พันธุ์ข้าวและพืชสายพันธุ์ดีส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากวิถีของเกษตรกรรายย่อยและชุมชนเกษตรกรรม แต่หลักการในการส่งเสริมบทบาทของพวกเขาเหล่านั้นนอกจากไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในร่างพ.ร.บ.ข้าวฉบับใหม่แล้ว ยังมีมีอุปสรรคขวางกั้นเอาไว้ด้วย

แผนภาพในโพสต์นี้ชี้ให้เห็นความสำคัญของวิถีการเก็บรักษาพันธุ์ข้าวไปปลูกต่อและการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวของท้องถิ่น ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 70% ของวิถี ชาวนาไทย

เวอร์ชั่นแรกๆของร่าง พ.ร.บ.นี้ ที่ถูกกำหนดไว้ใน มาตรา 26 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวซึ่งไม่ได้รับการรับรองพันธุ์ ซึ่งเป็นการส่อเจตนาของผู้ร่างบางกลุ่มที่ต้องการควบคุมพันธุ์ข้าวให้อยู่ในมือราชการ และเอกชนรายใหญ่ที่มีศักยภาพเท่านั้น เจตนาเช่นนี้จะเป็นตัวทำลายการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงทางอาหารอย่างร้ายแรง

แม้จะถูกตัดออกไปแล้ว แต่เจตนาดังกล่าวยังซ่อนอยู่ในมาตรา 27/2 ซึ่งบัญญัติว่า “เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ชาวนาใช้พันธุ์ข้าวที่ดีมีคุณภาพในการเพาะปลูก และมีความเหมาะสมกับเขตศักยภาพการผลิตข้าวที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศ ให้ชาวนาซึ่งปลูกข้าวโดยใช้พันธุ์ข้าวที่กรมการข้าวประกาศรับรองพันธุ์ และเพาะปลูกในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมตามเขตศักยภาพการผลิตข้าวได้รับความช่วยเหลือ ส่งเสริม หรือสนับสนุนตามมาตรการที่คณะกรรมการประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี”

คำถามก็คือว่า “แล้วสายพันธุ์ข้าวที่ชาวนารายย่อยคัดเลือก และพัฒนาขึ้นโดยเกษตรกรรายย่อย และวิถีเกษตรกรรมแบบพื้นบ้าน จากการคัดเลือกสายพันธุ์ที่เก็บพันธุ์ไว้ปลูกเอง ที่เกิดจากการซื้อขายกันระหว่างเพื่อนบ้าน ทำไมถึงไม่มีกระบวนการส่งเสริมและสนับสนุน ในเมื่อวิถีดังกล่าวคือที่่มาของสายพันธุ์ข้าวดีๆที่สังคมไทยได้บริโภค ได้ค้าขาย ได้ส่งออก อยู่ในทุกวันนี้ ?”

หลักการในการสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อย และกลุ่มเกษตรกรที่อนุรักษ์ พัฒนา ฟื้นฟู ปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวทั้งที่อยู่ในวิถีเกษตรกรรมพื้นบ้าน และที่มุ่งพัฒนาเพื่อตอบสนองต่อเกษตรกรรมเชิงนิเวศ มิใช่การปลูกข้าวเชิงเดี่ยวแบบเดียวกับที่หน่วยงานรัฐให้ความสำคัญเป็นหลัก จำเป็นต้องถูกบัญญัติเอาไว้ หากต้องการรับมือกับอนาคตที่กำลังจะมาถึง เพื่อรับมือกับปัญหาการบริโภคเชิงเดี่ยว การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร

ที่จริงแล้ว ปัญหาที่เป็นอุปสรรคขัดขวางกระบวนการพัฒนาพันธุ์พืชที่มาจากเกษตรกรรายย่อยและวิถีเกษตรกรรมพื้นบ้าน แบบแผนเกษตรกรรมเชิงนิเวศ ถูกขัดขวางมาก่อนหน้านี้แล้ว ใน พ.ร.บ.พันธุ์พืช 2518 ที่บัญญัติให้การขายเมล็ดพันธุ์ข้าวและพันธุ์พืชอื่นตามประกาศรวมสามสิบกว่าชนิดเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ถ้าไม่ขออนุญาต

ในด้านหนึ่งเจตนาที่เป็นการปกป้องผู้บริโภค(เกษตรกร)ได้รับสายพันธุ์ที่ดี ไม่ปลอมปน และมีคุณภาพ นั้น ในอีกด้านหนึ่ง ได้ทำลายกระบวนการคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์โดยชาวนาและเกษตรกรมาชั้นหนึ่งแล้ว เพราะการเก็บรักษาพันธุ์พืช การคัดเลือก การแลกเปลี่ยน และการซื้อขายสายพันธุ์เหล่านั้นในท้องถิ่น คือกระบวนการหลักที่เรามีสายพันธุ์ข้าว มะม่วง ทุเรียน มะขาม ฯลฯ สายพันธุ์ดีๆทั้งหลายที่เรารู้จักกันในวันนี้นั่นเอง

หากเราต้องการสายพันธุ์ข้าวที่ดี และดีกว่าสายพันธุ์ข้าวที่กรมการข้าว หรือบริษัทเอกชนรายใหญ่ส่งเสริม หากเราต้องการสายพันธุ์ข้าวแบบเดียวกับที่เรามีในอดีต เช่น ข้าวหอมมะลิ สังข์หยด เล้าแตก หรือที่ดีไปกว่าสายพันธุ์เหล่านั้น ผู้ยกร่าง พ.ร.บ.ข้าว สมควรกำหนดให้สิทธิในการแลกเปลี่ยนสายพันธุ์ และการค้าขายพันธุ์ข้าวในท้องถิ่นให้เป็นเรื่องสำคัญ และต้องยกเว้นสิ่งนี้จากการเข้ามาพยายามควบคุมของหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะมาจากกฎหมายที่เสนอโดยกรมการข้าว หรือกรมวิชาการเกษตรเองก็ตาม

ท่ามกลางเสียงคัดค้านในเรื่องต่างๆนั้น สมควรที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติควรชะลอ เพื่อทบทวนเนื้อหาในร่างพ.ร.บ.นี้อย่างรอบคอบ ไม่มีเหตุผลใดเลยที่จะเร่งด่วนต้องผลักดันให้กฎหมาย ในขณะที่อาจจะส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่ออนาคตของพันธุ์ข้าว ความหลากหลายทางชีวภาพ และความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว

ที่มา: BIOTHAI Facebook