นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ผู้บริหารกิจการด้านอาหารสัตว์ของซีพี และดำรงตำแหน่งนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย นายปราโมทย์ ติรไพรวงค์ นายกสมาคมคนไทยธุรกิจการเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ค้าสารพิษกำจัดศัตรูพืช และนายนิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ ซึ่งเป็นสมาคมที่ก่อตั้งโดยบรรษัทข้ามชาติที่ส่งเสริมจีเอ็มโอ ร่วมกันลงนามในจดหมายต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรยั่งยืน ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่มีจุดมุ่งหมายในการเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนรูปแบบต่างๆ เช่น เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ วนเกษตร เกษตรธรรมชาติ เป็นต้น ให้ได้ 5 ล้านไร่ ภายในปี 2564 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และเพื่อให้สอดคล้องกันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติที่ประเทศไทยประกาศว่าจะเข้าร่วมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว

ผู้ที่ลงนามคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังไปประกอบไปด้วย นายอนันต์ ดาโลดม อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตรซึ่งอยู่เบื้องหลังการผลักดันให้มีการปลูกฝ้ายจีเอ็มโอของบริษัทมอนซานโต้ในอดีต และนักวิชาการด้านการปรับปรุงพันธุ์ที่เขียนบทความสนับสนุนการเปลี่ยนพันธุ์ข้าวซึ่งปัจจุบันเป็นพันธุ์ข้าวที่ชาวนาสามารถเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อได้ให้เป็นพันธุ์ข้าวลูกผสม ซึ่งเป็นแผนการตลาดที่บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัทข้ามชาติบางบริษัทต้องการผลักดันเพื่อให้สามารถควบคุมตลาดได้เช่นเดียวกับตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ทั้งๆที่ผลผลิตข้าวลูกผสมไม่ได้สูงตามคำโฆษณา อีกทั้งเกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ในราคาแพงจากบริษัทยักษ์ใหญ่ทุกฤดูการผลิต

นายวินิจ ชวนใช้ ผู้บริหารอีกคนของบริษัทเจียไต๋ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ อธิบายเหตุผลการคัดค้านว่า “พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นการทำลายความเจริญก้าวหน้าของเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ และผิดรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทย”

ร่างกฎหมายซึ่งผลักดันโดยสภาเกษตรกรแห่งชาติ และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และได้รับการผลักดันโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร และนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาจล้มพับลงไม่เป็นท่า หากบริษัทยักษ์ใหญ่การเกษตร และบรรดาบริวารของบรรษัทข้ามชาติ ผนึกกำลังกันคัดค้าน ในขณะที่ประชาชนไทยวางเฉยปล่อยให้ผู้มีอิทธิพลเหล่านี้บงการประเทศต่อไปเหมือนดังที่เคยเป็น ?

ที่มา