กรุงเทพฯ17 พ.ย. – การเสวนาวิชาการ “วิเคราะห์ TPP ประเทศไทยต้องเตรียมตัวอย่างไร” นักวิชาการและเอ็นจีโอคัดค้าน โดยเห็นว่าไทยจะเสียเปรียบทางการค้า ปัญหาสิทธิบัตรยา-พันธุ์พืช จะทำให้คนจนเข้าถึงได้ยากขึ้น

นายประภัสสร์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-PacificStrategic Economic Partnership Agreement : TPP) นับเป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ด้านเศรษฐกิจของสหรัฐ ซึ่งช่วงที่ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา เดินทางเยือนประเทศไทย โอกาสนี้รัฐบาลไทยได้ประกาศว่าประเทศไทยจะเข้าร่วม TPP จากที่ก่อนหน้านี้ไม่ตัดสินใจ จึงเชื่อว่าเพื่อเอาใจโอบามา และแม้รัฐบาลหวังประโยชน์มิติทางการค้า อาจส่งออกและใกล้ชิดสหรัฐมากขึ้น แต่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมีผลกระทบโดยเฉพาะเชิงลบที่น่ากังวล โดยเฉพาะสาขาเกษตร การค้าภาคบริการมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม ทรัพย์สินทางปัญญา และอาจกระทบความสัมพันธ์ในอาเซียน อาจจะเกิดการแตกแยกระหว่างสมาชิกที่สนับสนุนจีน และสหรัฐ

“เดิมสหรัฐมีขนาดจีดีพีเท่ากับครึ่งหนึ่งของจีดีพีโลก ปัจจุบันเหลือไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ขณะที่เอเชียกำลังผงาดขึ้นมาทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งจีน เอเชีย และอาเซียน ประกอบกับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มประเทศในเอเซียจะรวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐรวมอยู่ ดังจะเห็นได้จากข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) หลายฉบับ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้สหรัฐไม่อาจนิ่งเฉย และต้องการให้การรวมกลุ่มของเอเชียเป็นส่วนหนึ่งของ TPP ที่เป็นกรอบที่ใหญ่กว่า หลัง FTAไม่คืบหน้า” นายประภัสสร์ กล่าว

นายวรศักดิ์ มหัทธโนบล สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สิ่งที่ต้องคำนึงคือประเทศไทยได้เปรียบหรือเสียเปรียบ ขณะที่จีนกำลังรุกคืบเข้ามาในอาเซียน และไทยต้องเตรียมการรับการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งการที่เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มถดถอยตั้งแต่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ 2552 ทำให้สรัฐต้องพิจารณาเรื่องนี้และรุกคืบเข้ามา เป็นก้าวใหญ่ของการค้าเสรีทางการค้า และเสรีภาคการเงิน เชื่อว่าสหรัฐน่าจะดึงจีนเข้าร่วม TPP ด้วย

รศ.ดร.จิราพร ลิ่มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า หากไทยเข้าร่วม TPP จะเปิดช่องให้สหรัฐจะใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ได้เปรียบกับประเทศอื่น คือ ไอที และทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการเป็นมหาอำนาจโลก ฉะนั้นหากประเทศไทยจะเข้าร่วม TPP ต้องพิจารณาว่าจะตกเป็นเหยื่อประเทศที่มีทรัพย์สินทางปัญญาเหนือกว่าหรือไม่ เพราะ TPP ไม่ต่างจาก FTA ที่สหรัฐเจรจากับไทยก่อนหน้านี้ แต่ถูกต่อต้าน และข้อกำหนด TPP ยังกำหนดให้ไทยเข้าไปอยู่ในข้อตกลงหลาย ๆ เรื่องที่ไม่ได้เข้าไปอยู่เพราะเสียประโยชน์ นอกจากนี้ เรื่องสิทธิบัตรก็จะเปลี่ยนแปลงไป โดยทั่วโลกระบบสิทธิบัตรถูกใช้เป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้าและฟาดฟันคู่ แข่งที่อ่อนแอกว่า โดยเฉพาะสิทธิบัตรยา ประเภทยาสามัญจะถูกขัดขวางไม่ให้เกิดขึ้นในประเทศ จะต้องนำเข้าเกือบทั้งหมด ซึ่งจะเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ตามมา

นอกจากนี้ยังมีเรื่องพืชและสัตว์ รวมถึงวิธีการรักษา วิธีการวินิจฉัยที่จะมีการจดสิทธิบัตร จากปัจจุบันเป็นข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตรของไทย และเรื่อง Bolar provision ซึ่งเป็นข้อกำหนดหรือมาตรการที่ยอมให้ทำได้ หรือห้ามทำ โดยสหรัฐต้องการให้ผูกขาดยาใหม่และสารเคมีการเกษตรใหม่ 5 และ 10ปี ตามลำดับ จะทำให้เกิดการผูกขาดตลาดยาในรูปแบบใหม่ ส่งผลยาแพงและภาวะขาดแคลนยา จากการศึกษาพบว่าหากทำข้อตกลงนี้ ค่าใช้จ่ายการนำเข้ายาจะเพิ่มสูงขึ้น ในปีที่ 5 อีกกว่า 80,000 ล้านบาทต่อปี และในปีที่ 30 จะเป็นถึง 600,000 ล้านบาทต่อปี กระทบคนยากจน และคนรวยเท่านั้นที่จะเข้าถึงยา

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า TPP คือการเริ่มต้นใหม่ของ FTA กับสหรัฐ ที่คนไทยกว่า 10,000 คน ชุมนุมต่อต้านที่เชียงใหม่ เพราะเป็นการได้เปรียบเชิงกติกาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและการลงทุน หากชัดเจนผลประโยชน์ประเทศและประชาชนต้องแจ้งให้ทราบว่าประเทศไทยไม่ทำข้อ ตกลงในลักษณะนี้ การเจรจา TPP ไม่เพียงเศรษฐกิจและเรื่องภูมิศาสตร์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย การตัดสินใจต้องพิจารณาเนื้อหาของความตกลงเป็นสำคัญหากไม่จะเป็นผลกระทบร้าย แรงต่อประเทศ

สำหรับผลกระทบด้านภาคเกษตรและทรัพยากรชีวภาพ ได้แก่ ประเทศไทยจะต้องให้การคุ้มครองพันธุ์พืชบริษัทข้ามชาติ ตาม UPOV 1991 ซึ่งทำให้ไทยต้องขยายขอบเขตสิทธิผูกขาดของบริษัทให้กว้างขึ้น โดยนักปรับปรุงพันธุ์มีสิทธิเด็ดขาดที่จะกีดกันผู้อื่นมิให้นำเอาส่วนที่ใช้ ในการขยายพันธุ์ของพืชไปใช้ประโยชน์ทั้งในทางพาณิชย์และการเพาะปลูก รวมทั้งมีสิทธิห้ามการส่งออก นำเข้า หรือเก็บรักษาส่วนที่ใช้ในการขยายพันธุ์ของพืชเพื่อการจำหน่ายหรือเพื่อการ เพาะปลูกใกล้เคียงกับสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต เป็นต้น ท้ายสุดจะนำสู่การผูกขาดของบริษัทขนาดใหญ่ เมล็ดพันธุ์จะเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า ในที่สุดการขยายสิทธิบัตรไปสู่สิ่งมีชีวิต การเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญาบูดาเปสต์ การให้ความสำคัญในการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าเหนือการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ ทางภูมิศาสตร์ ผลกระทบต่อการเปิดเสรีสินค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชดัดแปลงพันธุกรรม(GMOs) สิ่งเหล่านี้สหรัฐได้เปรียบ.

มูลนิธิชีววิถี

ที่มา: สำนักข่าวไทย