KKP Research วิเคราะห์ว่าราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่จะปรับขึ้นตามราคาพลังงาน ยกเว้นราคาข้าวคาดว่าราคาจะยังตกต่ำในปีนี้ โดยรายได้ของเกษตรกรโดยรวมจะปรับเพิ่มขึ้น 19.3% ในปีนี้มาอยู่ระดับ 970,000 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 8 ปี ขณะที่ต้นทุนปุ๋ยที่สูงขึ้นเกือบ 3 เท่ากลับทำให้กำไรขั้นต้นของชาวนาพลิกจากกำไรเป็นขาดทุน สะท้อนถึงความเปราะบางของชาวนาไทย

สาเหตุที่ทำให้ชาวนามีความเปราะบางกว่าเกษตรกรกลุ่มอื่น ๆ เกิดจาก

  • ประสิทธิภาพการผลิตที่ต่ำกว่าสินค้าเกษตรอื่นๆ ข้าวมีผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าประเทศอื่นในเอเชียถึง 32% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
  • มีการใช้พื้นที่เพาะปลูกไม่เหมาะสมมากที่สุด โดยข้าวเป็นสินค้าเกษตรที่มีการเพาะปลูกเกือบทุกจังหวัดในประเทศ แต่มีถึง 10 จังหวัดที่มีผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ แต่มีพื้นที่เพาะปลูกสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ
  • ไม่สามารถแข่งขันกับข้าวประเทศอื่นได้จากราคาที่สูงกว่า โดยสัดส่วนการส่งออกข้าวในตลาดโลกของไทยลดลงจาก 25% ในช่วงปี 2002 – 2010 เหลือเพียง 14% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาขณะที่ราคาของข้าวไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาแพงกว่าข้าวของทั้งเวียดนาม กัมพูชา อินเดีย และปากีสถาน

KKP Research ประเมินว่าต้นทุนสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นมหาศาลจะทำให้สถานการณ์ความเป็นอยู่ของชาวนาแย่ลงมากและซ้ำเติมปัญหาหนี้ในภาคเกษตรที่อยู่ในระดับสูง และต้องได้รับการแก้ไขและดูแลจากภาครัฐใน 3 ประเด็น

  • การจัดสรรพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด หรือ Zoning โดยเฉพาะข้าวและอ้อยที่ยังใช้พื้นที่ไม่เหมาะสมคือเพาะปลูกในพื้นที่ที่ให้ผลผลิตต่ำ
  • การพัฒนาระบบชลประทาน เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของภาคเกษตร โดยเฉพาะข้าวที่จากพื้นที่ปลูกทั้งหมดในปัจจุบัน 74.3% ยังอยู่นอกเขตชลประทาน โดยการปลูกข้าวในเขตชลประทานจะให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่านอกเขตชลประทานเกือบ 60% โดยเฉพาะในภาคกลางที่จะเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ถึง 51%
  • การวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชที่ให้ผลผลิตที่สูงขึ้น มีความทนทานต่อสภาพอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงตรงกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน นอกจากนี้ การส่งเสริมให้มีตลาดประกันวินาศภัยในภาคเกษตรจะช่วยให้เกษตรกรมีความยืดหยุ่นต่อปัจจัยเสี่ยงได้

อ่านงานศึกษาฉบับเต็มได้ที่ KKP Advice Center