เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีการเกษตรซึ่งประกอบไปด้วยแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และนักวิชาการหลายสาขา องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค และเครือข่ายเกษตรกร แถลงยืนยันให้กรมวิชาการเกษตรประกาศยกเลิกการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 4 ชนิด ได้แก่ อีพีเอ็น คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส ก่อนวันที่ 22 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ผู้ประกอบการจะต้องเอาสารเคมีการเกษตรมาขึ้นทะเบียนใหม่ตามกฎหมาย

หลังจากมีความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการสารเคมีการเกษตรให้ยืดระยะเวลาการขึ้นทะเบียนสารเคมีการเกษตรออกไปอีก 2 ปี และมีแนวโน้มว่ากรมวิชาการเกษตรซึ่งดูแลวัตถุอันตรายการเกษตรตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตรายเตรียมอนุญาตให้สารเคมีอันตรายหลายชนิดสามารถขึ้นทะเบียนได้นั้น เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีการเกษตรร่วมกันแถลงข้อเรียกร้องต่อกรมวิชาการเกษตร โดย นายแพทย์ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เรียกร้องให้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยกเลิกการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชซึ่งมีพิษภัยร้ายแรงมากที่สุด 4 ชนิด ได้แก่ อีพีเอ็น คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส เพราะจากผลการศึกษาพบว่าสารเคมีดังกล่าวมีความเป็นพิษสูงมาก สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และหลายประเทศในเอเชียได้ห้ามใช้ไปแล้วเนื่องจากมีพิษภัยร้ายแรงต่อมนุษย์ สัตว์ เช่นเดียวกับผลการทดลองในประเทศไทยโดย ดร.สุภาพร ใจการุณ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ที่พบว่าแม้สารเคมีทั้ง 4 ชนิดจะมีผลในการลดจำนวนแมลงศัตรูพืชแต่ก็จะได้ผลเพียงระยะสั้น เพราะสารพิษดังกล่าวได้ทำลายแมลงตัวห้ำตัวเบียนซึ่งจะเป็นสาเหตุให้เกิดการระบาดของแมลงศัตรูพืชในระยะยาว

ทั้งนี้นายแพทย์ปัตพงษ์ยังได้เรียกร้องให้มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2551 อย่างเคร่งครัด โดยไม่ปล่อยให้มีการยืดเวลาการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชออกไปอีก 2 ปี ตามข้อเสนอของผู้ประกอบการ ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เปิดเผยผลการสำรวจของสำนักงานสาธารณสุข จ.เชียงใหม่ที่พบว่าผู้บริโภคกว่า 60% ตรวจพบสารเคมีการเกษตรตกค้างในเลือดในระดับที่ไม่ปลอดภัยซึ่งน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาหารที่บริโภค ดังนั้นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุในการควบคุมการใช้ การนำเข้า การยกเลิกสารเคมีที่เป็นอันตรายควรจะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับกระทรวงเกษตร เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคอยากเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรปฏิรูประบบการควบคุมการใช้ การนำเข้า การยกเลิกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เป็นอันตรายให้เข้มงวด ให้โปร่งใส โดยต้องเปิดเผยข้อมูลการขึ้นทะเบียนสารเคมีของคณะกรรมการวัตถุอันตราย และอนุกรรมการชุดต่างๆ ให้ผู้บริโภคทราบอย่างโปร่งใส ทั้งนี้โดยให้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี 2552 ที่ระบุว่า “ก่อนการประกาศขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรทุกประเภทให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยขั้นตอนการขึ้นทะเบียน และข้อมูลที่ใช้ประกอบการพิจารณาให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบก่อนการพิจารณา และให้เปิดเผยคำชี้แจงและเหตุผลประกอบการพิจารณาเพื่อรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย” และเรียกร้องไปถึงรัฐบาลให้เร่งผลักดันให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อจะได้ช่วยสนับสนุนในการให้ความเห็นและตรวจสอบกระทรวงเกษตรตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ต่อไป หากองค์กรผู้บริโภคพบว่าการดำเนินการของหน่วยงานราชการดำเนินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจะพิจารณาฟ้องร้องตามกฎหมายต่อไป ทางด้านนายนพดล มั่นศักดิ์ ผู้ประสานงาน มูลนิธิการจัดการความรู้และเครือข่ายโรงเรียนชาวนา จ.นครสวรรค์ ได้ให้ข้อมูลภาคสนามโดยยืนยันว่า การยกเลิกการขึ้นทะเบียนสารพิษทั้ง 4 ชนิดจะไม่กระทบต่อเกษตรกรแต่ประการใด เนื่องจากมีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอีกเป็นจำนวนมากที่สามารถใช้แทนสารดังกล่าวได้ และที่สำคัญเครือข่ายโรงเรียนชาวนาในจังหวัดนครสวรรค์สามารถพัฒนาทางเลือกการทำนาที่แทบไม่ต้องใช้สารเคมีกำจัดแมลงเลย โดยการศึกษาความรู้เรื่องแมลงในแปลงนาและจัดระบบการทำนาที่รักษาความหลากหลายทางชีวภาพในไร่นา

ข้อเสนอนโยบายสารเคมีการเกษตรต่อรัฐบาล

ปัญหาสารเคมีการเกษตรที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก เกษตรกร และผู้บริโภคทั่วไปเป็นปัญหาใหญ่ระดับวิกฤตของประเทศ ปัญหาดังกล่าวยังได้ขยายและส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารและมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ความปลอดภัยทางอาหารของประเทศอย่างสำคัญด้วย ดังตัวอย่างเช่น ประเทศสหภาพยุโรปตรวจพบสารเคมีการเกษตรตกค้างในผักและผลไม้ของไทยสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับทุกประเทศที่ส่งออกไปยังยุโรป ทั้งๆที่ปริมาณการส่งออกผักและผลไม้ของไทยต่ำกว่าประเทศอื่นๆ หลายเท่า เช่น ต่ำกว่าจีน 29 เท่า และต่ำกว่าตุรกีประมาณ 46 เท่า เป็นต้น

จากการตรวจเลือดของเกษตรกรทั่วประเทศโดย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขพบว่ามีเกษตรกรที่ได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่อยู่ในระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัยสูงมากขึ้นเป็นลำดับ โดยผลการตรวจเมื่อปี 2550 พบว่ามีสูงขึ้นเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ สูงขึ้นก้าวกระโดดกว่าปี 2540 ถึงสองเท่าในขณะเดียวกันผู้บริโภคทั่วไปก็ได้รับพิษภัยจากผลตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างในผัก ผลไม้ ในระดับที่ไม่ต่ำกว่าและบางครั้งอาจสูงกว่าในเกษตรกรด้วยซ้ำ ตัวอย่างเช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่สุ่มตรวจเลือดของผู้บริโภคในจังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 2552 พบว่ามีผู้บริโภคถึง 61 เปอร์เซ็นต์ที่ได้รับสารเคมีการเกษตรในระดับที่ไม่ปลอดภัยการศึกษาของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังพบสารเคมีการเกษตรในเลือดจากสายรกและมีความสัมพันธ์แบบผกผันกับระดับฮอร์โมนไทรอยด์ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการพัฒนาสติปัญญา (Asawasinsopon et al, 2006) ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่าทารกแรกคลอดที่มีแม่เป็นเกษตรกรมีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงมากกว่ามารดาที่มีแม่ไม่ใช่เกษตรกรถึง 9.8 เท่า (Bowkowski et al., 2011)  ในขณะที่เด็กนักเรียนอายุ 12-13 ปีตรวจพบสารเคมีกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟตและไพรีทรอยด์สูง โดยพบในแม้กระทั่งในเด็กที่พ่อแม่ไม่ได้มีอาชีพเกษตรโดยตรงด้วย (Panuwet et al., 2009) และระดับที่ตรวจพบสูงกว่าที่รายงานของสหรัฐฯ (NHANES, 2001-2)  และเยอรมัน (GerES IV, 2001–2002) ถึง 3 เท่ายิ่งไปกว่านั้นยังพบว่าในกลุ่มเกษตรกรและผู้บริโภคได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหลายชนิดในเวลาเดียวกันและมีผลต่อสุขภาพ อาทิ การแตกหักของสารพันธุกรรมซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง ทั้งนี้ เกษตรกรมีความเสี่ยงต่อการสัมผัสสารเคมีฯ สูงกว่าผู้บริโภคในพื้นที่เกษตรกรรม 3.4 เท่า และสูงกว่าผู้บริโภคในเมืองถึง 6.4 เท่า (ทิพวรรณ ประภามณฑล และคณะ 2549)ผลของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในร่างกาย เป็นสาเหตุของปัญหาโรคมะเร็ง ความผิดปกติของเซลล์ พันธุกรรม ฮอร์โมน ระบบประสาทไปจนถึงผลกระทบต่อระบบการสืบพันธุ์ของมนุษย์ ดังจะเห็นได้จากสถิติอัตราการตายของคนไทยที่มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่ง แซงหน้าสาเหตุการตายที่เกิดจากโรคเอดส์ หลอดเลือดและหัวใจ รวมถึงอุบัติเหตุ

ข้อเสนอต่อรัฐบาล

หนึ่ง ให้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรสหกรณ์ยกเลิกการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชซึ่งมีพิษภัยร้ายแรงมากที่สุด 4 ชนิด ได้แก่ อีพีเอ็น เมโทมิล ไดโครโตฟอส และคาร์โบฟูราน (ฟูราดาน) โดยทันที เนื่องจากประเทศต่างๆ จำนวนมาก เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และหลายประเทศในเอเชียห้ามใช้ไปแล้วเนื่องจากมีพิษภัยร้ายแรงต่อมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม

สอง ดำเนินการบังคับใช้พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2551 อย่างเคร่งครัด โดยไม่ปล่อยให้มีการยืดเวลาการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชออกไปอีก 2 ปี ตามข้อเสนอของผู้ประกอบการ

สาม ต้องเปิดเผยข้อมูลการขึ้นทะเบียนสารเคมีของคณะกรรมการวัตถุอันตราย และอนุกรรมการชุดต่างๆ ให้ผู้บริโภคทราบอย่างโปร่งใส ทั้งนี้โดยให้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี 2552 ที่ระบุว่า “ก่อนการประกาศขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรทุกประเภทให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยขั้นตอนการขึ้นทะเบียน และข้อมูลที่ใช้ประกอบการพิจารณาให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบก่อนการพิจารณา และให้เปิดเผยคำชี้แจงและเหตุผลประกอบการพิจารณาเพื่อรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย” 

สี ปฏิรูประบบข้อมูลและการติดตามผลกระทบของสารเคมี โดยต้องจัดให้มีสถิติการเก็บ การจำหน่าย และการใช้ทั้งในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ ประเมินระดับสัมผัสสารเคมีในกลุ่มเสี่ยง และจัดทำสถิติผู้ได้รับพิษภัยทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติโดยต้องรายงานผลต่อคณะรัฐมนตรีและสาธารณชนทุกปี ข้อเสนอในการจัดการสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นข้อเสนอในระดับต้นทางที่จำเป็นที่สุดในการสร้างระบบเกษตรและอาหารที่ปลอดภัย เป็นการคุ้มครองประโยชน์ของเกษตรกรผู้บริโภค และเด็กๆลูกหลานของเรา พร้อมๆ กับฟื้นฟูภาพลักษณ์ของสินค้าผัก ผลไม้ และอาหารไทยในสากลไปพร้อมๆ กัน

เอกสารที่น่าสนใจประกอบ