ผลการศึกษาขององค์กรพัฒนาระหว่างประเทศอ็อกแฟมพบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้มีการซื้อขายที่ดินคิดเป็นขนาดใหญ่กว่าประเทศสมาชิกอาเซียนรวมกัน 10 ประเทศเล็กน้อยยกเว้นอินโดนีเซีย โดยขนาดที่ดินนั้นสามารถใช้ปลูกพืชเลี้ยงประชากรได้ถึง 1 พันล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนประชากรที่อดอยากทั่วโลกในขณะนี้

ในรายงานฉบับใหม่ชื่อว่า Our Land, Our Lives (แผ่นดินของเรา ชีวิตของเรา) อ็อกแฟมได้เตือนว่าในช่วงระหว่างปี 2000 และปี 2010 ประเทศกำลังพัฒนาที่ประสบปัญหาเรื่องความมั่นคงด้านอาหารในแถบแอฟริกาและเอเชีย อาทิเช่น กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย เป็นเป้าหมายหลักของนักลงทุนด้านเกษตรกรรมและซื้อขายที่ดินกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ในแผนการลงทุนนั้น 2 ใน 3 ของผลผลิตจะส่งออกนอกประเทศ และยังพบว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของพืชที่ปลูกในที่ดินเหล่านี้เป็นพืชพลังงาน ไม่ใช่พืชอาหาร

รายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรณรงค์ของอ็อกแฟมเรื่องสิทธิ์ที่ดินของคนจน โดยมีจุดประสงค์เพื่อหยุดการแย่งที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของคนเหล่านี้ แม้ว่าอ็อกแฟมจะสนับสนุนการลงทุนด้านการเกษตรโดยเฉพาะกับเกษตรกรรายย่อย การตื่นตัวกว้านซื้อที่ดินหรือลงทุนปลูกพืชในประเทศอื่นๆ แล้วส่งออกกลับไปยังประเทศต้นทางนั้นถือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงทางอาหารของประชาชนในประเทศนั้นๆ อย่างยิ่งเพราะว่าในขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายหรือนโยบายของรัฐใดๆ ที่จะป้องกันผลกระทบต่างๆ ในระยะยาว ทำให้มีคนยากจนจำนวนมากถูกขับไล่ออกจากที่ดินที่ตนเองอยู่มาหลายชั่วอายุคนโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าหรือจ่ายค่าชดเชยจากหน่วยงานรัฐหรือบริษัทที่เข้าครอบครองแต่อย่างใด หลายครั้งก็เกิดความรุนแรงตามมา ส่งผลให้คนหลายล้านคนกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัยและขาดที่ดินทำกิน

จากการศึกษาพบว่าประเทศยากจนเหล่านี้ได้สูญเสียที่ดินขนาดเท่าสนามฟุตบอลทุกๆ 1 วินาทีให้กับกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการซื้อขายที่ดินเป็นจำนวนทั้งหมดทั่วโลก 2 ล้านตารางกิโลเมตร (ตร กม) หรือประมาณขนาดของพื้นที่ประเทศอินโดนีเซียทั้งหมด ในกัมพูชา องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรประมาณการณ์ว่าพื้นที่ 22000 ตร กม ได้ถูกขายไปให้บริษัทเอกชนแล้วโดยนับเป็น 56-63 เปอร์เซ็นต์ของที่ดินที่เพาะปลูกได้ทั้งหมดของประเทศ และผลการคำนวณของอ็อกแฟมพบว่า วิกฤติการณ์ราคาอาหารแพงในช่วงปี 2008 และ 2009 ได้กระตุ้นให้ข้อตกลงซื้อขายที่ดินเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ที่ดินกลายเป็นทองคำมีค่าควรแก่การลงทุนเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงข้าวยากหมากแพงเนื่องจากประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นหมายถึงความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นด้วย ทำให้ความต้องการใช้ที่ดินมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

อ็อกแฟมเรียกร้องให้ธนาคารโลกระงับโครงการลงทุนและให้กู้ที่เกี่ยวกับที่ดินและเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิที่ดินของชุมชนทั้งหมดเป็นเวลา 6 เดือนและทบทวนข้อเสนอแนะที่ให้กับประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้น ช่วยกำหนดมาตรฐานสำหรับนักลงทุนและมีการใช้นโยบายที่เข้มแข็งในการลงทุนด้านนี้เพื่อป้องกันและควบคุมการกว้านซื้อที่ดิน ธนาคารโลกอยู่ในสถานะที่พิเศษเพราะเป็นทั้งผู้ลงทุนและที่ปรีกษาให้กับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ในทศวรรษที่ผ่านมา ธนาคารโลกได้เพิ่มการลงทุนด้านเกษตรกรรมถึง 200 เปอร์เซ็นต์ และจากผลการวิจัยของธนาคารโลกเองก็พบว่า ประเทศที่มีมูลค่าการซื้อขายที่ดินสูงๆ เป็นประเทศที่ระบบการคุ้มครองสิทธิที่ดินของชุมชนอ่อนแอที่สุด โดยไม่จำเป็นว่าเป็นประเทศที่ยากจนที่สุด โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธนาคารรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิที่ดินของชุมชนเป็นจำนวนถึง 21 รายแล้ว โดย 12 รายอยู่ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค

เจเรมี่ ฮอบส์ ผู้อำนวยการบริหารอ็อกแฟมกล่าวว่า “โลกกำลังเผชิญหน้ากับการกว้านซื้อที่ดินที่ส่งผลให้คนจนกลับจนลงกว่าเดิมและก่อให้เกิดความรุนแรงและความขัดแย้งระหว่างประชาชน หน่วยงานรัฐและกลุ่มภาคเอกชน”

“การระงับการลงทุนชั่วคราวและหันกลับมาทบทวนบทบาทของตนเองจะช่วยให้ธนาคารโลกเป็นตัวอย่างที่ดีกับนักลงทุนและรัฐบาลในการกระตุ้นให้หยุดการละเมิดสิทธิมนุษยชน และมีการสร้างมาตรการที่ทำให้มั่นใจได้ว่าการลงทุนนี้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริงและยั่งยืน สำหรับประเทศกำลังพัฒนา การลงทุนและการพัฒนาน่าจะเป็นเรื่องดี แต่นั่นหมายความว่าทุกฝ่ายได้ประโยชน์เท่าเทียมกัน ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนลงหรือลำบากกว่าเดิม”

ในการประชุมประจำปีครั้งแรกของธนาคารโลกวันที่ 14 – 14 ตุลาคมนี้นั้น อ็อกแฟมต้องการเห็นความเคลื่อนไหวที่เป็นไปในทางที่สอดคล้องกับข้อเรียกร้องนี้ การระงับโครงการที่เกี่ยวข้องหรืออาจส่งผลกระทบต่อสิทธิชุมชนทั้งหลายจะช่วยให้ผู้บริหารได้จัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เราต้องการให้การระงับนี้เป็นเสมือนสัญญาณต่อนักลงทุนทั่วโลกให้หยุดการกว้านซื้อขายที่ดินและปรับปรุงมาตรฐานในเรื่อง

– ความโปร่งใส
– การปรึกษาหารือก่อนการตัดสืนใจ และการได้รับความยินยอมจากชุมชน
– การคำนึงถึงสิทธิชุมชนและธรรมาภิบาล
– ความมั่นคงทางอาหาร
ฮอบส์กล่าวว่า “ธนาคารโลกมีหน้าที่แก้ไขปัญหาความยากจน ดังนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบที่จะต้องหยุดการการกระทำนี้อย่างเร่งด่วน เรื่องนี้เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงมากเพราะตอนนี้สงครามแย่งชิงทรัพยากรเรื่องที่ดินและน้ำรุนแรงขึ้นทุกวัน สิทธิในที่อยู่และที่ทำกินของคนจนควรต้องได้รับการปกป้องอย่างถึงที่สุด”

หมายเหตุ
– จากข้อมูลของ International Land Coalition ในช่วงปี 2000 – 2010 ปีที่ผ่านมา มีการซื้อขายที่ดินทั่วโลกคิดเป็นพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2.03 ล้านตารางกิโลเมตร โดยพบว่าที่ดินจำนวน 1.06 ล้าน ตร กม ในประเทศกำลังพัฒนาได้ตกเป็นของนักลงทุนต่างชาติ
– อาเซียนประกอบไปด้วยชาติสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลย์เซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงค์โปร์ ไทย เวียตนาม และติมอร์ เลสเต้
– ยกเว้นประเทศอินโดนีเซียแล้ว พื้นที่ของประเทศสมาชิกอื่นๆ อีก 10 ประเทศทั้งหมดรวมกันได้ 1.9 ล้าน ตร กม ซึ่งเป็นจำนวนไล่เลี่ยกับพื้นที่ๆ ถูกซื้อขายในโครงการลงทุนด้านเกษตรกรรมขนาดใหญ่โดยบริษัทเอกชนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โดยตัวเลขนี้เท่ากับพื้นที่ประเทศอินโดนีเซียทั้งหมด

ที่มา: http://www.prachatham.com/detail.htm?code=00_04102012_01