ภาพข่าวกองกำลังทหารจำนวนมากเดินทางไปควบคุมมิให้ชาวนาสูบน้ำเพื่อต่ออายุให้ต้นข้าวและรวงข้าวที่กำลังเหี่ยวเฉาในหลายจังหวัดพื้นที่ภาคกลาง พร้อมกับคำประกาศตามมาของโฆษกรัฐบาลที่ห้ามเกษตรกรสูบน้ำช่วงวันที่ 15-20 กรกฎาคม 2558 เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาสำหรับประชาชนในกรุงเทพและปริมณฑลเป็นภาพข่าวที่ชวนหดหู่และน่าสะเทือนใจสำหรับสังคมไทย และสะท้อนว่าเราเคารพสิทธิชาวนาในการประกอบอาชีพไม่เท่ากับสิทธิของคนเมืองและภาคเศรษฐกิจอื่น

หน้าที่หลักของกองทัพซึ่งมีกำลังพลส่วนใหญ่มาจากลูกหลานของเกษตรกรและคนชนบทคือการป้องกันภัยคุกคามจากภายนอก หรือปกป้องความมั่นคงของรัฐ มิใช่การระดมกำลังพลมาเผชิญหน้าห้ามปรามมิให้ชาวนาสูบน้ำราวกับการสูบน้ำทำนาเป็นอาชญากรรม

ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปีนี้มิได้เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติเพียงปัจจัยเดียว แต่มีสาเหตุสำคัญมาจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของหน่วยงานของรัฐที่มิได้เก็บกักน้ำไว้อย่างพอเพียงในระดับค่าเฉลี่ยที่ควรจะเป็น อีกทั้งยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรกรรมที่สร้างระบบชลประทานในพื้นที่ภาคกลางเพื่อส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวนอกฤดูทำนาปี รวมถึงการรวบอำนาจในการบริหารจัดการน้ำจากมือของเกษตรกรและชุมชนล้วนแล้วแต่ถูกกำหนดมาจากรัฐชาวนาเดินตาม แต่บัดนี้เรากลับปฎิเสธวีถีการดำรงชีพของพวกเขา

ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ และแม้ราคาข้าวจะตกต่ำเพียงใด ผลผลิตจากข้าวนาปรังคือความหวังเดียวของชาวนา หากแต่รัฐบาลและกองทัพกำลังเลือกหนทางที่ยืนอยู่ตรงข้ามกับชาวนาและเกษตรกร กองทัพตัดสินใจที่จะปกป้องการดำเนินชีวิตของคนในเมืองและอุตสาหกรรม ลอยแพภาคเกษตรกรรมโดยปราศจากมาตรการที่ทำให้พวกเขามั่นใจว่าจะสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤตนี้ไปได้

เราขอเรียกร้องให้กองทัพและนายพลทั้งหลายถอนตัวออกจากการบริหารจัดการ/จัดสรรทรัพยากร ซึ่งมิใช่เฉพาะเรื่องน้ำเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเรื่องที่ดิน ป่าไม้ เหมืองแร่ พลังงาน รวมทั้งถอนตัวออกจากการเข้ามาทำหน้าที่กำหนดนโยบายและกำกับภาพรวมการบริหารเศรษฐกิจและอื่น ๆ ของประเทศ

ประสิทธิภาพและปัญหาของการบริหารประเทศในช่วง “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ได้สะท้อนให้เห็นข้อจำกัดของกองทัพ และตอกย้ำว่าบทบาทหน้าที่และความเชี่ยวชาญของกองทัพคือการป้องกันภัยคุกคามและรักษาความมั่นคงของประเทศมิใช่การเข้ามาจัดสรรทรัพยากร และบริหารประเทศ

ปัญหาขาดแคลนและคุณภาพของน้ำประปาสำหรับคนในเมืองหลวงและปริมณฑลเป็นเรื่องใหญ่ แต่การขาดน้ำสำหรับทำนาซึ่งหมายถึงการมีโอกาสได้เก็บเกี่ยวข้าวเพื่อรักษาชีวิตและครอบครัวของชาวนาเป็นเรื่องใหญ่เช่นเดียวกัน การบริหารการจัดการน้ำในช่วงวิกฤติจำเป็นต้องให้ชาวนา เกษตรกรรายย่อย และประชาชนในชนบท ต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ต้องฟังเสียงของชาวนา และต้องเคารพทุกเสียงของพวกเขาเท่ากับการปกป้องคนในเมือง ภาคอุตสาหกรรม และภาคเศรษฐกิจอื่นๆ

18 กรกฎาคม 2558

ที่มา