การจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง อาหาร การดำเนินชีวิต และภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงนี้ ถูกจัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและพัฒนาความรู้เรื่องโลกร้อนและภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยเน้นถึงปัญหาและผลกระทบต่อภาคเกษตร การประมง รวมถึงเรื่องอาหารและการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน ผ่านมุมมองและการทำงานของกลุ่มประชาสังคมในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม) และกลุ่มประชาสังคมในบางประเทศใกล้เคียงเช่น จีนและพม่า นอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของแต่ละประเทศแล้ว การฝึกอบรมนี้ยังมีจุดมุ่งหมายที่จะทำความเข้าใจความเกี่ยวโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและการพัฒนาเศรษฐกิจในแบบปัจจุบัน โดยทั้งยังสนับสนุนการแลกเปลี่ยนความรู้ในโครงการ REDD และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาโลกร้อนในระดับชาติและระดับโลกการเกิดขึ้นของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงนั้นมีสาเหตุมาจากทั้งปรากฏการณ์ในธรรมชาติและกิจกรรมที่มนุษย์ได้กระทำ ซึ่งมีความจำเป็นที่จะแบ่งจำพวกให้ชัดเจนเพื่อหาต้นตอของสิ่งที่เป็นตัวเร่งภาวะโลกร้อนและเพื่อหาทางออกที่ตรงจุด สิ่งที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือการเข้าใจขีดจำกัดในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่ทำให้เกิดภาวะแล้งจัด น้ำท่วม ฝนตกไม่ตรงตามฤดู ภัยธรรมชาติที่มีบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น ฯลฯ ในหลายๆภูมิภาค สำหรับในประเทศไทยเองภาวะโลกร้อนมีผลกระทบมากต่อภาคการเกษตร การประมง และวิถีชีวิตของคนในหลายชุมชน เช่นการที่ต้องรดน้ำสับประรดในปัจจุบัน ทั้งๆที่เมื่อ 20 ปีที่แล้วไม่มีความจำเป็น หรือเรื่องการหาปลาที่ต้องออกทะเลไกลขึ้นและการคาดเดาภูมิอากาศที่ทำได้ยากมากขึ้น เป็นต้น อีกทั้งยังมีปัญหาที่เกิดจากการแก้ไขเรื่องโลกร้อนอย่างไม่ถูกทาง ซึ่งได้สร้างความเสียหายและความเดือดร้อนต่อชุมชนที่เกี่ยวข้อง เช่นเรื่องการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงที่เปลี่ยนระบบนิเวศน์ของน้ำ ทำให้น้ำเสีย ปลาตาย และ กระทบการเกษตรในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโดยตรง ในประเทศเพื่อนบ้านเช่นลาวและกัมพูชา ปัญหาของการย้ายถิ่นฐานของเกษตรกร การเปลี่ยนอาชีพ และผลกระทบต่อเด็กเมื่อพ่อแม่ต้องไปหางานในเมือง เป็นปัญหาสำคัญอีกเช่นกัน การแก้ไขปัญหาโลกร้อนในปัจจุบันนั้นยังเป็นแนวทางจากบนลงล่าง นโยบายของรัฐในหลายๆประเทศของภูมิภาคนี้ได้รับอิทธิพลจากแนวความคิดในกรอบเศรษฐศาสตร์ของการประชุมและการทำอนุสัญญาในระดับโลก โดยเฉพาะอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change หรือ UNFCCC) ที่ประเทศในอาเซียนไม่มีอำนาจต่อรองเท่าใด การประชุมระดับโลกหลายๆครั้งได้มีการถกเถียงเรื่องเพดานที่กำหนดอุณหภูมิว่าควรสูงขึ้นอีกเท่าใดถึงเป็นระดับที่พอรับได้ เนื่องจากปัจจุบันอุณหภูมิได้สูงขึ้น 0.67 oC หลังจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่ตัวเลขของอุณหภูมิที่มีการถกเถียงกันอยู่คือ 1.5 oC หรือ 2 oC  อย่างไรก็ตามการประชุมที่โคเพนเฮเก็น ประเทศเดนมาร์ค เมื่อปี 2552 ที่ผ่านมา ยังไม่มีการตกลงเรื่องอุณหภูมิ เรื่องเงินทุนแก้ไขปัญหา และเรื่องการเรียนรู้และจ่ายโอนเทคโนโลยีลดโลกร้อน เป็นต้น ดังนั้นแต่ละประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ควรมีแนวทางการแก้ไขปัญหาและหาเครื่องมือในการจัดการกับภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง โดยจะรอให้การประชุมระดับโลกกำหนดบริบทในการจัดการปัญหานี้อย่างเดียวมิได ในขณะเดียวกันองค์กรการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกก็มีบทบาทสำคัญในเรื่องการแก้ปัญหาโลกร้อน โดยมีการตั้งคำถามว่าองค์กรเหล่านี้ได้ส่งความช่วยเหลือด้านทุนเพื่อสร้างกลไกรับมือกับปัญหา หรือได้ทำให้ปัญหาร้ายแรงขึ้น? เพราะว่าทั้งธนาคารโลกและองค์กรการเงินระหว่างประเทศมีทั้งอำนาจทางการเงินและทางความคิดที่สามารถปรับเปลี่ยนนโยบายภายในประเทศให้เป็นไปทั้งด้านบวกหรือด้านลบได้ จากการติดตามงานขององค์กรเหล่านี้ได้ผลสรุปว่านโยบายต่างๆที่ส่งทอดลงมาในระดับประเทศ รวมทั้งเงินทุนที่มีเงื่อนไข มีผลเสียต่อการจัดการปัญหาโลกร้อนในระดับชาติจนถึงระดับชุมชน ทางออกทางด้านเศรษฐกิจที่ธนาคารโลกสนับสนุนเช่น การค้าคาร์บอน กลไกการพัฒนาที่สะอาด การสร้างเขื่อน หรือการสร้างโรงพลังงานนิวเคลียร์ ล้วนเป็นการเอื้อประโยชน์ในนายทุนและทางภาคอุตสาหกรรมที่ละเลยผลกระทบต่อชุมชน ระบบนิเวศน์ และการรับผิดชอบของภาคอุตสาหกรรมที่ได้ปล่อย CO2 และมลภาวะอื่นๆมาเป็นช่วงเวลากว่าศตวรรษ โดยเฉพาะในเรื่องการค้าคาร์บอนที่ใช้กลไกทางตลาดเบี่ยงเบนประเด็นการลดการปล่อย CO2โดยแม้จะจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซของแต่ละประเทศ การให้สิทธิ์เริ่มแรกที่เอื้อให้ประเทศอุตสาหกรรมปล่อยก๊าซในระดับสูงและสามารถค้าใบอนุญาตคาร์บอนเพื่อเพิ่มปริมาณการปล่อยก๊าซทำให้เกิดการฉ้อฉล ลักลอบปล่อยก๊าซ ซึ่งทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าปริมาณ COที่ถูกปล่อยจริงมีปริมาณเท่าใด อีกทั้งยังมีการลงทุนข้ามชาติเพื่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศที่กำลังพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์จากกฎหมายที่อ่อนแอและการปล่อยก๊าซภายในประเทศที่ยังมีสัดส่วนน้อยในการเพิ่มปริมาณการปล่อย COของบรรษัทข้ามชาติ อีกหนึ่งผลลัพธ์ของ UNFCCC ที่มีการโจษจันมากในขณะนี้คือโครงการลดการปล่อยก๊าซจากการทำลายป่าและทำให้ป่าเสื่อมโทรม (Reduce Emission for Deforestation and forest Degradation หรือ REDD) ซึ่งเน้นการลดการตัดไม้ เผาป่า และรณรงค์ปลูกป่าเพื่อเป็นแหล่งดูดซับ CO2 โดยประเทศที่ร่วมโครงการสามารถขอเงินช่วยเหลือจากธนาคารโลกหรือองค์กรการเงินระหว่างประเทศบางแห่งได้ ประเทศลุ่มแม่โขงส่วนใหญ่เข้าร่วมโครงการในปี 2552 และหลายๆประเทศได้มีนโยบายเรื่องลดการปล่อยก๊าซตามแนวทางของ REDD ยกเว้นประเทศไทยที่ยังไม่มีนโยบายออกมาชัดเจน โครงการ REDD เองนั้นได้มีการพัฒนามาเป็น REDD+ โดยมีการร่วมมือจากคนในพื้นที่หรือคนพื้นเมืองเพื่อช่วยในการเก็บข้อมูลและพัฒนาการจัดการเรื่องโลกร้อนและทรัพยากรป่าไม้ในชุมชน อย่างไรก็ตามความคิดเห็นต่อ REDD+ มีความหลากหลาย บางกลุ่มเห็นว่าโครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีต่อการจัดการทรัพยากรป่าไม้โดยการเข้าร่วมของคนพื้นเมือง แต่อีกหลายๆกลุ่มเห็นว่า REDD+ ไม่มีความจำเป็นต่อชุมชนเพราะชุมชนมีการจัดการตามแนวทางของตนแล้ว อีกทั้งโครงการนี้เป็นเสมือนส่วนหนึ่งของกลไกการค้าคาร์บอน เพราะประเทศใดมีสัดส่วนของป่ามาก หรือได้ลงทุนในการปลูกป่าซึ่งช่วยดูดซับ COก็จะสามารถปล่อยก๊าซได้มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันมิได้ลดปริมาณก๊าซที่อยู่ในชั้นบรรยากาศ ตัวอย่างผลกระทบในด้านลบของ REDD+ ที่เห็นได้ชัดเกิดขึ้นที่อินโดนีเซีย ซึ่งได้มีการขยายเขตป่า ปลูกต้นไม้เพิ่ม แต่อุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่มีขนาดใหญ่ในประเทศยังคงดำเนินหน้าต่อไปและได้สร้างมลภาวะมากขึ้น แม้ว่าธนาคารโลกจะมีข้อเสนอการเตรียมความพร้อมของโครงการ (Readiness Preparation Proposal หรือ RPP) แต่มิได้มีคณะพิจารณาร่วมกลุ่มผู้เกี่ยวข้องในหลายๆด้านโดยเฉพาะกลุ่มประชาสังคม และมิได้ออกเอกสารเพื่อชี้แจงรายละเอียดของโครงการ เฉพาะ RPP เองนั้นให้อาณัติต่อกรมป่าไม้ซึ่งมีการฉ้อฉลขนานใหญ่และไม่มีเครื่องป้องกันของสังคม (social safeguard) ในประเทศภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเองมีความรู้ความเข้าใจเรื่อง REDD+ ที่จำกัด โดยเฉพาะคนในชุมชนซึ่งจะได้รับผลกระทบจากโครงการโดยตรง หากแต่ทางรัฐบาลของแต่ละประเทศมีทิศทางนโยบายที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าอย่างชัดเจน เช่นทางประเทศลาวที่มีแนวทางที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าจากประมาณ 38-40% ของประเทศ เป็น 70% ภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี จึงเกิดข้อกังขาเรื่องการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรซึ่ง แม้กรรมสิทธิ์จะเป็นของรัฐแต่ให้เกษตรกรเข้าไปใช้ได้ในปัจจุบัน ในส่วนของประเทศไทยที่มีปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินอยู่แล้ว โดยชาวบ้านที่ตั้งรกรากอยู่แถบชายป่ามาหลายทศวรรษไม่มีเอกสารความเป็นเจ้าของที่ดินตามกฎหมาย ดังนั้นการเข้ามาของ REDD+ จึงเพิ่มแรงกดดันให้รัฐขยายพื้นที่ป่าสงวนและอุทยาน และทับสิทธิ์ที่ดินของชาวบ้านในชุมชนที่ไม่มีอำนาจทางกฎหมาย คนในพื้นที่หลายครอบครัวถูกจับในข้อหาบุกรุกป่าสงวน  จำเป็นต้องจ่ายค่าชดใช้หลายหมื่นหรือหลายแสน หรือจำต้องถูกคุมขังเพราะไม่สามารถชดใช้ค่าเสียหายได้แม้ว่าเคยได้ใช้พื้นที่เดียวกันประกอบอาชีพมานานหลายปี ในขณะเดียวกันกฎหมายไทยยังมีสองมาตรฐาน นายทุนหรือนักการเมืองระดับสูงที่ได้ใช้พื้นที่ชายป่าในการสร้างสนามกอล์ฟหรือบ้านพักตากอากาศ มิได้ตกเป็นเชลยของประเด็นโลกร้อนเหมือนอย่างชาวบ้านทั่วไป ความอยุติธรรมในสังคมยังเพิ่มปัญหาในการจัดการที่ดินที่ลดน้อยลงของชาวบ้านซึ่งได้หันมาทำเกษตรเชิงเดี่ยว (mono crop)และเน้นปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ แต่การทำเกษตรเช่นนี้มีนัยสำคัญต่อคุณภาพดิน การใช้สารเคมีในการเกษตร และความมั่นคงทางอาหารและน้ำ อีกทั้งอาจเกิดการโยกย้ายถิ่นฐานของคนในชุมชนเข้าสู่เมืองเมื่อที่ดินทำกินถูกยึดโดยรัฐ สำหรับผลกระทบจากการอภิปรายเรื่องภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงนั้นมีนัยทางการเมืองเป็นส่วนใหญ่ โดยเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับที่ดินและผืนป่านั้นมีการใช้สื่อที่นำเสนอเรื่องไกลตัวเช่นการรณรงค์ลดโลกร้อนโดยเผยแพร่โฆษนาที่มีหมีขาวและน้ำแข็งขั้วโลกเหนือที่กำลังละลาย ซึ่งจำกัดความเข้าใจความสัมพันธ์ของภาวะโลกร้อนกับผลกระทบต่อดิน น้ำ อากาศ คน และสัตว์ในแต่ละชุมชน อีกทั้งทำให้ละเลยประเด็นเรื่องความหลากหลายทางพันธุกรรม และการที่ประเทศที่พัฒนาแล้วใช้ประเทศที่กำลังพัฒนาเป็นที่ทิ้งขยะสารพิษต่างๆหลังจากที่ได้เข้ามาลงทุน ตัวอย่างประเทศไทยที่มีแผนการจัดการเรื่องโลกร้อนเป็นระยะเวลา 10 ปีนั้น ก็ยังเน้นการอนุรักษ์และปลูกป่าเพียงเรื่องเดียว แต่มิได้เปิดโอกาสในการร่วมมือกับภาคประชาชนเท่าใดนัก ในเรื่องของแร่ธาตุและพลังงาน มีธุรกิจสกปรกเข้ามาทำกิจการในประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น มีผลกระทบต่อสัตว์ป่า คนในชุมชน ทรัพยากรทางดินและน้ำ เป็นต้น ทางรัฐบาลในประเทศกลุ่มลุ่มน้ำโขงนั้นมีการคอรัปชั่นสูงจึงยังให้ความสนับสนุนและมีนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเหล่านี้ การปิดบังข้อมูลของผลกระทบของธุรกิจด้านพลังงานทำให้ประชาชนยังไม่เข้าใจความเกี่ยวข้องของวิกฤตโลกร้อนและอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างไรก็ตามภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรงและถี่ขึ้นได้สร้างความสนใจและโอกาสให้มีการอภิปรายเรื่องโลกร้อนมากขึ้น ทำให้เกิดการรณรงค์ในเรื่องการประหยัดพลังงาน และสร้างกดดันของภาคประชาชนต่อภาครัฐและอุตสาหกรรมให้ตรึกตรองแนวทางนโยบายและความรับผิดชอบต่อสังคมอีกครั้ง สำหรับด้านทรัพยากรน้ำและการประมง การสร้างเขื่อนเป็นปัญหาที่สำคัญมากในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น รัฐบาลใช้ปัญหาโลกร้อนเพื่อเปิดโอกาสในการเร่งพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่ข้าราชการชั้นสูงได้รับผลประโยชน์ร่วมกับกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังเพื่อที่จะได้รับเงินช่วยเหลือจากธนาคารโลกในนามของโครงการลดโลกร้อน ผลกระทบต่อภาคการประมงนั้นรุนแรงมากขึ้นหลังการสร้างเขื่อนเพราะเรื่องมลภาวะทางน้ำ การไหลของน้ำที่เปลี่ยนไป และผลกระทบทางอ้อมที่ทำให้โลกร้อนขึ้นจากการใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือย หากธารน้ำแข็งในเทือกเขาหิมาลัยละลายหมดไป แม่น้ำโขงซึ่งเกิดขึ้นจากการละลายของธารน้ำแข็งคงสูญสิ้นพร้อมกับชีวิตนับล้านของคน สัตว์ และพืชพันธุ์ในบริเวณใกล้เคียง

การจัดการเรื่องภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงยังมีทางออก แต่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติของรัฐและภาคอุตสาหกรรมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น และต้องข้ามกรอบความคิดว่าการแก้ไขโดยใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์อย่างเดียวสามารถลดโลกร้อนและให้ประโยชน์ได้สูงสุด ชุมชนควรมีบทบาทในการจัดการทรัพยากรมากขึ้น และควรเน้นเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร สิทธิชุมชน หลักความยุติธรรมของการจัดการทรัพยากร เป็นต้น ในปัจจุบันมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มภูมิอากาศเพื่อความยุติธรรม (Climate Justice) ในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง แม้ว่าความหมายเรื่องความยุติธรรมยังไม่ชัดเจน แต่หลักการที่สำคัญคือการเปลี่ยนรูปแผนของการจัดการปัญหาเพื่อลดความไม่เท่าเทียม ความอยุติธรรมในสังคมลง และมีความคิดว่าประเทศที่ได้สร้างมลภาวะในอดีตกาลนั้นแท้จริงแล้วเป็นหนี้ประเทศกำลังพัฒนาหลายๆประเทศซึ่งเป็นผู้รับเคราะห์จากวิกฤตโลกร้อน เงินช่วยเหลือจึงควรมาจากประเทศที่ได้สร้างปัญหาโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงนั้นซับซ้อน ไม่สามารถหาทางออกจากวิธีใดวิธีหนึ่งได้ แต่ภาคประชาสังคมเองสามารถสร้างพลังและเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานโดยการพัฒนาเครือข่ายที่เข้มแข็งทั้งในและนอกประเทศ จัดกิจกรรมและเวทีแลกเปลี่ยนและให้ความรู้กับหลายๆองค์กรและประชาชน รณรงค์เรื่องสิทธิชุมชน สิทธิในการใช้ทรัพยากรของคนในท้องที่ และมุ่งผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายและโครงสร้างของรัฐที่ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

หมายเหตุ : จัดขึ้น เมื่อวันที่ 9-11 สิงหาคม 2553 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ