รัฐบาลโดยทีมงานเศรษฐกิจได้ประกาศวาทกรรมการพัฒนาประเทศที่เรียกว่า “ประเทศไทย 4.0” เพื่อมุ่งไปสู่ประเทศไทยยุคใหม่ที่ก้าวข้ามประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศไทยใหม่ ที่พัฒนาจากประเทศไทย 1.0 ที่เน้นภาคการเกษตร โมเดลประเทศไทย 2.0 ที่เน้นอุตสาหกรรมเบา และประเทศไทย 3.0ในปัจจุบันที่เน้นอุตสาหกรรมหนัก 

ผู้ขับเคลื่อน “ประเทศไทย 4.0” เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนผ่าน 4 องค์ประกอบสำคัญ คือ 1.เปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม (Traditional Farming) ในปัจจุบัน ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี (Smart Farming) โดยเกษตรกรต้องร่ำรวยขึ้น และเป็นเกษตรกรแบบเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) 2.เปลี่ยนจาก Traditional SMEs หรือ SMEs ที่มีอยู่ที่รัฐต้องให้ความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา ไปสู่การเป็น Smart Enterprises และ Startups ที่มีศักยภาพสูง 3.เปลี่ยนจาก Traditional Services ซึ่งมีการสร้างมูลค่าค่อนข้างต่ำ ไปสู่ High Value Services 4.เปลี่ยนจากแรงงานทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะสูง

พร้อมทั้งการพัฒนา “5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย” ประกอบด้วย 1.กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (Food, Agriculture & Bio-Tech) 2.กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Health, Wellness&Bio-Med) 3.กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม (Smart Devices, Robotics & Mechatronics) 4.กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว (Digital, IoT, Artificial Intelligence & Embedded Technology) 5.กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง (Creative, Culture & High Value Services)

จากการถอดสรุปจากคำบรรยายของทีมงานเศรษฐกิจของรัฐบาล พบว่าการขับเคลื่อนดังกล่าวดำเนินการโดยอาศัยกลไก 4 ประการคือ

  1. ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบจากจุดแข็งของประเทศไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม
  2. การอาศัยนวัตกรรมที่มีฐานจากองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยในทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น Wageningen ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยอันดับหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ มหาวิทยาลัย Purdue, UC Davis และ Cornell  รวมทั้งมหาวิทยาลัยจากประเทศไทย 
  3. การกระตุ้นให้มีการลงทุนจากกลุ่มทุนข้ามชาติโดยการประกาศเขตเศรษฐกิจคลัสเตอร์ที่มีการใช้เทคโนโลยีชั้นสูง แลกกับการได้แรงจูงใจจากการลดภาษีไปจนถึงการถือครองที่ดินในระยะเวลายาวนาน 50-99 ปีเป็นต้น  และ
  4. การใช้กลไกประชารัฐ ผู้มีส่วนร่วมหลักจะประกอบด้วยภาคเอกชน  เช่น กลุ่มมิตรผล บริษัท ไทยยูเนี่ยนโฟรเซ่นโปรดักส์ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นแกนหลักในการผลักดัน

อะไรคือจุดแข็งของข้อเสนอไทยแลนด์ 4.0

จุดแข็งของข้อเสนอประเทศไทย 4.0 คือการเรียงร้อยให้เห็นภาพของการพัฒนาของประเทศไทยในอดีต และอธิบายภาพการก้าวข้ามข้อจำกัดการพัฒนาที่เรียกว่า “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” อย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นทีมเศรษฐกิจชุดแรกที่ได้หยิบยกหัวใจสำคัญของสถานะประเทศไทยที่เป็นประเทศ “ที่มีฐานทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ” และ “ความหลากหลายทางวัฒนธรรม” มาอธิบายเชื่อมร้อยกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจใหญ่ แม้ว่าแท้ที่จริงข้อเสนอนี้ได้ถูกเสนอมาก่อนหน้านี้แล้วในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) ซึ่งได้บรรจุยุทธศาสตร์การพัฒนาบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพและการสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม แต่ก็ไม่มีรัฐบาลใดในอดีตหยิบยกกรณีดังกล่าวมาดำเนินการขับเคลื่อนจริงๆจังๆ

นอกเหนือจากนั้น การเรียงร้อยและอธิบายถึงที่มาของ “พลังการขับเคลื่อนนวัตกรรม” โดยอาศัยฐานจากสถาบันวิจัยทั้งในและต่างประเทศ และการดึงภาคเอกชนยักษ์ใหญ่ซึ่งทราบกันโดยทั่วไปว่าประสบผลสำเร็จจากการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยที่บัดนี้ขยายออกไปจนกลายเป็นบรรษัทข้ามชาติในระดับโลกอย่างมิตรผล และเจริญโภคภัณฑ์ ทำให้ข้อเสนอนี้ดูเหมือนมีน้ำหนัก มีตรรกะและเหตุผลที่ดูน่าเชื่อในทางทฤษฎีว่าภาพฝันของประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้จริงในความรู้สึกของคนบางกลุ่ม

ในช่วง 10 ปีมานี้ประเทศไทยประสบกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง จนไม่อาจพัฒนาชุดข้อเสนอวาทกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาที่ฉายภาพประเทศไทยได้อย่างมีพลังหรือไม่อาจสร้างความหวังให้กับประชาชนได้ การเกิดขึ้นของวาทกรรมการพัฒนา “ประเทศไทย 4.0” ซึ่งถึงแม้จะยังคงอยู่ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองที่ยังคงติดหล่มความขัดแย้งดังกล่าวอยู่ แต่ก็ได้รับการขานรับจากบางกลุ่มอยู่บ้าง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงหลายปีก่อนหน้านี้

ปัญหาของประเทศไทย 4.0

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาอย่างพินิจพิเคราะห์ วาทกรรมประเทศไทย 4.0 ยังมีแง่มุมที่เป็นปัญหาและจุดอ่อน ซึ่งอาจทำให้ความฝันเรื่องประเทศไทย 4.0 อาจเป็นความหวังที่ว่างเปล่า หรือซ้ำรอยปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุค 1.0-3.0 ดังนี้

1. เป้าหมายการพัฒนาประเทศไทย 4.0 ยังคงเป็นเป้าหมายการพัฒนาแบบเดิมที่เป็นการสร้าง

รายได้และการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยละเลยปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาสุขภาพ และปัญหาการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเอาชนะปัญหาดังกล่าวนี้ควรเป็นปัญหาใหญ่ใจกลางที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนายิ่งไปกว่าเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจมิใช่หรือ ?

เป้าหมายการพัฒนาโดยกำหนดวาระให้พัฒนากลไกทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองเพื่อแก้ปัญหาการพัฒนาร่างกายและสติปัญญาของคนซึ่งเด็กไทย 5-6% เติบโตต่ำกว่าเกณฑ์และประมาณ 10% เป็นโรคอ้วน สารพิษในผักและผลไม้เกินมาตรฐานมากกว่าครึ่งหนึ่ง (และที่ตลกร้ายคือผักและผลไม้ในโมเดิร์นเทรดและได้รับตรามาตรฐานมีสารพิษพอๆกันหรือยิ่งกว่าผักและผลไม้ที่ขายในตลาดสดและรถพุ่มพวง)  อัตราโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นสูงกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ปัญหาที่ดินของเกษตรกรหลุดลอยไปจากมือของเกษตรกร ดังข้อมูลของสภาพัฒน์ที่ระบุว่าพื้นที่ทำการเกษตรของตนเองมีแนวโน้มลดลง จาก 81.58 ล้านไร่ ในปี 2549 เหลือ 41.80 ล้านไร่ ในปี 2556 ที่ดินที่เกษตรกรเช่าทำกินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จาก 23.92 ล้านไร่ ในปี 2551 เป็น 29.24 ล้านไร่ ในปี 2556 และความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้ของคนรวยและคนจนถ่างกว้างสวนทางกับเพื่อนบ้านในหลายประเทศ ปราศจากพื้นที่ใดๆภายใต้วาทกรรม 4.0

2. การหวังการลงทุนจากต่างชาติและการพัฒนาเทคโนโลยีจากสถาบันวิจัยต่างชาติจะยังคงซ้ำ

รอยในการพัฒนานวัตกรรมแทบไม่แตกต่างใดๆจากโมเดลการพัฒนาทางเศรษฐกิจในอดีต เพียงแต่เปลี่ยนชื่อจากคำว่าส่งเสริมอุตสาหกรรมกระดาษ ปุ๋ยเคมี เหล็กกล้า การประกอบรถยนต์ ในแผนพัฒนาฉบับที่ 2 มาเป็นการส่งเสริมการลงทุนในซุปเปอร์คลัสเตอร์ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง

การหวังความช่วยเหลือการวิจัยจากสถาบันวิจัยต่างประเทศ กลับกลายเป็นการเปิดทางให้ประเทศเข้ามายึดครองทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น (ซึ่งเป็นความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของประเทศตามคำของทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล) ดังเช่น ความร่วมมือในการวิจัยมะละกอดัดแปลงพันธุกรรมที่กรมวิชาการเกษตรร่วมกับมหาวิทยาลัยคอร์แนลจบลงโดยการจดสิทธิบัตรไวรัสสายพันธุ์ไทยและมะละกอจีเอ็มโอที่วิจัยได้เป็นสิทธิเด็ดขาดของบริษัทมหาวิทยาลัยคอร์แนล เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเร็วๆนี้ ที่การวิจัยเรื่องกระท่อมของมหาวิทยาลัยชิบะร่วมกับมหาวิทยาลัยไทยระหว่างปี 1995-2007 จบลงด้วยการจดสิทธิบัตรอนุพันธ์ของสารสกัดกระท่อมของบริษัทมหาวิทยาลัยชิบะ  ชื่อของนักวิจัยไทยปรากฎอยู่เพียงในวารสารทางวิทยาศาสตร์เพื่อการขอรับตำแหน่งทางวิชาการและมหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับทางการศึกษาดีขึ้น ในขณะที่หมอยาพื้นบ้านในภาคใต้ยังคงต้องลักลอบปรุงยาแก้ปวดลดไข้ที่มีส่วนผสมของกระท่อม เพราะรัฐบาล 1.0 จนมาถึงรัฐบาล 4.0 ยังคงประกาศให้กระท่อมเป็นพืชเสพติดผิดกฎหมาย โดยหารู้ไม่ว่าสารสกัด 7-hydroxy mitraglynine มีคุณสมบัติลดอาการปวดดีกว่ามอร์ฟีน 17 เท่า และสิทธิบัตรที่ได้จากภูมิปัญญา ฐานทรัพยากรชีวภาพ และความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไทยนั้นมีมูลค่าทางการตลาดที่สามารถทดแทนมอร์ฟีนซึ่งมูลค่าการตลาดถึง 500,000 ล้านบาท/ปี

3. การใช้กลไกประชารัฐ โดยการเอ่ยอ้างชื่อของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรสองบริษัทเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ

โดยปราศจากประชาชนอยู่ในโครงสร้างของกลไกดังกล่าว (75 % ของกรรมการประชารัฐมาจากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ และไม่มีประชาชนที่เป็นตัวแทนคนส่วนใหญ่จริงๆสักคนเดียวเป็นกรรมการ) นอกจากไม่ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นแล้ว ยังทำให้ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรรายย่อยตั้งคำถามว่า ทิศทางของระบบเกษตรกรรมและอาหารภายใต้  “อุตสาหกรรมอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (Food, Agriculture & Bio-Tech) “ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมนั้นจะมีเป้าหมายจะนำพาชีวิตและชุมชนของพวกเขาไปสู่ทิศทางใด เพราะเขาทราบเรื่องราวปัญหาการลงทุนปลูกอ้อยและอุตสาหกรรมน้ำตาลจากกลุ่มทุนจากประเทศไทยในกัมพูชา ปัญหาเกษตรพันธสัญญาที่บริษัทยักษ์ใหญ่การเกษตรเป็นผู้ผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาดในกิจการเลี้ยงสัตว์ ปัญหาการมีอำนาจเหนือตลาดในระบบค้าปลีกค้าส่ง และการเผชิญหน้าระหว่างเกษตรกรรายย่อยและชุมชนที่ต้องการผลักดันเกษตรอินทรีย์กับกลุ่มทุน “ประชารัฐการเกษตร” ใน จ.อำนาจเจริญ เป็นต้น

4. การเสนอโมเดลการพัฒนาดังกล่าวเกิดขึ้นในบรรยากาศทางการเมืองที่จำกัดบทบาทการแสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของคนเล็กคนน้อย

ตัวอย่างเช่น การขับไล่ประชาชนออกจากพื้นที่ทำกิน ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อคนยากคนจนมากกว่ารัฐบาลใดในอดีต การเปิดเสรีการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งเปิดให้มีการนำเข้าโพดเลี้ยงสัตว์ได้ตลอดปีโดยไม่จำกัดโควตาในขณะที่หลายรัฐบาลที่ผ่านมาล้วนแล้วจำกัดโควต้าและระยะเวลาการนำเข้าทั้งสิ้นเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชาวไร่ข้าวโพด และการยกเลิกกฎหมายและมาตรการที่คุ้มครองฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของประชาชนในท้องถิ่นโดยเตรียมการออกกฎหมายเพื่อให้สิทธิประโยชน์ต่อนักลงทุนข้ามชาติมากกว่าในยุคสมัยใดๆ เป็นต้น ทำให้คาดการณ์ได้ว่าหากประเทศไทย 4.0 จะบรรลุเป้าที่วางไว้ก็เป็นเป้าหมายของกลุ่มคนร่ำรวย 1% เท่านั้น ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่จะยังคงอาศัยอยู่ในโลกของประเทศไทย 1.0 หรือ 2.0 ต่อไป

จินตนาการสยามที่ยั่งยืนไปให้ไกลกว่าประเทศไทย 4.0

จินตนาการสยามที่ยั่งยืนไม่ใช่การเติบโตทางเศรษฐกิจหรือการเพิ่มรายได้เพียงอย่างเดียว เพราะสิ่งดังกล่าวเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งของการบรรลุเป้าหมายที่พึงประสงค์ และในหลายกรณีที่เครื่องมือดังกล่าวกลับนำชีวิตของประชาชนและประเทศไปสู่ปัญหาใหม่ๆที่ขัดแย้งกับเป้าหมายดังกล่าว

หากเสนอสังคมสยามที่ยั่งยืนจากบริบทด้านเกษตรกรรมและอาหาร เราต้องการประเทศที่ภาคเกษตรกับภาคอื่นๆ หรือคนในภาคเกษตรเองมีความเสมอภาคกันมากขึ้น เกษตรกรมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง 100% เปลี่ยนแปลงพื้นที่เกษตรกรรมของประเทศให้อย่างน้อย 50% ของพื้นที่เกษตรกรรมเป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์และเกษตรเชิงนิเวศ  พื้นที่ของเมืองไม่ควรขยายมากไปกว่านี้ แต่พื้นที่เกษตรกรรมที่จัดสรรแก่คนในเมืองที่มีรายได้น้อยต่างหากที่ขยายตัวเข้าไปในเมือง ประเทศไทยควรเป็นศูนย์กลางเกษตรอินทรีย์ของเอเชีย มีตลาดสีเขียว ร้านค้าชุมชน  และแผงขายอาหารผลไม้ที่หลากหลายปลอดจากสารพิษตกค้างทุกคนเข้าถึงได้ง่ายกว่าร้านสะดวกซื้อ เพื่อให้ทุกคนที่อาศัยในประเทศไทยไร้ผู้อดอยาก เกษตรกรและผู้บริโภคแข็งแรง

กรอบยุทธศาสตร์ “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และการสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน”

จะไปให้ไกลกว่าประเทศไทย 4.0 ต้องไม่ใช่การพัฒนาและการเมืองที่ถูกรวมศูนย์โดยรัฐหรือพึ่งพารัฐ แต่เป็นการขับเคลื่อนที่ประชาชนเองเป็นศูนย์กลางและเป็นผู้ปฏิบัติการ กำกับรัฐและสร้างอำนาจการต่อรองกับกลุ่มทุนได้ โดยผ่านกรอบความคิดที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และการสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้นด้วยตนเอง” ดังนี้

  1. ประชาชนส่วนใหญ่ต้องสามารถเลือกรัฐบาลที่ตนเองประสงค์ มีเสรีภาพที่จะแสดงออกเพื่อตรวจสอบรัฐบาลภายใต้กติกาและระบบกฎหมายที่เป็นธรรม อีกทั้งสามารถผลักดันให้รัฐบาลที่บริหารประเทศออกกฎหมายและนโยบายที่มีทิศทางไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
  2. การสร้างปฏิบัติการในการตรวจสอบกลุ่มทุนผูกขาดหรือการดำเนินธุรกิจที่ทำลายและส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม หรือทำลายวิถีความหลากหลายของวัฒนธรรมของท้องถิ่น
  3. เกษตรกร ชุมชนท้องถิ่น และผู้ประกอบการรายย่อยต้องเป็นผู้ริเริ่มสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนของตนขึ้นเอง ทั้งในเชิงนวัตกรรม การสร้างและขยายพื้นที่ต้นแบบ และการเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการสร้างทางเลือกและการต่อรองกับรัฐและกลุ่มทุน

ในโลกแห่งความจริงเราอาจเห็นกลุ่มและเครือข่ายทางสังคมเลือกองค์ประกอบใดประกอบหนึ่งภายใต้ยุทธศาสตร์นี้ในการขับเคลื่อน แต่พึงตระหนักว่าองค์ประกอบทั้ง 3 ประการล้วนเอื้อเฟื้อสนับสนุนกันและกัน โดยเราไม่อาจบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้โดยปราศจากความเชื่อมร้อย ผสมผสาน วิธีคิด ปฏิบัติการ และเชื่อมโยงกลุ่มเครือข่ายที่มีบทบาทในองค์ประกอบทางยุทธศาสตร์ข้างต้นเข้าด้วยกัน

ปฏิบัติการสร้างความมั่นคงทางอาหารเพื่อสยามที่ยั่งยืน

กลไก มาตรการ และปฏิบัติการสำคัญซึ่งเป็นเครื่องมือในการสร้างสยามที่ยั่งยืน ต้องประกอบไป
ด้วยการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ตั้งแต่ฐานรากของการผลิต การตลาด รวมทั้งกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  1. จัดตั้งกลุ่ม เครือข่ายการอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ระหว่างเกษตรกรรายย่อย ระหว่างชุมชน ไปจนถึงการแลกเปลี่ยนข้ามภูมินิเวศ ขณะนี้มีกลุ่มและเครือข่ายเกี่ยวกับเรื่องนี้กระจายอยู่ในหลายภาคของประเทศ แต่สมควรที่จะขยายเรื่องนี้ออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยควรสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นสิทธิชุมชนในเรื่องทรัพยากรพันธุ์กรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิขั้นพื้นฐานของเกษตรกรและชุมชนในการอนุรักษ์ พัฒนา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ และร่วมกันคัดค้านความเคลื่อนไหวทางนโยบายใดๆที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าว
  2. สร้างเกษตรกรนักปรับปรุงพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์โดยไม่ต้องพึ่งพาสถาบันวิจัยของรัฐหรือเมล็ดพันธุ์ของบรรษัทโดยปราศจากทางเลือก ขบวนการเรื่องนี้ของเกษตรกรรายย่อยได้เติบโตเข้มแข็งขึ้นมากแล้วในปัจจุบัน ดังที่ขณะนี้มีชาวนาที่เป็นนักปรับปรุงพันธุ์เกิดขึ้นในทุกภาคของประเทศ จนจำนวนชาวนานักปรับปรุงพันธุ์มีจำนวนมากกว่านักปรับปรุงพันธุ์ข้าวของหน่วยงานราชการแล้วเป็นต้น อย่างไรก็ตามยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากในการขยายความสามารถดังกล่าวของเกษตรกรรายย่อยไปสู่การปรับปรุงพันธุ์ผัก ตลอดจนสายพันธุ์สัตว์ที่มีความสำคัญในระบบการผลิตของเกษตรกรรายย่อยเพิ่มมากขึ้น
  3. ขยายวิสาหกิจเมล็ดพันธุ์เพื่อต่อกรกับการผูกขาดของบรรษัทเมล็ดพันธุ์ซึ่งมีแนวโน้มรวมศูนย์มากยิ่งขึ้นทุกทีทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย การดำเนินการในเรื่องนี้จำเป็นต้องทำในรูปของเครือข่ายของผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์รายย่อย โดยจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือหรือต่อรองในการเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากสถาบันวิจัยของรัฐ หรือธนาคารพันธุกรรมซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยภาษีอากรของประชาชน ไปจนถึงการสร้างระบบมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ร่วมกัน
  4. พัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีภาพและผลผลิตทางการเกษตรเพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มทั้งในด้านอาหารและยา หรือคุณประโยชน์อื่นๆ โดยสร้างความร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์และหน่วยงานวิจัยสาธารณะภายใต้กรอบการวิจัยแบบมีส่วนร่วม หรือการวิจัยที่เอาเกษตรกรหรือชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง ทิศทางการวิจัยนั้นต้องมีเป้าหมายไปที่การสร้างความเข้มแข็งของวิสาหกิจท้องถิ่น มิใช่การวิจัยที่มุ่งตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการหรือนำไปสู่การจดสิทธิบัตรที่มิได้ถูกนำเอามาใช้ประโยชน์ในประเทศ
  5. ขยายพื้นที่การเกษตรเชิงนิเวศรูปแบบต่างๆ เช่น เกษตรแบบผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ วนเกษตร และไร่หมุนเวียนที่สร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้ขยายออกไป โดยสร้างเป้าหมายเชิงพื้นที่เช่นสร้างชุมชน อำเภอ หรือจังหวัดต้นแบบที่มีเกษตรกรรมเชิงนิเวศตั้งแต่ 25-50% ให้ได้ก่อน ถอดสรุปบทเรียนและประสบการณ์นั้นเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับประเทศ
  6. ขยายตลาดทางเลือกรูปแบบต่างๆ เช่น ตลาดเขียวของเกษตรกร ระบบตลาดที่เชื่อมโยงเกษตรกรโดยตรงกับกับผู้บริโภค เป็นต้น สร้างระบบมาตรฐานที่มีเกษตรกรและผู้บริโภคมีส่วนร่วม เพื่อให้เกษตรกรและผู้บริโภคสามารถเข้าถึงอาหารที่หลากหลายและปลอดภัยในราคาที่เป็นธรรม
  7. ผลักดันให้เกิดระบบเงินกู้เพื่อสนับสนุนการลงทุนของเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยที่มีการผลิตและการตลาดที่ยั่งยืน โดยดอกเบี้ยเพื่อสนับสนุนกิจกรรมในแนวทางนี้ต้องน้อยกว่า 2% ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาลสนับสนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเชิงเดี่ยว
  8. ขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปที่ดิน ที่จำกัดการถือครองที่ดินที่ไม่มีเพดานจำกัดของเจ้าของที่ดินและบรรษัทยักษ์ใหญ่ โดยใช้อัตราภาษีก้าวหน้า จัดตั้งธนาคารที่ดินเพื่อเป็นกลไกให้มีการกระจายที่ดินไปสู่เกษตรกรรายย่อย สนับสนุนการออกโฉนดชุมชนให้แพร่หลายมากกว่าต้นแบบที่ได้ถูกริเริ่มไว้
  9. ส่งเสริมเกษตรกรรมในเมืองให้เติบโตโดยจัดสรรพื้นที่ดินในเมืองให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยสามารถผลิตอาหารได้เอง เพิ่มสัดส่วนการบริโภคอาหารที่มาจากการผลิตเองให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของเมืองที่ยั่งยืน
  10. สร้างระบบกลไกการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผลผลิตและสิ่งแวดล้อมที่เปิดเผยโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และประชาชนมีส่วนร่วม เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการทราบเพื่อสร้างเงื่อนไขให้เกิดการแก้ปัญหาความไม่ปลอดภัยในอาหาร ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายการลดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างไม่เกินระดับ 0-3% เช่นเดียวกับที่ปรากฏในยุโรป และญี่ปุ่นเป็นต้น
  11. ปรับปรุงพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าที่ไร้ประสิทธิภาพและเอื้ออำนวยต่อบรรษัทและธุรกิจขนาดใหญ่ โดยต้องให้ประชาชนและผู้บริโภคเข้ามาเป็นผู้กำกับในคณะกรรมการที่กฎหมายตราขึ้น และให้สามารถครอบคลุมการผูกขาดตัดตอนทั้งที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในระบบเกษตรและอาหาร
  12. ผลักดันให้เกิดกฎหมายที่เก็บภาษีจากผู้ก่อมลภาวะ เช่น ภาษีสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ฯลฯ ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ภาษีสินค้าที่บั่นทอนสุขภาพ เช่น ภาษีเครื่องดื่มรสหวาน แล้วนำภาษีดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ในรูป “ภาษีเพื่อจุดมุ่งหมายเฉพาะ” (Earmarked Tax) ในการส่งเสริมเกษตรเชิงนิเวศ ธนาคารที่ดิน ส่งเสริมสินค้าเพื่อสุขภาพ ฯลฯ แล้วแต่กรณี
  13. ประชาชนต้องร่วมมือกันในการตรวจสอบติดตามการดำเนินธุรกิจที่เอารัดเอาเปรียบ หรือดำเนินกิจการที่ไม่ได้เป็นไปในทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีปฏิบัติการที่ใช้สื่อทุกประเภทบอยคอตการซื้อสินค้าและบริการหรือต่อต้านพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ดังที่เคยเกิดขึ้นในการต่อต้านการดำเนินธุรกิจของเครือข่ายร้านสะดวกซื้อเมื่อเร็วๆนี้
  14. เลือกรัฐบาลที่มีนโยบายและการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนและสร้างความเป็นธรรมทางสังคม อีกทั้งต้องไม่ยอมรับให้มีการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดทั้งที่เป็นการคัดค้านกฎหมายหรือนโยบายซึ่งส่งผลกระทบในแง่ลบ และการขับเคลื่อนให้เกิดกฎหมายและนโยบายที่พึงประสงค์ ไม่ว่ารัฐบาลนั้นมาจากรัฐบาลที่เรา “เลือก” หรือ “ไม่เลือก” ก็ตาม
  15. มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวและคัดค้านความตกลงระหว่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาที่ยั่งยืน สนับสนุนเนื้อหาการเจรจาที่มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งโดยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประชาชนในหลากหลายสาขาอาชีพ หรือสร้างความร่วมมือข้ามประเทศระหว่างประชาชนที่มีจุดยืนและผลประโยชน์เดียวกันเพื่อคานอำนาจกับรัฐที่มีบรรษัทอยู่ข้างหลัง

บทสรุป

การสร้างการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มที่ปฏิบัติการที่เป็นจริงในด้านต่างๆ ขยายปฏิบัติการในระดับพื้นที่ หรือระดับกิจกรรม มาเชื่อมโยงร้อยเข้าด้วยกัน   เช่น ในปลายด้านหนึ่งเป็นการสร้างพื้นที่เกษตรกรรมที่ยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อย ในปลายอีกด้านหนึ่งเป็นการรวมตัวกันของผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปเพื่อร่วมกันรณรงค์หรือมีปฏิบัติการในการต่อรองกับกลุ่มทุนหรือกิจการต่างๆ แล้วสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภคซึ่งเป็นกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ที่สุดในห่วงโซ่ระบบอาหารเข้าด้วยกัน การร่วมพลังของเกษตรกรรายย่อยและผู้บริโภคสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ในท้ายที่สุด

ที่มา: BIOTHAI Facebook