ่ม ร่วนซุย เก็บกักน้ำ เก็บกักคาร์บอน ได้พืชที่ทนแล้ง แข็งแรง และทำให้ได้ผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์ โดยตนเสนอว่าจำเป็นต้องไปมากกว่า “การทดแทนสารเคมี” แต่ต้องเรียนรู้การทำงานกับดิน เน้นฟื้นฟูและบำรุงรักษาแทน

เกศศิรินทร์ แสงมณี อาจารย์และนักฝึกอบรมเรื่องดิน กล่าวเสริมว่า เทคโนโลยี ไบโอชาร์ (Biochar) หรือถ่านชีวภาพ ซึ่งเป็นถ่านที่มีรูพรุนขนาดเล็กจะเป็นตัวช่วยหนึ่งที่เหมาะสมกับการปรับปรุงดินในเมือง เนื่องจากมีรูพรุนมากทำให้ดินกักเก็บน้ำได้ดี มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบจึงเพิ่มสารอาหารให้กับดิน ยับยั้งโรคไฟทอปเทอร่าและโรครากโคนเน่าในส้มโอได้ด้วย โดยใช้ในปริมาณเล็กน้อยเพียง 1 กก./ตร.ม. หรือใส่เพียง ¼ ส่วนในกระถางเท่านั้น

ส่วน อุบล อยู่หว้า จากเครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคอีสาน เล่าว่าเกษตรกรในเครือข่ายเกษตรทางเลือกที่ตนทำงานด้วยนั้นไม่ได้รับผลกระทบใดๆเลยจากปุ๋ยแพง เพราะทำเกษตรกรรมที่รู้จักหมุนเวียนจัดการทรัพยากรในไร่นา มูลสัตว์ และพืชตระกูลถั่วสร้างความอุดมสมบูรณ์ของดินมาโดยต่อเนื่อง ตนเคยถามพี่น้องที่ทำเกษตรอินทรีย์ที่สุรินทร์ว่า จะแนะนำเกษตรกรที่ประสบกับปัญหาปุ๋ยแพงอย่างไร พวกเขาตอบว่าต้องมองอนาคตการทำการเกษตรมากกว่าหนึ่งฤดูกาล มองให้เห็นอนาคตไปไกลๆ เขาย้ำว่าเกษตรกรควรวางแผนการทำเกษตรของตัวเองในระยะยาว การปลูกพืชแต่ละชนิดควรนำไปสู่ความยั่งยืน ไม่ทำร้ายระบบนิเวศ

สำหรับในทางนโยบายนั้น นายปรัชญา ธัญญาดี ผู้เชี่ยวชาญเรื่องดินอาวุโส ชี้ว่า อินทรีย์วัตถุในดินก็เปรียบเสมือนหัวใจของคน มีขนาดเล็กแต่มีความสำคัญต่อดินมาก ในอดีตการส่งเสริมการใช้อินทรีย์วัตถุถูกบรรจุเข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจของชาติตั้งแต่ฉบับที่ 4-6 แต่ปัจจุบันกลับไม่ปรากฎเรื่องสำคัญดังกล่าว ประเทศไทยต้องทำงานมากขึ้นเพื่อเผยแพร่และสร้างความรู้เกี่ยวกับอินทรีย์วัตถุ รณรงค์ในวงกว้าง ส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมสร้างปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ และการมีมาตรการต่างๆ

ในตอนท้ายของการประชุม ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศ แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. ได้กล่าวขอบคุณนักวิชาการ เกษตรกร และองค์กรต่างๆที่เข้าร่วมในการระดมความคิดเห็นครั้งนี้ โดยแผนอาหารเพื่อสุขภาวะของ สสส.จะทำหน้าที่สนับสนุนให้มีการรวบรวมความรู้ สื่อสารถึงความสำคัญของเรื่องดิน อินทรียวัตถุ และนิเวศการเกษตรซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับความมั่นคงทางอาหาร ไปยังสาธารณชน รวมทั้งสนับสนุนให้มีการจัดทำข้อเสนอแนะทางนโยบาย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างระบบเกษตรกรรมและอาหารที่ยั่งยืนต่อไป