เมื่อวานนี้ (24/7/2563) ประชาไทเปิดรายงานผลการศึกษาเบื้องต้นของคณะอนุกรรมาธิการการศึกษา (อนุฯ กมธ.) ศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP ทั้งด้านการเกษตรและพันธุ์พืช ด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน รวมทั้งด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยในด้านการเกษตรนั้น อนุฯ กมธ. ด้านการเกษตรและพันธุ์พืช ระบุว่ามีการประชุมเพื่อพิจารณาศึกษาจำนวน 7 ครั้ง โดยเชิญนักวิชาการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มเกษตรกร มาให้ข้อมูลและความคิดเห็น จำนวน 17 รายแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ผลผลกระทบจากกรณีการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV) และ ผลกระทบด้านการเกษตร ที่ประกอบด้วย ด้านพืช ด้านปศุสัตว์ ด้านมาตรฐานสินค้าเกษตร และด้านการเปิดตลาดสินค้าเกษตร ซึ่งมีความเห็นของ กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย สมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย สมาคมปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทยและสมาคมเมล็ดพันธุ์พืชภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์กรมหาชน) ฯลฯ

โดยมีรายละเอียดสรุปผลการศึกษาเบื้องต้นดังนี้

1. ผลกระทบจากกรณีการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV)

การเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เป็นผลให้ต้องเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV) ดังปรากฏตามข้อบทที่ ๑๘ ของความตกลง CPTPP กล่าวถึงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา โดยใน Article 18.7.2 (d) กำหนดให้เป็นภาคีความตกลงระหว่างประเทศด้านทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งอนุสัญญา UPOV เป็นหนึ่งในความตกลงระหว่างประเทศดังกล่าว

อนุสัญญา UPOV มีวัตถุประสงค์ให้ความคุ้มครองแก่พันธุ์พืชใหม่โดยเฉพาะ เป็นการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยการให้สิทธิเด็ดขาดในพันธุ์พืชใหม่แก่นักปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งหากประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV จำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ให้สอดคล้องกับอนุสัญญา UPOV(โดยคำวินิจฉัยของสหภาพ UPOV)

ดังนั้น คณะอนุกรรมาธิการจึงได้มีการรวบรวมผลกระทบจากการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV ซึ่งสามารถสรุปเบื้องต้นได้ ดังนี้

ผลกระทบด้านบวกและความคาดหวัง

1. กรมวิชาการเกษตร มีความเห็นว่า จะทำให้มีการคิดค้น วิจัย พัฒนาพันธุ์พืชใหม่มากขึ้น มีเมล็ดพันธุ์ ต้นพันธุ์ ที่ตรงตามพันธุ์ ตรวจสอบได้ จำหน่ายในประเทศมากขึ้น ส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ในภูมิภาค มีการแข่งขันทางด้านการพัฒนาเมล็ดพันธุ์มากขึ้น โดยมีโอกาสที่พันธุ์ต่างประเทศจะเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย มากขึ้น

2. สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย มีความเห็นว่า เกษตรกรจะมีทางเลือกในการเข้าถึงพันธุ์พืชใหม่จากประเทศภาคีสมาชิกได้มากขึ้น และทำให้พันธุ์พืชใหม่ของประเทศไทยได้รับการยอมรับ

3. ความเห็นจาก 4 สมาคม ได้แก่ สมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย สมาคมปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย และสมาคมเมล็ดพันธุ์พืชภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก มีความเห็นร่วมกันว่า การเข้าร่วมอนุสัญญา UPOV จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพันธุ์พืชของประเทศไทย พร้อมกับเพิ่มทางเลือกที่ดีในพันธุ์พืชและเมล็ดพันธุ์ให้กับเกษตรกรไทย ทั้งด้านคุณภาพ ปริมาณผลผลิต สิทธิในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ และราคาเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมผ่านกลไกการตลาดที่มีเกษตรกรเป็นส่วนสำคัญ

ผลกระทบด้านลบและข้อกังวล

1. จำเป็นต้องมีการแก้กฎหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ในหลายมาตรา เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไจการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV เนื่องจากมีข้อแตกต่างระหว่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ พ.ศ. 2542 และอนุสัญญา UPOV เช่น

1.1 กฎหมายของประเทศไทยได้กำหนดให้มีการแสดงที่มาของพันธุ์พืชใหม่หรือสารพันธุกรรมที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์หรือพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ แต่อนุสัญญา UPOV ไม่ได้มีการกำหนดไว้ จึงอาจต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายของประเทศไทยเพื่อให้มีความสอดคล้องกับอนุสัญญา UPOV โดยตัดมาตราที่กำหนดเรื่องดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลกระทบในกรณี ดังนี้ 1) มีนักปรับปรุงพันธุ์พืชนำพันธุ์พืชดั้งเดิมของประเทศไทย ได้แก่ พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป และพันธุ์พืชป่ามาขอรับความคุ้มครองเป็นพันธุ์พืชใหม่ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีฐานข้อมูลพันธุ์พืชดั้งเดิมของประเทศไทย ที่ครบถ้วนสมบูรณ์เพียงพอสำหรับการตรวจสอบ 2) มีผลต่อกลไกในการกำกับให้มีการขออนุญาตและทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ในกรณีที่มีการใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป พันธุ์พืชป่า หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพันธุ์พืชดังกล่าวในการปรับปรุงพันธุ์เพื่อประโยชน์ในทางการค้า ดังนั้นจึงควรมีการเตรียมความพร้อมด้านกฎหมาย โดยการขอความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว จากสหภาพ UPOV เพื่อขอคำยืนยันว่าประเทศไทยสามารถกำหนดให้ต้องระบุสารพันธุกรรมในการจดคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ เหมือนพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 มาตรา 19(3) ได้หรือไม่

1.2 หากต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญา UPOV จึงต้องทราบความชัดเจนในเรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการปลูกพันธุ์พืชใหม่ว่า เกษตรกรรายย่อยสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ ไปปลูกต่อเพื่อขายผลผลิต ซึ่งเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของเกษตรกร รวมถึงสอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ได้หรือไม่ (ไม่เกี่ยวข้องกับการเก็บเมล็ดพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชดั้งเดิมที่เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของอยู่ในปัจจุบัน)

1.3 มีความเห็นเป็นข้อกังวลต่อการพัฒนาพันธุ์ขึ้นใหม่ โดยมีพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป พันธุ์พืชป่า หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพันธุ์พืชดังกล่าว เป็นพ่อแม่พันธุ์หรือเชื้อพันธุกรรมในการปรับปรุงพันธุ์ อาจทำให้พันธุ์พื้นเมืองทั่วไป พันธุ์พืชป่า ด้อยค่าหรือไม่เป็นที่นิยม และผลตอบแทนที่ได้กับประเทศอาจไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับประโยชน์ทางธุรกิจที่ผู้พัฒนาไปต่อยอดจะได้รับ

2. อนุพันธ์ของพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการคุ้มครองแล้ว (EDV) มีข้อแตกต่างระหว่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ พ.ศ. 2542 และอนุสัญญา UPOV โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ไม่ได้มีการกำหนดให้สิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์พืชผู้ทรงสิทธิ์ในพันธุ์พืชใหม่ครอบคลุมถึงอนุพันธ์ของพันธุ์พืชใหม่ (EDV) แต่อนุสัญญา UPOV 1991 กำหนดให้สิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์พืชผู้ทรงสิทธิ์ในพันธุ์พืชใหม่ครอบคลุมถึง EDV ซึ่งมีลักษณะสำคัญมาจากพันธุ์พืชใหม่ที่เป็นพันธุ์ตั้งต้น และมีลักษณะแตกต่างจากพันธุ์ตั้งต้น ซึ่ง EDV อาจถูกนำไปจดทะเบียน                รับคุ้มครองได้ แต่หากจะทำการค้า ต้องขออนุญาตจากนักปรับปรุงพันธุ์พืชผู้ทรงสิทธิ์ในพันธุ์ตั้งต้นก่อน หากเกสรจากพันธุ์พืชใหม่ปนเปื้อนไปผสมกับพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปในแปลงข้างเคียง อาจทำให้เกษตรกรในแปลงข้างเคียงมีโอกาสครอบครอง EDV ซึ่งละเมิดสิทธิ์ของนักปรับปรุงพันธุ์พืชผู้ทรงสิทธิ์ในพันธุ์พืชใหม่นั้น และถูกดำเนินคดีได้

3. กรมวิชาการเกษตร มีความเห็นว่า ระยะแรกราคาเมล็ดพันธุ์อาจจะแพงขึ้น เนื่องจากยังมีการแข่งขันไม่เพียงพอ รัฐจึงต้องผลักดันนโยบายส่งเสริมการวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชอย่างเต็มที่และต่อเนื่องก่อนเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV และเกษตรกรต้องปรับตัวเพื่อแข่งขัน ต้องรู้และเข้าใจกฎหมายเพื่อจะไม่กระทำการละเมิดสิทธิ์ของนักปรับปรุงพันธุ์พืชผู้ทรงสิทธิ์ในพันธุ์พืชใหม่

4. กรมการข้าว มีความเห็นว่า การที่รัฐบาลได้ลดทอนงบประมาณและจำนวนบุคลากรที่เป็นนักวิจัย สำหรับงานวิจัยปรับปรุงพันธุ์ข้าวอย่างต่อเนื่อง ทำให้หน่วยงานของรัฐไม่สามารถนำเชื้อพันธุกรรมข้าวของประเทศไทยที่มีอยู่กว่า 20,000 ตัวอย่าง มาใช้ให้เกิดประโยชน์เต็มตามศักยภาพ ดังนั้นประเทศไทยจึงยังไม่มีความพร้อมที่จะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV แต่ควรพัฒนาระบบคุ้มครองพันธุ์ข้าวของประเทศไทย และจัดทำฐานข้อมูลพันธุกรรมข้าวให้ถูกต้องสมบูรณ์ (เหตุผลเพิ่มเติมในข้อ 2.1.1)

5. สำนักงานที่ปรึกษาเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโตเกียว ได้ส่งเอกสารแจ้งว่า พันธุ์ที่เกษตรกรญี่ปุ่นใช้ในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ทั่วไป โดยพันธุ์ทั่วไปของข้าวคิดเป็นร้อยละ ๘๔ ผักร้อยละ ๙๑ แอปเปิ้ลร้อยละ ๙๖ ส่วนพันธุ์ธัญพืช ผัก และผลไม้ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกว่าร้อยละ ๖๐ เป็นพันธุ์ที่พัฒนาโดยหน่วยงานราชการ ซึ่งเก็บค่าพันธุ์ในอัตราที่ต่ำ จึงทำให้การเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV ไม่มีผลกระทบต่อเกษตรกรมากนัก ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในลักษณะดังกล่าว

6. กรมส่งเสริมการเกษตร มีความเห็นว่า ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมในการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV เช่น ด้านฐานข้อมูลพันธุ์พืชดั้งเดิมของประเทศไทย และด้านการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชเกษตร โดยในขณะนี้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่พัฒนาและขยายพันธุ์พืชได้ถูกลดบทบาทและงบประมาณลงมาก ทั้งยังได้โอนย้ายศูนย์เมล็ดพันธุ์พืชซึ่งเคยทำหน้าที่ขยายพันธุ์พืชแจกจ่ายแก่เกษตรกร จำนวนกว่า 20 แห่งจากกรมส่งเสริมการเกษตร ไปสังกัดกรมการข้าวและลดบทบาทเหลือเพียงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวแจกจ่ายแก่เกษตรกร ทำให้การพัฒนาและผลิตส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่จากการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐเพื่อเผยแพร่ให้กับเกษตรกรนั้น เหลือในสัดส่วนที่น้อยมาก

7. สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย มีความเห็นว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกร คือ  การเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะทำให้ประเทศไทยต้องเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV ซึ่งเพิ่มอำนาจการผูกขาดด้านพันธุ์พืช ห้ามเกษตรกรเก็บส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ไปปลูกต่อในฤดูถัดไป รวมทั้งขยายอำนาจการผูกขาดจากเดิมเฉพาะส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ไปยังผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์ และกระทบต่อการพัฒนาขีดความสามารถของนักปรับปรุงพันธุ์รายย่อยและเกษตรกรรายย่อย ซึ่งรวมถึงเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร ส่งผลต่อต้นทุนการเพาะปลูกและราคาสมุนไพร การแข่งขัน การต่อยอด และการค้นคว้าวิจัย จึงเห็นว่าต้องไม่ให้ข้าวเป็นพืชพันธุ์ใหม่ที่จะได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญา UPOV นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลถึงผลกระทบที่ประเทศไทยจะได้รับหากต้องมีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 คือจะมีผลกระทบต่อกลไกการแบ่งปันผลประโยชน์จากการขออนุญาตนำพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป พันธุ์พืชป่า ซึ่งเป็นพันธุ์พืชดั้งเดิมของประเทศไทย ในกรณีที่มีผู้นำไปปรับปรุงพันธุ์ ศึกษา ทดลอง หรือวิจัยพัฒนาต่อยอดแล้วจดทะเบียนเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของตน

8. สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์กรมหาชน) มีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย เนื่องจากอนุสัญญา UPOV จะส่งผลกระทบต่อกลไกการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ โดยกฎหมายของประเทศไทยที่มีการบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน และมีการกำหนดในเรื่องของการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 กำหนดให้นักปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ต้องแสดงที่มาของพันธุ์พืชใหม่หรือสารพันธุกรรมที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ผูกพันให้มีการทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ ทั้งนี้ หากเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV แล้ว จะทำให้ต้องตัดมาตราที่กำหนดเรื่องการแสดงที่มาของพันธุ์พืชใหม่ (อ้างอิงคำวินิจฉัยของสหภาพ UPOV ต่อกฎหมายของมาเลเซีย ซึ่งมีการกำหนดในลักษณะคล้ายคลึงกับกฎหมายไทย) และการขยายสิทธิ์ของนักปรับปรุงพันธุ์พืชผู้ทรงสิทธิ์ในพันธุ์พืชใหม่ ให้ครอบคลุมถึง EDV ของอนุสัญญา UPOV อาจส่งผลกระทบต่อการคัดเลือกและพัฒนาพันธุ์พืชของเกษตรกรรายย่อยและชุมชนท้องถิ่น โดยอาจไม่สามารถทำตามวิถีของเกษตรกรที่มีมาแต่เดิมในการคัดเลือกเก็บพันธุ์ที่เกิดขึ้นใหม่ซึ่งมีลักษณะที่ต้องการจากในแปลงปลูก มาปลูกได้

2. ผลกระทบด้านการเกษตร

2.1 ด้านพืช สำหรับ ข้าว กรมการข้าว มีความเห็นว่า ประเทศไทยเป็นถิ่นกำเนิดของข้าว จึงมีความสมบูรณ์และความหลากหลายของพันธุ์ข้าว ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบ แต่ยังมีการนำมาศึกษาวิจัยพัฒนาและต่อยอดน้อยมาก จึงมีข้อกังวลว่าการเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะทำให้ประเทศไทยสูญเสียความได้เปรียบในส่วนนี้ เนื่องจากจะเกิดการถ่ายเทพันธุ์ข้าวระหว่างประเทศภาคีสมาชิก โดยประเทศสมาชิกสามารถนำพันธุ์ข้าวของประเทศไทยไปพัฒนาต่อยอดได้ ส่งผลต่อเกษตรกรเรื่องต้นทุนเมล็ดพันธุ์ข้าวที่จะสูงขึ้น ส่วนพืชอื่น ๆ นั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาศึกษา

2.2 ด้านปศุสัตว์

1) กรมปศุสัตว์ มีความเห็น ในประเด็นด้านทรัพย์สินทางปัญญาว่า การที่จะมีการจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ของพืชอาหารสัตว์ตามอนุสัญญา UPOV ภายใต้ความตกลง CPTPP อาจทำให้ต้นทุนอาหารสัตว์สูงขึ้น สำหรับประเด็นการเปิดตลาดสินค้าปศุสัตว์ โดยในส่วนของมาตรการ SPS และการเปิดตลาดสินค้าปศุสัตว์ เนื่องจากประเทศสมาชิกความตกลง CPTPP บางประเทศมีการใช้สารเร่งเนื้อแดงในระบบการผลิตสินค้าปศุสัตว์ จึงมีความเป็นไปได้ที่สินค้าปศุสัตว์ที่ปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดงจะถูกส่งออกจากประเทศสมาชิกความตกลง CPTPP มายังประเทศไทย และเนื่องจากประเทศสมาชิกความตกลง CPTPP บางประเทศมีกำลังการผลิตสินค้าปศุสัตว์บางชนิดมากกว่าประเทศไทย เช่น โคเนื้อและกระบือของประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีการเพิ่มปริมาณการนำเข้าสินค้าปศุสัตว์จากประเทศสมาชิกความตกลง CPTPP ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงปศุสัตว์ภายในประเทศ

2) สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ มีความเห็นว่า จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวางต่อเกษตรกรรายย่อยที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงและห่วงโซ่การผลิตสุกรทั้งระบบ เนื่องจากสินค้าสุกรจากประเทศสมาชิกความตกลง CPTPP ที่ผลิตสุกรเพื่อการส่งออกเป็นหลัก ได้แก่ ประเทศแคนาดา               มีศักยภาพเป็นอันดับ 3 ของโลกและต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าประเทศไทย โดยเฉพาะเครื่องในสุกรที่แคนาดาไม่บริโภค ซึ่งอาจมีการตกค้างของสารเร่งเนื้อแดงในปริมาณที่อาจก่ออันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคชาวไทย อาจถูกส่งมาขายในราคาถูก รวมทั้งยังจะส่งผลกระทบต่อการปลูกพืชอาหารสัตว์ของเกษตรกรรายย่อยด้วย

2.3 ด้านมาตรฐานสินค้าเกษตร (SPS) สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ มีความเห็นเป็นข้อกังวลด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) คือ ข้อกำหนดด้านความโปร่งใสในการดำเนินขั้นตอน/กระบวนการ/มาตรการ SPS ของประเทศภาคีสมาชิก เช่น แนวทางวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงประกอบการนำเข้า การยอมรับความเท่าเทียมการตรวจประเมินและตรวจสอบกักกัน ทำให้ประเทศไทยต้องมีการปรับตัวตามความตกลงนี้ และกลไกระงับข้อพิพาท (Dispute Settlement) ของความตกลง CPTPP ที่เปิดโอกาสให้ภาคีสมาชิกยื่นระงับข้อพิพาทต่อการประเมินความเสี่ยงทางวิทยาศาสตร์ การยอมรับความเท่าเทียมของระบบงานการตรวจสอบกักกันสินค้านำเข้า ซึ่งเป็นข้อบทที่มีความครอบคลุมสูงกว่า WTO และสูงกว่าความตกลงทุกฉบับที่ผูกพันอยู่ในปัจจุบัน สำหรับข้อห่วงกังวลเรื่องการปฏิบัติตามมาตรการ SPS ว่าจะทำให้ประเทศไทยต้องเปิดให้มีการนำเข้าสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) ซึ่งปัจจุบันมติคณะรัฐมนตรีห้ามการปลูกพืชที่เป็น GMOs ในระดับไร่นานั้น มีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะต้องยอมอนุญาตให้มีการนำเข้า GMOs ตามที่มีความห่วงกังวล แต่หากรัฐบาลบังคับใช้มติคณะรัฐมนตรีและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด อาจทำให้ประเทศไทยยังไม่มีการปลูกพืชที่เป็น GMOs ต่อไปได้

2.4 ด้านการเปิดตลาดสินค้าเกษตร ข้อห่วงกังวลในการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ด้านการเปิดตลาดสินค้าเกษตรคือ จะส่งผลให้ประเทศไทยต้องเปิดเสรีตลาดสินค้าเกษตร โดยอาจต้องลดภาษีเหลือร้อยละ 0 แก่สินค้าเกษตรถึงร้อยละ 95-99 ซึ่งจะทำให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรบางกลุ่ม นอกจากกลุ่มสินค้าปศุสัตว์ อาทิ พืชไร่ ผัก และผลไม้ ที่จะเผชิญกับการแข่งขันที่มากขึ้น เป็นต้น (อยู่ระหว่างการพิจารณาศึกษา)

ทั้งนี้ ยังมีข้อกังวลต่อความจริงจังในการดำเนินนโยบายของรัฐเพื่อให้ความช่วยเหลือ-เยียวยาและสร้างเสริมความเข้มแข็งแก่เกษตรกรรายย่อยและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบหลังจากการเปิดตลาดเสรี เช่น ไม่มีการเสนอกฎหมายว่าด้วยกองทุน FTA ให้เป็นกองทุนหมุนเวียน ในปัจจุบันยังไม่มีการจัดตั้งกองทุนลักษณะดังกล่าว มีแต่การของบประมาณประจำปี (กรมการค้าต่างประเทศ) และบางกองทุนที่เป็นกองทุนหมุนเวียน เช่น ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งได้รับงบประมาณน้อย ก็เยียวยาเฉพาะเกษตรกร ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบเกือบทั้งหมด ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ

ที่มา: BIOTHAI Facebook