ประเด็นการเจรจาประเด็นหนึ่งที่ยังคงเป็นข้อถกเถียง/อภิปรายกันอย่างมาก และยังหาข้อยุติไม่ได้ สำหรับเวทีการเจรจาเรื่องโลกร้อน ณ กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนี ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม -11 มิถุนายน 2553 นั้นก็คือ ประเด็นเรื่อง REDD ซึ่งเป็นคำย่อมาจากคำเต็มว่า Reducing Emissions form Deforestation and Degradation in Developing Country (การลดก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าในประเทศกำลังพัฒนา) REDD เป็นกลไกหนึ่งที่ถูกนำเสนอขึ้นมาใหม่เพื่อการแก้ไขปัญหาโลกร้อน ถึงขณะนี้ค่อนข้างเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าเรื่อง REDD จะรวมถึงการเพิ่มหรือฟื้นฟูพื้นที่ป่าด้วย จึงกลายเป็น REDD Plus

ตามเอกสารเจรจาขณะนี้ ขอบเขตกิจกรรรมของ REDD สู่ REDD Plus * ครอบคลุมกิจกรรมทั้งในส่วนของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากความเสื่อมโทรมของป่า การอนุรักษ์การกักเก็บคาร์บอน การจัดการป่าอย่างยั่งยืน และการเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในประเทศกำลังพัฒนา

ในการเจรจา สหภาพยุโรป ต้องการให้กำหนดเป้าหมาย 50% ของอัตราการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่า ในปี 2563 (ค.ศ. 2020) และลดการสูญเสียป่าไม้ในภาพรวมของโลกภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) ซึ่งมุมมองของประเทศกำลังพัฒนา เป็นห่วงว่าการกำหนดเป้าหมายนี้ จะกลายมาเป็นพันธกรณีทางอ้อมต่อประเทศกำลังพัฒนาต่อไป ส่วนเรื่องกลไกสนับสนุนทางการเงิน แบ่งเป็น 1) กลไกตลาด ซึ่งประเทศปาปัวนิวกินีสนับสนุนการใช้กลไกนี้ ข้อดี คือทำให้การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความยั่งยืนเนื่องจากไม่มีข้อจำกัดในเรื่องทุน เกิดความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ข้อจำกัดของแนวทางนี้ คือ ความต้องการจะขึ้นอยู่กับอุปสงค์ และอุปทานของตลาด 2) ระบบกองทุน ซึ่งเป็นกลไกที่นำเงินทุนมาจากการระดมทุนจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ภาคเอกชน หรือองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ประเทศที่สนับสนุนระบบนี้ เช่น ประเทศโบลิเวีย

การสนับสนุนการเงิน ประเทศพัฒนาแล้วตั้งเป้าหมายที่จะให้ความช่วยเหลือจำนวน 100 ล้านเหรียญ ในปี 2563 (ค.ศ. 2020) แก่ประเทศกำลังพัฒนา มีการจัดตั้งกองทุน Copenhagen Green Climate Change Fund เพื่อสนับสนุนโครงการ นโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กิจกรรม REDD Plus การปรับตัว ศักยภาพในการลงทุน การพัฒนา รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วย ทางสหภาพยุโรป กล่าวถึง การตรวจสอบการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกว่าเป็นสิ่งที่ต้องกระทำ และควรเข้มงวดในการควบคุม ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกา มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเรื่องการจัดการพื้นที่อย่างยั่งยืน

ในเรื่องของการบริหารปกครอง หลายๆกลุ่มประเทศสมาชิก ต้องการให้มาตรฐานการควบคุม และการตรวจสอบเป็นไปตาม UNFCCC กำหนด ที่เกิดจากความพยายามในความร่วมมือของประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา ทั้งนี้ระบบการจัดการเกี่ยวกับเรื่อง REDD Plus มีขอบเขตครอบคลุมทั้งในด้านประเด็นเกี่ยวกับสังคมและการปกป้องสิ่งแวดล้อม การขับเคลื่อนนโยบาย ความก้าวหน้าของกระบวนการตรวจวัด การจัดทำรายงาน ติดตามตรวจสอบได้ (MRV) ขั้นตอนการเตรียมความพร้อม ความน่าเชื่อถือ การประสานงานของสถาบันต่างๆ การพัฒนาระบบการจัดการภาคป่าไม้ รวมไปถึงการจัดสรรผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม เป็นต้น โดยประเทศตูวาลู มีข้อเสนอว่า การดำเนินการเรื่อง REDD Plus ควรจะให้ความช่วยเหลือทุกกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเพื่อการแก้ไขปัญหาการลดการทำลายป่า

ประเทศอัฟกานิสถาน และโบลิเวีย ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการมีส่วนร่วมและการตระหนักถึงสิทธิของชนพื้นเมือง รวมไปถึงการเคารพความรู้และสิทธิของชนพื้นเมืองด้วย ประเทศแทนซาเนีย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น เกี่ยวกับ REDD Plus เป็นสิ่งสำคัญ ส่วนประเทศจีน และกลุ่มประเทศแอฟริกา มีจุดยืนว่าการดำเนินการเกี่ยวกับ REDD Plus จะใช้วิธีการสมัครใจ

สำหรับประเทศไทย ประเด็นเรื่อง REDD ยังมีข้ออภิปรายกันในหลายแง่มุม จะต้องคำนึงถึงรูปแบบ REDD ที่เหมาะสมในบริบทสังคมไทย ความหลากหลายของระบบนิเวศ ความหลากหลายของป่าเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรม บนฐานแนวคิดสิทธิ ความเสมอภาค และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต้องไม่กีดกันสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่น คนพื้นเมืองเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นำไปสู่การจัดการป่าอย่างยั่งยืนต่อไป

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อสรุปในประเด็นต่างๆ ที่กล่าวถึงข้างต้น แต่ก็มีข้อสังเกตว่าทุกประเทศให้ความสำคัญและตระหนักเรื่องกลไก REDD เพิ่มมากขึ้น รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยจะมีเวทีการเจรจา AWG-LCA 11 และ AWG-KP 13 ณ กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมันระหว่างวันที่ 2 – 6 สิงหาคม 2553 ต่อด้วยเวทีการเจรจา AWG-LCA 12 และ AWG-KP 14 ณ ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 25 – 30 ตุลาคม 2553 ต้องติดตามประเด็น REDD อย่างใกล้ชิดว่าจะมีบทสรุปอย่างชัดเจนหรือไม่ ก่อนที่จะไปถึงเวทีเจรจา COP 16 ณ เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโก ปลายปีนี้

ที่มา : http://www.measwatch.org/