โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) เป็นปัญหาโรคระบาดสัตว์สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อทั้งต่อสุกรที่เลี้ยงทั่วไปและหมูป่า โดยขณะนี้ส่งผลกระทบใน 4 ทวีปที่มีจำนวนสุกรรวมกันมากกว่า 78% ของโลก
ASF ถูกพบและรู้จักเป็นครั้งแรกในเคนยาในปี 1921 หรือเมื่อ 101 ปีที่แล้ว และคาดว่ากระจายไปในหลายประเทศในทวีปดังกล่าว
มีรายงานการระบาดของ ASF ครั้งแรกนอกทวีปแอฟริกาในโปรตุเกสในปี 1960 ในฟาร์มสุกรในประเทศใกล้เมืองลิสบอน อย่างไรก็ตาม การระบาดนี้ควบคุมได้อย่างรวดเร็วหลังจากการฆ่าสุกรในประเทศมากกว่า 10,000 ตัว
หลังจากเงียบหายไป 3 ปี ในปี 1963 พบการระบาดซ้ำอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปยังคาบสมุทรไอบีเรียทั้งหมด ตั้งแต่นั้นมา ASF ยังคงอยู่ในคาบสมุทรไอบีเรียเป็นเวลาประมาณ 35 ปี จนกระทั่งสามารถกำจัดได้สำเร็จในปี 1994 ในโปรตุเกส และ 1995 ในสเปน ยกเว้นบนเกาะซาร์ดิเนียที่ยังคงพบปัญหาจากโรคนี้อยู่แม้ในปัจจุบัน
หลังการระบาดในยุโรป โรคนี้เดินทางข้ามไประบาดในทวีปอเมริกา ในไฮติ บราซิล คิวบา และโดมินิกัน แต่ก็ได้รับการกำจัดควบคุมจนหายไประหว่างปี 1971-1980
ในทศวรรษที่ผ่านมา ASF ยังคงพบในหลายประเทศในทวีปแอฟริกา แต่มีความซับซ้อนเกี่ยวกับการระบาดเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการเพิ่มจำนวนการเลี้ยงสุกรที่เพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วง 2 ทศวรรษทำให้มีการรายงานการระบาดเพิ่มขึ้น พบจีโนไทป์ที่แตกต่างกันของไวรัส ASF มากถึง 24 สายพันธุ์ ในขณะเดียวกันที่พบว่าหมูป่าในแอฟริกาตะวันออกเฉียงใต้ เช่น Potamochoerus larvatus Phacochoerus africanus และ Hylochoerus meinertzhageni สามารถต้านทานต่อไวรัสดังกล่าวได้ ทำให้ไวรัส ASF ยังคงเหลืออยู่ แม้ไม่ส่งผลกระทบต่อหมูป่าแต่ยังคงพบการระบาดในหมูที่เลี้ยงกันทั่วไป ส่งต่อเชื้อผ่านสุกรที่เลี้ยงร่วมกันและพาหะอื่น เช่น เห็บ O. moubata
ก่อนพบการระบาดในเอเชีย ASF โผล่กลับมาพบอีกครั้งในยุโรปในปี 2007 และแพร่ไปอย่างรวดเร็วใน อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน และสหพันธรัฐรัสเซีย และส่งผลกระทบต่อ ยูเครน (2012) และเบลารุส (2013)
ต่อมาในปี 2014 โรคนี้เข้าสู่สหภาพยุโรป (EU) ผ่านทางลิทัวเนีย โปแลนด์ ลัตเวีย และเอสโตเนีย ตั้งแต่ปี 2016 มีประเทศในยุโรปอีก 9 ประเทศได้รับผลกระทบ เช่น มอลโดวา (2016), โรมาเนีย (2017), สาธารณรัฐเช็ก (2017), บัลแกเรีย (2018), ฮังการี (2018), เบลเยียม (2018), สโลวาเกีย (2019), เซอร์เบีย ( 2019) และล่าสุด กรีซ (2020) ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงสำหรับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี และสเปน โดยสองประเทศหลังเป็นผู้ผลิตสุกรรายใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป
มีข้อสังเกตว่าการระบาดของ ASF ในยุโรปนั้นมีการพบการระบาดใน 2 ลักษณะ คือในยุโรปตะวันตกพบการระบาดในหมูป่า ส่วนในยุโรปตะวันออกมักพบการระบาดในสุกรทั่วไป
ภาพสะท้อนนี้ชี้ให้เห็นว่าการควบคุมการระบาดของโรคในแต่ละแหล่งและประเภทของการเลี้ยงสุกรนั้นมีความแตกต่างกัน ตามประเภทของสุกรและวิธีการเลี้ยง ตั้งแต่หมูป่า การเลี้ยงแบบครัวเรือน และการเลี้ยงแบบอุตสาหกรรม
ASF ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนและร้ายแรงที่สุดเมื่อกระจายมายังเอเชีย โดยประเมินว่าจำนวนสุกรที่ได้รับผลกระทบทั่วโลกนั้น 80% หรือมากกว่าเป็นสุกรในเอเชีย
การระบาดเกิดขึ้นครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2018 ที่ประเทศจีน จากฟาร์มสุกรในเมืองเสิ่นหยาง การศึกษาทางทางพันธุกรรมของไวรัสที่แยกได้คล้ายคลึงกันกับไวรัสที่แพร่กระจายในยุโรป การระบาดส่งผลกระทบต่อปริมาณสุกรที่ผลิตได้ในประเทศไม่เพียงต่อการบริโภค ราคาสุกรเพิ่งสูงขึ้นกว่าปกติถึง 2.5 เท่าตัว แม้ว่าจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยแล้วก็ตาม
การระบาดที่จีนไปแพร่ไปสู่ประเทศต่างๆ อีก 12 ประเทศ ในปี 2019 ได้แก่ มองโกเลีย เวียดนาม กัมพูชา ฮ่องกง เกาหลีเหนือ ลาว เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ติมอร์-เลสเต อินโดนีเซีย และในปี 2020 ขยายไปสู่ปาปัวนิวกินี
ส่วนประเทศไทยนั้น รัฐบาลเพิ่งยอมรับการระบาดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี่เอง

ที่มา : เรียบเรียงจาก African Swine Fever (ASF) SUAT, VISAVET Health Surveillance Centre ,University of Madrid.