กรอบการพิจารณาอนาคตของการผลิตพืชของไทยในอนาคต จำเป็นต้องมองบริบทอื่นๆที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นองค์รวม และต้องตระหนักว่าการตัดสินใจในการใช้เทคโนโลยีในการผลิตพืชต้องไม่มองเฉพาะประเด็นเทคโนโลยีอย่างโดดๆ และต้องไม่พิจารณาจากมิติของนักวิทยาศาสตร์/นักวิจัยบางกลุ่ม หรือจากผู้ประกอบการขนาดใหญ่ เป็นด้านหลักอย่างที่เป็นอยู่  แต่ต้องมองจากหลายหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิติทางเศรษฐกิจและสังคม และรวมถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมซึ่งกำลังกลายเป็นเรื่องที่สำคัญมากยิ่งขึ้นทุกขณะ           

เราต้องตระหนักร่วมกันว่า เป้าหมายในการพัฒนาเรื่องพืชและเกษตรกรรมนั้นต้องนำไปสู่ความสุขภาวะที่ดีของคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเกษตรกร หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการมุ่งไปสู่การฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของตัวเกษตรกรและคนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นสำคัญ หาใช่ตัวเลขผลผลิต/ไร่ หรือ การเติบโตของจีดีภาคเกษตรเท่านั้น            

การวิเคราะห์ปัญหาของการเกษตรและการผลิตพืชนั้น จำเป็นต้องเข้าใจกับสภาพความเป็นจริง ดังต่อไปนี้            

1) ประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกอาหารและพืชเกษตรที่สำคัญของโลก เช่นเราส่งออกข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน ติดอันดับต้นๆของโลก อุตสาหกรรมอาหาร และเคมีเกษตร มีผลกำไรมาก บางบริษัทกำไรเป็นหลักหลายพันล้านบาท/ปี แต่เกษตรกรเป็นจำนวนมากกลับมีปัญหาหนี้สิน สูญเสียที่ดินทำกิน สุขภาพและสิ่งแวดล้อมย่ำแย่ การพิจารณาอนาคตการผลิตพืชของประเทศไทยจึงต้องตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวด้วย           

ระบบการผลิตทางการเกษตรในอดีตเป็นส่วนหนึ่งเป็นสาเหตุของของการทำให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นใช่หรือไม่ เราควรตั้งคำถามหรือไม่ว่า เทคโนโลยีการผลิตพืชแบบไหน จึงจะทำให้ชะตากรรมของเกษตรกรไปพ้นจากปัญหาดังกล่าว  

2) วิกฤติการณ์ของพลังงานซึ่งมีสาเหตุมาจากการหมดสิ้นไปของเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งจะเริ่มต้นใน 30 ปีข้างหน้าที่จะถึงนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดอนาคตเทคโนโลยีในการผลิตพืช เทคโนโลยีที่ผูกติดกับน้ำมันฟอสซิลหรือเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเชื้อเพลิงฟอสซิลจะหมดอนาคต เช่น ปุ๋ยและสารเคมีการเกษตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตพืชสูงถึง 1/3 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมดในปัจจุบัน เป็นต้น           

3) ราคาอาหารมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและเชื่อมโยงกับราคาน้ำมัน เพราะเมื่อน้ำมันราคาสูงขึ้นก็จะมีการนำเอาพืชอาหารและพื้นที่การผลิตพืชอาหารมาผลิตพืชพลังงานดังที่เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป ข้อดีคือจะเป็นโอกาสของเกษตรกรที่จะผลิตทั้งพืชอาหารและพลังงาน ข้อเสียคือบริษัทขนาดใหญ่และผู้ประกอบการในสาขาการผลิตอื่นจะเข้ามาแย่งชิงพื้นที่เกษตรกรรมจากมือเกษตรกรรายย่อย ภายใต้โอกาสจึงมีวิกฤตซ่อนอยู่ถ้าไม่มีการจัดการและนโยบายที่เหมาะสม            หากเราไม่สนใจปัญหาความเหลื่อมล้ำและปัญหาของเกษตรกรรายย่อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และเป็นเป้าหมายของการพัฒนาเรื่องการผลิตพืช เราอาจไม่ต้องสนใจว่าใครจะเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีที่จะพัฒนาขึ้น ?           

4) การตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อม สุขภาพของมนุษย์ และรวมทั้งปัญหาของสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมจะเป็นเรื่องใหญ่และมีผลต่อการบริโภคและการใช้ชีวิตของประชาชนทั้งในประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนา เราเห็นภาพยนต์สารคดีของอดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ อัล กอร์ เรื่อง An Inconvenient Truth ได้รับรางวัลออสการณ์สาขาภาพยนตร์สารดีดีเด่นเมื่อปี 2550 และล่าสุดภาพยนตร์ Food, Inc.ของ Eric Schlosser ที่ตีแผ่อุตสาหกรรมอาหาร และพืชจีเอ็มโอได้เข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมเมื่อปี 2552 ที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้มีผลมากต่อทัศนคติของคนในสังคม           

ปัญหาต่างๆที่เกิดจากระบบอาหารซึ่งใกล้ตัวกว่าประเด็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีแนวโน้มจะเป็นที่สนใจมากขึ้นๆเป็นลำดับ ไม่น่าประหลาดใจเลยที่ยอดขายดีวีดีและคำชื่นชมต่อภาพยนตร์เรื่อง Food,Inc. นั้นสูงยิ่งกว่าภาพยนตร์ ของอัลกอร์เสียอีก           

5) เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่า การผลิตพืชและระบบอาหารกำลังเข้าไปสู่ระบบผูกขาดโดยบริษัทจำนวนน้อย ตัวอย่างเช่น เมล็ดพันธุ์ผักเกือบทั้งหมดถูกผูกขาดโดยผู้ประกอบการเพียงรายเดียว กรณีตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดในประเทศขณะนี้มากกว่า 80 % อยู่ในมือของบริษัทขนาดใหญ่เพียง 4 บริษัท ในขณะที่ถ้าหากเปลี่ยนนโยบายประเทศไปสนับสนุนการผลิตพืชจีเอ็มโอจะยิ่งทำให้เกิดการผูกขาดมากยิ่งขึ้นไปอีก ดังที่เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าตลาดพืชจีเอ็มโอในโลกนั้น 80% อยู่ในมือของบริษัมมอนซานโต้แต่เพียงผู้เดียว           

6) เรากำลังอยู่ในช่วงวิวาทะเพื่อแสวงหาทางออกด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับประเทศโดยเฉพาะเทคโนโลยีการผลิตพืช บรรษัทข้ามชาติและหน่วยงานวิจัยของรัฐบาบางแห่งให้ข้อมูลซึ่งเป็นข้อมูลด้านเดียว และส่วนใหญ่มาจากแปลงทดลองของตนเองที่ขาดการตรวจสอบจากสังคม ดังนั้นการดูประสิทธิผลและประโยชน์ในเรื่องการผลิตพืชต้องดูจากความเป็นจริง           

ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีการผลิตพืชแบบพันธุวิศวกรรมไม่ได้ทำให้ผลผลิตพืชเพิ่มขึ้นและไม่ได้ทำให้มีการลดลงของการใช้สารเคมีการเกษตรแต่ประการใด ข้อมูลของ ERS หน่วยงานของรัฐบาลหรัฐเอง พบว่า พืชดัดแปลงพันธุกรรมไม่ได้มีผลผลิตมากกว่าพืชที่ปรับปรุงพันธุ์โดยวิธีการทั่วไป และมิได้ทำให้มีการลดการใช้สารเคมีแต่ประการใด           

7) ทัศนคติของผู้บริโภคต่อพืชจีเอ็มโอและข้อกำหนดของยุโรปและหลายประเทศไม่เอื้ออำนวยให้มีการส่งออกพืชดัดแปลงพันธุกรรมต่อไปอีกนาน ทัศนคติต่อผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอในแง่ลบนั้นไม่ได้ลดลง และในหลายประเทศนั้นดูเหมือนเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ           

8) การพัฒนาพันธุ์ลูกผสมในกรณีข้าวมีผลเสียมากกว่าผลดีทั้งในแง่ผลผลิตไม่ได้สูงดังที่มีการประชาสัมพันธ์ ในทางตรงกันข้ามการส่งเสริมการผลิตข้าวลูกผสมจะส่งผลเสียต่อคุณภาพของข้าวไทย การใช้ทรัพยากรที่ไม่เหมาะสม และการพึ่งพาตนเองของเกษตรกร  

ข้อเสนอต่อการผลิตพืชของไทย ควรจะมีแนวทางดังต่อไปนี้           

1) ฟื้นฟูพัฒนาและใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมพื้นบ้านแทนที่ไปให้ความสำคัญกับพันธุวิศวกรรม  ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพมากควรที่จะได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่มากขึ้น มีตัวอย่างเช่นนี้เป็นจำนวนมากเช่น กรณีข้าวพื้นบ้านที่คุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าข้าวทั่วไปที่รัฐส่งเสริมมาก เช่น ข้าวหน่วยเขือซึ่งเป็นข้าวพื้นบ้านนั้นมีวิตามินสูงกว่าข้าวทั่วไปถึง 26 เท่า โดยไม่จำเป็นต้องตัดต่อพันธุกรรม หรือกรณีการปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลัง ศาสตราจารย์ Nagib Nassar จากมหาวิทยาลัยบราซิลเลียกับคณะได้ผสมพันธุ์โดยวิธีธรรมดาก็สามารถเพิ่มขนาดหัวของมันสำปะหลังใหญ่กว่าทั่วไปถึง 10 เท่า เป็นต้น           

นักวิจัยและบริษัทพันธุวิศวกรรมพยายามที่จะส่งเสริมเทคโนโลยีนี้เท่านั้น แต่หาได้มองทางเลือกอื่นในการพัฒนาไม่           

2) เป้าหมายการพัฒนาพันธุ์พืชควรเน้นที่คุณภาพไม่จำเป็นต้องเน้นที่ผลผลิต/ไร่เสมอไป ประเทศไทยซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพมากไม่ควรแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน และไม่ควรตกอยู่ภายใต้กับดักทางวาทกรรม เช่น “ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวเป็นอันดับ1ของโลก” เพราะเราไม่ควรแข่งในเชิงปริมาณ แต่ควรดูเรื่องคุณภาพมากกว่า ในแง่นี้เราควรพัฒนาพันธุ์พืชที่มีศักยภาพในเชิงคุณค่าทางอาหารและมีมูลค่าเพิ่ม หรือเพิ่มการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพประเภทอื่นที่เรามีเป็นจำนวนมากประเทศไทย ตัวอย่างกรณีศักยภาพของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ได้ยกตัวอย่างไปแล้วข้างต้น  การแปรรูปและใช้ประโยชน์จากไม้ผลเมืองร้อนและสมุนไพรต่างๆ เป็นต้น           

3) สร้างความแข็งแกร่งทางเทคโนโลยีของประเทศและกระจายเทคโนโลยีนั้นไปสู่เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ เราจำเป็นต้องประเมินตัวเองว่า ประเทศไทยได้ล้มเหลวเพียงใดที่สถาบันวิจัยของรัฐในการพัฒนาพันธุ์พืช ไม่สามารถแข่งขันได้กับบริษัทเอกชนอีกต่อไป สถาบันวิจัยพืชหลายแห่ง ขณะนี้เริ่มแปรสภาพเป็นผู้จัดหาทรัพยากรพันธุกรรมป้อนบรรษัทข้ามชาติ อีกทั้งละเลยที่จะสนับสนุนเกษตรกร ผู้ประกอบการท้องถิ่น หรือวิสาหกิจชุมชน ให้มีศักยภาพในการผลิตพันธุ์พืช ทั้งๆที่มีเครือข่ายของเกษตรกร และกลุ่มท้องถิ่นเป็นจำนวนมากที่กำลังดิ้นรนต่อสู้กับการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ของบรรษัทเมล็ดพันธุ์           

สถาบันวิจัยข้าวโพดของรัฐบาล ต้องเข้าไปสนับสนุนเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมที่บ้านเขื่อนผาก และบ้านน้ำแพร่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีความสามารถมากในการผลิตเมล็ดพันธุ์และมีศักยภาพที่จะแข่งขันกับพันธุ์ข้าวโพดของบรรษัทข้ามชาติและเจริญโภคภัณฑ์ แต่ปัจจุบันเกษตรกกลุ่มนี้ถูกกลั่นแกล้งจากหน่วยงานราชการ ที่เอื้อเฟื้อกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่การเกษตรมากกว่า           

เป้าหมายของการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพืชคือ การต้องเอาเทคโนโลยีนั้นไปสู่มือของเกษตรกร สนับสนุนให้เขาพัฒนาวิสาหกิจเกี่ยวกับพันธุ์พืชของเขาขึ้นมา เช่น ข้อเรียกร้องของเกษตรกรจากเครือข่ายโรงเรียนชาวนามากกว่า 90 แห่งที่จ.นครสวรรค์เรียกร้องให้กรมการข้าว และศูนย์ข้าวชุมชนใช้พันธุ์ข้าวที่เขาคัดเลือกและพัฒนาขึ้นไปขยายพันธุ์ไม่ใช่ข้าวที่ถูกส่งสำเร็จรูปมาจากกรมการข้าว เป็นต้น           

4) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพจากฐานของทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ ภูมิปัญญา และศักยภาพของท้องถิ่น           

เทคโนโลยีชีวภาพของท้องถิ่น เช่น การคัดเลือกพันธุ์ข้าวโดยวิธีชาวบ้าน การพัฒนาจุลินทรีย์เพื่อใช้ปรับปรุงบำรุงดิน การใช้สมุนไพรควบคุมแมลง ฯลฯ เป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง และเหมาะสมยิ่งกว่าพันธุวิศวกรรมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ประชาคมวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการเกษตรต้องสร้างความร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่นต่างๆ  ยกตัวอย่างกรณีการปลูกข้าวแบบชีววิถีของเครือข่ายโรงเรียนชาวนาที่จ.สุพรรณบุรี ที่ดำเนินการโดยมูลนิธิข้าวขวัญได้ผลผลิตข้าวเฉลี่ยถึง 1,400 กก/ไร่ และใช้ต้นทุนน้อยกว่าการปลูกข้าวทั่วไปถึงครึ่งหนึ่ง หรือกรณีพ่อแดง หาทวี เกษตรกร อ. สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี ปลูกข้าวได้ถึง 1,700-2,000 กก/ไร่ แต่มีต้นทุนเพียงไร่ละ 500 บาทเท่านั้น เทคโนโลยีชีวภาพของท้องถิ่นจึงมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าพันธุวิศกรรมของบรรษัทข้ามชาติ           

5) การผลิตพืชต้องไม่แยกการผลิตเพื่อขายกับการบริโภคออกจากกัน แต่ต้องมองการผลิตพืชเพื่อความมั่นคงทางอาหารของครอบครัว ชุมชน และประเทศก่อนเป็นลำดับ ต้นทุนค่าใช้จ่ายอาหารของคนเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศมีสัดส่วนสูงตั้งแต่ 35-50% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของครัวเรือน หากครอบครัวเกษตรกรผลิตพืชเพื่อบริโภคเองจะลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของครัวเรือนได้เป็นจำนวนมาก ประเด็นนี้มีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคตเพื่อราคาอาหารมีราคาแพงมากขึ้น 

            การกำหนดนโยบายเกษตรมีความสำคัญมาก เราเห็นสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคารไทย และบริษัทใหญ่ๆมีเสียงดังและมีอิทธิพลมากเหลือเกินในการเสนอแผนและนโยบายต่อรัฐและชี้นำสังคมไทย กลไกของรัฐสภา และกลไกอื่นๆควรได้สะท้อนทิศทางนโยบายและตรวจสอบการทำงานของรัฐและหน่วยงานต่างๆไปเพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง