เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา ไคล์ฟ เจมส์ ผู้ก่อตั้งและประธานกิตติมศักดิ์ ISAAA (International Service for the Acquisition of Agri-Biotech Application) ได้เข้าพบกับปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อผลักดันให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศไทย โดยเขาได้ยืนยันว่าพืชจีเอ็มโอนั้นมีความปลอดภัย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างที่เอ็นจีโออ้าง เพราะเป็นพืชที่ไม่ใช้สารเคมี อีกทั้งสภายุโรปเพิ่งลงมติเมื่อให้แต่ละประเทศเป็นผู้พิจารณาเองที่ให้เกษตรกรปลูกพืชจีเอ็มโอได้

สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ คณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พึงทราบก่อนเป็นเบื้องต้นคือ องค์กร ISAAA มิได้เป็นองค์กรอิสระทางวิชาการหากแต่เป็นกลุ่มล้อบบี้ทางนโยบายเพื่อผลักดันให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศต่างๆ โดยงบประมาณส่วนใหญ่ขององค์กรนี้มาจากการสนับสนุนบรรษัทข้ามชาติที่มีผลประโยชน์เกี่ยวกับข้องกับพืชจีเอ็มโอและสารเคมีเกษตรเช่น มอนซานโต้ ไบเออร์ ดูปองท์ ซินเจนทา  รวมทั้งงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐผ่าน USAID

ข้อความและสารที่ไคล์ฟ เจมส์กล่าวไม่ได้เป็นความจริง เพราะพืชจีเอ็มโอมากกว่า 90 % ที่ปลูกอยู่ในโลกปัจจุบันเป็นพืชที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้ต้านทานสารเคมีปราบวัชพืช ผลการศึกษาประสบการณ์ปลูกพืชจีเอ็มโอสิบกว่าปี ของ Charles Benbrooks ซึ่งใช้ข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐเอง พบว่าการปลูกพืชจีเอ็มโอทำให้มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้นถึง 183 ล้านกิโลกรัม วัชพืชหลายชนิดดื้อยายิ่งทำให้ต้องใช้สารปราบวัชพืชเพิ่มมากขึ้นไปอีก ในสหรัฐมีการพบสารไกลโฟเสทกระจายไปทั่วอยู่ในพื้นที่การเกษตร ในอากาศและน้ำ จนเกิดความกังวลในหมู่ประชาชนอเมริกัน บริษัทที่ผลิตสารเคมีชนิดนี้เคยอ้างว่าสารนี้เป็นสารเคมีที่ปลอดภัย แต่ปัจจุบันมีงานวิจัยเป็นจำนวนมากพบว่ามีผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อ และเกี่ยวข้องกับโรคหลายชนิด เช่น มะเร็ง อัลไซม์เมอร์ ไต เป็นต้น จนบางประเทศเช่น เนเธอร์แลนด์ได้ยกเลิกการใช้ไปแล้ว และอีกประมาณ 5 ประเทศกำลังพิจารณายกเลิก

จากการสำรวจของอียูเองพบว่า ประชาชนในยุโรปซึ่งเคยเคลื่อนไหวต่อต้านจีเอ็มโอในอดีตนั้น ขณะนี้เปอร์เซ็นต์การต่อต้านยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีก เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส และกรีซมีคนยอมรับผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอน้อยลงจนเหลือเพียง 10-20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนมติของสภายุโรปซึ่งเพิ่งลงมติเพื่อให้แต่ละประเทศเป็นผู้พิจารณาว่าจะปลูกจีเอ็มโอหรือไม่นั้น คนที่ติดตามเรื่องนี้มาต่อเนื่องจะทราบดีว่าเป็นการเปิดทางให้หลายประเทศเช่นเยอรมนี ฝรั่งเศส และอีกหลายประเทศสามารถปฏิเสธที่จะปลูกพืชจีเอ็มโอได้ต่างหาก มิได้เอื้ออำนวยให้ปลูกพืชจีเอ็มโอได้ง่ายขึ้นอย่างที่ ISAAA กล่าวอ้าง

ขณะนี้กระแสต่อต้านจีเอ็มโอยังได้ลุกลามมายังฝั่งสหรัฐอเมริกาด้วย ดังที่เราเห็นมลรัฐต่างๆ เช่น เมน คอนเน็คติคัท เวอร์มอนท์ มีกฎหมายบังคับให้มีการติดฉลากอาหารจีเอ็มโอ และอย่างน้อยมีรัฐต่างๆอีกครึ่งประเทศกำลังมีกระบวนการผลักดันกฎหมายเช่นเดียวกัน

การไม่ยอมรับของผู้บริโภคต่อเรื่องจีเอ็มโอจะกลายเป็นปัญหาหลักของอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทย เราจึงเห็นว่านอกเหนือจากสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทยแล้ว ยังมีสมาคมอาหารแปรรูป สมาคมแป้งมันสำปะหลัง และกลุ่มอุตสาหกรรมข้าวโพดหวานออกมาเตือนสติติดเบรคการเดินหน้าจีเอ็มโอของกลุ่มสนับสนุนเรื่องจีเอ็มโอ

ประเด็นที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับจีเอ็มโอคือปัญหาการผูกขาดเนื่องจากพืชจีเอ็มโอเกือบทั้งหมดในตลาดอยู่ในมือของบรรษัทยักษ์ใหญ่แค่เพียงบริษัทเดียวหรือหยิบมือเดียว การเปลี่ยนประเทศจากประเทศที่มีฐานความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายของวัฒนธรรมอาหารไปสู่การปลูกพืชที่อยู่ภายใต้สิทธิบัตรของบริษัทจะนำพาประเทศไปสู่ความไม่มั่นคงทางอาหารและปราศจากอธิปไตยทางอาหารในที่สุด

ประเทศไทยมีทางเลือกที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรรายย่อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมากกว่า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยั่งยืนกว่า อีกทั้งสามารถแข่งขันได้ดีกว่า โดยเลือกแนวทางการเกษตรนิเวศ(Ecological Agriculture) เช่น การเกษตรแบบผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ เป็นต้น ไม่มีความจำเป็นต้องทำการเกษตรที่เน้นปริมาณ พึ่งพาปุ๋ยและสารเคมี  ไม่ยั่งยืนและต้องพึ่งพาบรรษัทขนาดใหญ่โดยการเปลี่ยนประเทศไปปลูกพืชจีเอ็มแต่ประการใด

ที่มา: ขยับอีกก้าวผลักดันพัฒนาพืชจีเอ็ม วัดใจรัฐนาวา’ประยุทธ์ จันทร์โอชา’