อาจกล่าวได้ว่ากระแสการ พัฒนาในระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งเรื่องการพัฒนาระบบอุตสาหกรรม เทคโนโลยี การขนส่ง สินค้า การค้า การบริการ ไม่เว้นแม้แต่ระบบเกษตรกรรมที่พัฒนาเป็นการเพาะปลูกเพื่อการส่งออกมากขึ้น รวมถึงกิจกรรมต่างๆที่มนุษย์ได้กระทำในชีวิตประจำวันนั้นล้วนแล้วแต่ส่งผล ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(โลกร้อน)อย่างมีความสำคัญ

สภาวะโลกร้อนเกิดจาก อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกที่สูงขึ้น เนื่องมาจากปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจกที่ปกคลุมชั้นบรรยากาศ ปิดกั้นความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่ส่งมายังโลกแล้วสะท้อนจากผิวดินขึ้นสู่ บรรยากาศ แต่ความร้อนนี้ไม่สามารถออกไปยังนอกโลกได้ ส่งผลให้เกิดสภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์อื่นๆอีกด้วย ดังที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน

มีการกล่าวโทษกันไปมาของระบบการผลิตทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม ว่าแท้จริงแล้วใครทำให้โลกร้อนขึ้นมากกว่ากัน?

ประเทศพัฒนาแล้วที่ขับ เคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก กล่าวหาภาคเกษตรกรรมซึ่งโดยส่วนมากเป็นกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาว่า เป็นตัวการของการปลดปล่อยก๊าซมีเทนเข้าสู่สภาวะบรรยากาศสูงถึง 40% เมื่อเทียบกับในภาคอุตสาหกรรมที่มีการปลดปล่อยก๊าซมีเทนในสัดส่วนที่น้อยมาก โดยก๊าซมีเทนมาจากระบบการทำนา การปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ จากการย่อยสลายของอินทรีย์สารที่มีตามธรรมชาติ แต่ขณะที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรมมีสูงถึง 69.3% เกิดจากกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ระบบโรงงานไฟฟ้า เชื้อเพลิงการขนส่ง ไม่ได้ถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นของปัญหา

อีกประเด็นที่ถูกพูดถึง คือศักยภาพในการทำให้โลกร้อนมากขึ้นจากก๊าซมีเทนที่มีมากกว่าก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ถึง 60 เท่า ซึ่งหากพิจารณากันตามความเป็นจริงแล้ว ก๊าซมีเทนจะมีอายุอยู่ในบรรยากาศเพียงแค่ 5-20 ปี ส่วนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีอายุในชั้นบรรยากาศ 50-200 ปีนั้น เป็นตัวเลขที่ต่างกันมากอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่ภาคอุตสาหกรรมกลับพยายามที่จะเรียกร้องความรับผิดชอบต่อการปลดปล่อยก๊าซ มีเทนของภาคเกษตรกรรม แต่หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงงานอุตสาหกรรม

ข้อมูลที่สำคัญอีกอย่าง หนึ่งคือ ก๊าซมีเทนเกิดจากกระบวนการผลิตอาหารของภาคเกษตรกรรม ดังนั้นหากจะต้องมีการลดปริมาณการผลิตลง ย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและวิถีชีวิตของผู้คนจำนวนมาก ไม่เพียงแต่ประชากรที่อยู่ในภาคเกษตรเพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อประชากรที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมซึ่งไม่มีฐานการผลิตของตน เองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

บทบาทที่สำคัญอีกประการ หนึ่งของภาคเกษตรที่ต่างจากการผลิตภาคอื่นคือ การทำหน้าที่ดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศมาเก็บสะสมไว้ โดยการเก็บสะสมในรูปสารอินทรีย์ใต้ดิน(ฮิวมัส) และบนดิน (เนื้อไม้) ซึ่งสามารถช่วยดูดซับคาร์บอนได้มากถึง 90% ของศักยภาพการลดก๊าซคาร์บอนในภาคเกษตรทั้งหมด ซึ่งถ้าหากมีการตัดไม้นั่นก็หมายความว่าจะเกิดการปลดปล่อยคาร์บอนที่อยู่ใน รูปของฮิวมัสและเนื้อไม้ออกมาสู่บรรยากาศมากยิ่งขึ้น

ซึ่งในส่วนนี้นั้นชาวนา จากภาคอีสานสะท้อนออกมาในเวทีข้อเสนอของภาคประชาชนต่อการแก้ปัญหาโลกร้อนที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ว่า ในพื้นที่ที่พวกเขาอยู่ป่าไม้ที่เป็นแหล่งหาอยู่หากินที่สำคัญของชาวบ้านหาย ไปหมด แต่ว่ากลับมีป่ายูคาลิปตัสเข้ามาแทนที่มากยิ่งขึ้น ซ้ำปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัดคือว่าหลายปีที่ผ่านมา มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเข้ามาช่วยภาคการผลิตให้ได้มากขึ้นอย่างเช่น การใช้เครื่องจักรอุตสาหกรรมในนา หรือว่าแม้แต่วิธีการของชาวบ้านอย่างการเผาตอข้าวเองก็ตาม คิดว่าเป็นสาระสำคัญที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนขึ้น

เช่นเดียวกับธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เล่าให้ฟังว่า สาเหตุของโลกร้อนที่เกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เกิดขึ้นจากการที่มนุษย์ใช้พลังงานมากขึ้น โดยเฉพาะในทวีปยุโรปและอเมริกา การขนส่งและอุตสาหกรรมไฟฟ้าถือเป็นตัวการที่สำคัญ การพัฒนาที่มีการใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน ฟอสซิล เป็นหลักรวมทั้งการทำลายป่าเพื่อที่จะสร้างระบบเกษตรเชิงเดี่ยวที่เกิดขึ้น ทั่วโลก การทำลายป่าอะเมซอน สิ่งเหล่านี้เป็นตัวการที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอด หลายสิบปีที่ผ่าน ทิศทางการพัฒนาที่เกิดขึ้นนั้นล้วนแล้วแต่เน้นไปที่ภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาเป็นหลัก พร้อมๆกันนั้น สภาวะของอากาศก็ดูเหมือนว่าจะเลวร้ายลงอย่างที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน คำถามที่สำคัญคือว่าภาคการเกษตรตกไปเป็นจำเลยของสภาวะโลกร้อนนั้นได้อย่างไร

มีการเหมารวมว่าภาคการ เกษตร อาจจะหมายถึงการผลิตพืชการเกษตรเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่ที่กำลังระบาดไปทั่วทุก พื้นที่ว่า อาจจะเป็นตัวการที่สำคัญในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เพราะกระบวนการที่เกิดขึ้นในการผลิตพืชอย่างข้าวโพดหรือว่าปาล์มน้ำมัน ล้วนแล้วแต่ต้องใช้พลังงานอย่างมหาศาล และในบางพื้นที่ยังหมายความรวมถึงการสูญเสียพื้นที่ป่าไปอย่างไม่สามารถเกิด ขึ้นมาทดแทนได้ด้วย

เพราะฉะนั้นคำถามที่ สำคัญก็คือว่า ความกำกวมของภาคการเกษตรก็ยังคงเป็นคำถามสำคัญที่ต้องตอบให้ได้ เป็นต้นว่าภาคการเกษตรรวมไปถึงการผลิตเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่แบบที่กำลังขยายตัว ลุกลามไปทั่วประเทศหรือไม่ เป็นต้นว่าการตัดป่าเพื่อปลูกพืชการเกษตรเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่ดังเช่นที่เกิด ขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ หรือข้าวโพดในพื้นที่ทางภาคเหนือ สิ่งเหล่านี้นั้นล้วนทำให้เกิดมายาคติที่ไม่ดีแก่ภาคการเกษตรทั้งสิ้น

เพราะไม่เช่นนั้น ในส่วนของภาคเกษตรรายย่อย ที่ทำมาหากินมาอย่างยาวนาน เป็นตัวหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ อาจจะกลายเป็นแพะรับบาปที่สำคัญต่อสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น โดยที่ไม่ได้มองไปยังทิศทางการพัฒนา โครงการพัฒนาต่างๆ ที่มีส่วนสำคัญในการทำลายทรัพยากรสำคัญอย่างต้นไม้ ป่า ในพื้นที่ต่างๆทั่วโลก.

อ้างอิง; เอกสารประกอบการประชุมจุดยืนและข้อเสนอภาคประชาชนต่อการแก้ปัญหาโลกร้อน, ภาคเกษตรในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นธรรม, คุณศจินทร์ ประชาสันติ์ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) และเครือข่ายลดโลกร้อนอย่างเป็นธรรม