การควบคุมสายพันธุ์ไก่ไข่ และการกำหนดโควต้าการนำเข้าพันธุ์ไก่ไข่โดยบริษัทไม่กี่บริษัทด้วยข้ออ้างว่าเป็นการควบคุมไม่ให้ไข่ไก่ล้นตลาด จะนำไปสู่การผูกขาดการผลิตไข่ซึ่งทำให้ผู้เลี้ยงไก่รายย่อยหายไปจากตลาดและไข่มีราคาแพง

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา ครม.ได้เห็นชอบให้อำนาจ คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์( Egg Board ) ในการกำหนดปริมาณการเลี้ยงไก่ไข่ และการนำเข้าไก่ไข่พ่อ-แม่พันธุ์ที่เหมาะสม ซึ่งอาจจะนำไปสู่การผูกขาดการผลิตไก่ไข่ ในขณะที่โครงสร้างการผลิตไข่ในปัจจุบันนั้นรวมศูนย์อยู่ในมือของผู้ประกอบการรายใหญ่มากเกินพออยู่แล้ว

(อ่านข่าวรายงานมติครม.ได้ที่ http://www.dailynews.co.th/economic/317643 )

การผลิตไข่ไก่ในประเทศไทยเป็นการผลิตของผู้ประกอบการน้อยราย โดยการผลิตไข่ในประเทศไทยจำนวน 57.64% ผลิตโดยผู้เลี้ยงไก่รายใหญ่ (มีจำนวนไก่ไข่ 100,000-500,000 ตัว) และรายใหญ่มาก (มีจำนวนไก่ไข่ มากกว่า 500,000 ตัว) ในขณะที่ผู้เลี้ยงไก่รายย่อยส่วนใหญ่ (58.58%) เป็นการเลี้ยงในระบบเกษตรพันธสัญญา

การผลิตไข่ถูกกำหนดโดย Egg Board โดยเหตุที่สายพันธุ์ไก่ไข่ของโลกถูกผูกขาดโดยบริษัทข้ามชาติเพียงไม่กี่บริษัท การควบคุมการนำเข้าไก่ไข่จึงเป็นเครื่องมือสำคัญของการบริหารการผลิตไข่ โดยก่อนหน้าการเปิดเสรีการนำเข้าพันธุ์ไก่ไข่ในปี 2553 นั้น มีบริษัทเพียง 9 บริษัทเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้นำเข้าพันธุ์ไก่ด้วยเหตุผลว่าเป็นควบคุมไม่ให้มีการผลิตไข่ล้นเกิน

การผูกขาดการนำเข้าพันธุ์ไก่ไข่ ทำให้ผู้ผลิตรายย่อยจำนวน 113 ฟาร์ม ได้รับความเดือดร้อน ทำให้ไข่ไก่มีราคาแพง ผู้เลี้ยงไก่รายย่อยได้ยื่นฟ้องกรมปศุสัตว์ และ Egg Board ในปี 2553 รัฐบาลสมัยนั้นจึงได้ประกาศให้เปิดเสรีการนำเข้าไก่ไข่พ่อแม่พันธุ์อีกครั้ง ดังนั้นในปี 2554 จึงมีผู้นำเข้าพันธุ์ไก่ไข่เพิ่มขึ้นเป็น 22 ราย แต่ผู้นำเข้ารายใหญ่อันดับหนึ่งยังคงเป็นผู้ควบคุมการผลิตไข่รายสำคัญอยู่เช่นเดิม เพราะมีสัดส่วนการนำเข้าพ่อ-แม่พันธุ์ไก่ไข่(PS) และปู่-ย่าพันธุ์(GS) รวมแล้วคิดเป็นสัดส่วน 39.28% ของพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ ใกล้เคียงกับช่วงก่อนการเปิดเสรีซึ่งมีสัดส่วนการนำเข้า 40.94% (ตามแผนภาพ)

จากการศึกษาภายใต้ “โครงการศึกษาและวิเคราะห์โครงสร้างการผลิต การตลาด และโครงสร้างต้นทุนการผลิตไข่ไก่” เมื่อปี 2556 ของ สถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจเพื่อการค้นคว้าและพัฒนาปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าปัญหาการผูกขาดการนำเข้าพันธุ์ไก่ไข่ส่งผลกระทบต่อปัญหาการผลิตไข่ไก่ดังนี้
1) พ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่มีราคาแพง ราคาลูกไก่/ไก่สาวสูงอย่างไม่เป็นธรรม
2) ผู้เลี้ยงได้รับพันธุ์ไก่ล่าช้าทำให้เกิดปัญหาการจัดการและค่าใช้จ่ายอื่นๆเพิ่มขึ้นมากมาย
3) เกษตรกรรายย่อยถูกบังคับทางอ้อมให้ซื้ออาหารสัตว์และยาสัตว์จากบริษัทใหญ่
4) ผู้เลี้ยงรายย่อยต้องเลิกกิจการ แต่ฟาร์มขนาดใหญ่และของบริษัทขยายตัวมากขึ้น
5) เกษตรกรถูกกดดันไม่ให้ร้องเรียนเรื่องปัญหาขาดแคลนลูกไก่พันธุ์ต่อหน่วยงานราชการ มิฉะนั้นจะไม่ได้รับไก่มาเลี้ยงอีกเลย

ที่มา