พันธุกรรมเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ถูกคัดเลือกและปรับตัวให้เข้ากับภูมิเวศโดยบรรพบุรุษชาวนา แต่สถานการณ์ปัจจุบันได้ถูกครอบครองและผูกขาดโดยบรรษัทการเกษตรขนาดยักษ์ไม่กี่บริษัท   บรรษัทและกลุ่มธุรกิจกำลังพยายามผลักดันอย่างหนักให้เกิดการยอมรับการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมซึ่งจะหมายถึงการผูกขาดตลาดเมล็ดพันธุ์

เมล็ดพันธุ์ในฐานะเป็นตัวกำหนดเทคโนโลยีการผลิต อันเป็นเครื่องมือของการผูกขาดสินค้า และการควบคุมตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ ความรุนแรงของผลกระทบ ยังผลต่อความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ  เกษตรกรจะกลายเป็นคนทำตามโปรแกรม หรือแรงงานในที่ดินของตนเพื่อทำการผลิต ศักดิ์ศรีและสถานะในการทำกินของเกษตรกรจะสูญเสีย และกลายเป็นลูกโซ่ปัญหาต่อเนื่อง

กลุ่ม เครือข่ายเกษตรกร และองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ทำงานด้านเกษตรกรรมยั่งยืนได้พัฒนากระบวนการพันธุกรรมของเกษตรกรรายย่อยมามากกว่า 15 ปี กระบวนการดังกล่าวได้แก่ การค้นคว้า เก็บรักษา การคัดเลือก และปรับปรุงพันธุ์ เฉพาะอย่างยิ่งพันธุ์ข้าว รวมถึงเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสม จนถึงปัจจุบันมีกลุ่มเกษตรกรหลายกลุ่มสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว และเมล็ดพันธุ์ผักคุณภาพดี สำหรับตนเองและกลุ่ม ไปจนถึงจำหน่ายในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน 

กระบวนการพันธุกรรมของเกษตรกรรายย่อยดังกล่าวได้รับการยอมรับ และสนับสนุนจากภาครัฐน้อยมาก ในทางกลับกันพบว่าการผลิตเมล็ดพันธุ์โดยกลุ่มชาวบ้านถูกจับกุมดำเนินคดีสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านมาโดยตลอด

 ดังนั้นเครือข่ายเกษตรกรทั่วประเทศรวม 700 คน ที่มาร่วมประชุมกันในเวที “ข้าวข้ามแดน : วัฒนธรรม พันธุกรรมพื้นบ้าน และความมั่นคงอาหาร” ณ มหาวิทยาลัย มหาสารคาม จึงมีข้อเสนอด้านนโยบายและมาตรการด้านพันธุกรรมเพื่อสร้างเสริมความมั่นคงด้านอาหาร และอาชีพเกษตรกรรมที่ยั่งยืนของเกษตรกรและชุมชนท้องถิ่น ต่อรัฐบาล และหน่วยงานของรัฐ ดังต่อไปนี้

  1. ให้รัฐ มีนโยบายและมาตการที่ชัดเจนในการสนับสนุนส่งเสริม ให้เกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์ของตัวเอง   รวมถึงการจัดตั้งศูนย์เมล็ดพันธุ์ชุมชน โดยจะต้องให้ชุมชนมีสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของพันธุกรรม   ตลอดจนได้รับการพัฒนาองค์ความรู้ในการอนุรักษ์ การพัฒนาพันธุ์ การจัดการการผลิต และการตลาด โดยฝ่ายเกษตรกร
  2. ให้มีนโยบายสนับสนุน และเสริมสร้างสนับสนุนการมีส่วนร่วมของเกษตกรในการวิจัยและพัฒนา
  3. สนับสนุนการอนุรักษ์พันธุกรรมพื้นบ้าน ณ ถิ่นที่อยู่ การใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมพื้นบ้าน โดยให้หน่วยวิชาการของรัฐสร้างความร่วมมือกับองค์กรเกษตรกร องค์ปกครองท้องถิ่น สถาบันวิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชน
  4. สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับรองสิทธิเกษตรกรในพันธุกรรมพื้นบ้านของชุมชนท้องถิ่น
  5. ให้มีการรณรงค์เรื่องข้าวพื้นบ้านให้เป็นที่รู้จักในสังคมมากขึ้น
  6. ให้ปกป้องคุ้มครองเกษตรกรในการผลิตและจัดการการตลาดเมล็ดพันธุ์
  7. มีความกังวลและห่วงใยในการเปิดเสรีอาเซียน โดยเฉพาะการเปิดเสรีด้านการค้าเมล็ดพันธุ์

โดยเครือข่ายอิสรภาพทางพันธุกรรม (องค์กรชุมชน และองค์กรเกษตรกรและองค์กรพัฒนาเอกชน 37 องค์กร)

รายชื่อองค์กรร่วมจัดทำข้อเสนอข้อเสนอทางนโยบายและมาตรการต่อรัฐบาลในประเด็นพันธุกรรม

1.โครงการฮักแพง เบิงแญง คนสารคาม ชุดประเด็นเกษตรกรรมยั่งยืน
2.มูลนิธิฮักเมืองน่าน
3.เครือข่ายเกษตรทางเลือก ขอนแก่นใต้-โคราชเหนือ
4.เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนภาคเหนือ
5.เครือข่ายองค์กรชาวบ้านป่าดงลาน
6.กลุ่มเกษตรอินทรีย์ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา
7.เครือข่ายเกษตรทางเลือกยโสธร
8.สวนลุงโชค จ.นครราชสีมา
9.ชมรมรักษ์ธรรมชาติ
10.เครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคเหนือ (เชียงราย, แพร่,น่าน, แม่ฮ่องสอน)
11.กลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลสร้างมิ่ง
12.กลุ่มอนุรักษ์พันธุกรรมพิษณุโลก / Seed exchange
13.เครือข่ายเกษตรทางเลือก กาฬสินธุ์-นครพนม
14.เครือข่ายเกษตรทางเลือก ภาคอิสาน
15.สมาพันธุ์เกษตรอินทรีย์สุรินทร์
16.มูลนิธิการจัดการความรู้ และเครือข่ายโรงเรียนชาวนา นครสวรรค์
17.เครือข่ายเกษตรทางเลือกทุ่งกุลา
18.มูลนิธิข้าวขวัญ
19.สมาคมคนทาม (เขื่อนราศี)
20.เครือข่ายพวกกัน (ภาคกลาง-ภาคตะวันตก)
21.สมาคมอีสานวิถี อำเภอเสลภูมิ
22.เครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคใต้
23.ชุมชนบุญนิยมร้อยเอ็ดอโศก
24.เครือข่ายเกษตรทางเลือกฉะเชิงเทรา
25.กลุ่มพัฒนาอาชีพเพื่อทางเลือก บ้านดงดิบ อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด
26.สถาบันชุมชนเกษตรกรรมธรรมชาติ สุรินทร์
27.อีสานมั่นยืน (กลุ่มอนุรักษ์ข้าวพื้นบ้านอุบล)
28.สถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน ISAC
29.กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
30.โครงการสวนผักคนเมือง
31.สมาคมเครือข่ายเกษตรกรไทย
32.กลุ่มพันธุกรรม จ.อุทัยธานี
33.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
34.เครือข่ายเกษตรทางเลือก ประเทศไทย
35.ศูนย์เรียนรู้โจ้โก้ จังหวัดน่าน
36.มูลนิธิชีววิถี
37.มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)
คำประกาศอิสรภาพทางพันธุกรรม
พันธุกรรม เป็นหัวใจสำคัญที่สุดของระบบการผลิตอาหารที่มั่นคงยั่งยืน ขณะเดียวกันพันธุกรรมก็เป็นเครื่องมือสำคัญของการทำธุรกิจการเกษตรที่สามารถสร้างกำไรมหาศาล ดังนั้นพันธุกรรมหรือเมล็ดพันธุ์ จึงตกเป็นเป้าหมายในการครอบครองของบริษัทการเกษตรต่าง ๆ มาโดยตลอด ทั้งโดยการใช้กลไกด้านเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์เป็นตัวควบคุม ได้แก่ พันธุ์ผลผลิตสูง พันธุ์ลูกผสม ไปจนถึงพันธุ์จีเอ็มโอ และใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการขัดขวางการพัฒนาและจัดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกรรายย่อย ผลของการส่งเสริมของรัฐ ร่วมกับบริษัทเป็นระยะเวลาไม่ถึง 20 ปี เมล็ดพันธุ์ผักต่าง ๆ และข้าวโพดได้ถูกรวบไปอยู่ในมือของบริษัทมากกว่า 90 % ขณะที่พันธุ์ข้าวยังไม่ตกไปอยู่ในมือบริษัทแต่ก็ไม่แน่ว่าชาวนาจะรักษาไว้ได้อีกนานเพียงใด เนื่องจากบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่ต่ำกว่า 3 บริษัทกำลังผลักดันพันธุ์ข้าวลูกผสมทุกวิถีทาง ในปัจจุบันภาวะวิกฤตการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศซึ่งได้นำพาพิบัติภัยน้ำท่วม ภัยแล้ง รุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น ประกอบกับการเปิดเสรีการค้าเต็มที่นับตั้งแต่ปี 2553และการเข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 จะยิ่งสร้างภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของเกษตรกรรายย่อย  ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ได้ริเริ่มกระบวนการจัดการพันธุกรรมข้าว เฉพาะอย่างยิ่งข้าวพันธุ์พื้นบ้าน ทำให้เครือข่ายสามารถฟื้นฟูพันธุกรรมข้าวพื้นบ้านกลับมาปลูกในแปลงนาของชาวบ้านมากกว่า 200 สายพันธุ์ และในระยะสองสามปีที่ผ่านมายังได้ริเริ่มจัดการพันธุ์ผัก ผลไม้ กล้าไม้ต่าง ๆ ตลอดจนพันธุ์สัตว์  เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ประเทศไทย และเครือข่ายพี่น้องชาวนาทั้งหลาย ในนามของเครือข่ายอิสรภาพทางพันธุกรรม ร่วมกับพันธมิตรสถาบันทางวิชาการ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน  ขอประกาศ ณ ที่นี้ว่าเรามีความเชื่อมั่นว่าการรื้อฟื้นภูมิปัญญา และการสร้างอำนาจในการจัดการตัวเองของชาวนาในเรื่องพันธุกรรมจะเป็นหลักประกันความอยู่รอดของเรา เรามีความเชื่อมั่นว่า มีเพียงการรักษาพันธุกรรมอันหลากหลายให้อยู่ในมือชาวนาชาวไร่เท่านั้นจึงจะเป็นหลักประกันระบบอาหารอันมั่นคงยั่งยืน และความสามารถในการพึ่งพาตนเองทั้งในระดับครัวเรือนและระดับชาติ เราจะร่วมกันขับเคลื่อนกระบวนการเพื่ออิสรภาพทางพันธุกรรม อันได้แก่ การเก็บรวบรวม คัดเลือก ขยาย แลกเปลี่ยนพันธุกรรมคุณภาพ อย่างต่อเนื่อง เราจะร่วมกันผลักดันนโยบายและมาตรการทุกระดับ เพื่อส่งเสริมการรักษาพันธุกรรมของชาวนาชาวไร่ เราจะยืนหยัดเป็นผู้ผลิตที่มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ผลิตอาหารที่สด สะอาด และปลอดภัย สุดท้าย เราจะขยายเครือข่ายพี่น้องชาวนาชาวไร่ รวมกำลังกันเป็นเครือข่ายอิสรภาพทางพันธุกรรม เพื่อต้านทานกระแสการผูกขาดของบริษัทอย่างแข็งขัน
ประกาศ ณ เวทีสัมมนา“ข้าวข้ามแดน : วัฒนธรรม พันธุกรรมพื้นบ้าน และความมั่นคงทางอาหารวันที่ 3 เมษายน 2555