มูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI)ประเมินผลงานเกี่ยวกับเรื่องการเกษตรของรัฐบาลคสช.สอบตก โดยให้คะแนนอยู่ที่ระดับ 3.9 จาก 10 คะแนน โดยหัวข้อที่ได้คะแนนต่ำสุดคือ นโยบายเกี่ยวกับจีเอ็มโอ/พืชอาหารสัตว์ การแก้ปัญหาเรื่องข้าว การปฏิรูปที่ดิน เป็นต้น ส่วนนโยบายที่เสมอตัวคือเกษตรอินทรีย์ มีเพียงนโยบายส่งเสริมตลาดเกษตรกรที่ให้สอบผ่าน

กรณีการแก้ปัญหาที่ดินนั้น แม้จะมีการมอบสิทธิทำกินให้กับเกษตรกรบางกลุ่ม แต่ก็ถือว่ามีสัดส่วนน้อยมากของจำนวนเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินนับล้านราย รัฐบาลนี้ได้ริเริ่มเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแต่ยังไม่ใช่เป็นการเก็บภาษีก้าวหน้า ทำให้เจ้าของที่ดินรายใหญ่ยังคงถือครองที่ดินจำนวนมากอยู่ต่อไป นโยบายนี้ยิ่งติดลบหนักมากขึ้นเมื่อมีการขัดขวางการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิของเกษตรกรรายย่อย 

นโยบายเรื่องชลประทาน งานส่วนใหญ่ยังคงเป็นงานที่ทำสืบเนื่องกันมา โดยอาจต้องจับตาว่าการดำเนินการเพื่อให้มีพื้นที่ชลประทานใหม่ 1.6 ล้านไร่ และการจัดการน้ำระดับไร่นาและชุมชนรวม 200,000 ไร่ซึ่งรัฐบาลคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2558 นั้นจะมีประสิทธิภาพเพียงใด หรือทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมาหรือไม่จากการไม่รับฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่

กรณีการแก้ปัญหาเรื่องข้าวกับเรื่องยางพาราซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากเกี่ยวข้องกับเกษตรกรมากกว่าครึ่งประเทศนั้น  รัฐบาลใช้การสนับสนุนต้นทุนการผลิต(หรือการสนับสนุนรายได้)แก่เกษตรรายละ 1,000 บาท/ไร่คิดเป็นเงิน 38,000 ล้านบาทและ 7,000 กว่าล้านบาทตามลำดับนั้น เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มีข้อดีตรงที่ไม่เป็นภาระงบประมาณมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับนโยบายราคาสินค้าเกษตรของรัฐบาลที่ผ่านมา 

โดยกรณีการลดต้นทุนโดยการเจรจาให้กลุ่มปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชลดราคาลงนั้นในทางปฏิบัติไม่เป็นจริงและไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ควรจะเป็น

รัฐบาลนี้พูดถึงการลดต้นทุน/เพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต หรือเพิ่มมูลค่าเพิ่ม แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นรูปธรรม ยกเว้นกรณียางพาราที่มีโครงการให้เกษตรกรกู้เพื่อปรับเป็นการเกษตรผสมสานโดยมีวงเงินกู้ประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาท ซึ่งอาจจะน้อยไปสำหรับเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่มีจำนวนนับล้านครัวเรือน

นโยบายเกี่ยวกับพืชจีเอ็มโอของรัฐเป็นนโยบายที่ตอบสนองต่อการผลักดันของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และบรรษัทข้ามชาติ แต่ยังดีที่มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ โดยขณะนี้คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นยังมิได้ตัดสินใจเดินหน้าเรื่องจีเอ็มโอเพราะเสียงคัดค้านจากประชาชนและกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารท้องถิ่น  เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาการปลูกข้าวโพดในพื้นที่สูงจนเป็นสาเหตุของปัญหาหมอกควันและการทำลายป่าต้นน้ำนั้น ทิศทางการแก้ปัญหาของรัฐยังเอื้ออำนวยต่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์เป็นหลัก มากกว่าจะส่งเสริมระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและการพึ่งตนเองทางอาหารของเกษตรกรอย่างแท้จริง ไบโอไทยจึงให้คะแนนในนโยบายนี้ต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับนโยบายอื่นๆ

ประเด็นการเปิดเสรีเรื่องการลงทุนการเกษตร (ACIA) ในกรณีการเปิดให้ต่างชาติเข้ามาปลูกป่าเพื่อทำไม้นั้นได้คะแนนต่ำเช่นเดียวกัน เพราะคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นโดยคสช.ซึ่งประกอบไปด้วยภาคเอกชนและข้าราชการเตรียมการที่จะเปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาดำเนินกิจการแล้ว แต่ก็ยังดีที่มีการรับฟังเสียงจากประชาชนและสภาเกษตรกรแห่งชาติจนเลื่อนเวลาการพิจารณาเรื่องนี้ออกไปอีก 5 ปี โดยปล่อยให้เป็นการตัดสินใจของรัฐบาลในอนาคต

รัฐบาลนี้ได้คะแนนเสมอตัวเกี่ยวกับนโยบายเกษตรอินทรีย์ กล่าวคือแม้จะมีนโยบายและผู้นำรัฐบาลได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้บ่อยครั้งแต่ก็ไม่มีโครงการ การจัดกลไก ที่ชัดเจน อีกทั้งยังไม่มี การจัดการงบประมาณเพื่อรองรับเรื่องนี้ในระดับที่ควรจะเป็นแต่ประการใด ส่วนยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ และการผลักดันมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งรัฐมนตรีประกาศว่าจะดำเนินการภายในพฤษภาคมนั้น ยังมีข้อท้วงติงจากภาคประชาชนและภาคเอกชนว่าจะกลายเป็นการรวมศูนย์การดำเนินการอยู่ในหน่วยงานของรัฐซึ่งไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่านโยบายเรื่องนี้ของรัฐอาจจะเป็นบวกหรือลบก็ได้ในอนาคตอันใกล้

ไบโอไทยให้คะแนนเป็นบวกสำหรับการส่งเสริมให้เกิดตลาดเกษตรกร แม้เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ในสถานการณ์ที่ตลาดอาหารและการเกษตรอยู่ในมือของอุตสาหกรรมอาหาร การมียุทธศาสตร์เรื่องตลาดเกษตรกรถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนจะมีการดำเนินการให้เกิดตลาดเกษตรกรในระดับที่สามารถสร้างอำนาจให้แก่เกษตรกรและสร้างทางเลือกในการบริโภคให้แก่ประชาชนทั่วไปนั้นต้องมีการประเมินต่อไป

ที่มา: https://www.facebook.com/biothai.net