ซีพีเอฟเป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์ โดยผลิตอาหารสัตว์เป็นอันดับ 1 ของโลกเหนือกว่า นิวโฮปกรุ๊ป และ เหวินส์ฟู้ดส์กรุ๊ปของจีน คาร์กิล แลนด์โอเลคส์ และไทสันฟู้ด ของสหรัฐฯ รวมทั้งบราซิลฟู้ดของบราซิล

นอกเหนือจากนี้ยังเป็นยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตสุกรอันดับ 2 อันดับ 4 การผลิตไข่ไก่ และอันดับ 6 ผู้ผลิตไก่เนื้อรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยรายได้ของซีพีเอฟปัจจุบัน 64% มาจากตลาดต่างประเทศ ในแง่นี้ซีพีเอฟได้กลายเป็นบรรษัทข้ามชาติที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศไทย ไม่ใช่บริษัทท้องถิ่นอีกต่อไป

ไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นที่ซีพีเอฟครองส่วนแบ่งตลาดใหญ่ แต่ในเวียดนาม และอินโดนีเซีย ซีพียังครองตลาดอาหารสัตว์และไก่เนื้อมากกว่า 35% ด้วย

การเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์อันดับหนึ่งของโลกทำให้บริษัทนี้ต้องอาศัยพื้นที่ปลูกพืชอาหารสัตว์ปริมาณมหาศาลเพื่อตอบสนองความต้องการวัตถุดิบ โดยประมาณการว่าทุก 1 ตันในการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงไก่เนื้อ ซีพีเอฟต้องการพื้นที่ปลูกข้าวโพด 1 ไร่

เฉพาะในประเทศไทยมีความต้องการอาหารสัตว์ต่อปีอยู่ที่ประมาณ 8.25 ล้านตัน แต่มีปริมาณการผลิตข้าวโพดได้เพียง 5 ล้านตัน ดังนั้นอุตสาหกรรมอาหารสัตว์จึงต้องการพื้นที่ผลิตข้าวโพดเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 4-5 ล้านไร่เพื่อตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าว

ร่าง พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืนซึ่งมีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนในรูปแบบต่างๆ เช่น เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ วนเกษตร และเกษตรทฤษฎีใหม่ 5 ล้านไร่ภายในปี 2564 จึงเป็นเหตุผลเบื้องหลังสำคัญของการผนึกกำลังกันคัดค้านของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ นั่นเอง การอ้างเหตุผลในจดหมายแสดงการคัดค้านของพวกเขาจึงเป็นเพียงเหตุผลบังหน้าเท่านั้น

การเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวโพดนอกเหนือจากทำให้พวกเขาได้แหล่งวัตถุดิบอาหารราคาถูกซึ่งเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์แล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ค้าสารพิษกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี และเมล็ดพันธุ์ไปพร้อมๆกันด้วย โดยผลประโยชน์ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ก็จะได้ประโยชน์ไปเต็มๆในฐานะที่มีส่วนแบ่งในตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด และปุ๋ยเคมีการเกษตรที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด

การล้ม พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืนได้ จะเปิดโอกาสให้พวกเขาขยายอาณาจักรให้ยิ่งใหญ่มากขึ้นๆ ในขณะที่เกษตรกรและผู้บริโภคที่ต้องการระบบเกษตรและอาหารที่ปลอดภัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมคือฝ่ายพ่ายแพ้

ที่มา